การประชุมสหพันธ์พระคัมภีร์คาทอลิก  ระดับเอเชียอาคเนย์
1-6  มิถุนายน  ค.ศ. 1995  ซิซารูอา  โบโกร์  อินโดนีเซีย

บทนำบทความ

            คุณพ่อทัศไนย์  คมกฤส  และซิสเตอร์สุภา  ทองอำไพ  เป็นผู้แทนประเทศไทยไปประชุม  ส่งเสริมฆราวาส - เยาวชน  ให้รักการอ่าน  ภาวนาและแบ่งปันพระคัมภีร์  เพื่อเสริมสร้างชีวิตคริสตชน  ที่ประเทศอินโดนีเซีย  เมื่อ  1-6  มิถุนายน  ค.ศ. 1995  มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ  40  คน

            ผมเห็นว่าแถลงการณ์นี้เป็นแนวทางสำคัญ  ในการทำงานอภิบาลของเรา  เป็นทิศทางการสอนคำสอน  ในประเทศของเราด้วย  จึงแปลมาลงวารสารแสงธรรมปริทัศน์

  • 1. พวกเราตัวแทน 38 คน จากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย สิงค์โปร์ และบรูไน ได้มาประชุมสหพันธ์พระคัมภีร์คาทอลิก ระดับเอเชียอาคเนย์เป็นครั้งแรก เรื่องการแพร่ธรรมด้านพระคัมภีร์ ที่ซิซารูอา โบโกร์ ชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 1-6 มิถุนายน ค.ศ. 1995 พวกเราได้แบ่งปัน พิจารณา และค้นหาหนทางและเครื่องมือในหัวข้อ "เพิ่มพลังฆราวาสให้เจริญชีวิต แบ่งปันพระวาจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน" คำทำนายของประกาศกโยเอล ที่มีอ้างถึงในกิจการอัครสาวก 2:17 ได้ให้กำลังใจแก่พวกเราว่า "เราจะเทพระจิตของเราลงบนคนทั้งปวง แล้วบุตรชาย บุตรสาวของเจ้าจะพยากรณ์ได้ เหล่าคนหนุ่มจะเห็นนิมิต ส่วนคนชราก็จะพากันฝันเห็น" เราเข้าใจว่า "การเพิ่มพลัง" มาจากความมั่นใจที่พระจิตเจ้าประทานแก่แต่ละคน เพื่อให้สำนึกถึงพระพรเหล่านี้ และแสวงหาหนทางเพื่อบริการ การเพิ่มพลัง หมายถึงการสำนึกถึงพลังของพระจิตเจ้า เช่น พระวาจาเป็นวาจาทรงพลัง เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต พลังและอำนาจในพระวาจา สังฆธรรมนูญ เรื่องการเผยแสดง (ความจริง) ของพระเป็นเจ้า ข้อ 21 กล่าวว่า "ในพระวาจาของพระเป็นเจ้ามีพละกำลังแห่งความเชื่อ เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณ และเป็นธารอันบริสุทธิ์ไม่มีวันเหือดแห้งของชีวิต ฝ่ายวิญญาณสำหรับบรรดาบุตรแห่งพระศาสนจักร" การเพิ่มพลังเกี่ยวข้องกับการแสวงหาหนทางปล่อยให้เป็นอิสระ และปรับพลังนั้นให้ความสามารถในการให้ชีวิต สามารถเป็นจริงได้
  • 2. เราได้แบ่งปันในฐานะพยานถึงพระวจนะ ทรงรับเอากาย - ประทับท่ามกลางเรา และได้มองดูสภาพสังคมของประสบการณ์ของเราในงานอภิบาลด้านพระคัมภีร์ ประการแรก เราได้แบ่งปันสิ่งที่เราเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ สื่อเพื่อการประกาศพระวรสาร การอบรมฆราวาส กลุ่มพระคัมภีร์ส่งเสริมสตรี และส่งเสริม/แจกพระคัมภีร์ แต่การเกี่ยวข้องส่วนตัวของเรา เป็นระดับครอบครัวในระหว่างเพื่อนบ้าน เราต้องมองออกไปนอกหน้าต่างและดูสภาพแวดล้อม สถาบันที่เราสังกัด ประการที่ 2 เราแบ่งปันความสนใจต่างๆ ของสถาบันของเรา เช่น การสอดแทรกความเชื่อเข้าในวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงความสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูเอกภาพคริสตจักร การฟื้นฟูชุมชน และการช่วยเหลือกลุ่มผู้ถูกทอดทิ้ง เช่น สตรี เยาวชน และคนยากจน และประการที่ 3 เราต้องพิจารณาสังคมวงกว้างกว่า ขณะที่เราแบ่งปันเกี่ยวกับความสนใจเหล่านี้ว่าต้องสัมพันธ์กับสภาพการประกาศข่าวดีแนวใหม่อย่างไร ซึ่งพวกเราได้ปรึกษากันในการประชุมสามัญ ครั้งที่ 4 ที่โบโกตา (ประเทศโคลัมเบีย) ค.ศ. 1990 ของสมาพันธ์พระคัมภีร์คาทอลิก
