“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2016

สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา

มีคา 7:14-15,18-20…………………..

14โปรดทรงใช้ไม้ขอของผู้เลี้ยงแกะเลี้ยงดูประชากร
คือฝูงแพะแกะที่เป็นมรดกของพระองค์


ซึ่งอาศัยโดดเดี่ยวอยู่ในป่า
ที่มีแผ่นดินอุดมสมบูรณ์อยู่โดยรอบ
โปรดทรงให้เขาหากินอยู่ในแคว้นบาชานและกีเลอาด
เหมือนในสมัยก่อน
15โปรดทรงแสดงปาฏิหาริย์ แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
เหมือนในสมัยที่ทรงนำข้าพเจ้าทั้งหลายออกมาจากแผ่นดินอียิปต์

18เทพเจ้าใดเล่าเป็นเหมือนพระองค์
ผู้ทรงให้อภัยความผิด
และทรงมองข้ามการล่วงละเมิด
แก่ผู้ที่เหลืออยู่เป็นมรดกของพระองค์
พระองค์ไม่ทรงรักษาพระพิโรธไว้ตลอดไป
แต่พอพระทัยแสดงความรักมั่นคง
19ขอพระองค์ทรงพระเมตาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง
โปรดทรงเหยียบย่ำความผิดของข้าพเจ้าทั้งหลาย
พระองค์จะทรงเหวี่ยงบาปของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ลงไปในทะเลลึก
20พระองค์จะทรงแสดงความซื่อสัตย์แก่ยาโคบ
ทรงแสดงความรักมั่นคงแก่อับราฮัม
ดังที่เคยทรงปฏิญาณต่อบรรพบุรุษของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ตั้งแต่นานมาแล้ว

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง

• “พระเป็นเจ้า คือ...?? พระองค์ “เป็น” เป็นพระเป็นเจ้า ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงพระองค์ได้เลย”
o ยาห์เวห์เป็นพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและเมตตาสงสาร
o ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนความจริงของพระองค์ผู้ทรงเป็น “ความรักมั่นคง”
o เพราะพระองค์ คือ “I AM” (“ยาห์เวห์” “เราเป็น”) ดังนั้น พระเจ้าจะไม่เป็นไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราต้องรู้ให้ได้ว่า พระองค์เป็น
o มีคำตอบหลายประการ วันนี้เรามาคิดถึงพระเจ้าว่า “พระองค์เป็น” สำหรับเรามนุษย์ที่เราได้รับการเปิดเผยในพระคัมภีร์ตลอดพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญา เราได้เรียนรู้จริงว่าพระองค์ “เป็น” ในหลายรูปแบบ ที่เราสามารถรู้จักพระองค์ได้.... ลองมาพยายามเข้าใจและเก็บเกี่ยวความหมายของความเป็นขอพระเจ้าของเรากันครับ
1. พระเจ้าเป็นความรัก
2. พระองค์เป็นความจริง
3. พระองค์คือความยุติธรรม
4. พระองค์คือสันติสุขถาวร
5. พระองค์คือความรอดพ้น
6. พระองค์คือหลักศิลามั่นคง
7. พระองค์คือความหวังและความเชื่อ
8. พระองค์คือพระญาณเอื้ออาทรไม่เสื่อคลาย
9. พระองค์คือความสุข ความดี พระยุติธรรม และความเมตตา

