“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ความรู้เกี่ยวกับจดหมายของนักบุญเปาโล

1.ลำดับเหตุการณ์ชีวิตของเปาโล

1. ลำดับเหตุการณ์ชีวิตของเปาโล

           เราคุ้นเคยกับเปาโลมากกว่าบุคคลอื่นในพันธสัญญาใหม่จากหนังสือกิจการอัครสาวกและจดหมายที่ท่านเขียน แม้ว่าลูกาเขียนหนังสือกิจการอัครสาวกเป็นประวัติศาสตร์ แต่ก็มีเจตนาเน้นความหมายด้านเทววิทยาด้วย ลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของเปาโลจึงน่าจะถูกต้อง

           เราอาจเรียงลำดับเหตุการณ์ชีวิตของเปาโลได้ค่อนข้างจะแม่นยำโดยอิงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เรารู้วันเวลาแน่นอนแล้ว เช่นปีที่กัลลิโอเป็นผู้สำเร็จราชการที่เมืองโครินธ์ (กจ 18:12) และปีที่เฟสตัสรับตำแหน่งต่อจากเฟลิกซ์ (กจ 24:27-25:1) ข้อมูลทั้งสองนี้ทำให้เรากำหนดวันเวลาของเหตุการณ์อื่นๆ ในชีวิตของเปาโลได้

           เปาโลเกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซีลีเซีย (กจ 9:11; 21:39; 22:3) ประมาณปี ค.ศ.10 ในทศวรรษแรกของคริสตกาล จากครอบครัวชาวยิวเผ่าเบนยามิน (รม 11:1; ฟป 3:5) มีสัญชาติโรมัน (กจ 16:37ฯ; 22:25-28; 23:27) เมื่อเป็นหนุ่ม เปาโลศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียดตามแบบของฟาริสีผู้เชี่ยวชาญ โดยเน้นธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นพื้นฐาน หนังสือกิจการอัครสาวกกล่าวว่า เปาโลศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเยรูซาเล็มกับกามาลิเอล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น หนังสือกิจการอัครสาวกยังบอกเราอีกว่าเปาโลเบียดเบียนพระศาสนจักรยุคเริ่มต้น (กจ 22:4ฯ; 26:9-12; กท 1:13; ฟป 3:6) มีส่วนรู้เห็นในการตายเป็นมรณสักขีของสเทเฟน (กจ 7:58; 22:20) เบียดเบียนคริสตชนชาวยิวที่พูดภาษากรีก ซึ่งแยกตัวจากลัทธิยิวที่เน้นพระวิหารกรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลาง  (กจ 8:3; 22:4; กท 1:13) แต่ขณะเดินทางไปยังเมืองดามัสกัส ประมาณปี ค.ศ.34 พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพปรากฏพระองค์ให้เปาโลเห็นและเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน พระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงทำให้เปาโลเข้าใจความจริงของความเชื่อคริสตชน และทรงแจ้งว่าพระองค์ทรงเลือกสรรเขาให้เป็นอัครสาวกของคนต่างชาติ (กจ 9:3-16//; กท 1:12, 15ฯ) นับตั้งแต่นั้น เปาโลอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พระคริสตเจ้าผู้ทรงเลือกท่านให้ติดตามพระองค์ (ฟป 3:12) หลังจากที่ใช้เวลาระยะหนึ่งในอาราเบีย เปาโลกลับมายังเมืองดามัสกัส (กท 1:17) และเริ่มเทศน์สอนที่นั่น (กจ 9:20) ต่อมาในราวปี ค.ศ.39 ท่านเดินทางผ่านกรุงเยรูซาเล็มเป็นเวลาสั้นๆ (กจ 9:26-29; กท 1:18) แล้วจึงออกเดินทางไปยังซีเรียและซีลีเซีย (กจ 9:30; กท 1:21) จนกระทั่งบารนาบัสไปเรียกตัวมาที่เมืองอันทิโอก และทั้งสองคนเทศน์สอนที่นั่น (กจ 11:25ฯ; และเทียบ 9:27)

           การเดินทางเพื่องานธรรมทูตครั้งแรก (ค.ศ.45-49) เปาโลไปที่เกาะไซปรัส แคว้นปัมฟีเลีย ปิสิเดียและลิคาโอเนีย (กจ 13-14) ท่านเริ่มใช้ชื่อกรีก “เปาโล” แทนชื่อยิว “เซาโล” (กจ 13:9) ในตอนแรกเปาโลเป็นเพียงผู้ช่วยบารนาบัส แต่ในการเดินทางเพื่องานธรรมทูต เปาโลน่าจะมีบทบาทมากจนกลายเป็นผู้นำบารนาบัส (กจ 14:12) ต่อมาในปี ค.ศ.49 คือสิบสี่ปีหลังจากการกลับใจ เปาโลขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม (กท 2:1) ท่านกับบารนาบัสได้รับการยอมรับว่าเป็นอัครสาวกของคนต่างชาติจากผู้นำพระศาสนจักรที่นั่น ซึ่งเป็น “อัครสาวกของผู้ที่เข้าสุหนัต” (กท 2:9-10) เราจะกล่าวถึงวันเวลาของการเดินทางเพื่องานธรรมทูตครั้งที่สอง (ค.ศ.50-52; กจ 15:36-18:22) และครั้งที่สาม (ค.ศ.53-58; กจ 18:23-21:17) ในภายหลังเมื่อจะพูดถึงจดหมายที่ท่านเขียนขึ้นในระหว่างการเดินทาง เปาโลถูกจับกุมที่กรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.58 (กจ 21:27-23:22) และถูกนำไปจำคุกที่เมืองซีซารียาในแคว้นปาเลสไตน์จนถึงปี ค.ศ.60 (กจ 23:23-26:32) ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ.60 นั้น เฟสตัสซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการควบคุมเปาโลส่งไปกรุงโรม (กจ 27:1-28:16) เปาโลอยู่ที่กรุงโรมเป็นเวลาสองปี (ค.ศ.61-63; กจ 28:30) ข้อมูลแน่นอนเกี่ยวกับชีวิตของเปาโลจบลงที่นี่ ธรรมประเพณีโบราณซึ่งใช้ข้อมูลจากจดหมายเกี่ยวกับการอภิบาลเล่าว่าเปาโลถูกขังอยู่สองปี หลังจากนั้นคดีของท่านถูกยกฟ้องเพราะขาดพยานหลักฐาน เปาโลจึงเดินทางกลับไปทางตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่เคยวางแผนที่จะเดินทางไปเยือนสเปน (รม 15:24, 28) (เราจะกล่าวในภายหลังว่า จดหมายเกี่ยวกับการอภิบาลทั้งสามฉบับนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด) ธรรมประเพณียังเล่าอีกว่าเปาโลถูกจองจำที่กรุงโรมอีกครั้งหนึ่งและถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีในปี ค.ศ.67

2. อุปนิสัยของเปาโล

2. อุปนิสัยของเปาโล

          ผู้อ่านเข้าใจอุปนิสัยของเปาโลและลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของท่านอย่างชัดเจนจากจดหมายที่ท่านเขียนและจากหนังสือกิจการอัครสาวก

          เปาโลเป็นบุคคลที่อุทิศตนอย่างมาก มุ่งมั่นจะบรรลุถึงอุดมการณ์ ไม่ว่าจะลำบากเพียงใด สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านคือพระเจ้า และในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า เปาโลปฏิเสธการประนีประนอมทุกชนิด เพราะความเด็ดเดี่ยวท่านจึงเบียดเบียนผู้ที่ท่านถือว่าเป็นศัตรูของพระเจ้า (ดู กจ 24:5,14) และต่อมาได้เทศน์ประกาศพระคริสตเจ้าเป็นพระผู้ไถ่สากลโลกแต่พระองค์เดียว ท่านรับใช้พระผู้ไถ่พระองค์นี้อย่างสุดจิตสุดใจด้วยความเสียสละตลอดชีวิต หลังจากกลับใจ ท่านรู้ดีว่าตนได้รับมอบหมายให้ทำงานใด (1 คร 9:16) และไม่ยอมให้สิ่งใดมาขัดขวางการทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ความทุกข์ทรมาน ความยากจน หรือการเสี่ยงตาย (1 คร 4:9-13; 2 คร 4:8; 6:4-10; 11:23-27) ความยากลำบากเหล่านี้มิได้ทำให้ความรักของท่านต่อพระเจ้าหรือต่อพระคริสตเจ้าลดน้อยลง (รม 8:35-39) ตรงกันข้าม กลับทำให้ท่านยินดีรับความยากลำบากดังกล่าว เพราะช่วยท่านให้คล้ายกับพระอาจารย์ผู้ทรงรับทรมาน และถูกตรึงบนไม้กางเขน (2 คร 4:10; ฟป 3:10) เปาโลรู้ดีว่ากระแสเรียกที่ท่านได้รับนั้นไม่เหมือนของผู้ใด ทำให้ท่านมีความใฝ่ฝันอย่างมาก แต่ไม่ทำให้ท่านหยิ่งยโส เปาโลภูมิใจในความรับผิดชอบดูแลกลุ่มคริสตชนหลายกลุ่ม แต่ยังมีความถ่อมตนโดยจริงใจ (2 คร 11:28 เทียบกับ คส 1:24) ท่านอ้างไว้ว่าท่านทำงานธรรมทูตมากกว่าคนอื่น (1 คร 15: 10 เทียบกับ 2 คร 11:5) และยังกล้าเสนอตนเป็นแบบฉบับสำหรับคริสตชนที่ท่านสอนให้กลับใจ (2 ธส 3:7 เชิงอรรถ b) ท่านไม่เคยลืมว่า ตนเป็นอัครสาวกที่ไม่สมควรที่สุด เพราะเคยเบียดเบียนพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า กิจการใหญ่ทั้งหลายที่ท่านทำสำเร็จ ท่านเห็นว่าเป็นพระหรรษทานของพระเจ้าที่ทำงานในตัวท่าน (1 คร 15:10; 2 คร 4:7; ฟป 4:13; คส 1:29)

               เปาโลเป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหว แสดงความอ่อนไหวต่อผู้ที่ท่านสอนให้กลับใจ มีความจริงใจต่อคริสตชนชาวฟีลิปปี (ฟป 1:7; 4:10-20) มีความรักล้ำลึกสำหรับคริสตชนชาวเอเฟซัส (กจ 20:17-38) แสดงความเกรี้ยวกราดกับคริสตชนชาวกาลาเทียซึ่งกำลังจะละทิ้งความเชื่อ (กท 1:6; 3:1-3) และความรู้สึกผิดหวังเมื่อรู้ว่าคริสตชนชาวโครินธ์เริ่มทะนงตน ถือดีและมีความโลเล (2 คร 12:11-13:10) บางครั้งเปาโลพูดประชดคนที่ท่านเห็นว่ามีความเชื่อไม่ลึกซึ้ง (1 คร 4:8; 2 คร 11:7; 12-13) บางครั้งพูดตรงไปตรงมา (1 คร 3:1-3; 5:1-2; 6:5; 11:17-22; 2 คร 11:3; กท 3:1-3; 4:11) แต่ท่านทำเช่นนี้ก็เพื่อความดีของคนเหล่านั้น (2 คร 7:8-13) และหลังจากแสดงอารมณ์เหล่านี้แล้ว ท่านจะแสดงความอ่อนโยนใหม่อีกครั้งหนึ่ง (2 คร 11:1-2; 12:14) มีความรู้สึกเหมือนบิดา (1 คร 4:14; 2 คร 6:13 เทียบกับ 1 ธส 2:11; ฟม 10 ) หรือเหมือนมารดาก็ว่าได้ (กท 4:19; 1 ธส 2:7) ปรารถนาอย่างมากที่จะแสดงความรักเหมือนแต่ก่อน (2 คร 7:11-13; กท 4:12-20)