  • 3. เมื่อเราได้ตริตรองแนวทางของเรา เราย้อนกลับไปเรื่องเอมมาอูส เหมือนได้ทำที่โบโกตา กล่าวคือ การพบปะที่ให้ชีวิต เกี่ยวพันกับการรับฟัง การเสวนา ซึ่งพระคัมภีร์สามารถสัมผัสหัวใจ และที่สุดการแบ่งปันในกลุ่ม "การบิปัง" นี่เป็นรูปแบบสำหรับการประกาศข่าวดีแนวใหม่ การประกาศข่าวดีซึ่งนำชีวิตใหม่มาให้ การเสวนาเป็นแก่นสำคัญสำหรับการประกาศข่าวดี การเสวนาระหว่างเนื้อหาพระคัมภีร์กับบริบทในสถานการณ์ชีวิตจริง การเสวนาซึ่งช่วยให้เราสามารถเห็นทั้งเนื้อหาที่คุ้นเคย และคำอธิบายของตนเองภายใต้แสงสว่างใหม่ แน่นอน เอมมาอูสเกี่ยวข้องกับชีวิตที่ออกมาจากความตาย การรับใช้ชีวิตซึ่งพระวาจาเชื้อเชิญเรา มีความหมายให้เราตายต่อวิถีชีวิตแบบเก่า แต่ความตายเช่นนี้จะทำให้เกิดพลัง และดังนี้การเดินทางสู่การประชุมสามัญปี ค.ศ. 1996 ที่ฮ่องกง ในหัวข้อ "พระวาจาเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต" การเดินทางนี้มิใช่เพียงการเดินทางจากโบโกตาสู่ฮ่องกง แต่จากเอมมาอูสสู่เมืองสิคาร์ พระเยซูเจ้าสนทนากับบรรดาอัครสาวกระหว่างทาง สู่การสนทนากับหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ ที่พระเยซูสัญญาจะประทานน้ำธำรงชีวิต (ยอห์น 4)
  • 4. เราค้นพบในเวลาที่แบ่งปันว่า การเพิ่มพลัง เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ช่วยให้ชุมชนคริสตชนเติบโต และมีสำนึกถึงสภาพที่เป็นจริง ที่พวกเขาอยู่ เมื่อพิจารณาสภาพเป็นจริงเหล่านี้ ภายใต้พระวาจา และการเปลี่ยนแปลง การฟื้นฟูสภาพที่เป็นจริงในอาณาจักรพระเจ้า เช่น ที่พระคริสต์พระวาจาทรงรับเอากาย ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ในการประชุมนี้ เราค้นพบว่ากระบวนซึ่งฆราวาส โดยเฉพาะเยาวชน ต้องการใครสักคน คนนำพวกเขาและช่วยอธิบายพระคัมภีร์ให้พวกเขาเข้าใจ (กจ. 8:26-40) เพื่อพวกเขาจะได้แบ่งปันพระวาจาแก่กัน และร่วมมือร่วมแรงพยายามสร้างฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่ (วว. 21:1) ดังนั้นเยาวชนและฆราวาสที่ได้รับการเพิ่มพลังจะไม่เป็นเพียงผู้รับฟัง หรือไม่แค่ให้บริการส่งเสริมชีวิตเท่านั้น แต่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับชีวิต ในขณะเดียวกันด้วย เพราะว่าพวกเขาถือความลับแห่งพลังและพระสิริรุ่งโรจน์ กล่าวคือพระเจ้าอยู่กับพวกเขา (คส. 1:27)
  • 5. เมื่อเน้นฆราวาส เราตริตรองข้อสงสัยและสิ่งที่เรากลัว เราต้องทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ปกป้องนักบวช ที่พระสงฆ์และนักบวชหลายคนส่งเสริมเท่านั้น แม้แต่ฆราวาสก็ด้วย เราต้องพิจารณาความต้องการ การอบรมและการเติบโตความรู้ด้านพระคัมภีร์ ขณะที่เรารบกับอิทธิพลด้านลบของสื่อมวลชน เราค้นพบด้วยว่ามีความจำเป็นสำคัญ สำหรับชุมชนทั้งฆราวาสและนักบวชต้องการการอุทิศตนแท้จริงต่อพระวาจาที่ทำให้รับผิดชอบจริงๆ ซึ่งหมายถึง การใช้ความสามารถเต็มๆ ตอบรับพระเจ้า ตอบสนองผู้อื่นและตัวเราด้วย
  • 6. พวกเราได้ไตร่ตรองต่อไปถึงประสบการณ์ต่างๆ ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ การอบรมจิตตาธิการของเยาวชน และเกี่ยวกับประสบการณ์กับเยาวชนเอง ซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 65 ของประชากรทวีปเอเชีย ทวีปของเยาวชน ดังที่บรรดาพระสังฆราชของเราได้กล่าวในแถลงการณ์ ในการประชุมสามัญของสมาพันธ์พระสังฆราชแห่งเอเชีย ครั้งที่ 6 ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (ข้อ 15:3) เราค้นพบวิถีทางช่วยเหลือพวกเขาให้รู้จักไตร่ตรองและเพิ่มพลัง การเพิ่มพลังความสามารถแก่บรรดาเยาวชนให้เจริญชีวิต และแบ่งปันพระวาจาได้ เป็นความรับผิดชอบของชุมชนคริสตชน ชุมชนคริสตชนต้องตอบสนองความต้องการของเยาวชน และส่งเสริมพวกเขาให้รู้จักแบ่งปันพระพรเด่นของพวกเขาแก่ชุมชนใหญ่ ชุมนุมคริสตชนต้องมีศาสนบริการพิเศษ ช่วยให้เยาวชนสามารถเจริญชีวิตและแบ่งปันพระวาจา ศาสนบริการนี้ต้องมุ่งสำหรับเยาวชน พร้อมกับเยาวชน โดยเยาวชน และเพื่อเยาวชน
  • 7. หลังจากที่ได้แบ่งปัน ไตร่ตรองและค้นพบ สิ่งทั้งหมดดังกล่าว เราขออุทิศตน แม้จะสำนึกว่าไม่มีใครทำทุกสิ่งเหล่านี้ได้หมด การอุทิศตนเฉพาะของเราขึ้นอยู่กับสถานการณ์พิเศษ ความจำเป็นและโอกาส เราขอตั้งใจว่า :

การสร้างกลุ่มคริสตชน

  • 1. สร้างความเชื่อในคริสตชนกลุ่มย่อยที่หล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา เติบโตในชีวิตที่มีความสัมพันธ์ในกลุ่มย่อย และแบ่งปันพระวาจา
  • 2. ส่งเสริมการอภิบาลพระคัมภีร์ในครอบครัว เพื่อ และพร้อมเยาวชน
  • 3. ส่งเสริมการอบรมต่อเนื่องด้านพระคัมภีร์แก่จิตตาธิการ และศาสนบริการพระวาจาโดยเฉพาะเยาวชน
  • 4. ส่งเสริมฆราวาสและเยาวชนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น และร่วมรับผิดชอบมากขึ้นในการอภิบาลด้านพระคัมภีร์

สื่อมวลชนและวัฒนธรรม

  • 5. รู้จักใช้สื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมงานแพร่ธรรมด้านพระคัมภีร์
  • 6. เน้นความสำคัญของวัฒนธรรมในงานอภิบาลด้านพระวาจา

สังฆมณฑล/เขตวัด

  • 7. ส่งเสริมงานอภิบาลด้านพระวาจาในทุกเขตวัด ในสังฆมณฑลต่างๆ จัดโครงการและบริการในงานอภิบาลด้านพระวาจา ในแผนงานของสังฆมณฑล โดยร่วมมือกับคณะกรรมการที่มีอยู่ ร่วมมือโดยอาศัยโครงสร้าง องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งของฆราวาสและเยาวชน

การอบรมในบ้านเณร

  • 8. จัดอบรมงานอภิบาลด้านพระวาจาแก่สามเณร โดยเน้นบทที่ 4 ของเอกสาร "การแปลพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร" จัดให้สามเณรรู้จักแบ่งปันพระวาจากับฆราวาสและเยาวชน มิใช่ในฐานะผู้นำกลุ่ม แต่ในฐานะสมาชิก

การประสานงาน  (Networking)

  • 9. จัดเครือข่ายการทำงานในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เพื่อแบ่งปันปัจจัย เนื้อหา และวิธีการ ตลอดจนบุคลากรที่เป็นวิทยากรได้
    เราหวังว่าจะทำให้งานอภิบาลด้านพระวาจา  มีชีวิตชีวาในเอเชียอาคเนย์และเขตย่อยต่างๆ

 

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล.

แสงธรรมปริทัศน์, ปีที่  20, ฉบับที่  1, ปี 1996/2539, หน้า 102-106.