• มีหลายนามชื่อเหลือเกินที่เราจะสามารถกล่าวถึงพระองค์ได้
o แต่วันนี้พ่ออยากจะเสนอต้นฉบับหนึ่งที่เป็นความจริงของพระเจ้า พระองค์ได้ตรัสกับมนุษย์ในการเผยแสดง
o พระองค์ตรัสกับโมเสสโดยตรงที่ภูเขาซีนัย ณ ที่พุ่มไม้ลุกเป็นไฟ แต่ไม่ได้มอดไหม้ไป...
o และอันที่จริงเป็นความหมายของชื่อของพระเจ้า พระองค์ตรัสเรียกพระองค์เองว่า “I AM” ภาษาฮีบรูใช้ตัวอักษรสี่ตัวโดยไม่ใส่สระ “יהוה” คือ “YHWH”
o รากศัพท์ภาษาฮีบรูนี้คือคำที่สื่อถึง คำว่า “เป็น”
o พระองค์คือผู้เป็นตลอดนิรันดร อักษรสี่ตัวนี้ “יהוה” เรียกว่าเป็น tetragrammaton ที่ภาษากรีกแปลว่า อักษรสี่ตัว (tetra=4 และ grammaton = ตัวอักษร หรือสิ่งที่เขียน)
o สำหรับภาษาฮีบรู “יהוה” คือ “YHWH” นี่คือ พระนามของพระเจ้า ถ้าจะต้องออกเสียงเราจะเรียกว่า “YaHWeH” อ่านว่า “ยาห์เวห์”
o รากศัพท์มีความหมายถึง ความเป็น หมายถึงเป็นอยู่นิรันดร หมายถึงชีวิตนิรันดร

• มีหลายอย่างที่สามารถกล่าวถึงพระเจ้าได้
o หรือกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งที่เป็นความสูงสุดในด้านความดี ความจริง และทุกสิ่งที่เป็นความสูงสุดไม่มีที่สิ้นสิ้นสุดสามารถใช้เป็นความหมายถึงพระเจ้าได้
o แต่กระนั้นคำจำกัดความทั้งหลายก็ยังไม่เพียงพอ ไม่สามารถจำกัดพระเจ้าในชื่อใดชื่อหนึ่งที่เพียงพอได้เลย

• แม้แต่พระนามของพระเจ้า ตัวอักษรสี่ตัวนั้น ก็ไม่มีการออกเสียงพระนามพระเจ้า เพียงแต่เขียน เพราะความคิดที่ว่า
o พระเจ้าต้องไม่ถูกจำกัดด้วยชื่อหรือพระนามใดพระนามหนึ่งเท่านั้น....
o พระองค์ยิ่งใหญ่และเหนือสิ่งอื่นใดจริงๆ
o ดังนั้น ในพระคัมภีร์เมื่ออ่านมาพบตัวอักษรพระนามพระเจ้า เป็นสี่ตัวอักษร “יהוה” คือ “YHWH” เขาจึงอ่านออกเสียงว่า “อาโดนาย” Adonai แปลว่า My Lord หรือ เจ้านายหรือองค์พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด
o เหมือนกับในการอ่านพระคัมภีร์ในพิธีกรรมภาษาไทย เมื่อพบคำเขียนว่า “พระยาห์เวห์” ทางพิธีกรรมก็กำหนดให้เราอ่านว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แม้ยังประดับประเดิกมากแต่ก็ใช้ไปก่อนครับ คือ เราไม่ออกนามพระเจ้า แบบเห็นใจพี่น้องชาวยิวว่าอย่างนั้นเถอะครับ
o ดังนั้น ถ้าเราจะสรุปว่า พระเจ้าเป็นใคร หรืออย่างไร อะไร จริงๆ คำเดียวที่เป็นพระนามของพระองค์ก็คือ “เป็น” คือ พระนามและความจริงของพระองค์ พระองค์เป็นตลอดนิรันดร ไม่มีคำว่า สิ้นสุด ไม่มีจุดเริ่มต้น อยู่ก่อนสรรพสิ่ง และทุกสิ่งที่ดีงามล้วนมาจากพระองค์ผู้เดียว...

• สำหรับพ่อ ขอเสนอความคิดนิดหน่อย กับคำว่า “พระเป็นเจ้า” หรือ “พระเจ้า” สำหรับคำว่า “God” ที่เราควรแปลในภาษาไทย...
o พ่ออยากให้รักษาคำว่า “พระเป็นเจ้า” แทนคำว่า “พระเจ้า” แม้ทางพิธีกรรมจะกำหนดมาแล้ว เพราะพ่อไม่อยากให้ตัดคำว่า “เป็น” ที่เป็นสาระสำคัญที่สุดออกไป
o แม้อาจารย์ภาษาไทยและอาจารย์ผู้แปลพระคัมภีร์จะบอกว่า “พระเป็นเจ้า” ไม่ใช่คำแต่เป็นประโยค
o แต่พ่อก็ขอเถียงหน่อย เพราะภาษาไทยมีประโยคที่กลายเป็นคำนามเยอะครับ เช่น “ไม้จิ้มฟัน...เขื่อนกันน้ำ...แผงกันถนน รถบดถนน รถไถนา เครื่องบินทิ้งระเบิด ฯลฯ อีกเยอะแยะครับ” เพราะคำเหล่านี้ก็เป็นประโยคที่ใช้กันจนเป็นคำเดี่ยวๆไปแล้วครับ
o ดังนั้น ทำไมคำว่า “พระเป็นเจ้า” จะใช้ไม่ได้...ใช่ไหมครับ....
o และขอย้ำนะคับ...ถ้าเราตัดให้เหลือเพียง “พระเจ้า” โดยตัดคำว่า “เป็น” ออกไป ทราบไหมครับว่าเราตัดสารัตถะของความเป็นพระเจ้า (“เป็น” Being, Ens, YaHWeh, Essence) ทิ้งไปเลยนะครับ อันนี้พ่อยอมได้ยากจริง
o ดังนั้น พ่อจะเรียก “พระเป็นเจ้า” สำหรับคำว่า “God” ต่อไปอย่างสบายใจครับ แต่ก็พร้อมจะเรียก “พระเจ้า” ตามที่อาจารย์ท่านเสนอด้วยครับ ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังครับ และเพื่อเอกภาพในการใช้ภาษาของเรา

• ดังนั้น ถ้าเราจะสรุปว่า พระคัมภีร์บอกอะไรกับเราเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า คำตอบคือ
o กล่าวได้อย่างมั่นใจว่า “ทุกมิติที่เป็นความดีสูงสุด ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความเมตตาและความสัตย์ซื่อนิรันดร และความครบครันแห่งพระยุติธรรมและความรัก” ทั้งหมดใช้เพื่อหมายถึงพระเป็นเจ้าได้ทั้งสิ้นอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ และยิ่งใหญ่เกินที่ปัญญาของเรามนุษย์จะบรรยายได้ครบถ้วนด้วย...

• พี่น้องที่รัก... วันนี้พ่ออยากให้เรารู้จักพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้จริงๆ มากขึ้นไปอีกโดยพระนามของพระองค์ เปรียบเหมือนกับอะไรทราบไหม จะเปรียบเทียบอย่างไรดี...
o พ่อว่าเปรียบเหมือนกับ เวลาที่เรารักใครสักคนจริงๆ คู่รักของเรา แม้เรารู้ชื่อรู้นามสกุล
o แต่คงไม่มีสามีภรรยาหรือแฟนกันคนไหนที่เรียกชื่อกันเท่านั้น แต่โดยทั่วไปเขามักจะเรียกกันว่า “ที่รัก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รักกันใหม่ๆ เป็นแฟนกันใหม่ จะเรียกกันแบบนี้เสมอ
o คำว่า “ที่รัก” แทนทุกอย่างในตัวเขา แทนชื่อเสียงเรียงนามหรือแม้แต่ยศฐาบรรดาศักดิ์และหน้าตาของเขาทุกอย่างเลย “ที่รัก” คนรักกันมักจะใช้คำนี้เรียกเสมอ กลายเป็นคำจำกัดความแทนคนรักไปเลยจริงๆ
o คงแปลกนะครับ ถ้าคนหนึ่งเกิดได้เป็นรัฐมนตรี และเมื่อกลับบ้าน ภรรยาของท่านจะเรียกสามีแม้แต่เวลาอยู่ที่บ้านว่า “ท่านนายก” ตลอด หรือถ้าลูกของนายกจะเรียกบิดาของตนหรือแม่ของตนว่าท่านนายกฯ
o หรือ ถ้าภรรยามีสามีจบด๊อกเตอร์ หรือสามีมีภรรยาจบด๊อกเตอร์ คงแปลกมากถ้าภรรยาจะเรียกสามีว่าด๊อกเตอร์นั่นนี่หรือกลับกัน และถ้าคนที่เป็นนายพลก็ถูกภรรยาหรือลูกๆเรียกกันว่านายพลนั่นนี่ตลอดคงแปลกครับ...
o อันที่จริงคนรักกัน เขาเรียกกัน “ที่รัก” ก็พอแล้วแหละครับ...

• ดังนั้นจากหนังสือประกาศกมีคาห์วันนี้ เราอ่านพระคัมภีร์ประกาศกนี้ตอนปิดเล่มมีคาห์
o เราพบว่าพระเป็นเจ้า ความจริงของพระองค์ถูกสรุปไว้เสมอมาในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม พระองค์ถูกเรียกเป็น “พระองค์จะทรงแสดงความซื่อสัตย์แก่ยาโคบ ทรงแสดงความรักมั่นคงแก่อับราฮัม”
o พระองค์ถูกเรียกขานและเป็นที่รู้จัก และแน่นอนพระองค์เป็น ทุกสิ่งที่ดีงาม
o แต่พระคัมภีร์เสนอพระองค์เป็นยิ่งกว่า “ที่รัก” แต่เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราพบได้ในการเปิดเผยของพระคัมภีร์ ภาษาฮีบรูใช้คำว่า “ความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์” เสมอ
o ประกาศกมีคาห์เอง โดยชื่อของท่านในภาษาฮีบรู “มีคาห์” แปลว่า “ใครเหมือนยาห์เวห์”
o สรุปคือว่า ไม่มีใครเหมือนพระเป็นเจ้าในความรักมั่นคงนิรันดรและในความซื่อสัตย์ตลอดนิรันดร ในความรัก และในการให้อภัยเสมอไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

• พระเป็นเจ้าเที่ยงแท้นั้นพระองค์สมได้พระนามว่า เป็น “ที่รัก” มากที่สุด พระองค์ “เป็น” ความจริง ทุกประการ

• และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความจากพันธสัญญาเดิม เราเรียนรู้อย่างถ่องแท้ว่า พระองค์คือ “ความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์” ตลอดไป ในความรักและในการให้อภัยเสมอ

• อ่านพระคัมภีร์นะครับ และพ่อขอให้เรารู้จักพระเป็นเจ้าให้มากที่สุดในความจริงของพระองค์ ในความรักและในความจริง ถ้าพ่อจะสรุปจากความคิดความเข้าใจของพ่อจริงๆ พ่อสรุปได้ว่า
1. พระเจ้าคือความซื่อสัตย์และยุติธรรมและความรักมั่นคง
2. พระยุติธรรมคือรากฐานสำคัญที่สุด และ
3. ความรักเป็นยอดหรือเป็นมงกุฎของความยุติธรรม

• ดังนั้น ชีวิตของเราลูกของพระเจ้า ต้องยุติธรรมซื่อสัตย์เสมอ จากจุดนี้ความรักจึงเป็นความรักแท้จริงตลอดไป ถ้าเราจะเรียกใครว่า “ที่รัก” จริงๆ เราต้องมีความซื่อสัตย์และยุติธรรมเป็นสำคัญนะครับ....

• ดังนั้น “ที่รัก” ของเรา คือ “พี่น้องที่รักของเราทุกคน”... ต้องได้รับความจริงและความยุติธรรม อีกทั้งซื่อสัตย์เสมอ....

• ขอพระเป็นเจ้าผู้ “เป็น” “ที่รักนิรันดรสูงสุด” โปรดอวยพรทุกท่านครับ

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก