"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงจัดเตรียมปัสกาไว้สำหรับพวกเราที่นั่นแหละ”

73. การเตรียมงานเลี้ยงปัสกา (มก 14:12-16)
      1412วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เมื่อเขาฆ่าลูกแกะปัสกา บรรดาศิษย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน” 13พระองค์จึงทรงใช้ศิษย์สองคนไป สั่งเขาว่า “จงเข้าไปในกรุง แล้วจะพบชายคนหนึ่งกำลังเดินแบกหม้อน้ำอยู่ จงตามเขาไป 14เขาเข้าไปที่ไหน จงถามเจ้าของบ้านว่า “พระอาจารย์ถามว่า ห้องที่เราจะกินปัสกากับบรรดาศิษย์นั้นอยู่ที่ไหน” 15เขาจะชี้ให้ท่านเห็นห้องใหญ่ชั้นบนปูพรมไว้เรียบร้อย จงจัดเตรียมปัสกาไว้สำหรับพวกเราที่นั่นแหละ” 16ศิษย์ทั้งสองคนออกเดินทางเข้าไปในกรุง พบสิ่งต่างๆ ดังที่พระองค์ทรงบอกไว้ จึงจัดเตรียมปัสกา


a) อธิบายความหมาย
           เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ห้าของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์คือเช้าวันพฤหัสบดี น่าสังเกตว่า โครงสร้างการเล่าเรื่องนี้คล้ายกันมากกับเรื่องการเตรียมเสด็จของพระเยซูเจ้าเข้ากรุงเยรูซาเล็มในฐานะพระเมสสิยาห์ (เทียบ 11:1-6) ในกรณีทั้งสองนี้ พระเยซูเจ้าทรงส่งศิษย์สองคนเข้าไปเตรียมการเสด็จคือ กรณีแรกไปหาลูกลา และกรณีที่สองไปหาห้องที่จะกินปัสกา ทั้งสองกรณี พระเยซูเจ้าทรงชี้แจงกับศิษย์ว่าจะพบลูกลาและห้องอาหารอย่างไร ศิษย์จะต้องพูดอะไรกับบุคคลที่เขาได้พบคือ “พระอาจารย์ต้องการใช้มัน” (11:3) และ “พระอาจารย์ถามว่า ห้องที่เราจะกินปัสกากับบรรดาศิษย์นั้นอยู่ที่ไหน” (14:14) ทั้งสองกรณี บรรดาศิษย์ “ก็ตอบตามที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้” (14:6) และ “พบสิ่งต่าง ๆ ดังที่พระองค์ทรงมอบไว้” (14:16) เหตุการณ์ทั้งสองนี้จึงเป็นการเตรียมการเสด็จของพระเยซูเจ้าเข้ากรุงเยรูซาเล็ม แต่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ครั้งแรกพระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารในฐานะผู้นำพระอาณาจักร แต่บัดนี้ หลังจากที่พระองค์ทรงทำนายว่ากรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารจะถูกทำลาย (เทียบ 13:1-2) ทรงเตรียมเข้ากรุงอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะอยู่ร่วมกับบรรดาศิษย์ในบ้านหลังหนึ่งไม่ใช่ในพระวิหาร

- วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เมื่อเขาฆ่าลูกแกะปัสกา ชาวยิวฉลองปัสกาในวันขึ้น 15 ค่ำ เมื่อพระจันทร์เต็มดวงในเดือนแรกของปีคือเดือนนิสัน ตามปฏิทินสากลในปัจจุบัน อยู่ระหว่างเดือนมีนาคมกับเมษายน ดังนั้น บ่ายวันที่ 14 เดือนนิสัน ชาวยิวนำลูกแกะไปฆ่าเพื่อเป็นเครื่องบูชาในพระวิหาร และเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งสำหรับชาวยิวเป็นการเริ่มต้นวันใหม่คือวันที่ 15 เดือนนิสัน ก็เฉลิมฉลองงานเลี้ยงปัสกา และยังเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ซึ่งจะดำเนินต่อไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์
            ดูเหมือนว่านักบุญมาระโกสับสน เขารวมวันที่ 14 และวันที่ 15 เดือนนิสันเข้าเป็นวันเดียวกัน เพราะมีเขียนไว้ว่า “วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เมื่อเขาฆ่าลูกแกะปัสกา” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวยิวเคยปฏิบัติกันคนละวัน แต่ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์คิดว่า นักบุญมาระโกกำลังอ้างถึงโดยยึดตามปฏิทินของชาวโรมัน ซึ่งนับวันใหม่หลังจากเที่ยงคืนของแต่ละวัน ไม่ใช่สังเกตจากเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ในกรณีเช่นนี้ การกระทำก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกดินก็ยังเป็นเหตุการณ์ในวันเดียวกัน
            นักพระคัมภีร์ยังถกเถียงกันอีกว่า ในปีนั้นวันฉลองปัสกาของชาวยิวเป็นวันไหนกันแน่ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นบันทึกว่า วันปัสกาเป็นวันเสาร์อย่างแน่นอนเพราะเป็นวันหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ส่วนนักบุญมาระโกบันทึกว่าวันปัสกาตกเป็นวันศุกร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เย็นวันพฤหัสบดี โดยรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายและจบลงเมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกฝังไว้ในพระคูหาก่อนจะเริ่มวันสับบาโต นักพระคัมภีร์ได้พยายามผสมผสานความคิดนี้เข้าด้วยกันแต่ก็ไม่สำเร็จ ข้อมูลเดียวที่แน่นอน คือพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์เพราะพระวรสารทั้งสี่ฉบับเป็นพยานยืนยันดังกล่าว แต่ข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับวันเวลาไม่สามารถประสานกลมกลืนกันได้ เพราะผู้นิพนธ์พระวรสารแต่ละคนมีทัศนคติทางเทววิทยาแตกต่างกัน สำหรับนักบุญยอห์น การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นในวันที่ชาวยิวฆ่าลูกแกะก่อนทำการฉลองปัสกา เพื่อเน้นว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นการฆ่าลูกแกะปัสกา ส่วนสำหรับนักบุญมาระโก พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ในวันปัสกาเพื่อเน้นว่า การสิ้นพระชนม์ของพระองค์คือวันฉลองปัสกาของเราคือวันที่เราเฉลิมฉลองการถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

- บรรดาศิษย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน” น่าสังเกตว่า ในข้อความนี้ (14:12-16) นักบุญมาระโกอ้างถึงคำว่า “บรรดาศิษย์” ทั้งหมด 4 ครั้ง แล้วจะไม่กล่าวถึงอีกเลยในเรื่องการรับทรมาน ยกเว้นในข้อ 32 เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงสวนเกทเสมนี

- พระองค์จึงทรงใช้ศิษย์สองคนไป สั่งเขาว่า “จงเข้าไปในกรุง นักบุญลูกาบันทึกว่าศิษย์สองคนนั้นคือนักบุญเปโตรและยอห์น (เทียบ ลก 22:8) คำว่า “กรุง” ในที่นี้คงหมายถึงกรุงเยรูซาเล็มอย่างแน่นนอน เพราะการรับประทานอาหารค่ำฉลองปัสกา ต้องปฏิบัติเพียง “ในสถานที่ที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงเลือก” (ฉธบ 16:7) คือในบริเวณพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น (เทียบ 2 พศด 35:19)

- แล้วจะพบชายคนหนึ่งกำลังเดินแบกหม้อน้ำอยู่ จงตามเขาไป พระเยซูเจ้าประทานเครื่องหมายที่สังเกตเห็นได้ง่ายแก่ศิษย์สองคน เพราะโดยทั่วไปเป็นหน้าที่ของสตรีที่จะไปตักน้ำ นอกจากนั้น นักบุญมาระโกยังต้องการเน้นว่า พระเยซูเจ้าทรงทราบล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และทรงยอมรับเหตุการณ์นั้นด้วยความสมัครพระทัย

- เขาเข้าไปที่ไหน จงถามเจ้าของบ้านว่า “พระอาจารย์ถามว่า ห้องที่เราจะกินปัสกากับบรรดาศิษย์นั้นอยู่ที่ไหน” พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า “พระอาจารย์” เพียงครั้งนี้ครั้งเดียวในพระวรสาร นักบุญมาระโกต้องการเน้นความเป็นพระบุคคลของพระเยซูเจ้าผู้ทรงควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ น่าสังเกตว่า วิธีพูดของพระเยซูเจ้าดูเหมือนพระองค์ทรงตกลงล่วงหน้าไว้แล้วกับเจ้าของบ้าน ซึ่งคงจะเป็นศิษย์คนหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งของพระอาจารย์

- เขาจะชี้ให้ท่านเห็นห้องใหญ่ชั้นบน คำภาษากรีกที่นักบุญมาระโกใช้สำหรับห้องที่พระเยซูเจ้าทรงรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายในข้อ 14 มักจะหมายถึงสวนภายในของบ้านที่สงวนไว้สำหรับต้อนรับแขก(เทียบ ลก 2:7) ส่วนคำที่ใช้ในข้อนี้หมายถึง “ห้องใหญ่ชั้นบน” ซึ่งชาวโรมันรียกว่า “เชนาคุลุม” (cenaculum) ธรรมประเพณีของคริสตชนอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 กำหนดไว้ว่า ห้องนี้อยู่บนภูเขาศิโยน ทางด้านทิศตะวันตกของกรุงโบราณ ในศตวรรษที่ 14 นักบวชคณะฟรังซิสกันได้สร้างสักการสถานเล็ก ๆ ในที่แห่งนี้โดยใช้วัสดุที่คงเหลืออยู่จากสมัยครูเสด

- ปูพรมไว้เรียบร้อย ห้องนั้นต้องตกแต่งด้วยโซฟาที่อำนวยความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารค่ำ

- จงจัดเตรียมปัสกาไว้สำหรับพวกเราที่นั่นแหละ” สิ่งที่ต้องการใช้ในการรับประทานอาหารค่ำโอกาสฉลองปัสกาคือ ลูกแกะที่ถูกฆ่าในพระวิหารแล้วย่างจนสุก ขนมปังไร้เชื้อ เหล้าองุ่น สมุนไพรหญ้าขมและน้ำเพื่อใช้สำหรับล้างมือ ฯลฯ

- ศิษย์ทั้งสองคนออกเดินทางเข้าไปในกรุง พบสิ่งต่างๆ ดังที่พระองค์ทรงบอกไว้ จึงจัดเตรียมปัสกา นักบุญมาระโกเน้นว่าแม้ห้องชั้นบนปูพรมไว้เรียบร้อยแล้วก็จริง แต่ศิษย์สองคนนั้นยังต้องจัดเตรียมอีก เพื่อสร้างบรรยากาศการรอคอยสิ่งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น