               เปาโลจะแสดงความโกรธอย่างดุดันต่อผู้ที่ชักชวนคริสตชนของท่านให้หลงผิด ทั้งชาวยิวเคร่งศาสนาซึ่งขัดขวางคริสตชนที่พูดภาษากรีกอย่างรุนแรง และต่อต้านเปาโลในทุกที่ที่ท่านไป (กจ 13:45, 50; 14:2, 19; 17:5, 13; 18:6; 19:9; 21:27) ท่านยังแสดงความโกรธต่อคริสตชนชาวยิวที่ยังนิยมลัทธิยิวและต้องการให้ผู้ติดตามพระคริสตเจ้าทุกคนถือตามธรรมบัญญัติของโมเสสอีกด้วย (กท 1:7; 2:4; 6:12) เปาโลไม่เคยเห็นแก่หน้าคนพวกนี้เลย (กท 5:12; ฟป 3:2; 1 ธส 2:15) แม้ว่าเปาโลไม่คิดว่าตนเป็นใหญ่ แต่ท่านรู้สึกว่าตนเป็นอาวุธ ซึ่งไม่มีผู้ใดต้านทานได้ที่พระเจ้าทรงใช้ปราบผู้ต่อต้านที่ทะเยอทะยาน หยิ่งยโสและมีจิตใจรักโลก (2 คร 10:1-12:12) ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่ตัวของเปาโลเป็นอาวุธของพระเจ้า (กจ 18:3 เชิงอรรถ d) ผู้รู้เสนอแนวคิดว่าผู้คนที่เปาโลประณามอย่างรุนแรงนั้นคือบรรดาอัครสาวกอาวุโสที่กรุงเยรูซาเล็มเอง แต่ กท 2 บอกเราว่า เปาโลเคารพอำนาจของบรรดาอัครสาวกซึ่งปกครองดูแลกลุ่มคริสตชนชาวยิวในบริเวณกรุงเยรูซาเล็มอยู่เสมอ ขณะที่ท่านต่อต้านอิทธิพลของศิษย์บางคนของบรรดาอัครสาวกเหล่านี้ในกลุ่มคริสตชนที่มาจากคนต่างศาสนาซึ่งท่านก่อตั้งขึ้น เปาโลอ้างเพียงแต่ว่าท่านเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้ามากเท่ากับที่คนเหล่านั้นเป็น (1 คร 9:1; 15:8-11; กท 1:11) แม้เมื่อขัดแย้งกับเปโตรแล้ว (กท 2:11-14) ท่าทีของท่านก็ยังมีลักษณะปรองดอง ท่านรวบรวมเงินบริจาคเพื่อคริสตชนยากจนในกรุงเยรูซาเล็ม (กท 2:10) เพราะต้องการพิสูจน์ว่า คริสตชนต่างชาติก็เป็นหนึ่งเดียวกันกับคริสตชนของพระศาสนจักรแม่อย่างแท้จริง (รม 15:25; 2 คร 8:14; 9:12-13) แม้ว่าเงินบริจาคนั้นจะไม่ได้รับการตอบรับก็ตาม (กจ 21:17-25)

3. เปาโลผู้เทศน์สอน

3. เปาโลผู้เทศน์สอน

                สาระสำคัญของเรื่องที่เปาโลเทศน์สอนคือ “ข่าวดีซึ่งบรรดาอัครสาวกประกาศสอน” (apostolic kerygma) (กจ 2:22 เชิงอรรถ n) คือการประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ (1 คร 2:2; 15:3-4; กท 3:1) คำสอนที่เปาโลเรียกว่าเป็นข่าวดี “ของตน” (รม 2:16; 16:25) ก็คือความเชื่อเดียวกันกับของบรรดาอัครสาวกอื่นๆ (กท 1:6-9; คส 1:5-7) ต่างกันเพียงในเรื่องที่เปาโลไม่มีข้อจำกัดในการรับคนต่างชาติเข้าเป็นคริสตชน งานธรรมทูตครั้งแรกของเปาโลตามที่เล่าไว้ใน กจ 11 นั้น เริ่มขึ้นที่เมืองอันทิโอกในกลุ่มคริสตชนต่างชาติที่คริสตชนชาวยิวพูดภาษากรีกเทศน์สอนให้กลับใจ “คริสตชนชาวยิวพูดภาษากรีกเหล่านี้กระจายไป หลังจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เมื่อสเทเฟนถูกประหารชีวิต” (กท 1:16; 2:7-9) เปาโลยอมรับและบางครั้งยังอ้างถึงธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวก (1 คร 11:23; 15:3-7) ซึ่งท่านรู้ดีว่ามีอยู่ก่อนแล้ว เปาโลคงไม่เคยพบกับพระเยซูเจ้า ในเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ในโลก (ดู 2 คร 5:16 เชิงอรรถ g ) แต่ท่านก็คุ้นเคยกับคำสั่งสอนของพระองค์ (กจ 20:35; 1 คร 7:10ฯ; 1 ธส 4:15) และกล่าวอ้างอย่างมั่นใจว่าได้เห็นพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ ไม่เพียงแต่เมื่อเดินทางไปเมืองดามัสกัสเท่านั้น (กจ 9:17; 22: 14ฯ; 26:16; 1 คร 9:1; 15:8) แต่เห็นพระองค์หลายครั้งในโอกาสต่อๆ มาอีกด้วย (กจ 22:17-21; 26:16) ท่านยังได้รับการเปิดเผยโดยตรง เคยเข้าฌาน (2 คร 12:1-4) แต่ในเวลาเดียวกัน ท่านยังเรียกคำสอนที่ได้รับจากธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกว่า เป็นการสื่อโดยตรงจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย (1 คร 11:23; กท 1:12)

                ประสบการณ์เชิงฌานเหล่านี้ มีบางคนคิดว่าเกิดขึ้นจากอารมณ์อ่อนไหว และไม่ปกติของเปาโล แต่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เราไม่อาจชี้ชัดว่าโรคที่หน่วงเหนี่ยวตัวท่านไว้ในแคว้นกาลาเทียนั้น (กท 4:13-15) เป็นโรคใด สำนวนที่ว่า “หนามที่แทงข้างตัวข้าพเจ้า” (2 คร 12:7) อาจจะหมายถึงการเป็นศัตรูคู่อริอย่างต่อเนื่องของชาวยิวซึ่งเป็นพี่น้องของท่าน “ตามธรรมชาติ” (รม 9:3) เปาโลไม่น่าจะมีจินตนาการมากนัก ตามที่เห็นได้จากการใช้ภาพเปรียบเทียบน้อยมากและภาพที่ใช้ก็เป็นภาพธรรมดา เช่นการแข่งขันกรีฑา (1 คร 9:24-27; ฟป 3:12-14) และทะเล เปาโลใช้ภาพพจน์เรื่องกสิกรรม (1 คร 3:6-8) และการก่อสร้าง (รม 15:20; 1 คร 3:10-17) ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาจนมักจะนำเอามาปนกัน (1 คร 3:9; คส 2:7 เทียบกับ คส 2:19) แต่อัจฉริยภาพของท่านอยู่ในการคิดตามเหตุผลมากกว่าในจินตนาการ แม้แต่เมื่อใช้อารมณ์ เปาโลก็ยังคิดตามเหตุผลอย่างเคร่งครัดในการอธิบายคำสอน และรู้จักปรับคำสอนให้เข้ากับความต้องการของผู้ฟัง ความจำเป็นที่จะต้องปรับคำสอนให้เข้ากับโอกาสนี้ทำให้เปาโลนำ “ข่าวดีที่บรรดาอัครสาวกประกาศสอน” มาวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดเป็นเทววิทยาลึกซึ้งที่เราได้รับมาจนทุกวันนี้ เปาโลใช้เหตุผลอ้างตามวิธีการของอาจารย์ชาวยิวดังที่ท่านได้รับการฝึกฝน  ในปัจจุบันเราอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้เหตุผลลักษณะนี้ (เช่นใน กท 3:16; 4:21-31) อัจฉริยภาพของท่านไม่ถูกจำกัดอยู่ในธรรมประเพณีที่ท่านได้รับถ่ายทอดมา วิธีคิดตามแบบโบราณเหล่านี้มิได้ทำให้คำสอนของท่านมีความลึกซึ้งน้อยลง

                เปาโลเป็นชาวยิวได้รับการศึกษาพื้นฐานจากวัฒนธรรมกรีก ซึ่งคงจะได้รับในวัยเด็กที่เมืองทาร์ซัส อิทธิพลนี้เห็นได้ชัดเจนทั้งในวิธีการคิด และในวิธีการเขียนของท่านอีกด้วย บางครั้งท่านยกข้อความจากนักเขียนกรีก (กจ 17:28; 1 คร 15:33) และคุ้นเคยกับปรัชญาลัทธิสโตอิกแบบชาวบ้าน ซึ่งท่านขอยืมความคิดบางอย่างมาใช้ เช่น เรื่องวิญญาณที่แยกจากร่างกายและถูกกำหนดไว้สำหรับอีกโลกหนึ่งใน 2 คร 5:6-8 หรือเรื่องบูรณาการ (pleroma) ของจักรวาลใน คส และสูตรตายตัวต่างๆ (รม 11:36; 1 คร 8:6) เปาโลขอยืมวิธีการถามตอบสั้นๆ (รม 3:1-9, 27-31) การรวมคำเข้าด้วยกันจากพวกไซนิกและสโตอิก (2 คร 6:4-10) ตลอดจนการใช้วลียาวๆ มารวมเรียงกันเป็นคลื่นลูกแล้วลูกเล่า (อฟ 1:3-14; คส 1:9-20) ก็เคยมีใช้อยู่แล้วในวรรณกรรมทางศาสนาของกรีก ภาษากรีกเป็นภาษาที่สองของเปาโล (ดู กจ 21:40) ท่านใช้ได้คล่องแคล่ว แม้จะมีสำนวนเซมิติกแทรกเข้ามาบ้างบางครั้ง ภาษากรีกของเปาโลเป็นภาษากรีกสามัญที่ใช้กันทั่วไปในสมัยนั้น แต่อยู่ในระดับของผู้ได้รับการศึกษา เปาโลไม่เคยคิดพยายามที่จะใช้ภาษาสละสลวยแบบอัตติก และท่านจงใจไม่ใช้วาทศิลป์ เพื่อผู้ฟังจะได้มีความเชื่อ ไม่ใช่เพราะรูปแบบของภาษาที่ใช้ แต่เพราะเนื้อหาของข่าวดีที่ต้องเชื่อและเพราะเครื่องหมายซึ่งพระจิตเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้เพื่อรับรองข่าวดีนั้น (รม 15:18; 1 คร 2:4ฯ; 1 ธส 1:5) การไม่สนใจในความสละสลวยของภาษาเป็นเหตุผลหนึ่งที่บางครั้งเปาโลเขียนผิดไวยากรณ์ หรือเขียนไม่จบประโยค (1 คร 9:15) เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ บางครั้งท่านคิดเร็วและใช้อารมณ์มากเกินไป เหตุผลประการที่สามคือ ตามปกติเปาโลมักให้คนอื่นเป็นคนเขียนตามคำบอก (รม 16:22) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของสมัยนั้นจะมีข้อยกเว้นก็น้อยมาก (ฟม 19) ท่านเพียงแต่เขียนคำทักทายลงท้ายแทนการลงนามกำกับเท่านั้น (1 คร 16:21; กท 6:11; คส 4:18; 2 ธส 3:17) มีข้อความบางตอนในจดหมายของเปาโลที่เขียนขึ้นโดยคิดและตริตรองเป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น คส 1:15-20 แต่ส่วนใหญ่แล้ว จดหมายของท่านชวนให้คิดว่าเขียนขึ้นโดยฉับพลันและไม่มีการทบทวนแก้ไข ทั้งๆ ที่มีข้อบกพร่องหรืออาจเป็นเพราะความบกพร่องทางวรรณกรรมที่ทำให้ประโยคของเปาโลมีชีวิตชีวาและมีความหมายหนักแน่น จดหมายของเปาโลอ่านเข้าใจยาก (2 ปต 3:16) ความคิดลึกซึ้งที่รีบเขียนก็เข้าใจยากเสมอ แต่ข้อความบางตอนของเปาโลสื่อความหมายทางศาสนาและวรรณกรรมได้อย่างดีน่าพิศวง

                จดหมายของเปาโลไม่ได้มุ่งเป็นตำราสอนเทววิทยา จดหมายส่วนใหญ่เป็นคำตอบที่เปาโลให้กับปัญหาเฉพาะหน้าบางเรื่องที่เกิดขึ้นในกลุ่มคริสตชนที่ท่านเขียนถึง จดหมายเหล่านี้จะเริ่มต้นตามแบบจดหมายทั่วไป (รม 1:1 เชิงอรรถ a) แต่ไม่อาจจัดเข้าในประเภทจดหมายส่วนตัว หรือ “สาสน์” ทางวรรณกรรม  จดหมายเหล่านี้เป็นคำสั่งสอนของเปาโลที่มุ่งสอนกลุ่มผู้อ่านกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมุ่งถึงผู้มีความเชื่อทุกคนโดยทั่วไปอีกด้วย จดหมายของเปาโลไม่ได้อธิบายคำสอนของท่านอย่างเป็นระบบโดยครบถ้วน เพราะคิดว่าผู้อ่านได้รับคำสอนที่เปาโลเคยเทศน์สอนโดยตรงแล้ว จดหมายเพียงแต่ขยายความและอธิบายคำสอนบางเรื่องเท่านั้น แต่ก็มิได้ลดคุณค่าของจดหมายเหล่านี้ ความลึกซึ้งและขอบข่ายของจดหมายทำให้เรารู้สาระสำคัญของการเทศน์สอนของเปาโลได้ทั้งหมด เปาโลจะมีเหตุผลใดในการเขียน หรือเขียนถึงใคร คำสอนพื้นฐานก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เปาโลเป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคน (1 คร 9:19-22) ท่านปรับหลักคำสอนพื้นฐานข้อนี้ให้เข้ากับผู้ฟัง พัฒนาและขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น บางครั้งเปาโลถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่มีแนวคิดของตนเอง เลือกใช้ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือที่ขัดแย้งกันตามสภาพแวดล้อมที่พบ ไม่สนใจความจริงเท่ากับที่จะชักชวนผู้อื่นให้เชื่อในพระคริสตเจ้า ท่านยังถูกกล่าวหาอีกว่าเป็นคนมีความคิดที่ไม่เปิดกว้าง ถูกครอบงำด้วยภาพนิมิตที่ทำให้ท่านกลับใจ และไม่ปล่อยให้ความคิดของตนพัฒนายิ่งขึ้น แต่ความจริงในข้อกล่าวหาทั้งสองนี้คือเทววิทยาของเปาโลมีแนวความคิดเดียวกัน แต่พัฒนาโดยการนำของพระจิตเจ้า ผู้ทรงดลใจกิจการที่เปาโลทำในฐานะเป็นอัครสาวก เราควรอ่านจดหมายของเปาโลตามลำดับที่เขียนขึ้น เพื่อจะเห็นการพัฒนาความคิดของเปาโล ลำดับของจดหมายที่พิมพ์อยู่ในพระคัมภีร์เป็นลำดับตามธรรมประเพณีซึ่งจัดจดหมายต่างๆ เรียงตามความยาวที่ลดหลั่นลงมา

4. การเดินทางและจดหมายของเปาโล

4.1 จดหมายถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1 และ 2 (ค.ศ. 50-51)

4.1 จดหมายถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1 และ 2 (ค.ศ.50-51)

               จดหมายฉบับแรกๆ ที่เปาโลเขียนเป็นจดหมายถึงผู้ที่เปาโลเทศน์สอนให้กลับใจที่เมืองเธสะโลนิกาในฤดูร้อนปี ค.ศ.50 ระหว่างการเดินทางเพื่องานธรรมทูตครั้งที่สอง (กจ 17:1-10) เนื่องจากชาวยิวบางคนแสดงตนเป็นศัตรู เปาโลจึงเดินทางต่อไปยังเมืองเบโรอาและจากที่นั่นเปาโลเดินทางต่อไปถึงกรุงเอเธนส์และเมืองโครินธ์ เปาโลน่าจะเขียน 1 ธส ที่เมืองนี้ในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ.50-51 สิลาสและทิโมธีเป็นเพื่อนร่วมงานของเปาโลเมื่อท่านเขียนจดหมายฉบับนี้ ทิโมธีไปเยี่ยมคริสตชนที่เมืองเธสะโลนิกาอีกครั้งหนึ่ง และนำข่าวดีมาแจ้งว่า พวกเขารักษาความเชื่อไว้แม้ต้องถูกเบียดเบียน ดังนั้น เปาโลจึงเขียนจดหมายถึงพวกเขาใช้สำนวนแสดงความรัก ความเอ็นดูที่ปรากฏอยู่ในบทแรกๆ ของจดหมาย (1-3) ต่อจากนั้น เปาโลแนะนำทางปฏิบัติบางประการ (4:1-12; 5:12-28) รวมทั้งตอบคำถามของพวกเขาเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ตาย และเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า (parousia) (4:13-5:11) ที่เมืองโครินธ์นี้เองหลังจากนั้นไม่กี่เดือน เปาโลอาจเขียน 2 ธส เพื่อให้ข้อแนะนำทางปฏิบัติบางประการเพิ่มเติม (1; 2:13-3:15) สอนเพิ่มเติมเรื่องเวลาของการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์และเครื่องหมายที่จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมานั้น (2:1-12)

               1 และ 2 ธส มีลักษณะทางวรรณกรรมใกล้เคียงกันมากจนนักวิจารณ์บางคนคิดว่า 2 ธส เป็นจดหมายปลอมของบุคคลหนึ่งซึ่งซึมซับความคิดและลีลาการเขียนของเปาโล แต่จะอธิบายได้ยากว่าเหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น คำอธิบายที่น่าเชื่อมากกว่าน่าจะเป็นว่า เปาโลต้องการให้คำสอนเกี่ยวกับเรื่องอันตวิทยาชัดเจนขึ้น จึงใช้ถ้อยคำและสำนวนจากจดหมายฉบับแรกมาเขียนจดหมายฉบับที่สอง จดหมายทั้งสองฉบับไม่ขัดแย้งกันแต่เสริมกัน และพระศาสนจักรในสมัยแรกๆ ก็ยอมรับว่า ทั้งสองฉบับเป็นจดหมายที่เปาโลเขียนขึ้น

                จดหมายสองฉบับนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องมาจากคำสอนเกี่ยวกับอันตวิทยา และยังเสนอความคิดบางข้อที่จะได้รับการอธิบายเพิ่มเติมอย่างละเอียดในจดหมายฉบับหลังๆ ในขั้นแรกนี้ เปาโลมีความคิดที่พยายามตอบคำถามว่า การกลับคืนพระชนมชีพและการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้านำความรอดพ้นมาให้ผู้ติดตามพระองค์ ทั้งที่ยังมีชีวิตและที่ตายไปแล้วได้อย่างไร (1 ธส 4:13-18) เปาโลบรรยายการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์นี้โดยใช้สำนวนที่ได้จากธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวยิวและจากวรรณกรรมวิวรณ์ของคริสตชนสมัยแรก(ตัวอย่างเช่น บทเทศน์ของพระเยซูเจ้าเรื่องอันตวิทยาในพระวรสารสหทรรศน์ (ซีนอปติก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน มธ) ครั้งหนึ่งเปาโลเน้นว่า เวลาของการเสด็จมานั้นแม้จะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าแต่ก็ใกล้จะมาถึงอยู่แล้ว จึงต้องคอยเฝ้าระวังอยู่เสมอ (1 ธส 5:1-11) การกล่าวเช่นนี้ชวนให้คิดว่าเปาโลและผู้อ่านจดหมายจะมีชีวิตอยู่จนได้เห็นเหตุการณ์นั้น (4:17) แต่ในครั้งอื่นๆ (2 ธส 2:1-12) เปาโลพยายามลดความกังวลที่เกิดขึ้นจากข้อเขียนข้างต้นนี้โดยเตือนผู้อ่านว่า วันนั้นจะยังมาไม่ถึงจนกว่าจะมีเครื่องหมายบางประการเกิดขึ้นก่อน ผู้อ่านในสมัยแรกเข้าใจชัดว่าเครื่องหมายเหล่านี้คืออะไร แต่ไม่ชัดเจนสำหรับเราในปัจจุบัน เปาโลดูเหมือนจะถือว่า “คู่อริ” เป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งจะต้องรอจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของโลกก่อนที่จะปรากฏตัวได้ นักเขียนบางคนคิดว่า เปาโลใช้วลีที่ว่า “สิ่งที่ยังหน่วงเหนี่ยวเขาไว้” นั้น (2 ธส 2:6) หมายถึงจักรวรรดิโรมัน แต่บางคนคิดว่าท่านหมายถึงการประกาศข่าวดี เราไม่อาจกำหนดความหมายให้ชัดเจนได้

4.2 จดหมายถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 และ 2 (ค.ศ. 57)

4.2  จดหมายถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 และ 2 (ค.ศ.57)

                เปาโลเขียนจดหมายถึงชาวเธสะโลนิกาในช่วงเวลาสิบแปดเดือนที่ท่านใช้ประกาศข่าวดีที่เมืองโครินธ์ (กจ 18:1-18) ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.50 จนถึงกลางปี ค.ศ.52 นโยบายของเปาโลคือสถาปนาความเชื่อคริสตชนขึ้นตามศูนย์กลางที่มีประชากรหนาแน่น และที่นี่ท่านเลือกเมืองโครินธ์ซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่และมีพลเมืองมาก เพื่อความเชื่อจะแผ่ขยายจากที่นั่นไปจนทั่วแคว้นอาคายา (2 คร 1:1; 9:2) กลุ่มคริสตชนที่เปาโลก่อตั้งขึ้นนั้นขยายตัวเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ประกอบด้วยคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ (1 คร 1:26-28) แต่เมืองโครินธ์เป็นทั้งศูนย์กลางใหญ่ของวัฒนธรรมกรีกที่ดึงดูดปรัชญาและศาสนาทุกประเภทมารวมกัน และเป็นเมืองที่มีความเสื่อมทางศีลธรรม เมืองโครินธ์เป็นสภาพแวดล้อมที่อาจสร้างปัญหาน่าลำบากใจสำหรับคริสตชนที่กลับใจใหม่ เปาโลเขียนจดหมายสองฉบับถึงคริสตชนที่เมืองโครินธ์ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

                เป็นที่ชัดเจนว่า เปาโลเขียนจดหมายทั้งสองฉบับนี้อย่างไร แม้ว่ารายละเอียดบางประการยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ น่าจะมีจดหมายอีกฉบับหนึ่งก่อนจดหมายสองฉบับที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ (1 คร 5:9-13) แต่ไม่ปรากฏว่าจดหมายฉบับแรกเขียนขึ้นเมื่อใด และจดหมายฉบับดังกล่าวก็ไม่ปรากฎมาถึงปัจจุบัน ระหว่างการเดินทางเพื่องานธรรมทูตครั้งที่สาม (กจ 19:1-20:1) ขณะที่เปาโลอยู่ที่เมืองเอเฟซัสเกือบสองปีครึ่ง (ค.ศ.54-57) ตัวแทนของชาวโครินธ์กลุ่มหนึ่งมาพบเปาโลเพื่อถามปัญหาบางประการ (1 คร 16: 17) เปาโลได้รับข่าวเกี่ยวกับชาวโครินธ์มาก่อนแล้วจากอปอลโล (กจ 18:27ฯ; 1 คร 16:12) และจากครอบครัวของคะโลเอ (1 คร 1:11) จึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องเขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ 1 คร เปาโลคงเขียนจดหมายฉบับนี้ในระยะเวลาใกล้กับฉลองปัสกาปี ค.ศ.57 (1 คร 5:7ฯ; 16:5-9 เทียบกับ กจ 19:21) หลังจากนั้นไม่นานเกิดวิกฤตการณ์บางอย่างขึ้นที่เมืองโครินธ์อีก และเปาโลจำเป็นต้องไปที่นั่นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่นำความทุกข์มาให้ (2 คร 1:23-2:1; 12:14; 13:1-2) ขณะที่อยู่ที่เมืองโครินธ์นั้น เปาโลสัญญาจะมาเยี่ยมอีกครั้งหนึ่งและอยู่นานกว่านั้น (2 คร 1:15-16) แต่เปาโลไม่อาจไปตามที่สัญญาไว้ เปาโลมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแทน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือวิกฤตการณ์ครั้งที่สอง อำนาจที่เปาโลมอบให้ผู้แทนนั้นถูกท้าทาย (2 คร 2:5-10; 7:12) เปาโลยังไม่ได้มาเยี่ยมตามที่สัญญาไว้ แต่ส่งจดหมายที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเขียนขึ้น “ในความทุกข์ใจ” (2 คร 2:3ฯ, 9) จดหมายฉบับที่สามนี้บังเกิดผลตามที่ต้องการ (2 คร 7:8-13) เปาโลได้รับรายงานข่าวดีนี้จากทิตัส หลังจากที่ออกเดินทางไปยังแคว้นมาซิโดเนียแล้ว (2 คร 2:12ฯ; 7:5-16) โดยต้องออกจากเมืองเอเฟซัสเพราะเกิดการจลาจลอย่างรุนแรงที่เราไม่รู้รายละเอียดมากนัก (กจ 19:23-40; 1 คร 15:32; 2 คร 1:8-10) บัดนี้ ประมาณปลายปี ค.ศ.57 เปาโลเขียน 2 คร หรือส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับนี้ (1:1-6:13; 7:2-16 ดูข้างล่าง) หลังจากนั้น ท่านคงเดินทางผ่านเมืองโครินธ์ (กจ 20:1ฯ; ดู 2 คร 9:5; 12:14; 13:1,10) เพื่อไปยังกรุงเยรูซาเล็มและถูกจับกุมที่นั่นในวันเปนเตกอสเต

                 มีผู้เสนอความคิดเห็นว่า 2 คร 6:14 -7:1 น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับแรกที่ขาดหายไป และ 2 คร 10-13 เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่เขียนขึ้น “ในความทุกข์ใจ” เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่า ข้อความทั้งสองตอนนี้เป็นส่วนของจดหมายสองฉบับดังกล่าว แต่ค่อนข้างแน่นอนว่า ข้อความทั้งสองนี้ไม่ได้อยู่ในบริบทเดิม ข้อความตอนแรกน่าจะถูกแทรกเข้ามา 2 คร 7:2 เน้นความต่อเนื่องกับ 6:13 อย่างดี และ 6:14 -7:1 มีลักษณะคล้ายกับวรรณกรรมของพวกเอสเซนที่พบที่คุมราน ข้อความดุดันที่สอง (2 คร 10-13) น่าจะอยู่นอกจดหมายฉบับนี้อย่างแน่นอนเพราะขัดกับสำนวนแสดงความเป็นมิตร 9 บทก่อนหน้านั้น นอกจากการอยู่ผิดที่ของสองตอนที่กล่าวถึงนี้แล้ว ยังต้องกล่าวอีกว่า 9:1 น่าจะไม่มีความหมายหลังจากข้อความในบทที่ 8 ที่กล่าวถึงการเก็บเงินบริจาค บทที่ 9 นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ข้อความต่างๆ เหล่านี้เขียนขึ้นในโอกาสต่างกัน และต่อมาข้อความเหล่านี้ถูกนำมารวมเข้าไว้ในจดหมายฉบับเดียวกันเมื่อมีการรวบรวมข้อเขียนของเปาโล

                รายละเอียดที่เปาโลกล่าวถึงตนและวิธีปฏิบัติต่อบรรดาคริสตชนในจดหมายถึงชาวโครินธ์มีความสำคัญในด้านคำสอนเช่นเดียวกับ 1 คร โดยเฉพาะให้ข้อมูลที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่กลุ่มคริสตชนกำลังเผชิญอยู่ และบอกให้รู้ถึงข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ในส่วนที่เป็นปัญหาภายในกลุ่มคริสตชน มีปัญหาเรื่องความประพฤติทางศีลธรรม (1 คร 5:1-13; 6:12-20) เรื่องการสมรสและการถือพรหมจรรย์ (7:1-40) เรื่องการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมและศีลมหาสนิท เรื่องพระคุณของพระจิตเจ้า (12:1-14:40) ส่วนปัญหาความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรและโลก คือปัญหาที่คริสตชนขึ้นศาลบ้านเมือง (6:1-11) และการกินอาหารที่ถวายแก่รูปเคารพ (บทที่ 8-10) เปาโลจึงเป็นบุคคลอัจฉริยะด้านศาสนาที่ทำให้ปัญหาทางมโนธรรมส่วนตน หรือคำสอนทางพิธีกรรมเป็นสื่อสอนอย่างลึกซึ้งเรื่องเสรีภาพแบบคริสตชน เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของร่างกาย เรื่องความรักเป็นคุณธรรมสูงสุดของคุณธรรมทั้งหลาย และเรื่องของความชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า เมื่อถูกบังคับให้ต้องปกป้องตำแหน่งอัครสาวกของตน ( 2 คร 10-13) เปาโลเขียนข้อความอย่างน่าฟังเกี่ยวกับศักดิ์ศรี ภารกิจการเป็นอัครสาวก ( 2 คร 1:12-6:10) และพูดถึงเรื่องการเรี่ยไร (2 คร 8-9) เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาโดยคำนึงถึงอุดมคติของการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มคริสตชนต่างๆ พื้นฐานหลักคำสอนเรื่องอันตวิทยายังคงอยู่ในความคิดของเปาโลเสมอ และเป็นมุมมองที่เปาโลใช้เพื่ออธิบายเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย (1 คร 15) ในจดหมายฉบับนี้ เปาโลไม่ใช้ภาพเปรียบเทียบตามแบบที่ได้ใช้ใน 1 และ 2 ธส แต่ใช้เหตุผลทางปรัชญา เพื่อสนับสนุนหลักคำสอนที่นักคิดชาวกรีกยอมรับได้ยาก การปรับพระวรสารให้เข้ากับวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่วัฒนธรรมยิว เห็นได้ชัดเจนในความขัดแย้งของความเขลาเรื่องไม้กางเขนและความเฉลียวฉลาดแบบกรีก คริสตชนที่เมืองโครินธ์แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก แต่ละพวกต่างภูมิใจผู้นำของตน โอ้อวดความสามารถของเขา เปาโลเตือนพวกเขาว่า มีพระอาจารย์เพียงพระองค์เดียว คือพระคริสตเจ้า มีข่าวดีแต่เพียงข้อเดียว คือไม้กางเขน มีปรีชาญาณแท้เพียงอย่างเดียว (1 คร 1:10-4:13) สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เปาโลก็ยังยึดมั่นเรื่องอันตวิทยาเป็นอันดับแรก ความคิดของเปาโลพัฒนาเน้นว่าชีวิตของเราในโลกปัจจุบันนี้ก็คือชีวิตเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพระคริสตเจ้าและบรรดาศิษย์ การเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้สำเร็จได้อาศัยความเชื่อ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่เรารู้จักพระองค์ได้ แต่เปาโลจะเข้าใจเรื่องชีวิตอาศัยความเชื่อนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์กับชาวยิวในแคว้นกาลาเทีย

4.3 จดหมายถึงชาวกาลาเทียและถึงชาวโรม : ค.ศ. 57-58

4.3  จดหมายถึงชาวกาลาเทียและถึงชาวโรม (ค.ศ.57-58)

                  จดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสตชนชาวกาลาเทียและชาวโรมควรจะนำมาพิจารณาควบคู่กัน เพราะจดหมายทั้งสองฉบับนี้วิเคราะห์ปัญหาเดียวกัน จดหมายถึงชาวกาลาเทียเป็นปฏิกิริยาฉับพลันของเปาโลต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่จดหมายถึงชาวโรมเป็นการอธิบายตามลำดับอย่างสมบูรณ์กว่า และโดยไม่มีอารมณ์ซึ่งเกิดจากปัญหาขัดแย้งที่ผ่านมา ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของจดหมายสองฉบับนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่จะไม่จัดว่าจดหมายนี้เขียนขึ้นในระยะแรก (ก่อนปี ค.ศ.49 ในช่วงประชุมสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็ม) ตามที่นักพระคัมภีร์บางคนสันนิษฐาน โดยให้เหตุผลว่า การไปกรุงเยรูซาเล็มครั้งที่สองของเปาโล (กท 2:1-10) คือการไปที่นั่นเป็นครั้งที่สองดังที่กล่าวไว้ใน กจ 11:30; 12:25 และไม่ใช่ครั้งที่สาม (กจ 15:2-30) เพราะรายละเอียดหลายประการในหนังสือกิจการอัครสาวกแตกต่างไปจากรายละเอียดที่เปาโลให้ไว้ เหตุผลที่พวกเขาอ้างอีกข้อหนึ่งคือ เปาโลน่าจะไม่รู้ถึงข้อกำหนดของสังคายนาครั้งนี้ (กจ 15:20, 29 ดู กท 2:6) จดหมายถึงชาวกาลาเทียนี้จึงต้องเขียนขึ้นก่อนสังคายนา พวกเขาให้เหตุผลว่า ความยุ่งยากทั้งหลายจะหมดไปถ้าเรายอมรับว่า “ชาวกาลาเทีย” คือคริสตชนชาวแคว้นลิคาโอเนียและปิสิเดียที่เปาโลประกาศพระวรสารในระหว่างการเดินทางธรรมทูตครั้งแรกที่เปาโลใช้เส้นทางเดียวกันทั้งไปและกลับ ซึ่ง กท 4:13 อาจจะทำให้เข้าใจได้ถึงการเยี่ยมสองครั้ง แต่สมมติฐานนี้มีหลักฐานสนับสนุนน้อยมาก นอกจากความจริงที่ว่า แคว้นลิคาโอเนียและปิสิเดียเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกาลาเทียของอาณาจักรโรมันในปี 36-25 ก่อนคริสตกาล แต่ในศตวรรษแรกของคริสตศักราช “กาลาเทีย” มักจะหมายถึงแคว้นกาลาเทียจริงซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของแคว้นลิคาโอเนียและปิสิเดีย ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเรียกพลเมืองของแคว้นทั้งสองว่าเป็น “ชาวกาลาเทีย” (กท 3:1) สมมติฐานนี้ไม่จำเป็นต้องมีการไปกรุงเยรูซาเล็มครั้งที่สองที่กล่าวถึงใน กท 2:1-10 อาจนับได้ว่าเป็นครั้งเดียวกันกับการไปครั้งที่สามที่กล่าวไว้ใน กจ 15 ดีกว่าจะนับว่าเป็นการไปครั้งที่สองที่กล่าวถึงใน กจ 11:30; 12:25 เหตุผลของความแตกต่างอาจเป็นว่า เปาโลเห็นว่าการไปครั้งที่สองในกิจการอัครสาวกไม่สำคัญมากนัก จึงไม่กล่าวถึงใน กท หรือการไปครั้งนี้เป็นเพียงการเล่าซ้ำของลูกา เพราะเหตุผลทางวรรณกรรมเท่านั้น (ดู ความรู้เกี่ยวกับหนังสือกิจการอัครสาวก และ กจ 11:30 เชิงอรรถ p) ดังนั้นจดหมายถึงชาวกาลาเทียจึงเขียนขึ้นหลังจากสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็มอย่างแน่นอน เหตุผลที่เปาโลไม่กล่าวถึงข้อกำหนดของสังคายนาอาจจะเป็นเพราะว่า ข้อกำหนดนี้เขียนขึ้นภายหลังจดหมายถึงชาวกาลาเทีย หรือว่าเปาโลได้รู้ถึงข้อกำหนดดังกล่าวเมื่อท่านกลับไปกรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.58 เท่านั้น ดังนี้ เราจึงเข้าใจถึงพฤติกรรมของเปโตรซึ่งเปาโลไม่เห็นด้วย (กท 2:11-14) คริสตชนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงจึงหมายถึง “ชาวแคว้นกาลาเทีย” (นั่นคือกาลาเทียตอนเหนือ) ซึ่งเปาโลเดินทางผ่านในการเดินทางธรรมทูตครั้งที่สองและสาม (กจ 16:6; 18: 23) จดหมายอาจจะเขียนขึ้นที่เมืองเอเฟซัส หรือที่แคว้นมาซิโดเนีย ในราวปี 57

                จดหมายถึงคริสตชนชาวโรมน่าจะเขียนขึ้นไม่นานหลังจากนั้น ในฤดูหนาวปี ค.ศ.57-58 เปาโลอยู่ที่เมืองโครินธ์ กำลังเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มแล้วจะไปยังสเปนโดยผ่านกรุงโรม (รม 15:22-32 เทียบ 1 คร 16:3-6; กจ 19:21; 20:3) เปาโลไม่ได้ก่อตั้งพระศาสนจักรที่กรุงโรม และไม่รู้เรื่องพระศาสนจักรที่นั่นมากนัก (อาจรู้บ้างจากบางคน เช่น อาควิลลา กจ 18:2) จากทั้งรายละเอียดที่เปาโลเขียนในจดหมายฉบับนี้ เรารู้ว่าพระศาสนจักรที่กรุงโรมประกอบด้วยคริสตชนที่เป็นชาวยิวและไม่ใช่ยิว และมีอันตรายที่ทั้งสองกลุ่มจะดูถูกซึ่งกันและกัน เพราะอันตรายข้อนี้ เปาโลจึงคิดว่าเป็นการรอบคอบที่จะส่งจดหมายไปก่อนเพื่อนำทาง (โดยทางศาสนบริกรสตรีเฟบี รม 16:1) ในจดหมายนี้เปาโลให้วิธีแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิยิวและคริสตศาสนา ซึ่งเปาโลพัฒนาขึ้นจากวิกฤตการณ์ในแคว้นกาลาเทีย เปาโลนำความคิดที่เคยเขียนไว้แล้วใน กท มาเรียบเรียงเป็นลำดับดีขึ้นและให้เหตุผลกระชับมากขึ้น จดหมายถึงชาวกาลาเทียให้ความรู้สึกว่าเป็นเสียงร้องจากหัวใจ ในเสียงร้องนี้ เปาโลได้ชี้แจงพฤติกรรมของตน (1:11-2:21) ร่วมกับเหตุผลทางเทววิทยา (3:1-4:31) และคำตักเตือนที่หนักแน่น (5:1-6:18) ส่วนจดหมายถึงชาวโรมเป็นบทความที่วางแผนไว้เป็นอย่างดี แบ่งเป็นภาคใหญ่ไม่กี่ตอน แต่เชื่อมประสานกันอย่างกลมกลืน โดยเกริ่นความคิดหลักไว้ในตอนแรกและนำมาขยายความให้กว้างขึ้นในตอนหลัง

                 จดหมายถึงคริสตชนชาวโรมเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นจดหมายที่เปาโลเขียนจริง เช่นเดียวกับจดหมายถึงชาวโครินธ์และชาวกาลาเทีย แม้บางคนจะคิดว่า บทที่ 15 และบทที่ 16 เสริมเข้ามาในภายหลัง บทที่ 16 มีคำทักทายผู้คนจำนวนมาก และอาจจะเป็นข้อความที่แยกออกมาถึงคริสตชนที่เมืองเอเฟซัส ส่วนบทที่ 15 แม้จะไม่มีอยู่ในสำเนาโบราณบางฉบับก็ถูกตัดออกไปง่ายๆ ไม่ได้ นักวิจารณ์ที่คิดว่าบทที่ 16 เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับดั้งเดิม เสนอว่าอาจเป็นไปได้มากที่เปาโลพบคริสตชนชาวยิวที่ถูกขับไล่เมื่อแปดปีก่อนหน้านั้นในรัชสมัยของจักรพรรดิคลาวดิอัส และต่อมาภายหลังกลับไปกรุงโรมอีก เปาโลมีไหวพริบที่เอ่ยชื่อคริสตชนเหล่านี้ในจดหมายถึงพระศาสนจักรที่ท่านยังไม่เคยไปเยี่ยม จริงอยู่ลีลาการเขียนที่แตกต่างออกไปของบทถวายพรสดุดีลงท้ายใน 16:25-27 ทำให้คิดว่าเป็นการเสริมต่อเข้ามาในภายหลัง แต่ข้อความนี้ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เราสรุปว่าเปาโลไม่ได้เขียนบทที่ 16 นี้จริง

                จดหมายฉบับแรกถึงชาวโครินธ์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพระคริสตเจ้า ในฐานะปรีชาญาณของพระเจ้ากับปรีชาญาณแบบมนุษย์ของนักปรัชญาต่างๆ แต่ในจดหมายถึงชาวกาลาเทียและชาวโรม เปาโลเปรียบเทียบความแตกต่างของความชอบธรรมที่มนุษย์บรรลุได้ด้วยความพยายามตามธรรมชาติกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นความเที่ยงธรรมของพระเจ้า ในจดหมายถึงชาวโครินธ์ เปาโลพยายามชี้ให้เห็นว่าการที่ชาวกรีกภูมิใจใช้เหตุผลแต่อย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอในจดหมายถึงชาวกาลาเทียและชาวโรม เปาโลพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่ชาวยิวพึ่งธรรมบัญญัตินั้นก็ไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน คริสตชนบางคนผู้ยังยึดถือลัทธิยิวผ่านแคว้นกาลาเทีย และแนะนำคริสตชนต่างชาติที่นั่นให้เข้าสุหนัตเพื่อประกันความรอดพ้น การเข้าสุหนัตหมายถึงการยอมรับข้อกำหนดทุกข้อของธรรมบัญญัติ (กท 5:2ฯ) และสำหรับเปาโลการทำเช่นนี้ทำให้งานการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าไร้ความหมาย (กท 5:4) ดังนั้น เปาโลจึงต่อต้านการเข้าสุหนัตของคริสตชนอย่างรุนแรง เปาโลเห็นว่าคุณค่าแท้จริงของธรรมบัญญัติอยู่ที่บทบาทในวิวัฒนาการของแผนการของพระเจ้า (กท 3:23-25) ธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นสิ่งที่ดีและศักดิ์สิทธิ์ (รม 7:12) เพราะเปิดเผยพระประสงค์ของพระเจ้าให้ชาวยิวรู้ แต่ไม่อาจให้พลังฝ่ายจิตที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามได้ สิ่งเดียวที่ธรรมบัญญัติทำได้ก็คือทำให้มนุษย์ตระหนักถึงบาป และเห็นความจำเป็นที่มนุษย์ต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า (รม 3: 20; 7:7-13; กท 3:19-22) มนุษย์ทุกคนต้องการความช่วยเหลือเช่นนี้ และความช่วยเหลือนี้เป็นพระพรจากพระเจ้าเท่านั้น พระเจ้าทรงสัญญาจะ ประทานความช่วยเหลือนี้แก่อับราฮัมตั้งแต่โบราณก่อนที่ธรรมบัญญัติจะถูกตราขึ้น (รม 4; กท 3:16-18) และบัดนี้พระองค์ประทานความช่วยเหลือนี้ให้แล้วในองค์พระเยซูคริสตเจ้า การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ทำลายมนุษยชาติเก่าซึ่งเสื่อมไปเพราะบาปของอาดัม และทรงสร้างมนุษยชาติใหม่ขึ้น ซึ่งพระคริสตเจ้าเองทรงเป็นปฐมแบบ (รม 5:12-21) มนุษย์ทุกคนที่เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าโดยอาศัยความเชื่อ เจริญชีวิตใหม่โดยรับพระจิตของพระคริสตเจ้า มิใช่เพราะบุญกุศลของตนกลับเป็นผู้ชอบธรรมและมีพลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้ (รม 8:1-4) ความเชื่อเช่นนี้จะเกิดผลเป็น “กิจการดี” แต่กิจการดีเหล่านี้มิใช่ “กิจการดี” ที่ธรรมบัญญัติสั่งให้ทำและที่ชาวยิวภูมิใจที่จะพึ่งกิจการดีเหล่านี้เป็นกิจการที่พระจิตเจ้า ผู้ประทับอยู่ในมนุษย์ดลใจให้ทำ (รม 8:5-13; กท 5:22-25) เป็นกิจการที่มนุษย์ทุกคนที่มีความเชื่อทั้งที่เป็นชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิวทำได้ (กท 3:6-9, 14) ขั้นตอนเตรียมหรือขั้นตอนโมเสสของศาสนาผ่านพ้นไปแล้ว และชาวยิวคนใดที่อ้างว่าตนยังคงถือธรรมบัญญัติของโมเสสต่อไปก็เท่ากับว่ากำลังแยกตนให้อยู่นอกขอบข่ายของความรอดพ้น พระเจ้าทรงอนุญาตให้แลไม่เห็นความจริงข้อนี้ เพื่อจะทรงนำคนต่างชาติให้เข้ามารับความรอดพ้นเท่านั้น แต่เป็นไปไม่ได้ที่ชาวยิวจะต้องดำเนินชีวิตตลอดไปขัดกับการเลือกสรรดั้งเดิมของพวกเขา เพราะพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญา ชาวยิวบางคนที่เรียกว่า “กลุ่มชนที่เหลือ” ตามคำทำนายของบรรดาประกาศกเข้ามารับความเชื่อแล้ว สักวันหนึ่งชาวยิวทุกคนจะเข้ามารับความเชื่อเช่นเดียวกัน (รม 9-11) แต่เดิมคริสตชนทุกคนทั้งที่เป็นชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิวจะต้องรักและช่วยเหลือกันเหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกัน (รม 12:1-15:13) เปาโลร่างคำสอนเรื่องนี้ไว้ใน กท ส่วนรายละเอียดที่เสริมเข้าใน รม เป็นการพิจารณาธรรมล้ำลึกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น สภาพของมนุษยชาติที่กำลังรอคอยความรอดพ้น (รม 1: 18-3:20) การต่อสู้ภายในจิตใจของแต่ละคนเพื่อรับความรอดพ้น (รม 7:14-25) ความรอดพ้นซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า (รม 3:24) เป็นผลของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า (รม 4:24ฯ; 5:6-11) คริสตชนจะร่วมในเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร โดยการตายและการกลับคืนชีพโดยทางความเชื่อและศีลล้างบาป (รม 6:3-11; กท 3:26ฯ) การเรียกมนุษย์ทุกคนให้มาเป็นบุตรของพระเจ้า (รม 8:14-17; กท 4:1-7) ความรักและปรีชาญาณของพระเจ้าผู้ครบครันและซื่อสัตย์ต่อพระสัญญา พระองค์นำมนุษย์มารับความรอดพ้นตามขั้นตอนต่างๆ ในแผนการของพระองค์ (รม 3:21-26; 8:31-39) ความคิดของเปาโลยังมีอันตวิทยาเป็นหลัก เราได้รับความรอดพ้น “ในความหวัง” (รม 5:1-11; 8:24) แต่เปาโลยังเน้นถึงความรอดพ้นที่เป็นจริงอยู่แล้วในปัจจุบันเช่นเดียวกับในจดหมายถึงชาวโครินธ์ พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าตรัสสัญญาไว้นั้นคริสตชนได้รับไว้แล้ว เหมือนดังเป็น “ผลแรก” (รม 8:23) ตั้งแต่เวลานี้คริสตชนมีชีวิตอยู่ในพระคริสตเจ้า (รม 6:11) เหมือนดังที่พระคริสตเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ในเขา (กท 2:20)

                 จดหมายถึงชาวโรมเป็นการรวบรวมเทววิทยาของเปาโลไว้อย่างดีมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า คำสอนของเปาโลอยู่ที่นี่ทั้งหมด เป็นที่น่าเสียดายที่การโต้เถียงทางเทววิทยาในสมัยของลูเธอร์ให้ความสำคัญแก่จดหมายฉบับนี้  โดยไม่คำนึงถึงคำสอนของเปาโลในจดหมายฉบับอื่นๆ ด้วย

4.4 จดหมายถึงชาวฟิลิปปี : ค.ศ. 56-57

4.4  จดหมายถึงชาวฟีลิปปี (ค.ศ. 56-57)

                ฟีลิปปีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นมาซิโดเนียและเป็นอาณานิคมของชาวโรมัน เปาโล ประกาศพระวรสารที่นั่นในปี ค.ศ.50 ในระหว่างการเดินทางธรรมทูตครั้งที่สอง (กจ 16:12-40) ท่านย้อนกลับมาเยี่ยมเมืองนี้อีกสองครั้งในการเดินทางครั้งที่สาม คือในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.57 (กจ 20:1-2) และในเทศกาลปัสกาปี ค.ศ.58 (กจ 20:3-6) คริสตชนที่นั่นพิสูจน์ความรักต่อเปาโลโดยเรี่ยไรเงินบริจาค เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายของท่าน ครั้งแรกเมื่อเปาโลอยู่ที่เมืองเธสะโลนิกา (ฟป 4:16) ต่อมาเมื่ออยู่ที่เมืองโครินธ์ (2 คร 11:9) และหลังจากนั้นยังมอบหมายให้เอปาโฟรดิทัสนำเงินบริจาคไปให้เปาโลอีก (ฟป 4:10-20) ตามปกติเปาโลไม่กล้าทำสิ่งใดที่อาจสร้างความรู้สึกว่าท่านกำลังพยายามหาเงินจากการเทศน์สอน (กจ 18:3 เชิงอรรถ d) ดังนั้น เมื่อเปาโลยอมรับของกำนัลที่ชาวฟีลิปปีถวายก็แสดงให้เห็นว่าท่านมีความสนิทสนมกับพวกเขาเป็นพิเศษ

                 ถ้ายอมรับว่าจดหมายถึงชาวฟีลิปปีตามที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ เป็นจดหมายหนึ่งฉบับที่เปาโลเขียน ก็หมายความว่า เปาโลเขียนจดหมายนี้ขณะที่ถูกจองจำอยู่ (ฟป 1:7, 12-17) และเคยเชื่อกันมาเป็นเวลานานแล้วว่า การถูกจองจำนี้คือการถูกจองจำครั้งแรกที่กรุงโรม แต่กรุงโรมอยู่ห่างไกลมากจนไม่น่าที่การติดต่อระหว่างเปาโล (ซึ่งมีเอปาโฟรดิทัสอยู่ด้วย) และชาวฟีลิปปีจะเป็นไปได้บ่อยครั้งหรือเป็นไปได้โดยง่ายดังที่ข้อความในจดหมายชวนให้คิด (2:25-30) หรือถ้าเปาโลถูกจองจำอยู่ที่กรุงโรมหรือที่เมืองซีซารียาแล้ว (กจ 23:33) เหตุใดชาวฟีลิปปีจึงพูดว่า เงินเรี่ยไรที่เอปาโฟรดิทัสนำไปนั้นเป็นโอกาสแรกที่พวกเขาส่งเงินช่วยเหลือเปาโลนับตั้งแต่การเดินทางครั้งที่สอง (เปาโลพูดถึงของกำนัลใน ฟป 4:10, 16) เพราะเปาโลกลับมาเยี่ยมพวกเขาอีกถึงสองครั้งในการเดินทางครั้งที่สาม จึงน่าคิดว่าเปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ในระหว่างการเดินทางครั้งที่สาม ก่อนจะมาถึงเมืองฟีลิปปี นั่นคือขณะที่ยังอยู่ที่เมืองเอเฟซัส เมืองหลวงของแคว้นอาเซีย ในจักรวรรดิโรมันในราวปี 56-57 โดยหวังว่าจะ มาเยี่ยมแคว้นมาซิโดเนียเมื่อได้ถูกปล่อย (เทียบกับ ฟป 1:26; 2:19-24; และ กจ 19:21ฯ; 20:1; 1 คร 16:5) วลีที่ว่า “กองทหารองครักษ์” (ฟป 1:13) และ “คนในบ้านของซีซาร์” (4:22) ไม่จำเป็นต้องหมายถึงกรุงโรม เพราะมีกองทหารรักษาพระองค์อยู่ตามเมืองสำคัญทุกแห่ง และค่อนข้างแน่นอนว่า มีกองทหารองครักษ์จำนวนหนึ่งอยู่ที่เมืองเอเฟซัส ไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึงการถูกจองจำที่เมืองเอเฟซัสเลย แต่ลูกาเล่าเรื่องเกี่ยวกับช่วงเวลาสามปีที่เปาโลอยู่ที่นั่นน้อยมาก (กจ 19:1-20) เปาโลเองกล่าวถึงความทุกข์ยากที่ท่านต้องประสบที่นั่น (1 คร 15:32; 2 คร 1:8-10)

                ถ้ายอมรับสมมติฐานข้อนี้ เราต้องแยก ฟป ออกจาก คส อฟ และ ฟม และนำมารวมกับ “จดหมายฉบับใหญ่” โดยเฉพาะกับ 1 คร ลีลาการเขียนและเนื้อหาสาระของจดหมายคล้ายกันมาก จดหมายถึงชาวฟีลิปปีไม่ได้เน้นคำสอนเรื่องใดเป็นพิเศษ เป็นแต่เพียงจดหมายแบบถึงเพื่อน มีการให้ข่าวแก่คริสตชนที่เมืองฟีลิปปี เตือนให้ระวัง “คนงานชั่ว” ซึ่งกำลังทำลายงานที่เปาโลทำไว้ที่อื่น และอาจจะหันมาทำลายงานของท่านที่เมืองฟีลิปปีด้วย ที่สำคัญคือ มีการเรียกร้องให้ทุกคนต่างรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของหมู่คณะไว้ด้วยความสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน และในการเรียกร้องดังกล่าวนี้ เปาโลได้ให้กวีนิพนธ์บทหนึ่ง (ฟป 2:6-11) กล่าวถึงความถ่อมตนของพระเมสสิยาห์ กวีนิพนธ์บทนี้เปาโลเขียนขึ้นเองหรือยกมาจากที่อื่น แต่พยานหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นการพัฒนาความเข้าใจของคริสตชนกลุ่มแรกๆ เกี่ยวกับพระธรรมชาติของพระเยซูเจ้า

                เมื่อเร็วๆ นี้ทฤษฎีหนึ่งเริ่มเป็นที่ยอมรับกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จดหมายถึงชาวฟีลิปปีนี้ โดยแท้จริงเป็นการรวมจดหมายสามฉบับที่แต่เดิมอยู่แยกจากกัน วิธีการแบ่งที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ จดหมายฉบับ ก =4:10-20; ฉบับ ข=1:1-3:1 รวมกับ 4:2-9, 21-23; และฉบับ ค=3:2-4:1 จดหมายฉบับ ก น่าจะสัมพันธ์กับช่วงต้นที่เปาโลอยู่ที่เมืองเอเฟซัส เพราะชาวฟีลิปปีคงไม่ได้ปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ก่อนที่จะช่วยเหลือเปาโล (4:10) เปาโลก็คงจะไม่ปล่อยให้ผ่านไปนานนักก่อนที่จะขอบใจชาวฟีลิปปี (จดหมายฉบับ ค) จดหมายฉบับ ข น่าจะสัมพันธ์กับช่วงใกล้จะสิ้นสุดเวลาที่ท่านพักอยู่ที่เมืองเอเฟซัส (2:9 เทียบกับ กจ 19:22; 1 คร 16:10)

4.5จดหมายถึงชาวเอเฟซัส ชาวโคโลสี และถึงฟีเลโมน : ค.ศ. 61-63

4.5  จดหมายถึงชาวเอเฟซัส ชาวโคโลสีและถึงฟีเลโมน (ค.ศ. 61-63)

                จดหมายถึงคริสตชนที่เมืองเอเฟซัสและโคโลสี (ทั้งสองอยู่ในแคว้นอาเซีย จักรวรรดิโรมัน) และจดหมายถึงฟีเลโมนเกี่ยวข้องกันมาก ภารกิจที่โอเนสิมัสถูกส่งให้ไปทำใน คส 4:9 เป็นภารกิจเดียวกันกับภารกิจใน ฟม 10-12 เช่นเดียวกันกับภารกิจของทีคิกัสใน คส 4:7ฯ; และ อฟ 6:21ฯ เพื่อนของเปาโลที่กล่าวถึงใน คส 4:10-14 ก็เป็นคนเดียวกันกับที่กล่าวถึงใน ฟม 23-24; คส และ อฟ มีลีลาการเขียนและหลักคำสอนคล้ายกันมาก ผู้เขียนกล่าวว่าตนอยู่ในคุก (ฟม 1, 9-10, 13, 23; คส 4:3, 10, 18; อฟ 3:1; 4:1; 6:20) ถ้าคิดว่าเปาโลเป็นผู้เขียนตามที่ธรรมประเพณียึดถือตลอดมา การถูกจองจำครั้งนี้คือการถูกจองจำที่กรุงโรม (61-63) มากกว่าจะเป็นการถูกจองจำที่ซีซารียา (58-60) เพราะอธิบายได้ยากว่าเหตุใดมาระโกและโอเนสิมัสจึงอยู่ที่นั่นด้วย และไม่ใช่การถูกจองจำที่เมืองเอเฟซัส (56-57) เพราะไม่มีหลักฐานใดกล่าวว่าลูกาเคยอยู่ที่นั่นกับเปาโล การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งในด้านลีลาการเขียนและหลักคำสอนของเปาโล ชวนให้คิดว่า มีช่วงเวลานานคั่นระหว่าง คส อฟ และ “จดหมายใหญ่” คือ รม คร และ กท ในช่วงเวลานั้น เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น และเอปาฟรัส (คส 1:7) ผู้แทนของเปาโลมาพบเปาโลที่กรุงโรมจากเมืองโคโลสี ซึ่งเป็นพระศาสนจักรที่เปาโลไม่ได้ก่อตั้ง (1:4; 2:1) พร้อมกับข่าวไม่ดีนัก เปาโลจึงเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงคริสตชนที่นั่นทันที และฝากให้ทีคิกัสนำไปส่ง ถ้าเราถือว่าเปาโลเป็นผู้เขียน อฟ ดังที่เคยเชื่อกัน วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คงได้เร่งเร้าให้เปาโลพิจารณาความคิดของตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จดหมายถึงชาวโรม (รม) เป็นการพัฒนาและจัดระเบียบความคิดของ กท ฉันใด บัดนี้เปาโลก็เขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดระเบียบความคิดและคำสอนจากอีกมุมมองหนึ่งซึ่งวิกฤตการณ์ที่เมืองโคโลสีได้บังคับให้พัฒนาขึ้นฉันนั้น การรวบรวมคำสอนครั้งใหม่นี้ก็คือจดหมายถึงคริสตชนที่เมืองเอเฟซัส แต่ชื่อถึงชาวเอเฟซัสอาจทำให้เข้าใจผิดได้ หลักฐานสนับสนุนจากสำเนาโบราณ (MS) มีน้อยมาก (ดู อฟ 1:1 เชิงอรรถ a) จดหมายฉบับนี้เขียนถึงพระศาสนจักรทั้งหมด ไม่เพียงแต่ถึงพระศาสนจักรที่เมืองเอเฟซัสที่เปาโลเคยพำนักอยู่เป็นเวลาถึงสามปีเท่านั้น (อฟ 1:15; 3:2-4) ทั้งยังมุ่งให้เป็นจดหมายเวียนถึงชาวโคโลสีและหมู่คณะคริสตชน อื่นๆ บริเวณหุบเขาลีกัสเป็นพิเศษอีกด้วย (คส 4:16)

                คำอธิบายที่นำมากล่าวไว้พอสังเขปนี้ รักษาธรรมประเพณีซึ่งคิดว่าเปาโลเป็นผู้เขียน คส และ อฟ คำอธิบายเช่นนี้มีความเป็นไปได้สูง นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่สิบเก้าเป็นต้นมา นักวิจารณ์สงสัยว่าเปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายสองฉบับนี้หรือไม่ พวกเขาให้เหตุผลว่า ลีลาการเขียนที่ยืดยาวและซ้ำซากไม่ใช่ลีลาการเขียนของเปาโล ความคิดทางเทววิทยา โดยเฉพาะเรื่องพระกายของพระคริสตเจ้า เรื่องพระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ เรื่องพระศาสนจักรสากล ล้วนแตกต่างไปจากคำสอนในจดหมายฉบับก่อนๆ นอกจากนั้นคำสอนผิดๆ ที่ผู้เขียนต่อต้านในจดหมายล้วนเกิดขึ้นภายหลังสมัยเปาโล และเป็นความคิดของลัทธิไญยนิยม (ญอสติก) ในศตวรรษที่สองมากกว่า เหตุผลเหล่านี้สมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง นักวิชาการหลายท่านรวมทั้งที่เป็นคาทอลิกด้วยสนับสนุนทฤษฎีนี้ แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้ง นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันเชื่อว่าเปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายถึงชาวโคโลสีจริงโดยให้เหตุผลหลายประการ ใน คส เรายังพบความคิดพื้นฐานของเปาโลอีก และความคิดใหม่ๆ ที่มีอยู่ก็อธิบายได้อย่างน่าพอใจจากสภาพแวดล้อมที่กล่าวถึงแล้ว สำหรับ อฟ ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ายังมีข้อสงสัยบ้าง เหตุผลที่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเปาโลเป็นผู้เขียนมีดังต่อไปนี้

1. อฟ เป็นผลงานของผู้มีอัจฉริยภาพในความคิดสร้างสรรค์ มิใช่นักลอกแบบความคิดของผู้อื่น

2. ลีลาการเขียนยืดยาว เข้มข้นและรุ่มร่าม ซึ่งตรงกันข้ามกับลีลาการเขียนที่รวดเร็วและเปลี่ยนหัวข้อโต้เถียงอย่างฉับพลัน ในจดหมายฉบับแรกๆ อาจอธิบายได้จากการที่เปาโลมีแนวคิดใหม่ที่กว้างกว่าเดิม

3. ลีลาการเขียนของเปาโลในจดหมายฉบับแรกๆ ก็ไม่สม่ำเสมอ เราพบข้อความสองตอนที่มีลีลาการเขียนแบบไตร่ตรองกึ่งพิธีกรรมใน รม 3:23-26; 2 คร 9:8-14 ปัญหาแท้จริงประการเดียวก็คือข้อความหลายตอนใน อฟ น่าจะยืมมาจาก คส ตรงๆ โดยมิได้คำนึงถึงบริบทเท่าใดนัก ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นเพราะเปาโลไม่ได้เขียนจดหมายด้วยตนเองทุกคำ และในกรณีนี้อาจให้ศิษย์คนหนึ่งมีบทบาทในการเขียนมากกว่าปกติ แต่ต้องยอมรับอีกว่า เหตุผลข้อที่สองและสามที่กล่าวไว้อธิบายได้โดยง่ายกว่าถ้าสันนิษฐานว่า ผู้เขียนไม่ใช่เปาโล ผู้เขียนคนนั้นต้องเป็นอัจฉริยะในความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกับเปาโล ในขณะเดียวกันก็พอใจที่จะยืมข้อความจากจดหมายของเปาโลทั้งตอนโดยไม่เปลี่ยนแปลง ทฤษฎีที่ว่าผู้เขียนต้องมีลักษณะตรงกันข้ามเช่นนี้ไม่ใคร่เป็นที่ยอมรับ นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่า ผู้เขียน อฟ ซึ่งไม่ใช่เปาโลยังได้เขียน คส อีกด้วย เพราะ อฟ ยืมข้อความหลายตอนมาจาก คส

                ดังนั้น เมื่อเราเห็นทฤษฎีที่เชื่อว่าเปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายทั้งสองฉบับนี้มีเหตุผลมากกว่าทฤษฎีอื่นๆ เราจึงพยายามที่จะกล่าวถึงวิวัฒนาการทางความคิดของเปาโลใน คส และ อฟ ดังต่อไปนี้

               คำสอนผิดๆ ที่เปาโลต่อต้านที่เมืองโคโลสี ยังไม่ใช่คำสอนของลัทธิไญยนิยม (ญอสติก) ของศตวรรษที่สอง แต่เป็นความคิดทั่วไปของชาวยิวลัทธิเอสซีน ปัญหาที่เมืองโคโลสีเป็นผลของความคิดพื้นฐานแบบยิว (คส 2:16) ซึ่งคริสตชนที่เมืองโคโลสีได้รับมาเป็นของตนในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในสวรรค์หรือในจักรวาล เชื่อกันว่าอำนาจเหล่านี้เป็นผู้จัดระเบียบความเคลื่อนไหวของจักรวาล และความคิดไตร่ตรองถึงอำนาจเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีก ให้ความสำคัญแก่ฤทธิ์อำนาจเหล่านี้มากเกินไปจนคุกคามความยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า ผู้เขียนจดหมายยอมรับความคิดดังกล่าวเกี่ยวกับจักรวาล และไม่สงสัยเลยว่าอำนาจเหล่านี้มีอยู่ แต่อธิบายว่าอำนาจเหล่านี้คือ ทูตสวรรค์ในธรรมประเพณีของชาวยิว (คส 2:15) เขาสนใจแต่เพียงที่จะแสดงให้เห็นว่าอำนาจดังกล่าวเหล่านี้มีบทบาทชั้นรองในแผนการแห่งความรอดพ้น หน้าที่ของอำนาจเหล่านี้คือการเป็น “สื่อกลาง” นำธรรมบัญญัติมาให้และคอยเฝ้าดูแล บัดนี้หน้าที่นั้นเสร็จสิ้นแล้ว พระคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนาระบบของสรรพสิ่งขึ้นใหม่ และบัดนี้พระองค์ทรงปกครองจักรวาล เมื่อเสด็จสู่สวรรค์แล้ว พระคริสตเจ้าทรงอยู่เหนือฤทธิ์อำนาจจักรวาล และปลดอำนาจเหล่านี้จากศักดิ์ศรีดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ด้วย (2:15) เพราะพระองค์ทรงเป็นพระบุตร ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพระบิดา พระองค์จึงทรงเป็นนายของอำนาจเหล่านี้แล้วตั้งแต่สร้างโลก บัดนี้เมื่อทรงสถาปนาสิ่งสร้างขึ้นใหม่ พระองค์ก็แสดงให้เห็นอีกว่ายังทรงเป็นเจ้านายสูงสุดเพียงพระองค์เดียวของอำนาจเหล่านี้อีกเช่นกัน เพราะในพระองค์นั้นมีบูรณาการของความเป็นอยู่ทุกอย่าง (pleroma) นั่นคือความบริบูรณ์ทั้งของพระเจ้าและของทุกสิ่งที่มีความเป็นอยู่อาศัยฤทธิ์อำนาจของพระผู้สร้าง (คส 1:13-20) คริสตชนได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจาก “ธาตุของโลกเหล่านี้” (คส 2:8, 20) โดยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเจ้านายของพวกเขา มีส่วนร่วมในความบริบูรณ์ของพระองค์ด้วย (2:9-10) ดังนั้น คริสตชนจึงต้องไม่ยอมให้อำนาจเหล่านี้เป็นเจ้านายเหนือตนอีกต่อไป โดยต้องไม่ยอมปฏิบัติตามประเพณีที่ล้าสมัยและไร้ประโยชน์ (คส 2:16-23) คริสตชนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพโดยทางศีลล้างบาปแล้ว (คส 2:11-13) เขาเป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระองค์ และได้รับชีวิตใหม่จากพระองค์ ซึ่งทรงเปรียบเสมือนศีรษะที่ประทานชีวิต (2:19) ความสนใจประการแรกของเปาโลคือความรอดพ้นของคริสตชน ความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่เมืองโคโลสีนี้ได้ขยายผลของงานกอบกู้ของพระคริสตเจ้าออกไปจนครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด เนื่องจากมนุษยชาติเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล จักรวาลจะต้องได้รับอิทธิพลจากงานกอบกู้ของเจ้านายแต่พระองค์เดียวของสิ่งสร้างทั้งมวล ความคิดใหม่นี้ได้ขยายความคิดเกี่ยวกับ “พระกายของพระคริสตเจ้า” ออกไปให้กว้างขึ้น ความคิดเรื่อง “พระกายของพระคริสตเจ้า” นี้ ก่อนหน้านั้นเปาโลกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความคิดที่กว้างขึ้นซึ่งเน้นบทบาทของพระคริสตเจ้าในฐานะศีรษะมีลักษณะสามประการคือ

1. งานกอบกู้ครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด

2. พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้มีชัยชนะเหนือจักรวาลทั้งหมด และพระศาสนจักรจะต้องสร้างตนเองให้เข้าสนิทกับพระองค์ และ

3. ความคิดเรื่องพระสัญญาถึงอันตวิทยาในอนาคต ซึ่งเป็นจริงอยู่แล้วกลับมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น (ดู อฟ 2:6 เชิงอรรถ e)

                 จดหมายที่เรารู้จักในชื่อว่าจดหมายถึงชาวเอเฟซัส ก็ยึดแนวความคิดเดียวกันนี้ แต่ผู้เขียนไม่ต้องพิสูจน์ข้อสรุปของจดหมายฉบับก่อนเรื่องตำแหน่งอันดับรองของฤทธิ์อำนาจต่างๆ อีกแล้ว (อฟ 1:20-22) ดังนั้นผู้เขียนจึงพิจารณาความคิดต่อไปว่า พระศาสนจักรในฐานะพระกายของพระคริสตเจ้าครอบคลุมจักรวาลใหม่นี้อย่างไร เป็น “ความบริบูรณ์ของพระองค์ผู้ทรงเป็นทุกอย่างในทุกสิ่ง” (1:23) ทรรศนะสูงสุดนี้ถือเป็นจุดยอดของผลงานของผู้เขียน เป็นจุดรวมใหม่ที่รวมความคิดลึกซึ้งของเปาโลหลายประการเข้าไว้เป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนจะหันกลับมาพิจารณาปัญหาบางประการที่เคยบรรยายไว้ในจดหมายถึงชาวโรม ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในความคิดช่วงก่อนของเปาโล เปาโลใช้ประโยคไม่กี่ประโยคเพื่อสรุปประวัติของมนุษยชาติที่อยู่ใต้อำนาจของบาปและกล่าวถึงคำสอนหลักที่ว่า ความรอดพ้นเป็นของประทานจากพระเจ้าโดยทางพระคริสตเจ้า (อฟ 2:1-10) ต่อจากนั้น เปาโลพิจารณาปัญหาของชาวยิวและคนต่างชาติอีกครั้งหนึ่งซึ่งเมื่อก่อนหน้านั้นปัญหาดังกล่าวทำให้ท่านต้องรู้สึกระทมทุกข์เป็นอันมาก (รม 9-11) แต่เมื่อคำนึงถึงอันตวิทยาที่เป็นความจริงขึ้นแล้วในองค์พระคริสตเจ้าผู้ทรงได้รับการยกย่องในพระสิริรุ่งโรจน์ เปาโลจึงตระหนักว่าชาวยิวและคนต่างชาติซึ่งบัดนี้กลับเป็นมิตรกันแล้ว ได้มาเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะแต่ละชาติล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติใหม่ และกำลังเดินมุ่งหน้าไปหาพระบิดาเจ้าพร้อมกัน (อฟ 2:11-22) การเปิดประตูความรอดพ้นที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้แก่อิสราเอลไปสู่คนต่างชาติเป็น “ธรรมล้ำลึก” ยิ่งใหญ่ (อฟ 1:9; 3:3-6, 9; 6:19; คส 1:27; 2:2; 4:3) ผู้เขียนกล่าวถึงพระปรีชาญาณอันไม่มีขอบเขตของ “ธรรมล้ำลึกประการนี้” (อฟ 3:9ฯ; คส 2:3) กล่าวว่า ธรรมล้ำลึกประการนี้แสดงให้เห็นว่าความรักของพระคริสตเจ้านั้นไม่มีวันเหือดแห้ง (อฟ 3:17ฯ) และพระเจ้าทรงเลือกสรรเปาโล “ผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด” ให้มาประกาศธรรมล้ำลึกนี้ (อฟ 3:2-8) โดยไม่มีผู้ใดคาดคิด แผนการความรอดพ้นนี้ถูกเปิดเผยทีละน้อยอย่างเป็นลำดับขั้นตามพระประสงค์นิรันดรของพระเจ้า (อฟ 1:3-14) และจบลงเมื่อพระคริสตเจ้าจะร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติที่ได้รับความรอดพ้นประกอบขึ้นเป็นพระศาสนจักร (5:22-32)

                เปาโลเขียนจดหมายสั้นอีกฉบับหนึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ คส เพื่อบอกฟีเลโมน ชาวโคโลสี (ข้อ 18) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่เปาโลสอนให้กลับใจว่าโอเนสิมัส ทาสของฟีเลโมนที่หนีไปจากนายและที่เปาโลสอนให้กลับใจเช่นเดียวกันได้กลับมาแล้ว จดหมายนี้เป็นข้อเขียนสั้นมาก เปาโลเขียนด้วยลายมือของตน (ข้อ 19) จดหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นลักษณะอ่อนโยนของเปาโล และยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เปาโลมีทรรศนะอย่างไรเกี่ยวกับระบบทาสในกรณีนี้ (รม 6:15 เชิงอรรถ g) ในฐานะที่อยู่ในสังคม นายยังเป็นเจ้าของของทาส แต่ทั้งสองคนควรดำเนินชีวิตฉันพี่น้อง รับใช้เจ้านายองค์เดียวกัน (ฟม 16 เทียบ คส 3:22; 4:1)

4.6 1 ทธ, ทต, 2 ทธ : ค.ศ. 65-80

4.6  1 ทธ, ทต, 2 ทธ (ค.ศ. 65-80)

                จดหมายสามฉบับที่รู้จักกันในชื่อว่า “จดหมายเกี่ยวกับงานอภิบาล” มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในเนื้อหา รูปแบบและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สองฉบับเขียนถึงทิโมธี และหนึ่งฉบับถึงทิตัส ทั้งสามฉบับมีรูปแบบจดหมายจากเปาโลถึงศิษย์ผู้ซื่อสัตย์ (กจ 16:1; 2 คร 2:13 เชิงอรรถ d) แนะนำสั่งสอนพวกเขาเกี่ยวกับการจัดระเบียบและการปกครองกลุ่มคริสตชน ที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้ดูแล ทั้ง 1 ทธ และ ทต ดูเหมือนจะเขียนขึ้นที่แคว้นมาซิโดเนีย โดยในขณะนั้นทิโมธีอยู่ที่เมืองเอเฟซัส (1 ทธ 1:3) และเปาโลหวังจะไปพบกับเขาที่นั่นในไม่ช้า (3:14; 4:13) ส่วนทิตัสอยู่ที่เกาะครีต ที่ที่เปาโลได้แยกไป (ทต 1:5) โดยเปาโลคิดที่จะพักฤดูหนาวที่เมืองนิโคโปลิส ในแคว้นเอปิรัส และหวังว่าทิตัสจะต้องไปพบตนที่นั่น (ทต 3:12) ใน 2 ทธ เปาโลเล่าว่าตนถูกจองจำอยู่ที่กรุงโรม (1:8, 16ฯ; 2:9) หลังจากที่ได้ไปที่เมืองโตรอัส (4:13) และเมืองมิเลทัสแล้ว (4:20) ในสถานการณ์เลวร้ายนี้ (4:16) เปาโลรู้สึกว่าความตายมาอยู่ใกล้แล้ว (4:6-8, 18, 4:9-16, 21) รายละเอียดเหล่านี้ไม่สอดคล้องทั้งกับการถูกจองจำที่กรุงโรมใน กจ 28 และกับการเดินทางธรรมทูตก่อนหน้านั้น แม้ว่าหนังสือกิจการอัครสาวกไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับงานในระยะหลังของเปาโล แต่ก็เป็นไปได้ว่าหลังจากถูกจองจำเป็นเวลาสองปีแล้ว เปาโลได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และได้เดินทางไปทางทิศตะวันออกดังที่ได้วางแผนการไว้ใน ฟม 22 ธรรมประเพณีถือว่าเปาโลเขียน 1 ทธ และ ทต ระหว่างการเดินทางในครั้งนี้ราวปี ค.ศ.65 ผ่านเกาะครีต แคว้นอาเซีย มาซิโดเนีย และกรีซ ในทำนองเดียวกันธรรมประเพณีถือว่าเปาโลถูกจองจำที่กรุงโรมอีกครั้งหนึ่งและได้เขียน 2 ทธ ไม่นานก่อนจะถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีในปี ค.ศ.67

                อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางประวัติศาสตร์รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับความคิดและภาษาที่ใช้ชวนให้คิดว่าน่าจะมีทางออกใหม่สำหรับปัญหาเรื่องผู้เขียนจดหมายทั้งสามฉบับนี้ ในจดหมายทั้งสามฉบับนี้มีการพูดน้อยมากถึงธรรมล้ำลึกสำคัญของคริสตศาสนาซึ่งเคยเป็นความคิดหลักของเปาโล เช่น เรื่องไม้กางเขน เรื่องพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า เรื่องพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตร วิธียกเหตุผลก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เปาโลมิได้ยกเหตุผลมาคัดค้านคำสอนผิดๆ อีกต่อไป ท่านเพียงแต่ประณามคำสอนผิดๆ เหล่านั้น นอกจากนั้นลีลาการเขียนที่เผ็ดร้อนและมีอารมณ์ก็หายไป และแทนที่จะมีความไว้ใจเป็นกันเองต่อคริสตชน ก็กลับมีท่าทีหวาดระแวงเข้ามาแทน ยังมีความแตกต่างอีกมากในเรื่องการใช้ศัพท์ ไม่มีคำที่คุ้นเคยในจดหมายฉบับอื่นของเปาโล คำที่เปาโลไม่เคยใช้มาก่อนหรือคำที่ไม่มีใช้เลยในพันธสัญญาใหม่ กลับใช้บ่อยๆ มากกว่า มีผู้ให้เหตุผลว่าปรากฏการณ์เหล่านี้อธิบายได้เพราะเปาโลมีความเหนื่อยล้าและมีอายุมากขึ้น จึงขาดความมั่นใจและปรับตัวได้ยากกับสถานการณ์ใหม่ หรือเพราะเปาโลให้เลขานุการมีอิสระในการเขียนมากขึ้น แต่ปัญหาทางประวัติศาสตร์ก็ยังคงอยู่ และคำอธิบายที่ดีที่สุดอาจจะเป็นว่า จดหมายเกี่ยวกับการอภิบาลเป็นจดหมายที่เขียนขึ้นโดยศิษย์คนหนึ่งของเปาโลที่คิดว่าตนเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์และพยายามให้คำแนะนำสั่งสอนในเรื่องการบริหารพระศาสนจักรท้องถิ่น การใช้ชื่อของบุคคลที่เคารพในสถานการณ์เช่นนี้เป็นธรรมเนียมทางวรรณกรรมที่ใช้กันทั่วๆ ไปในสมัยนั้น การกล่าวถึงบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อ้างถึงนั้นยังช่วยให้วิธีเขียนเช่นนี้สมจริงมากยิ่งขึ้น นักวิชาการบางคนเชื่อว่า ข้อความบางข้อในจดหมายเหล่านี้ เช่น 2 ทธ 1:15-18; 4:9-17, 19-21; และ ทต 3:12-14 เป็นการนำข้อความบางข้อจากจดหมายที่แท้จริงของเปาโลมาใส่ไว้

                 อีกด้านหนึ่ง ควรสังเกตว่า ระบบการปกครองพระศาสนจักรที่ปรากฏในจดหมายน่าจะได้พัฒนาขึ้นบ้างแล้วไม่มากนักจากระบบในสมัยของเปาโล ตำแหน่ง episkopos (ผู้ดูแล ในภายหลังหมายถึง พระสังฆราช) และ presbyteros (ผู้อาวุโส ในภายหลัง หมายถึง พระสงฆ์หรือสมณะ) ยังเป็นตำแหน่งเดียวกันในทางปฏิบัติเหมือนในอดีต (ทต 1:5-7; กจ 20:17, 28) ที่กลุ่มคริสตชนมีคณะผู้อาวุโสปกครอง (ทต 1:5 เชิงอรรถ c) ยังไม่มีร่องรอยของ “พระสังฆราช” เพียงองค์เดียวในกลุ่มคริสตชนตามระบบที่อิกญาซีอัสจะเขียนถึงในช่วงต้นศตวรรษที่สอง แต่พัฒนาการเช่นนี้ก็อยู่ไม่ไกลนัก เพราะทิโมธีและทิตัสซึ่งเป็นผู้แทนของเปาโล แม้ว่าจะรับผิดชอบต่อกลุ่มคริสตชนหลายกลุ่มโดยไม่ติดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ทต 1:5) ก็เป็นผู้มีอำนาจแทนบรรดาอัครสาวก อำนาจนี้ถูกมอบให้เพื่อทำหน้าที่แทนบรรดาอัครสาวกซึ่งทยอยจากโลกนี้ไป และต่อมาอำนาจนี้จะอยู่กับพระสังฆราชของแต่ละกลุ่มคริสตชนในฐานะที่เป็นประมุขของผู้อาวุโส วิวัฒนาการระบบการปกครองพระศาสนจักรในระยะเริ่มต้นนี้แสดงว่าจดหมายทั้งสามฉบับเขียนขึ้นก่อนปี 80-90 คำสอนผิดที่กล่าวถึงในจดหมายทั้งสามฉบับก็ช่วยให้คิดถึงเรื่องนี้ เจตนาประการหนึ่งของจดหมายเหล่านี้ก็คือต่อสู้กับความคิดใหม่ที่เป็นอันตรายต่อความเชื่อซึ่งกำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น (1 ทธ 1:19) คำสอนผิดๆ เหล่านี้ต่อมาจะเป็นคำสอนสำคัญของลัทธิไญยนิยม (ญอสติก) ซึ่งจะเป็นที่นิยมกันในศตวรรษที่สอง แต่ความคิดส่วนใหญ่และคำถามในจดหมายเหล่านี้เป็นความคิดและคำถามที่ไร้สาระ (1 ทธ 6:4) ปัญหาที่ไร้สาระ “เทพนิยายและลำดับวงศ์วานที่ไม่รู้จบ” (1 ทธ 1:4) “เทพนิยายแบบยิว” (ทต 1:14) “ข้อถกเถียงเรื่องธรรมบัญญัติ” (ทต 3:9) และการบำเพ็ญพรตต่างๆ (1 ทธ 4:3) น่าจะเป็นแนวความคิดแบบกรีกที่พยายามรวบรวมความคิดทุกอย่างเข้ากับลัทธิยิว ดังที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ที่เมืองโคโลสี

5. จดหมายถึงชาวฮีบรู : ค.ศ. 70-80

5. จดหมายถึงชาวฮีบรู (น่าจะก่อนค.ศ.70)

                ปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมายถึงคริสตชนชาวยิวเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยแรก แต่ก็ยังไม่เหมือนกับปัญหาว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมายเกี่ยวกับงานอภิบาล จดหมายฉบับนี้อยู่ในสารบบพระคัมภีร์หรือไม่นั้นไม่เป็นปัญหามากนัก แต่จนถึงปลายศตวรรษที่สี่ พระศาสนจักรตะวันตกไม่ยอมรับว่าเปาโลเป็นผู้เขียนและพระศาสนจักรตะวันออกแม้จะยอมรับว่าเปาโลเป็นผู้เขียน แต่ก็ยังมีข้อข้องใจหลายประการด้านวรรณกรรม (เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย โอริเจน) ศัพท์ที่ใช้รวมทั้งลีลาการเขียนมีความเรียบง่ายและมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับของเปาโลมาก วิธีอ้างและใช้พันธสัญญาเดิมก็แตกต่างไปจากวิธีการของเปาโล ไม่มีคำทักทายและคำขึ้นต้นตามแบบที่เปาโลเคยใช้ และแม้ว่าหลักคำสอนจะคล้ายกับคำสอนของเปาโล แต่ก็เป็นคำสอนใหม่จนคิดว่าเป็นของเปาโลได้ยาก นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เปาโลไม่ใช่ผู้เขียนในความหมายเดียวกันกับที่ท่านเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับอื่นๆ แต่เปาโลก็ยังมีอิทธิพลทางอ้อมมากพอสมควรที่จะทำให้จดหมายฉบับนี้ถูกรวมเข้าไว้ในจดหมายของเปาโลมาตั้งแต่สมัยแรก

                ไม่มีความเห็นตรงกันในเรื่องที่ว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ มีผู้เสนอชื่อบารนาบัส สิลาส อาริสติโอนและคนอื่นอีกบางคน บางทีบุคคลที่น่าเป็นไปได้ที่สุดน่าจะเป็นอปอลโล ชาวยิวจากเมืองอเล็กซานเดรียที่ลูกายกย่องว่าเป็นผู้มีวาทศิลป์ มีความกระตือรือร้นในงานธรรมทูตและความรอบรู้พระคัมภีร์ (กจ 18:24-28) คุณสมบัติดังกล่าวแสดงออกในจดหมายอย่างชัดเจน นอกจากนั้นภาษาและความคิดในจดหมายคล้ายคลึงกับภาษาและความคิดของฟิโลมาก สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมที่เมืองอเล็กซานเดรีย เนื้อหาของจดหมายที่เขียนขึ้นด้วยวาทศิลป์อย่างน่าฟังมีพื้นฐานอยู่บนพันธสัญญาเดิมทั้งสิ้น

                ไม่เป็นที่แน่นอนว่า จดหมายนี้เขียนที่ไหน เขียนเมื่อไร และเขียนถึงใคร แต่ดูเหมือนว่าผู้เขียนจะเขียนจากคาบสมุทรอิตาลี (13:24) และเขาเขียนราวกับว่า พระวิหารยังเปิดใช้อยู่ (8:4ฯ) โดยเตือนผู้อ่านอย่าให้หันกลับไปนมัสการที่นั่นอีก เมื่อเขาเน้นถึงลักษณะชั่วคราวของคารวกิจแบบโมเสส เขาไม่กล่าวถึงการทำลายพระวิหารเลย การกล่าวถึงการทำลายพระวิหารน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักที่สุด ทำให้คิดว่าจดหมายนี้น่าจะเขียนขึ้นก่อนปี ค.ศ.70 อีกด้านหนึ่งเขาใช้จดหมายของเปาโลที่เขียนเมื่อถูกจองจำอย่างแน่นอน และดังนั้นจึงน่าจะเขียนขึ้นหลังปี ค.ศ.63 ถ้าวิกฤตการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการที่ผู้เขียนขอร้องอย่างแข็งขันให้มีความเชื่ออย่างไม่หวั่นไหว (10:25) คือการคุกคามระยะแรกของสงครามยิว จดหมายนี้น่าจะเขียนขึ้นในปี ค.ศ.67

               ชื่อจดหมาย “ถึงชาวฮีบรู” มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่สอง และต้องจัดว่าเป็นชื่อที่เลือกได้อย่างเหมาะสม จดหมายฉบับนี้สมมติอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ผู้อ่านคุ้นเคยกับพันธสัญญาเดิมเป็นอย่างดี แต่ยังเป็นคริสตชนชาวยิวอีกด้วย บางทีอาจเป็นถึงสมณะชาวยิว (เทียบ กจ 6:7) โดยสรุปจากการเน้นถึงคารวกิจและจารีตพิธีต่างๆ ในจดหมาย เมื่อคนเหล่านั้นกลับใจเป็นคริสตชนแล้ว คงออกจากกรุงเยรูซาเล็มไปหลบภัยอยู่ตามเมืองชายฝั่ง เช่นเมืองซีซารียาหรือเมืองอันทิโอก พวกเขารู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนและคิดเสียดายที่ต้องละทิ้งพิธีกรรมที่สง่างามในพระวิหาร และบทบาทที่พวกเขามีในพิธีกรรมเหล่านั้น ความเชื่อใหม่ของพวกเขายังไม่เข้มแข็ง และเขาเหล่านั้นยังไม่ได้เข้าใจความเชื่อนี้อย่างถูกต้อง การเบียดเบียนทำให้พวกเขาท้อแท้ และมีแนวโน้มที่จะกลับไปถือลัทธิยิวตามเดิมอีก

                จดหมายฉบับนี้เขียนถึงพวกเขาเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น (10:19-39) ผู้เขียนแสดงให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เห็นชีวิตคริสตชนเป็นเสมือนการอพยพ เป็นการเดินทางไปสู่สถานที่พักผ่อน คือสวรรค์ ดินแดนแห่งพระสัญญา การอพยพครั้งนี้ไม่มีโมเสสเป็นผู้นำ แต่มีพระคริสตเจ้า ผู้นำที่สูงส่งกว่าอย่างเปรียบเทียบมิได้ (3:1-6) พวกเขาได้รับแสงสว่างแห่งความเชื่อและความหวังเดียวกันกับที่ได้นำบรรพบุรุษในการอพยพครั้งก่อน และที่ได้ส่องสว่างบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในอดีต (3:7-4:11; 11) พระคริสตเจ้าทรงมาแทนที่สมณภาพแบบเก่า และทรงเป็นสมณะเหมือนกับเมลคีเซเดก พระองค์ทรงสูงส่งกว่าอาโรน (4:14-5:10; 7) การถวายบูชาเพียงครั้งเดียวที่มีประสิทธิภาพของพระคริสตเจ้าเองเข้ามาทดแทนการถวายบูชาจำนวนมากแต่ไร้ผลในคารวกิจของตระกูลเลวี (8:1-10:18) เพื่อพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับเอากายมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในฐานะผู้นำและสมณะ ทรงอยู่สูงกว่าทูตสวรรค์ทั้งหมดและทรงเป็นผู้ปกครองสรรพสิ่ง (บทที่ 1-2)

                จดหมายฉบับนี้ มีความคิดทางเทววิทยาและข้อความอธิบายพระคัมภีร์สลับกับข้อความที่เป็นคำเตือนใจ แต่ความคิดหลักของจดหมายเองถูกสานเข้าด้วยกันอย่างซับซ้อนตามแบบของชาวตะวันออก ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านชาวตะวันตกสมัยใหม่บางคนรู้สึกสับสนทั้งในลำดับความคิดและวิธีอ้างใช้พระคัมภีร์ จดหมายถึงชาวฮีบรูจึงเป็นเอกสารที่อธิบายอย่างดีที่สุดเรื่องรูปแบบวิทยา (Typology) โดยแสดงให้เห็นว่า คริสตชนยุคเริ่มต้นคิดอย่างไรถึงความกลมกลืนระหว่างพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ และเข้าใจอย่างไรเรื่องงานกอบกู้ของพระคริสตเจ้าในแผนการความรอดพ้นทั้งหมดของพระเจ้า ลักษณะดังกล่าวนี้และความหยั่งรู้ลึกซึ้งถึงข้อความเชื่อหลักของคริสตชนรวมกัน ทำให้เอกสารนิรนามฉบับนี้เป็นหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของพันธสัญญาใหม่

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก