“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

 

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือ

โยชูวา ผู้วินิจฉัย นางรูธ ซามูเอล และพงศ์กษัตริย์

           1. ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัย ซามูเอลและพงศ์กษัตริย์มีชื่อว่า “ประกาศกดั้งเดิม” ส่วนหนังสือ “ประกาศกสมัยหลัง” หมายถึงหนังสือประกาศกอิสยาห์ เยเรมีย์ เอเสเคียลและประกาศกน้อยสิบสองคน การที่ได้ชื่อ “ประกาศกดั้งเดิม” เช่นนี้ก็เพราะธรรมประเพณีโบราณคิดว่าบรรดาประกาศกเป็นผู้เขียนหนังสือเหล่านี้ คือโยชูวาเป็นผู้เขียนหนังสือโยชูวา ซามูเอลเขียนหนังสือผู้วินิจฉัยและหนังสือซามูเอล เยเรมีย์เขียนหนังสือพงศ์กษัตริย์ ส่วนเราคริสตชนมักจะเรียกหนังสือเหล่านี้ว่าหนังสือ “ประวัติศาสตร์” แต่ต้องเข้าใจว่าหนังสือเหล่านี้เขียนขึ้นจากทรรศนะทางศาสนา และสนใจเป็นพิเศษถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเชื่อฟังและไม่เชื่อฟังของอิสราเอลต่อพระวาจาที่บรรดาประกาศกประกาศให้ทราบ

           หนังสือเหล่านี้มีความสัมพันธ์ทั้งกับหนังสือต่างๆ ที่ตามมาและกับหนังสือต่างๆ ก่อนหน้านั้นด้วย หนังสือเหล่านี้เล่าเรื่องที่หนังสือปัญจบรรพทิ้งค้างไว้ ตอนปลายของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเล่าว่าโมเสสแต่งตั้งโยชูวาเป็นผู้สืบตำแหน่งแล้วถึงแก่กรรม เรื่องนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือโยชูวาอีกด้วย นักวิชาการบางคนพยายามอธิบายว่าหนังสือปัญจบรรพและหนังสือประกาศกดั้งเดิมนี้มีความต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวทางวรรณกรรม และยังพยายามค้นหา “ธรรมประเพณี” หรือ “ตำนาน” ที่พบได้ในหนังสือปัญจบรรพในหนังสือเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะในหนังสือโยชูวา ซึ่งเมื่อรวมกับหนังสือปัญจบรรพแล้วเรียกว่า “ฉบรรพ” (อ่านว่า ฉอ-บับ) ถึงกระนั้นความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลเท่าที่ควรในหนังสือผู้วินิจฉัย ซามูเอลและพงศ์กษัตริย์ การวิเคราะห์หนังสือโยชูวาได้ผลบ้างเพราะเรื่องราวในหนังสือโยชูวาต่อเนื่องจากตำนานยาห์วิสต์และเอโลฮิสต์อย่างชัดเจน แต่ไม่แน่ว่ามาจากตำนานเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากข้อเขียนและคำสอนของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติปรากฏชัดเจนกว่า จนกระทั่งผู้สนับสนุนทฤษฎี “ฉบรรพ” จำเป็นต้องยอมรับว่าหนังสือโยชูวาได้รับการเรียบเรียงตามแนวความคิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติด้วย อิทธิพลของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติยังปรากฏให้เห็นชัดเจนในหนังสือประกาศกดั้งเดิมอื่นๆ ด้วย แม้ในระดับต่างกัน มีมากในหนังสือผู้วินิจฉัย มีน้อยในหนังสือซามูเอล และมากอย่างเด่นชัดในหนังสือพงศ์กษัตริย์ เพราะเหตุนี้จึงมีผู้เสนอทฤษฎีที่ว่าหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเป็นเล่มแรกที่เริ่มเล่าประวัติศาสตร์ทางศาสนาอย่างกว้างขวางและดำเนินไปในหนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัย และซามูเอล จนจบหนังสือพงศ์กษัตริย์

           หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติให้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับคำสอนเรื่องพระเจ้าทรงเลือกสรรอิสราเอล และให้โครงสร้างของระบอบการปกครองที่มีพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ของประชากรที่ทรงเลือกสรร หนังสือโยชูวาเล่าเรื่องต่อไปเพื่อแสดงว่าประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรนี้เข้าไปยึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญาอย่างไร หนังสือผู้วินิจฉัยเล่าว่าอิสราเอลทรยศต่อพระเจ้าบ่อยๆ และกลับมารับพระกรุณาอีกทุกครั้ง หนังสือซามูเอลสองฉบับกล่าวถึงวิกฤติการณ์ของอิสราเอลซึ่งนำไปสู่ระบอบมีกษัตริย์ปกครองซึ่งขัดกับอุดมการณ์ที่มีพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ปกครอง แล้วพยายามอธิบายว่าอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ยังเป็นความจริงในรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิด หนังสือพงศ์กษัตริย์กล่าวถึงความเสื่อมของชาวอิสราเอลที่เริ่มขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน และอธิบายว่าความไม่ซื่อสัตย์และความดื้อรั้นของอิสราเอลทำให้พระเจ้าทรงลงโทษประชากรของพระองค์ แม้ว่ากษัตริย์บางองค์มีความซื่อสัตย์ก็ตาม หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติถูกแยกออกจากหนังสือชุดประวัติศาสตร์นี้เพราะต้องการจะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับบุคลิกและกิจการของโมเสสเข้าไว้ในหนังสือชุดเดียวกันเป็นหนังสือปัญจบรรพ

           การเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องเช่นนี้สมเหตุสมผลพอที่จะรับได้ แต่จะต้องเพิ่มเติมความคิดสำคัญอีกสองประการ ความคิดแรกคือผู้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ตามแนวความคิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติใช้ธรรมประเพณีที่เล่าต่อกันมาปากต่อปากและเอกสารที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เอกสารเหล่านี้มีลักษณะและอายุต่างกัน เอกสารหลายฉบับถูกรวบรวมไว้เป็นชุดอยู่แล้ว ผู้เรียบเรียงเพียงแต่ปรับปรุงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเหตุนี้หนังสือต่างๆ และส่วนต่างๆ ในหนังสือแต่ละเล่มจึงยังรักษาเอกลักษณ์ของเอกสารเหล่านี้ไว้ด้วย ความคิดประการที่สองคือการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ตามแนวความคิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติไม่ได้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว หนังสือแต่ละเล่มทิ้งร่องรอยว่าได้รับการเรียบเรียงมากกว่าหนึ่งครั้ง ดังจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในหนังสือพงศ์กษัตริย์ซึ่งคงได้รับการเรียบเรียงอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกหลังจากการปฏิรูปทางศาสนาในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ไม่นาน และครั้งที่สองระหว่างการเนรเทศที่บาบิโลน

           เพราะฉะนั้นหนังสือต่างๆ ในรูปแบบที่เรามีในปัจจุบัน จึงเป็นผลงานของผู้เขียนกลุ่มหนึ่งหรือ “สำนัก” หนึ่ง เป็นผลงานของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อและได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากแนวความคิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ คนเหล่านี้รำพึงไตร่ตรองถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติของตนและได้ข้อสรุปเป็นบทเรียนทางศาสนา ในเวลาเดียวกันเขายังถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล รวมทั้งเรื่องราวจากธรรมประเพณีและเอกสารต่างๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยที่ชาวอิสราเอลเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน จากหนังสือเหล่านี้ คริสตชนไม่เพียงเรียนรู้ที่จะเห็นพระหัตถ์พระเจ้าในเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก แต่ยังเห็นว่าความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรที่ทรงเลือกสรรและทรงเรียกร้องให้เขาตอบสนองนั้นเป็นการเตรียมชุมชนของผู้มีความเชื่อให้เป็นประชากรอิสราเอลใหม่อีกด้วย

 

2. หนังสือโยชูวา

2. หนังสือโยชูวา

           หนังสือโยชูวาแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ (1) การเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญา (บทที่ 1-12) (2) การแบ่งแผ่นดินคานาอันให้แก่เผ่าต่างๆ (บทที่ 13-21) (3) วาระสุดท้ายของโยชูวา โดยเฉพาะคำปราศรัยสุดท้ายและการชุมนุมที่เมืองเชเคม (บทที่ 22-24) ธรรมประเพณีของชาวยิวยอมรับว่าโยชูวาไม่ได้เป็นผู้เขียนหนังสือฉบับนี้ แต่ผู้เขียนใช้แหล่งข้อมูลหลายสาย

           ภาคที่หนึ่ง ประกอบด้วยเรื่องราว 2 ชุด ชุดแรก (บทที่ 2-9) รวบรวมธรรมประเพณีหลายสายเกี่ยวกับสักการสถานของเผ่าเบนยามินที่เมืองกิลกาล ธรรมประเพณีเหล่านี้บางครั้งเล่าเรื่องเดียวซ้ำกัน ชุดที่สอง (บทที่ 10-11) บันทึกเรื่องการรบสองครั้งที่เมืองกิเบโอนและเมืองเมโรม ซึ่งสรุปการเข้ายึดครองดินแดนทางใต้และทางเหนือตามลำดับ เรื่องราวของชาวกิเบโอนในบทที่ 9 ซึ่งยังดำเนินต่อไปถึง 10:1-6 เป็นตัวเชื่อมเรื่องทั้งสองชุดเข้าด้วยกัน เรื่องทั้งสองชุดนี้คงจะนำมารวมกันตั้งแต่สมัยเริ่มมีกษัตริย์ปกครอง

           การที่เรื่องราวในบทที่ 2-9 เกิดมาจากเมืองกิลกาล ซึ่งเป็นสักการสถานของชนเผ่าเบนยามินไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวเกี่ยวกับโยชูวาซึ่งเป็นคนเผ่าเอฟราอิมจะเป็นเรื่องไม่สำคัญที่เพิ่มเข้ามาในภายหลัง เพราะชนเผ่าเอฟราอิมและเบนยามินเข้ามาในแผ่นดินคานาอันพร้อมกันก่อนที่จะไปยึดครองดินแดนเฉพาะของตน จุดประสงค์ของผู้เขียนเรื่องเล่าเหล่านี้คือต้องการอธิบายสภาพการณ์ในสมัยของตนโดยเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต วิธีเขียนเช่นนี้ทำให้เป็นไปได้ว่ารายละเอียดต่างๆ ในเรื่อง ไม่จำเป็นต้องได้เกิดขึ้นจริงๆ ทุกประการ แต่เหตุการณ์ที่เล่าถึงนั้นมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ คือเกิดขึ้นจริงเพราะมีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุน ยกเว้นเรื่องการยึดเมืองอัยและบางทีการยึดเมืองเยรีโค ซึ่งเราไม่มีหลักฐานชัดเจน

           ภาคที่สอง ซึ่งมีลักษณะต่างกันโดยสิ้นเชิง คือเป็นตำราภูมิศาสตร์ บทที่ 13 บอกตำแหน่งที่อยู่ของชนเผ่ารูเบน เผ่ากาดและครึ่งเผ่ามนัสเสห์ โมเสสเคยจัดให้เผ่าเหล่านี้อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนแล้วใน กดว 32 (ดู ฉธบ 3:12-17) บทที่ 14-19 กล่าวถึงชนเผ่าอื่นที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน เรื่องราวเหล่านี้รวมเอกสารสองประเภทเข้าไว้ด้วยกัน ประเภทหนึ่งบรรยายถึงเขตแดนของแต่ละเผ่าอย่างละเอียดบ้าง ไม่ละเอียดบ้าง เอกสารนี้คงจะเขียนขึ้นในสมัยก่อนมีกษัตริย์ปกครอง เอกสารประเภทที่สองคือรายชื่อของเมืองต่างๆ ที่น่าจะเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง รายชื่อเมืองที่ละเอียดที่สุดได้แก่รายชื่อเมืองของเผ่ายูดาห์ในบทที่ 15 ซึ่งแบ่งเมืองต่างๆ ออกเป็น 12 เขต สะท้อนเขตปกครองของอาณาจักรยูดาห์ บางทีในรัชสมัยของกษัตริย์เยโฮซาฟัท (870-848 ก่อน ค.ศ.) บทที่ 20 เป็นรายชื่อ “เมืองลี้ภัย” รายชื่อนี้คงไม่ได้เขียนขึ้นก่อนรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน บทที่ 21 เป็นรายชื่อ “เมืองของชนเลวี” ซึ่งคงได้เขียนเพิ่มเติมหลังการเนรเทศที่บาบิโลน แต่สะท้อนสภาพการณ์ในสมัยมีกษัตริย์ปกครอง

           ในภาคที่สาม บทที่ 22 ซึ่งเล่าว่าเผ่าทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนกลับมาในดินแดนของตนหลังจากช่วยเผ่าอื่นๆ ยึดครองแผ่นดินคานาอันแล้ว และสร้างพระแท่นบูชาแห่งหนึ่งที่ริมแม่น้ำจอร์แดน เราสังเกตได้ว่าข้อความในบทนี้ได้รับการเรียบเรียงทั้งจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติและจากบรรดาสมณะ (ตำนานสงฆ์) แต่ก่อนนั้นน่าจะเขียนขึ้นจากธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งที่เราไม่ทราบว่าสำคัญอย่างไรและเขียนขึ้นเมื่อใด บทที่ 24 บันทึกเหตุการณ์โบราณซึ่งยังอยู่ในความทรงจำของชาวอิสราเอลเกี่ยวกับการชุมนุมของเผ่าต่างๆ ที่เมืองเชเคมเพื่อทำพันธสัญญาว่าจะนับถือพระยาห์เวห์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น

           ข้อความตอนต่างๆ ต่อไปนี้น่าจะเป็นผลการเรียบเรียงของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติ คือ บทที่ 1 (เกือบทั้งบท); 8:30-35; 10:16-43; 11:10-20; บทที่ 12; 22:1-8; บทที่ 23 และการเรียบเรียงครั้งสุดท้ายของบทที่ 24

           หนังสือโยชูวาเล่าว่าชาวอิสราเอลเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญาทั้งหมดโดยที่ทุกเผ่ามาร่วมกันทำสงครามกับชาวคานาอันและมีโยชูวาเป็นผู้นำ แต่หนังสือผู้วินิจฉัยบทที่ 1 เล่าเหตุการณ์อีกแบบหนึ่ง คือแต่ละเผ่าต้องดิ้นรนต่อสู้กับชาวคานาอันโดยลำพังเพื่อจะยึดครองดินแดนของตน และหลายครั้งต้องประสบความล้มเหลว ความคิดเช่นนี้น่าจะมาจากธรรมประเพณีที่เกิดขึ้นในเผ่ายูดาห์ และหนังสือโยชูวามีข้อมูลบางประการของธรรมประเพณีนี้อยู่ประปรายในภาคภูมิศาสตร์ (ยชว 13;1-6; 14:6-15; 15:13-19; 17:12-18) ภาพการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันทีละเล็กละน้อยนี้น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์มากกว่า แม้เราไม่สามารถบอกได้ว่ารายละเอียดของเรื่องราวเป็นอย่างไร การตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ตอนใต้เริ่มจากเมืองคาเดชและแคว้นเนเกบโดยเผ่าต่างๆ ซึ่งในภายหลังค่อยๆ รวมเข้าเป็นเผ่าเดียวคือเผ่ายูดาห์ ได้แก่ชาวคาเลบ ชาวเคนัส ฯลฯ และเผ่าสิเมโอน การตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ตอนกลางเป็นผลงานของเผ่าเอฟราอิม มนัสเสห์และเบนยามินที่ข้ามแม่น้ำจอร์แดนโดยมีโยชูวาเป็นผู้นำ การตั้งถิ่นฐานทางเหนือมีประวัติความเป็นมาต่างกัน เผ่าเศบูลุน อิสสาคาร์ อาเชอร์และนัฟทาลีตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นนานมาแล้ว และไม่เคยลงไปอยู่ในอียิปต์ เผ่าทางเหนือเหล่านี้มาชุมนุมกับเผ่าอื่นๆ ที่เมืองเชเคมเพื่อยอมรับความเชื่อในพระยาห์เวห์ที่เผ่าซึ่งมากับโยชูวานำมาให้ เผ่าทางเหนือเหล่านี้จึงต่อสู้กับชาวคานาอันที่เคยข่มเหงตนและยังคงคุกคามอยู่เพื่อจะยึดครองดินแดนของตนเป็นการถาวร การตั้งถิ่นฐานในเขตต่างๆ ของแผ่นดินคานาอันจึงสำเร็จลงทั้งโดยใช้กำลังทำสงคราม และโดยค่อยๆ เข้ายึดครองอย่างสันติ รวมทั้งโดยทำสนธิสัญญากับชาวพื้นเมือง

           บทบาทของโยชูวาในการตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ นับตั้งแต่ข้ามแม่น้ำจอร์แดนจนถึงการชุมนุมที่เมืองเชเคม นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ เมื่อคำนึงถึงการกำหนดเวลาที่ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับหนังสืออพยพ เราอาจเสนอลำดับเวลาดังต่อไปนี้

           – เผ่าต่างๆ เข้ายึดครองจากทิศใต้ราวปี 1250 ก่อน ค.ศ.

           - บรรดาเผ่าที่ข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้ายึดครองปาเลสไตน์ตอนกลางราวปี 1225 ก่อน ค.ศ.

           - เผ่าทางเหนือขยายเขตแดนของตนราวปี 1200 ก่อน ค.ศ.

           หนังสือโยชูวาเสนอภาพการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันตามอุดมการณ์โดยใช้โครงสร้างง่ายๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย และเราไม่สามารถทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้นจริง เป็นภาพในอุดมการณ์ เพราะเรื่องการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันเป็นการเล่าแบบเฉลิมพระเกียรติต่อจากการอพยพออกจากอียิปต์ โดยเน้นการอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อช่วยประชากรของพระองค์ เรื่องที่เล่ายังมีโครงสร้างง่ายๆ โดยให้โยชูวาเป็นพระเอกของเหตุการณ์ทุกอย่าง เขาเป็นผู้นำเผ่าโยเซฟเข้าทำสงคราม (บทที่ 1-12) เขาเป็นผู้แบ่งแผ่นดินให้แก่เผ่าต่างๆ (บทที่ 13-21) แม้ว่าในความเป็นจริงไม่มีใครจัดการแบ่งแผ่นดินในสมัยใดเลย เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือกล่าวถึงโยชูวาและจบลงด้วยการอำลาและมรณกรรมของเขา (บทที่ 23; 24:29-31) หนังสือโยชูวาทั้งเล่มกล่าวถึงแผ่นดินคานาอัน ประชากรซึ่งได้พบพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร บัดนี้รับแผ่นดินเป็นของตนจากพระหัตถ์พระองค์ พระยาห์เวห์ทรงต่อสู้เพื่อชาวอิสราเอล (23:3, 10; 24:11-12) และบัดนี้ทรงมอบแผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษ (23:5, 14) ให้เป็นมรดกของเขา

3. หนังสือผู้วินิจฉัย

3. หนังสือผู้วินิจฉัย

           หนังสือผู้วินิจฉัยแบ่งได้เป็น 3 ภาคยาวไม่เท่ากัน คือ (1) บทนำ (1:1–2:5) 2) เรื่องหลัก (2:6–16:31) 3) ภาคผนวกสองเรื่อง เรื่องแรกกล่าวถึงชนเผ่าดานอพยพย้ายถิ่นฐานไปสร้างสักการสถานที่เมืองดาน (บทที่ 17-18) เรื่องที่สองกล่าวถึงสงครามที่เกือบจะล้างเผ่าคนเบนยามินเพราะอาชญากรรมที่เมืองกิเบอาห์ (บทที่ 19-21)

           บทนำ (1:1–2:5) แต่เดิมคงไม่ใช่เนื้อหาของหนังสือผู้วินิจฉัย เพราะเป็นการเล่าอีกแบบหนึ่งถึงการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันจากทรรศนะของชนเผ่ายูดาห์ดังที่กล่าวแล้วเมื่อแนะนำหนังสือโยชูวา เมื่อผู้เรียบเรียงนำเรื่องนี้มาไว้ในหนังสือผู้วินิจฉัย เขาจึงกล่าวซ้ำถึงมรณกรรมและการฝังศพของโยชูวาที่กล่าวแล้วใน ยชว 24:29-31 อีกครั้งหนึ่ง (วนฉ 2:6-10)

           ประวัติของบรรดาผู้วินิจฉัยรวมเป็นเรื่องหลักของหนังสือ (2:6–16:31) นักวิชาการมักจะแยกบรรดาผู้วินิจฉัยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้ชื่อว่า ผู้วินิจฉัยใหญ่ ซึ่งมี 6 คน คือ โอทนีเอล เอฮูด บาราค (และนางเดโบราห์) กิเดโอน เยฟธาห์และแซมสัน เพราะกล่าวถึงกิจการของคนเหล่านี้อย่างละเอียดพอสมควร อีกกลุ่มหนึ่งได้ชื่อว่า ผู้วินิจฉัยน้อย 6 คน ได้แก่ ชัมการ์ (3:31) โทลาและยาอีร์ (10:1-15) อิบซาน เอโลนและอับโดน (12:8-15) เพราะมีข้อความกล่าวถึงเพียงสั้นๆ ถึงกระนั้นพระคัมภีร์ไม่ได้แยกแยะผู้วินิจฉัยตามมาตรการที่ว่านี้ การแยกแยะมีเหตุผลลึกซึ้งกว่านี้มาก คือธรรมประเพณีสองสายที่แตกต่างกันมากถูกนำมารวมกันโดยใช้ชื่อ “ผู้วินิจฉัย” คำเดียวเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกคนเหมือนกัน “ผู้วินิจฉัยใหญ่” เป็นวีรชนประจำเผ่าที่ช่วยชนในเผ่าให้รอดพ้นจากศัตรู แต่ละคนมีชาติกำเนิด บุคลิกภาพและผลงานแตกต่างกันมาก แต่ทุกคนมีลักษณะร่วมกันประการหนึ่งคือได้รับพระพรพิเศษ (charism) จากพระเจ้า พระองค์ทรงเรียกแต่ละคนให้ประกอบภารกิจช่วยชนเผ่าของตนให้รอดพ้นจากศัตรูที่มาข่มเหง แต่เดิมเรื่องราวของวีรชนเหล่านี้เล่าต่อๆ กันมาปากต่อปาก มีรูปแบบและรายละเอียดแตกต่างกันมากและค่อยๆ ต่อเติมเข้ามาเรื่อยๆ เรื่องราวเหล่านี้ถูกรวบรวมเข้าเป็นหนังสือ “วีรชนกู้ชาติ” ซึ่งคงเขียนขึ้นในอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือในช่วงแรกของสมัยมีกษัตริย์ปกครอง หนังสือเล่มนี้บันทึกเรื่องราวของเอฮูด เรื่องราวของบาราคและนางเดโบราห์ เรื่องนี้อาจมีรายละเอียดเกี่ยวกับยาบินกษัตริย์แห่งเมืองฮาโซร์ (ยชว 11) เข้ามาปะปนอยู่ด้วยแล้ว เรื่องราวของกิเดโอน (เยรุบบาอัล) รวมกับเรื่องการปกครองของอาบีเมเลคที่ผนวกเข้ามา เรื่องราวของเยฟธาห์และบุตรสาว และยังมีบทประพันธ์โบราณ 2 บทรวมอยู่ด้วย คือบทเพลงของนางเดโบราห์ (วนฉ 5) ซึ่งกล่าวถึงเรื่องเดียวกันกับที่เล่าเป็นร้อยแก้วแล้วใน วนฉ 4 และนิทานป้องกันตัวของโยธาม (9:7-15) ที่กล่าวประณามอาบีเมเลคซึ่งปรารถนาจะตั้งตนเป็นกษัตริย์ หนังสือเล่มนี้ยกย่องวีรชนของแต่ละเผ่าให้เป็นวีรชนประจำชาติและเป็นผู้นำชาวอิสราเอลทั้งปวงให้ทำสงครามของพระยาห์เวห์ ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผู้วินิจฉัยน้อย” คือโทลา ยาอีร์ อิบซาน เอโลนและอับโดนมาจากธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งซึ่งไม่กล่าวว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ช่วยชนเผ่าของตนให้รอดพ้นจากการข่มเหงของศัตรูเลย บอกแต่เพียงว่าคนเหล่านี้มาจากเผ่าใด จากวงศ์ตระกูลของใคร ศพของเขาฝังไว้ที่ไหน และมีบอกเพียงว่าเขาได้ วินิจฉัย ชาวอิสราเอลเป็นเวลานานเท่าใด ในภาษาเซมิติก คำกริยา “วินิจฉัย” (shaphat) ไม่หมายเพียงการตัดสินคดีความในศาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปกครองประชาชนในเขตใดเขตหนึ่งด้วย ดังนั้น “ผู้วินิจฉัย” ในพระคัมภีร์จึงหมายถึงสถาบันทางการเมืองซึ่งปกครองชนเผ่าต่างๆ ในเขตเมืองเดียวกัน มีอำนาจปกครองมากกว่าหัวหน้าเผ่า แต่น้อยกว่ากษัตริย์

           ผู้เรียบเรียงกลุ่มแรกจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติมีข้อมูลที่แน่นอนและเจาะจงเกี่ยวกับผู้วินิจฉัย(น้อย)เหล่านี้แต่ละคน แต่ได้ขยายอำนาจหน้าที่ของผู้วินิจฉัยให้ครอบคลุมชาวอิสราเอลทั้งปวง และจัดเรียงไว้ตามลำดับเวลาต่อเนื่องกัน เขายังทำให้บรรดาวีรชนจาก “หนังสือวีรชนกู้ชาติ” เป็น “ผู้วินิจฉัยของอิสราเอล” อีกด้วย บางทีกรณีของเยฟธาห์ช่วยให้รวมคนสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน เพราะเยฟธาห์เป็นทั้งวีรชนผู้กอบกู้ชนเผ่าของตนและเป็นผู้วินิจฉัยด้วยในเวลาเดียวกัน ผู้เรียบเรียงทราบข้อมูลนี้ จึงได้เพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องการเป็นผู้วินิจฉัย (11:1-2; 12:7) เข้ากับเรื่องวีรกรรมของเขา ผู้เรียบเรียงยังนำเรื่องของแซมสันเข้ามาในหนังสือนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เขาไม่มีลักษณะของคนในกลุ่มใดเลย แซมสันเป็นพระเอกในเผ่าดานก็จริง แต่ไม่ได้เป็นทั้งผู้กอบกู้หรือผู้ปกครองเผ่าของตนเลย แต่กิจการที่แสดงความกล้าบ้าบิ่นของเขาต่อชาวฟีลิสเตียกลายเป็นนิทานชาวบ้านในเผ่ายูดาห์ (บทที่ 13-16) ผู้เรียบเรียงยังได้เพิ่มเรื่องของโอทนีเอล (3:7-11) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันมากกว่า (ดู ยชว 15:16-19; วนฉ 1:12-15) เข้ามาด้วย ต่อมายังเพิ่มเรื่องของชัมการ์ (วนฉ 3:31) ซึ่งไม่ใช่ชาวอิสราเอลด้วยซ้ำไป (ดู วนฉ 5:6) ทั้งนี้เพื่อทำให้จำนวนของผู้วินิจฉัยเป็นสิบสองคน ตามจำนวนสัญลักษณ์หมายถึงชาวอิสราเอลทั้งปวง

           ผู้เรียบเรียงจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติกำหนดกรอบเวลาสำหรับหนังสือผู้วินิจฉัย เขารักษาข้อมูลที่ชัดเจนและเจาะจงเกี่ยวกับ “ผู้วินิจฉัย(น้อย)” ไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แต่กำหนดช่วงเวลาสำหรับเรื่องอื่นๆ โดยใช้จำนวนเลขที่เป็นสูตรนิยมใช้กัน คือเลข 40 ซึ่งหมายถึงระยะเวลาหนึ่งชั่วอายุคน เลข 80 ซึ่งเป็นผลคูณของ 40 หรือเลข 20 ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของ 40 เขากำหนดเวลาเช่นนี้เพื่อว่าเมื่อรวมกับข้อมูลอื่นๆ ในพระคัมภีร์จะให้ผลลัพธ์เป็น 480 ปี ซึ่งตามความคิดของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติเป็นเวลาที่ผ่านไประหว่างการอพยพออกจากอียิปต์และการสร้างพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (1 พกษ 6:1) เรื่องราวของผู้วินิจฉัยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมรณกรรมของโยชูวากับการเริ่มภารกิจของซามูเอลรับกันกับกรอบเวลาที่จัดขึ้นนี้อย่างเหมาะเจาะ ถึงกระนั้น งานสำคัญของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติคือการเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ ให้มีความหมายทางศาสนา เขาแสดงเจตนารมณ์นี้อย่างชัดเจนในบทนำทั่วไปเรื่องผู้วินิจฉัย (วนฉ 2:6–3:6) และโดยเฉพาะในบทนำพิเศษของเรื่องเยฟธาห์ (10:6-16) ตลอดจนในเรื่องของโอทนีเอลที่ผู้เรียบเรียงได้แต่งขึ้นเกือบทั้งหมดให้เป็นเสมือนบทนำของเรื่องผู้วินิจฉัยแต่ละคนที่จะตามมาและมีความยาวมากกว่า ทรรศนะของผู้เรียบเรียงจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติโดยสรุปก็คือ (1) ชาวอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์ (2) พระองค์จึงทรงมอบเขาให้ศัตรูมาข่มเหง (3) ชาวอิสราเอลร้องเรียกหาพระยาห์เวห์ (4) พระองค์จึงทรงส่งผู้กอบกู้มาช่วย ได้แก่ผู้วินิจฉัย แต่ต่อมาชาวอิสราเอลก็ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์อีก วนเวียนอยู่เช่นนี้ต่อๆ ไป

           สำนักเฉลยธรรมบัญญัติคงได้เรียบเรียงปรับปรุงหนังสือผู้วินิจฉัยอย่างน้อยสองครั้ง หลักฐานที่ชัดเจนก็คือข้อความเพิ่มเติมบทนำสองตอน (2:11-19 และ 2:6-10 รวมกับ 2:20–3:6) และข้อสรุปเรื่องแซมสันสองครั้ง (15:20 และ 16:30) ซึ่งแสดงว่าบทที่ 16 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมในภายหลัง ในระยะนี้หนังสือผู้วินิจฉัยยังไม่มีภาคผนวก (บทที่ 17-21) ซึ่งไม่เล่าเรื่องของผู้วินิจฉัยคนใด แต่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการสถาปนาระบอบมีกษัตริย์ปกครอง เพราะฉะนั้นผู้เรียบเรียงหนังสือผู้วินิจฉัยหลังกลับจากเนรเทศจึงเพิ่มบทที่ 17-21 นี้เข้าไปอีก บทเหล่านี้สะท้อนธรรมประเพณีโบราณที่ถ่ายทอดทั้งปากต่อปากและเป็นลายลักษณ์อักษรมานานก่อนจะถูกนำมารวมไว้ที่นี่ บทที่ 17-18 มีพื้นฐานจากธรรมประเพณีของชนเผ่าดานเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐานของเผ่าและการก่อสร้างสักการสถานที่เมืองดาน ผู้เรียบเรียงอธิบายความหมายของเหตุการณ์นี้ในแง่ลบ ส่วนบทที่ 19-21 รวมธรรมประเพณีสองสายเกี่ยวกับสักการสถานที่เมืองมิสปาห์และเมืองเบธเอลเข้าด้วยกันเหมือนกับว่าสักการสถานทั้งสองแห่งนี้เป็นสักการสถานของอิสราเอลทุกเผ่าแล้ว ธรรมประเพณีทั้งสองสายนี้คงมีต้นกำเนิดในเผ่าเบนยามิน แต่เผ่ายูดาห์คงเรียบเรียงขึ้นใหม่ในแง่ลบเพื่อต่อต้านสิทธิเป็นกษัตริย์ปกครองของซาอูลที่เมืองกิเบอาห์

           หนังสือผู้วินิจฉัยเป็นแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียวที่เรามีเกี่ยวกับสมัยของผู้วินิจฉัย เราจึงไม่มีข้อมูลเพียงพอเพื่อจะเล่าประวัติศาสตร์ของสมัยนี้อย่างต่อเนื่อง ดังที่กล่าวแล้ว ผู้เขียนได้จัดเหตุการณ์ตามลำดับเวลาและแบบแผนที่คิดขึ้นเองมากกว่าจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องกันซึ่งในความเป็นจริงเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ทั้งการข่มเหงและการกอบกู้แต่ละครั้งคงจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่นในแต่ละเผ่ามากกว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อทุกเผ่า โดยแท้จริงแล้วระยะเวลาของสมัยผู้วินิจฉัยน่าจะนานไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบปี

           เราไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่มีเรื่องราวบันทึกไว้ได้ เราสามารถกำหนดเวลาได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น ชัยชนะของนางเดโบราห์และบาราคที่เมืองทาอานาค (วนฉ 4-5) อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล (ราวปี 1125 ก่อน ค.ศ.) ก่อนที่ชาวมีเดียนจะมารุกราน (เรื่องกิเดโอน) และก่อนที่ชาวฟีลิสเตียจะขยายอาณาเขตของตนเข้ามาในดินแดนของเผ่าดาน (เรื่องแซมสัน) ข้อเท็จจริงสำคัญที่เราทราบได้จากหนังสือผู้วินิจฉัยก็คือศัตรูของชาวอิสราเอลในช่วงเวลาวุ่นวายนี้ ไม่ใช่เพียงชาวคานาอันซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิม เช่นผู้อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบยิสเรเอล ซึ่งพ่ายแพ้ต่อนางเดโบราห์และบาราคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชนชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่นชาวโมอับ (เรื่องเอฮูด) ชาวอัมโมน (เรื่องเยฟธาห์) ชาวมีเดียน (เรื่องกิเดโอน) และชาวฟีลิสเตียที่เพิ่งอพยพเข้ามา (เรื่องแซมสัน) ชาวอิสราเอลแต่ละเผ่าต้องปกป้องเขตแดนของตนจากศัตรูต่างๆ เหล่านี้ที่คุกคาม บางครั้งชนเผ่าใกล้เคียงอาจรวมกำลังกัน (วนฉ 7:23) หรือบางครั้งเผ่าที่มีอำนาจมากกว่าอาจบ่นว่าเผ่าอื่นที่ไม่ได้เชิญตนมาร่วมรบกับศัตรูเพื่อจะได้มีส่วนแบ่งจากของเชลยด้วย (วนฉ 8:1-3; 12:1-6) บทเพลงของนางเดโบราห์ (บทที่ 5) ประณามชนเผ่าที่ปฏิเสธไม่ยอมออกไปร่วมรบ แต่น่าแปลกที่ไม่มีการกล่าวถึงเผ่ายูดาห์และเผ่าสิเมโอนเลยสักครั้งเดียว

           เมืองเกเซอร์ของชาวคานาอัน เมืองต่างๆ ของชาวกิเบโอน และเมืองเยรูซาเล็มของชาวเยบุสแยกเขตแดนของเผ่ายูดาห์และสิเมโอนทางใต้จากเผ่าอื่นๆ ของอิสราเอล การอยู่แยกกันเช่นนี้จะเป็นเหตุในอนาคตที่ทำให้บรรดาเผ่าทางเหนือแยกตัวจากเผ่ายูดาห์ทางใต้ ตรงกันข้ามเผ่าทางเหนือรวมตัวกันได้ ชัยชนะในการรบที่เมืองทาอานาคทำให้ชาวอิสราเอลสามารถยึดครองที่ราบยิสเรเอลได้ทั้งหมด และดังนี้เผ่าเอฟราอิม มนัสเสห์และเบนยามินสามารถทำพันธสัญญากับเผ่าอื่นๆ ทางเหนือ กระนั้นก็ดี ความเชื่อเดียวกันทำให้เผ่าต่างๆรวมเป็นหนึ่งเดียว ผู้วินิจฉัยทุกคนนับถือพระยาห์เวห์ด้วยความจริงใจ และสักการสถานซึ่งประดิษฐานหีบพันธสัญญาที่เมืองชิโลห์ก็เป็นศูนย์กลางที่ประชากรทั้งหมดมาชุมนุมกัน

           หนังสือผู้วินิจฉัยสอนชาวอิสราเอลว่าเขาถูกศัตรูข่มเหงเป็นการลงโทษที่เขาไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์ เขาจะมีชัยชนะได้ก็เมื่อเขากลับใจมาหาพระองค์ ผู้เขียนหนังสือบุตรสิราจะยกย่องบรรดาผู้วินิจฉัยเพราะเขามีความเชื่อมั่นคง (บสร 46:11-12) และจดหมายถึงชาวฮีบรูอธิบายว่าบรรดาผู้วินิจฉัยสามารถพิชิตศัตรูก็โดยอาศัยความเชื่อ เขาเป็นส่วนหนึ่งของ “พยานจำนวนมากที่ห้อมล้อม” เชิญชวนคริสตชนให้ละทิ้งบาปและสู้ทนความยากลำบากด้วยความเข้มแข็ง (ฮบ 11:32-34; 12:1)

4. หนังสือนางรูธ

4. หนังสือนางรูธ

           หนังสือนางรูธเป็นหนังสือสั้นๆ ซึ่งในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก (LXX) ภาษาละติน (Vulgate) และฉบับแปลต่างๆ ในสมัยปัจจุบัน อยู่ต่อจากหนังสือผู้วินิจฉัย แต่ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู หนังสือเล่มนี้จัดอยู่ในกลุ่ม “ข้อเขียน” เป็นหนึ่งในหนังสือห้าม้วน (Megillot) ที่ชาวยิวใช้อ่านในวันฉลองสำคัญ หนังสือนางรูธใช้อ่านในวันเปนเตกอสเต เนื้อหาของหนังสือนี้เล่าเหตุการณ์ในสมัยผู้วินิจฉัย (ดู นรธ 1:1) ก็จริง แต่สำนักเฉลยธรรมบัญญัติที่ได้เรียบเรียงหนังสือภาคประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ยชว จนถึง พกษ คงไม่รู้จักหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ได้เรียบเรียงปรับปรุงแต่อย่างใด

           หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของนางรูธ หญิงชาวโมอับ ภรรยาม่ายของชายชาวเบธเลเฮมคนหนึ่งที่เคยอพยพไปอยู่ในแคว้นโมอับ นางรูธตามนางนาโอมีมารดาของสามีกลับมาในแคว้นยูดาห์และแต่งงานกับโบอาสญาติของสามีตามธรรมเนียมที่แม่ม่ายจะต้องแต่งงานกับญาติใกล้ชิดของสามีที่เสียชีวิตแล้ว จากการแต่งงานนี้ นางให้กำเนิดโอเบดซึ่งเป็นพระอัยกาของกษัตริย์ดาวิด ข้อความต่อเติมใน นรธ 4:18-22 กล่าวถึงลำดับวงศ์วานของกษัตริย์ดาวิด ตรงกับที่มีใน 1 พศด 2:5-15

           ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่มีข้อยุติว่าหนังสือนางรูธเขียนขึ้นเมื่อไร นักวิชาการมีความเห็นต่างกันหลากหลาย คิดว่าหนังสือนี้อาจแต่งขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ดาวิดและซาโลมอนจนถึงสมัยเนหะมีย์ ผู้ที่คิดว่าหนังสือเล่มนี้เขียนในสมัยหลังอ้างเหตุผลจากการที่หนังสือนี้อยู่ในภาคสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู หรือจากภาษาที่ใช้ หรือจากขนบธรรมเนียมที่มีกล่าวถึงในหนังสือ แต่เหตุผลเหล่านี้ก็ยังไม่มีน้ำหนักพอเพียงจะพิสูจน์ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนในสมัยหลัง และมักจะคิดกันว่าหนังสือนี้อาจเขียนในสมัยที่อิสราเอลยังมีกษัตริย์ปกครอง

           หนังสือนี้เล่าเรื่องเตือนใจ ต้องการสอนว่าผู้ที่ไว้วางใจในพระเจ้าจะได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์ และพระองค์ยังทรงแสดงพระเมตตากรุณาต่อหญิงต่างชาติอีกด้วย (นรธ 2:12) คำสอนอมตะของหนังสือเล็กๆ เล่มนี้คือความเชื่อในพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าและความสำนึกว่าพระเจ้าทรงดูแลมนุษย์ทุกคนไม่จำกัดเชื้อชาติ การที่นางรูธเป็นพระมาตามหัยยิกา(ย่าทวด)ของกษัตริย์ดาวิดทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ นักบุญมัทธิวยังกล่าวถึงนางรูธในลำดับวงศ์วานของพระคริสตเจ้าด้วย (มธ 1:5)

5. หนังสือซามูเอล

5. หนังสือซามูเอล

           ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู หนังสือซามูเอลเป็นหนังสือเล่มเดียว ผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษากรีกเป็นผู้แบ่งหนังสือนี้เป็นสองเล่มอย่างที่เรามีในปัจจุบัน นอกจากนั้นพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกยังรวมหนังสือซามูเอลและพงศ์กษัตริย์เข้าด้วยกัน เรียกว่า หนังสือสี่เล่มเรื่องอาณาจักร (ในฉบับภาษาละตินได้ชื่อว่า หนังสือพงศ์กษัตริย์สี่เล่ม) หนังสือสองเล่มแรกนี้ได้ชื่อว่า หนังสือซามูเอล ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู เพราะชาวยิวคิดว่าประกาศกซามูเอลเป็นผู้เขียน

           ตัวบทต้นฉบับภาษาฮีบรูของหนังสือซามูเอลอยู่ในสภาพชำรุดมากที่สุดเล่มหนึ่งของพันธสัญญาเดิม ฉบับแปลเป็นภาษากรีก (LXX) มีข้อความที่ต่างกันบ่อยครั้ง เพราะอาจแปลมาจากต้นฉบับที่มีอยู่ก่อนฉบับภาษาฮีบรูที่เรามีในปัจจุบัน เราพบชิ้นส่วนของตัวบทต้นฉบับโบราณนี้บ้างในถ้ำที่กุมราน (Qumran) ทำให้เข้าใจว่าจะต้องมีตัวบทภาษาฮีบรูของหนังสือซามูเอลหลายแบบด้วยกัน

           หนังสือซามูเอลแบ่งออกเป็น 5 ภาค คือ (1) เรื่องซามูเอล (1 ซมอ 1-7) (2) เรื่องซามูเอลและซาอูล (8-15) (3) เรื่องกษัตริย์ซาอูลและดาวิด (1 ซมอ 16–2 ซมอ 1) (4) เรื่องกษัตริย์ดาวิด (2 ซมอ 2-20) (5) ภาคผนวก (2 ซมอ 21-24)

           หนังสือซามูเอลรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลและธรรมประเพณีต่างๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่อิสราเอลเริ่มมีกษัตริย์ปกครองเข้าด้วยกัน หรือเขียนต่อกันไว้เฉยๆ โดยไม่ขัดเกลารายละเอียดให้เข้าประสานกัน เรื่องที่มีเล่าไว้คือ เรื่องหีบพันธสัญญา ที่ถูกชาวฟีลิสเตียยึดไป (1 ซมอ 4-6) ซึ่งจะดำเนินต่อไปใน 2 ซมอ 6 เรื่องปฐมวัยของซามูเอล ใน 1 ซมอ 1-3 เป็นภูมิหลังของเรื่องหีบพันธสัญญานี้ โดยเล่าว่าเรื่องนี้เป็นการนำเข้าสู่การปลดปล่อยอิสราเอลให้พ้นจากอำนาจปกครองของชาวฟีลิสเตีย (บทที่ 7) ซามูเอลมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาระบอบกษัตริย์ของอิสราเอล (1 ซมอ 8-12) ในเรื่องนี้เราสามารถแยกธรรมประเพณีได้สองสายคือ สายหนึ่งในบทที่ 9; 10:1-16; 11 และอีกสายหนึ่งในบทที่ 8; 10:17-24; 12 ธรรมประเพณีสายแรกเล่าเหตุการณ์โดยมีแนวโน้มที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “นิยมกษัตริย์” ส่วนสายที่สองเล่าเหตุการณ์โดยมีแนวโน้มที่มักเรียกว่า “ต่อต้านกษัตริย์” และยังคิดว่าธรรมประเพณีสายที่สองนี้มาทีหลัง โดยแท้จริงแล้วธรรมประเพณีทั้งสองสายมีความเก่าแก่เท่าเทียมกัน เพียงแต่สะท้อนท่าทีที่แตกต่างกันเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นธรรมประเพณีสายที่สองก็ไม่ “ต่อต้านกษัตริย์” ดังที่อ้างกัน เพียงแต่ต่อต้านระบอบกษัตริย์ที่ไม่เคารพสิทธิของพระเจ้าเท่านั้น บทที่ 13-14 เล่าเรื่องสงครามต่างๆ ที่กษัตริย์ซาอูลทรงทำกับชาวฟีลิสเตียและเล่าครั้งแรกว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งกษัตริย์ซาอูล ใน 13:7ข-15ก และเล่าครั้งที่สองในบทที่ 15 เมื่อกล่าวถึงสงครามกับชาวอามาเลข เรื่องสุดท้ายนี้นำไปสู่เรื่องซามูเอลเจิมดาวิดให้เป็นกษัตริย์ (16:1-13) เรื่องที่เล่าตั้งแต่ 1 ซมอ 16:14 ถึง 2 ซมอ 1 เกี่ยวกับดาวิดเมื่อเข้ารับราชการในราชสำนักของกษัตริย์ซาอูล เป็นเรื่องราวที่รวบรวมมาจากธรรมประเพณีโบราณหลายสาย และบ่อยครั้งเล่าเรื่องซ้ำซ้อนกัน

           ความสัมพันธ์ยุ่งยากระหว่างดาวิดกับกษัตริย์ซาอูลจบลงใน 2 ซมอ 2-5 เมื่อดาวิดทรงรับเจิมเป็นกษัตริย์ที่เมืองเฮโบรน ทรงยึดกรุงเยรูซาเล็ม และทรงทำสงครามกับชาวฟีลิสเตีย ทำให้ชาวอิสราเอลทุกเผ่ายอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ของอิสราเอลทั้งหมดด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น (2 ซมอ 5:12)

           2 ซมอ 6 เล่าเรื่องหีบพันธสัญญาต่อจาก 1 ซมอ 4-6

           คำทำนายของนาธัน ใน 2 ซมอ 7 เป็นข้อความโบราณที่ได้รับการเรียบเรียงในภายหลัง (บทที่ 8 เป็นข้อสังเกตของผู้เรียบเรียง)

           2 ซมอ 9 เป็นบทแรกของเรื่องราวต่อเนื่องยืดยาวซึ่งจะจบที่ 1 พกษ 1-2 เป็นเรื่องครอบครัวของกษัตริย์ดาวิดและการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระโอรสของพระองค์ ผู้เขียนเรื่องนี้น่าจะได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เล่าและเขียนเรื่องที่เขาเป็นพยานรู้เห็นในช่วงแรกของรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน

           2 ซมอ 21-24 แทรกเข้ามาในเรื่องการแย่งชิงราชสมบัติ เป็นเรื่องสั้นๆ หลายเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิด

           นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์อันยืดยาวใน 2 ซมอ 9-20 แล้ว คงมีการรวบรวมเรื่องต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็นชุดๆ ใน 2 ศตวรรษแรกที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง คือเรื่องชุดเกี่ยวกับซามูเอล เรื่องชุดเกี่ยวกับกษัตริย์ซาอูลและดาวิด (1 ซมอ 17–2 ซมอ 1) เป็นไปได้ว่ามีผู้รวบรวมเรื่องชุดเหล่านี้เข้าด้วยกันราวปี 700 ก่อน ค.ศ. แต่หนังสือซามูเอลอย่างที่เรามีในปัจจุบันน่าจะได้รับการเรียบเรียงเป็นครั้งสุดท้ายจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติเข้ามารวมกับหนังสืออื่นๆ เป็นประวัติศาสตร์ตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติในช่วงเวลาไม่นานก่อนหรือระหว่างการเนรเทศที่บาบิโลน ถึงกระนั้นสำนักเฉลยธรรมบัญญัติก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลเดิมมากนัก ต่างจากในหนังสือผู้วิจฉัยและพงศ์กษัตริย์ เราสามารถสังเกตเห็นการเรียบเรียงเล็กน้อยในบทแรกๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 1 ซมอ 7 และ 12) และในคำทำนายของประกาศกนาธัน (2 ซมอ 7) เท่านั้น ส่วนเรื่องราวใน 2 ซมอ 9-20 แทบจะไม่ได้รับการเรียบเรียงใหม่เลยก็ว่าได้

           หนังสือซามูเอลเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่ออิสราเอลเริ่มมีกษัตริย์ปกครองจนถึงปลายรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิด ชาวฟีลิสเตียขยายอำนาจปกครองเข้ามาในเขตแดนของชาวอิสราเอล (การรบที่เมืองอาเฟคเกิดขึ้นราวปี 1050) เป็นการคุกคามความเป็นอยู่ของชาวอิสราเอล ทำให้ชาวอิสราเอลเห็นความจำเป็นจะต้องมีกษัตริย์ปกครอง ซาอูล (ประมาณปี 1030) แสดงตัวเป็นเหมือนผู้วินิจฉัยคนหนึ่ง แต่เมื่ออิสราเอลทุกเผ่ายอมรับอำนาจปกครองของเขาอย่างถาวร จึงทำให้เกิดมีระบอบกษัตริย์ปกครองขึ้น กษัตริย์ซาอูลทรงเริ่มทำสงครามกับชาวฟีลิสเตียเพื่อปลดปล่อยชาวอิสราเอลและขับไล่ชาวฟีลิสเตียออกจากดินแดนของตน (1 ซมอ 14) ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาการสู้รบจะเกิดขึ้นตามชายแดนของชาวอิสราเอล เช่นใน 1 ซมอ 17 เป็นการรบที่ “หุบเขาต้นมะขาม” บทที่ 28 และ 31 ที่ภูเขากิลโบอา ชาวอิสราเอลพ่ายแพ้ยับเยินในการรบที่ภูเขากิลโบอานี้ กษัตริย์ซาอูลสิ้นพระชนม์ในสนามรบราวปี 1010 ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติก็ถูกคุกคามอีกครั้งหนึ่ง ชนเผ่ายูดาห์ประกาศตั้งดาวิดเป็นกษัตริย์ที่เมืองเฮโบรน เผ่าต่างๆ ทางเหนือก็แต่งตั้งอิชบาอัล พระโอรสของกษัตริย์ซาอูลขึ้นเป็นคู่แข่งกับกษัตริย์ดาวิด อิชบาอัลหนีหลบภัยไปอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน อย่างไรก็ตามอิชบาอัลถูกฆ่า ชาวอิสราเอลสามารถรวมเป็นชนชาติเดียวกันได้อีก เมื่อเผ่าต่างๆ ทางเหนือยอมรับอำนาจปกครองของกษัตริย์ดาวิดโดยพร้อมเพรียงกัน

           หนังสือซามูเอลฉบับที่สองกล่าวสั้นๆ ถึงผลตามมาทางการเมืองของรัชสมัยกษัตริย์ดาวิด ทั้งๆ ที่ผลกระทบเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ ต่อมากษัตริย์ดาวิดทรงขับไล่ชาวฟีลิสเตียออกจากดินแดนอิสราเอลตลอดไป ทรงรวมเผ่าต่างๆ ให้เป็นชนชาติเดียวกันพร้อมทั้งยึดครองดินแดนที่ชาวคานาอันยังครอบครองอยู่จนถึงเวลานั้น โดยเฉพาะกรุงเยรูซาเล็มซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทั้งในด้านการเมืองและด้านศาสนา กษัตริย์ดาวิดทรงขยายอำนาจปกครองเหนือดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนทั้งหมด รวมทั้งดินแดนของชาวอารัมทางใต้ของแคว้นซีเรียด้วย ถึงกระนั้น เมื่อกษัตริย์ดาวิดสิ้นพระชนม์ราวปี 970 เอกภาพของชาติก็ยังไม่มั่นคงจริงๆ อิสราเอลทางเหนือและยูดาห์ทางใต้ซึ่งเป็นสองส่วนของอาณาจักรมักจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง ชนเผ่าทางเหนือสนับสนุนการกบฏของอับซาโลม และคำปลุกใจของเชบา ชนเผ่าเบนยามินที่ว่า “อิสราเอลเอ๋ย จงกลับไปบ้านเถิด” ก็เป็นสัญญาณของการกบฏ ทั้งหมดนี้เป็นลางบอกเหตุว่าพระอาณาจักรกำลังจะแตกแยก

           หนังสือซามูเอลทั้งสองฉบับมีเจตนาจะให้บทสอนทางศาสนาอยู่ด้วย แสดงเงื่อนไขที่จะทำให้พระอาณาจักรของพระเจ้าบนแผ่นดินดำเนินไปได้ และแสดงให้เห็นความยากลำบากที่พระอาณาจักรนี้จะต้องประสบ พระอาณาจักรของพระเจ้านี้บรรลุถึงอุดมการได้ในรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิดเท่านั้น ก่อนหน้านั้นกษัตริย์ซาอูลไม่ทรงสามารถบรรลุถึงอุดมการนี้ได้ และบรรดากษัตริย์ที่สืบราชสมบัติต่อจากดาวิดก็ไม่สามารถบรรลุถึงอุดมการนี้ได้เช่นเดียวกัน เพราะบาปที่เขาทำเรียกร้องการลงโทษจากพระเจ้าและนำหายนะมาสู่ประเทศชาติ พระสัญญาต่างๆ ที่พระยาห์เวห์ประทานแก่ราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด นับตั้งแต่คำพยากรณ์ของประกาศกนาธันเป็นต้นมา ได้หล่อเลี้ยงและสนับสนุนความหวังถึงพระเมสสิยาห์ไว้ไม่ให้เสื่อมคลาย พันธสัญญาใหม่กล่าวสามครั้งถึงคำพยากรณ์ของประกาศกนาธัน (กจ 2:30; 2 คร 6:18; ฮบ 1:6) และยังกล่าวว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด เมื่อประชาชนเรียกพระองค์ว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” ก็เป็นการยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ บรรดาปิตาจารย์เห็นความละม้ายคล้ายกันอย่างมากระหว่างกษัตริย์ดาวิดกับพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ของประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ทั้งๆ ที่ประชากรของพระองค์ก็ยังเบียดเบียนพระองค์ด้วย

6.หนังสือพงศ์กษัตริย์

6. หนังสือพงศ์กษัตริย์

           หนังสือพงศ์กษัตริย์ฉบับที่หนึ่งและที่สองแต่เดิมเป็นหนังสือเล่มเดียวในต้นฉบับภาษาฮีบรูเช่นเดียวกับหนังสือซามูเอล ต้นฉบับภาษากรีกเรียกหนังสือพงศ์กษัตริย์ฉบับที่หนึ่งและที่สองว่า หนังสือเรื่องพระอาณาจักร ฉบับที่สามและที่สี่ ส่วนต้นฉบับภาษาละติน (Vulgate) เรียกว่า หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่สามและที่สี่

           หนังสือพงศ์กษัตริย์เล่าเรื่องต่อจากหนังสือซามูเอล 1 พกษ 1-2 เป็นบทสรุปของเรื่องเล่ายืดยาวที่มีอยู่ใน 2 ซมอ 9-20 เรื่องราวในรัชสมัยยาวนานของกษัตริย์ซาโลมอน (1 พกษ 3-11) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระปรีชาล้ำเลิศของพระองค์ เล่าถึงความมั่งคั่งและงานก่อสร้างยิ่งใหญ่ของพระองค์ โดยเฉพาะการสร้างพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม รัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอนเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง ไม่ใช่ยุคของการทำสงครามขยายอาณาเขต ความกระตือรือร้นที่จะทำสงครามเช่นนี้ที่ปรากฏในรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิดได้จางหายไปแล้ว เวลานี้เป็นยุคของการอนุรักษ์ การจัดระเบียบบริหารประเทศ และยิ่งกว่านั้นเป็นยุคแห่งการเอารัดเอาเปรียบประชาชน การเอารัดเอาเปรียบนี้ทำให้ความเป็นอริกันที่มีอยู่แล้วระหว่างเผ่าทางเหนือกับเผ่าทางใต้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อกษัตริย์ซาโลมอนสิ้นพระชนม์ในปี 931 ราชอาณาจักรก็แบ่งออกเป็นสองส่วน การแตกแยกทางการเมืองนี้ยังทำให้มีการแตกแยกทางศาสนาอีกด้วย (1 พกษ 12-13) ตั้งแต่ 1 พกษ 14 จนถึง 2 พกษ 17 เล่าประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือและอาณาจักรยูดาห์ทางใต้ควบคู่กันไป เป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงการขับเคี่ยวระหว่างอาณาจักรพี่น้องทั้งสอง รวมทั้งการโจมตีจากภายนอกอีกด้วย ชาวอียิปต์เข้าโจมตีอาณาจักรยูดาห์ ส่วนชาวอารัมเข้าโจมตีเผ่าทางเหนือ แต่อันตรายที่คุกคามมากกว่านั้นมีขึ้นเมื่อกองทัพของชาวอัสซีเรียเข้ามาแทรกแซงทางภูมิภาคนี้ คือครั้งแรกในศตวรรษที่ 9 และต่อมาในศตวรรษที่ 8 เมื่อกรุงสะมาเรียถูกทำลายในปี 721 ก่อนหน้านั้นอาณาจักรยูดาห์ยอมเป็นประเทศราชของชาวอัสซีเรียแล้ว ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรยูดาห์ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยังคงเหลืออยู่มีเล่าต่อไปใน 2 พกษ 18–25:2 และจบลงเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 เรื่องราวของอาณาจักรยูดาห์ให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่รัชสมัยของกษัตริย์ 2 พระองค์ คือรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ (2 พกษ 18-20) และรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ (2 พกษ 22-23) เพราะในทั้งสองรัชกาลนี้มีการฟื้นฟูประเทศชาติและการปฏิรูปทางศาสนา เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในระยะนี้คือการรุกรานของกษัตริย์เซนนาเคริบในปี 701 เมื่อกษัตริย์เฮเซคียาห์ทรงครองราชย์ และในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ เมื่ออาณาจักรอัสซีเรียเสื่อมอำนาจและอาณาจักรเคลเดียขึ้นมาเรืองอำนาจแทน อาณาจักรยูดาห์จำเป็นต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของชาวเคลเดียซึ่งเป็นเจ้านายใหม่จากตะวันออก แต่ในไม่ช้าก็แข็งข้อไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ จึงถูกลงโทษอย่างรวดเร็ว ในปี 597 กองทัพของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เข้ายึดกรุงเยรูซาเล็มและกวาดต้อนประชาชนส่วนหนึ่งไปเป็นเชลย สิบปีต่อมา อาณาจักรยูดาห์ได้เป็นกบฏอีกทำให้กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ต้องยกทัพมาลงโทษทำลายกรุงเยรูซาเล็มและกวาดต้อนประชาชนไปเป็นเชลยครั้งที่สองในปี 587 หนังสือพงศ์กษัตริย์จบลงด้วยภาคผนวกสั้นๆ สองเรื่อง (2 พกษ 25:22-30)

           หนังสือพงศ์กษัตริย์กล่าวถึงเอกสารที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ 3 ฉบับคือ ประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ซาโลมอน พงศาวดารของกษัตริย์แห่งอิสราเอล และพงศาวดารของกษัตริย์แห่งยูดาห์ แต่ยังมีเอกสารอื่นๆ อีกด้วย เช่น บทสุดท้ายของเรื่องครอบครัวของกษัตริย์ดาวิด (1 พกษ 1-2) เรื่องการก่อสร้างพระวิหารจากตำนานสงฆ์ (1 พกษ 6-7) และโดยเฉพาะเรื่องเล่า 2 ชุด ชุดหนึ่งเกี่ยวกับประกาศกเอลียาห์ ที่เขียนขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 9 (1 พกษ 17–2 พกษ 1) ชุดที่สองเกี่ยวกับประกาศกเอลีชาที่เขียนหลังจากนั้นไม่นาน (2 พกษ 2-13) ส่วนเรื่องราวในรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ซึ่งมีประกาศกอิสยาห์เป็นบุคคลสำคัญ (2 พกษ 18:17–20:19) เป็นผลงานของบรรดาศิษย์ของประกาศก

           เมื่อผู้เขียนไม่ใช้แหล่งข้อมูลเหล่านี้ เขาก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามแผนโครงเรื่องตายตัว คือเล่าถึงรัชสมัยของกษัตริย์แต่ละพระองค์แยกกันตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ละเรื่องจะมีบทนำและบทสรุปโดยใช้ถ้อยคำที่เกือบจะเหมือนกันเป็นสูตรตัดสินพฤติกรรมทางศาสนาของกษัตริย์แต่ละพระองค์ กษัตริย์ของอาณาจักรอิสราเอลทุกพระองค์ได้รับคำตัดสินว่ามีความผิดเพราะ “บาปดั้งเดิม” ของอาณาจักรเหนือ (หมายถึงการสร้างพระวิหารที่เมืองเบธเอล) ส่วนกษัตริย์ของอาณาจักรยูดาห์เพียง 8 พระองค์เท่านั้นได้รับคำชมเพราะทรงซื่อสัตย์ต่อพระบัญชาของพระยาห์เวห์ แต่คำชมนี้ 6 ครั้งก็ยังถูกจำกัดเพราะ “ไม่ได้ทรงทำลายสักการสถานในที่สูง” กษัตริย์ที่ทรงรับคำชมล้วนๆ โดยไม่จำกัดมีเพียง 2 พระองค์เท่านั้น คือกษัตริย์เฮเซคียาห์และโยสิยาห์

           มาตรการในการตัดสินความดีไม่ดีของกษัตริย์ คือหลักการในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติให้มีสักการสถานศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวที่กรุงเยรูซาเล็ม นอกจากนั้น การค้นพบหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์และการปฏิรูปทางศาสนาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการค้นพบหนังสือเล่มนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ทั้งหมดตามแนวความคิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ และหนังสือพงศ์กษัตริย์ยังต้องการแสดงคำสอนหลักของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติว่าพระเจ้าจะทรงอวยพระพรประชากร ถ้าเขาซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของพระองค์ แต่จะทรงลงโทษ ถ้าเขาไม่ปฏิบัติเช่นนี้ (1 พกษ 8 และ 2 พกษ 17) อิทธิพลของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติยังสังเกตเห็นได้อีกในลีลาการเขียนของผู้เรียบเรียงเรื่องต่างๆ โดยขยายความหรืออธิบายข้อมูลที่นำมาใช้

           เป็นไปได้อย่างมากว่าสำนักเฉลยธรรมบัญญัติได้เรียบเรียงหนังสือพงศ์กษัตริย์เป็นครั้งแรกก่อนการเนรเทศและก่อนการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์โยสิยาห์ที่เมืองเมกิดโดในปี 609 โดยมีคำสรรเสริญกษัตริย์โยสิยาห์ใน 2 พกษ 23:25 เป็นข้อความลงท้าย (ประโยคสุดท้ายอาจเพิ่มเติมในภายหลัง) สำนักเฉลยธรรมบัญญัติอาจเรียบเรียง พกษ เป็นครั้งที่สองในสมัยถูกเนรเทศ ถ้าคิดว่าข้อความใน 2 พกษ 25:22-30 เป็นเหตุการณ์สุดท้ายของหนังสือ การเรียบเรียงนี้ต้องทำภายหลังปี 562 แต่ถ้าคิดว่าเหตุการณ์สุดท้ายที่เล่าในการเรียบเรียงนี้คือเรื่องการถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยครั้งที่สองที่จบใน 2 พกษ 25:21 ผู้เขียนจะต้องเขียนก่อนปี 562 ในที่สุดคงจะมีการเพิ่มเติมบ้างในระหว่างการเนรเทศและหลังจากนั้น

           เราต้องอ่านหนังสือพงศ์กษัตริย์ตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน คือเป็นเรื่องประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น การที่ประชากรที่ทรงเลือกสรรไม่ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาและอาณาจักรทั้งสองต้องประสบหายนะดูเหมือนจะทำให้แผนการของพระเจ้าต้องล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ประชากรที่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์กลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่ยอม “คุกเข่านมัสการพระบาอัล”” ยังคงมีเหลืออยู่ กลุ่มชนแห่งเนินศิโยนที่เหลืออยู่และซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญานี้จะเป็นประกันสำหรับอนาคตอย่างแน่นอน การกล่าวว่าราชวงศ์ดาวิดที่ได้รับพระสัญญาเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ยังคงอยู่ต่อไปอย่างน่าพิศวง แสดงว่าแผนการของพระเจ้าจะล้มเหลวไม่ได้ ประวัติศาสตร์ตามแนวความคิดของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติจบลงโดยเล่าว่า กษัตริย์แห่งบาบิโลนทรงพระกรุณาต่อกษัตริย์เยโฮยาคินที่ทรงได้รับการปลดปล่อย เป็นการเกริ่นถึงการกอบกู้อิสราเอลที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือพงศาวดาร เอสรา และเนหะมีย์

 

            1. พันธสัญญาเดิมยังมีหนังสือ “ประวัติศาสตร์” อีกชุดหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวซ้ำ และขยายความหนังสือประวัติศาสตร์ “ตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ” (Deuteronomic History) ซึ่งเริ่มตั้งแต่หนังสือโยชูวาจนถึงพงศ์กษัตริย์ หนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ได้แก่ หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1 และ 2 ตามมาด้วยหนังสือเอสราและเนหะมีย์ ดังที่นักวิชาการทั่วไปยอมรับ แต่เดิมนั้นหนังสือพงศาวดาร 1-2 เป็นหนังสือเล่มเดียว ส่วนหนังสือเอสราและเนหะมีย์ก็เป็นเพียง 2 ภาคของผลงานของผู้เขียนคนเดียวกัน เราพบลีลาการเขียนและความคิดพื้นฐานแบบเดียวกันได้ทั่วไปในหนังสือเหล่านี้ นอกจากนั้น ข้อสุดท้ายของ 2 พศด 36 ยังถูกนำมาเขียนไว้ตอนเริ่มต้นของหนังสือเอสรา (บทที่หนึ่ง) ด้วย ข้อมูลเหล่านี้จึงแสดงว่าหนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์นับรวมกันได้เป็นผลงานชุดเดียวกัน

2) หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1 และ 2

2. หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1 และ 2

           หนังสือพงศาวดาร [ตามความหมายของชื่อในภาษาฮีบรู ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “ถ้อยคำบรรยายถึงวันเวลา(ในอดีต)” พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก LXX และฉบับ Vulgata ภาษาละติน เรียกชื่อหนังสือนี้ว่า “Paralipomenon” ซึ่งหมายความว่า “เกี่ยวกับเรื่องราวที่ถูกละไว้” คือเหตุการณ์ที่ไม่ได้กล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับอื่นๆ ตั้งแต่ ยชว ถึง พกษ หนังสือพงศาวดารจึงถูกคิดว่าเป็นหนังสือ “เพิ่มเติม” ข้อมูลที่หนังสืออื่นเหล่านั้นไม่ได้กล่าวถึงมาก่อน] เป็นผลงานของชนชาติยิวสมัยหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ แม้ว่าชนชาติยิวจะไม่มีอิสรภาพทางการเมืองต้องเป็นประเทศราชของชาวเปอร์เซีย แต่ชาวเปอร์เซียก็ยังปล่อยให้ชาวยิวมีอิสระปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง บรรดาสมณะเป็นผู้นำของชาติและมีธรรมบัญญัติเป็นธรรมนูญในการปกครอง พระวิหารและพิธีกรรมต่างๆ เป็นศูนย์กลางชีวิตของประชาชนทั้งชาติ แต่ธรรมบัญญัติและพิธีกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนกรอบนี้ ยังได้รับพลังชีวิตจากความศรัทธาส่วนตัวของประชาชน จากคำสอนเกี่ยวกับปรีชาญาณ จากความทรงจำถึงความรุ่งเรืองและความล้มเหลวในอดีต รวมทั้งจากความเชื่อต่อคำ สัญญาของบรรดาประกาศกอีกด้วย

            ผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดาร (The Chroni-cler[s]) ซึ่งเป็นชนเลวีคนหนึ่ง (หรือกลุ่มหนึ่ง) จากกรุงเยรูซาเล็ม นับได้ว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวจริงๆ เขาเรียบเรียงผลงานนี้นานใช้ได้หลังจากสมัยของเอสราและเนหะมีย์ เขาจึงมีโอกาสดีมากที่จะนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลทั้งสองนี้มาสังเคราะห์เรียบเรียง ขึ้นใหม่ตามแนวความคิดของตน ช่วงเวลาที่เขาเขียนผลงานนี้น่าจะอยู่ในสมัยแรกๆ ที่ชาวกรีกเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ นั่นคือ ก่อนปี 300 ก่อน ค.ศ. ต่อมาผลงานนี้ก็มีผู้อื่นมากกว่าหนึ่งคนมาขยายความ เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น ลำดับวงศ์ตระกูลใน 1 พศด บทที่ 2 ถึง 9 รายนามเพิ่มเติมซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นผู้สนับสนุนกษัตริย์ดาวิด ใน 1 พศด บทที่ 12 รายนามของสมณะและชนเผ่าเลวีใน 1 พศด บทที่ 15 และข้อความยืดยาวที่เพิ่มเข้ามาใน 23:3-27:34 ซึ่งเป็นรายนามของข้าราชบริพารของกษัตริย์ดาวิดที่เกี่ยวข้องกับงานเรื่องคารวกิจ

            ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาเช่นนี้ มีความสอดคล้องดีมากกับความสนใจหลักของผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดาร เขาแสดงความสนใจต่อพระวิหารเป็นอย่างมาก เรื่องราวในตอนต่างๆ ของงานเขียนของเขากล่าวอยู่ตลอดเวลาว่าบรรพชิต (the Clergy) มีบทบาทเป็นผู้นำ ไม่เพียงแต่สมณะและชนเลวีเท่านั้น (ดังที่มีกล่าวไว้ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและในตำนานสงฆ์ของหนังสือปัญจบรรพ) แต่ยังรวมไปถึงบรรพชิตในระดับต่ำกว่านั้นด้วย เช่น ผู้เฝ้าประตูและนักขับร้อง ซึ่งนับแต่นี้ไปจะถูกนับรวมเข้ากับชนเลวีด้วย คุณสมบัติศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชิตขยายตัวเข้าไปถึงกลุ่มฆราวาสด้วย โดยการมีบทบาทร่วมในการถวายศานติบูชา หนังสือพงศาวดารได้คืนบทบาทที่เคยให้ความสำคัญแก่ฆราวาสเหมือนดังแต่ก่อน ชุมชนผู้มีความเชื่อมิได้จำกัดอยู่เฉพาะกับชนเผ่ายูดาห์เท่านั้น แม้ว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารกล่าวน้อยมากถึงอาณาจักรเหนือที่เขาถือว่าได้ละทิ้งศาสนาไปแล้ว แต่เขาก็ยังคาดหวังว่าประชาชนทั้ง 12 เผ่าจะกลับมารวมกันอีกภายใต้การปกครองของกษัตริย์ดาวิด เขาไม่หมดหวังต่อสภาพการณ์ของช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ แต่ยังมีความเชื่อมั่นรอคอยเวลาที่ชาวอิสราเอลทั้งหมดจะกลับมารวมเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง แม้แต่ชนต่างชาติก็ไม่ถูกกีดกันมิให้อธิษฐานภาวนาภายในพระวิหาร สำหรับเขา “อิสราเอล” หมายถึงชุมชนของผู้มีความเชื่อที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาด้วยตั้งแต่นานมาแล้ว และพระองค์ทรงรื้อฟื้นพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์นี้กับกษัตริย์ดาวิด พระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้สำเร็จบรรลุความสมบูรณ์ในเทวาธิปไตย (Theocracy) แบบที่กษัตริย์ดาวิดทรงปฏิบัติ ประชากรของพระเจ้าจะต้องดำเนินชีวิตในเจตนารมณ์ของกษัตริย์ดาวิด เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะปฏิรูปตนเอง นั่นคือพร้อมที่จะกลับไปปฏิบัติตามธรรมประเพณี ถ้าต้องการจะให้พระเจ้าทรงโปรดปรานและปฏิบัติต่อไปตามพระสัญญาที่ทรงให้ไว้

            พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และคารวกิจที่ประ-ชาชนถวายแด่พระเจ้าที่นั่น นับเป็นศูนย์กลางของจุดสนใจ และปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดประวัติศาสตร์อัน ยาวนานนี้ นับตั้งแต่เรื่องการที่กษัตริย์ดาวิดทรงเตรียมวัสดุเพื่อก่อสร้างพระวิหาร ไปจนถึงการที่ชุมชนชาวยิวซึ่งกลับมาจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่จนสำเร็จ

            ความคิดสำคัญเหล่านี้เป็นเหตุผลทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารจึงเขียนผลงานของตนตามรูปแบบที่เราเห็น บทแรกๆ คือ 1 พศด 1-8 ใช้รูปแบบการเขียนเป็น “ลำดับวงศ์ตระกูล” (Genealogies) ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับตระกูลยูดาห์และเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด ส่วนบทที่ 9 ตั้งแต่ข้อ 2 ถึง 34 เป็นรายนามของประชากรพวกแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเยรูซาเล็มอีก หลังกลับจากการเนรเทศ ผู้เรียบเรียงใช้วิธีการเช่นนี้เป็นอารัมภบทของเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ดาวิดที่จะดำเนินต่อไปในส่วนที่เหลือของ 1 พศด ตั้งแต่บทที่ 9 ข้อ 35 จนจบบทที่ 29 ผู้เรียบเรียงละเว้นไม่กล่าวถึงการที่ดาวิดเป็นอริกับกษัตริย์ซาอูล ไม่กล่าวถึงบาปที่ทรงทำกับนางบัทเชบา และปัญหาขัดแย้งภายในพระราชวงศ์ แต่ให้ความสำคัญแก่คำพยากรณ์ของประกาศกนาธันในบทที่ 17 และกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับศาสนา เช่น การเคลื่อนย้ายหีบพันธสัญญามาประดิษฐานในกรุงเยรูซาเล็ม การจัดการเรื่องคารวกิจที่กรุงเยรูซาเล็มในบทที่ 13, 15 และ 16 รวมทั้งการตระเตรียมสำหรับการก่อสร้างพระวิหารในบทที่ 21 ถึง 29 ซึ่งเล่าว่ากษัตริย์ดาวิดทรงเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องแบบแปลน การสะสมวัสดุก่อสร้าง การกำหนดหน้าที่โดยละเอียดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้ซาโลมอนพระโอรสทรงกระทำเพียงนำแผนต่างๆ นี้มาปฏิบัติให้สำเร็จเท่านั้น ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ซาโลมอนใน 2 พศด บทที่ 1 ถึง 9 เขาใช้เนื้อที่ส่วนใหญ่กล่าวถึงการก่อสร้างพระวิหาร คำอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์เมื่อทรงถวายพระวิหาร และพระสัญญาที่พระเจ้าประทานให้เป็นการตอบคำอธิษฐานภาวนานั้น ส่วนเรื่องราวหลังจากอาณาจักรแตกแยกแล้ว ผู้เรียบเรียงกล่าวถึงเพียงอาณาจักรยูดาห์และราชวงศ์กษัตริย์ดาวิดเท่านั้น บรรดากษัตริย์ทรงได้รับการประเมินตามมาตรฐานที่ว่า ทรงซื่อสัตย์หรือไม่ต่อหลักการของพันธสัญญา และตามแบบฉบับที่กษัตริย์ดาวิดทรงวางไว้หรือไม่ (2 พศด บทที่ 10 ถึง 36) เมื่อมีการละทิ้งศาสนาเกิดขึ้น การปฏิรูปทางศาสนาก็จะตามมา การปฏิรูปทางศาสนาในสมัยกษัตริย์เฮเซคียาห์และโยสิยาห์นับว่าเป็นการปฏิรูปชนิดถึงรากถึงโคน แต่กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์หลังกษัตริย์โยสิยาห์แล้วล้วนแต่ทรงปฏิบัติการเลวร้ายจนทำให้ชาติต้องประสบหายนะ หนังสือพงศาวดารจบลงโดยกล่าวถึงพระราชกฤษฎีกาของกษัตริย์ไซรัสที่ทรงอนุญาตให้ชาวยิวกลับมาสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ หนังสือเอสราและเนหะมีย์จะเล่าเรื่องราวเหตุการณ์หลังจากนั้นต่อไป

             แหล่งข้อมูลอันดับแรกของหนังสือพงศาวดารก็คือหนังสือในพระคัมภีร์ หนังสือปฐมกาล และกันดาร-วิถีให้ข้อมูลลำดับวงศ์ตระกูลตอนเริ่มต้นของหนังสือ ส่วนหนังสือซามูเอลและพงศ์กษัตริย์ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ของตอนที่เหลือ ผู้เรียบเรียงใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างอิสระ โดยเพิ่มเติมหรือตัดทอนรายละเอียด คัดเลือกข้อมูลให้ตรงกับจุดประสงค์ในการเขียน แม้ว่าเราพอจะบอกได้ว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากแหล่งใดบ้าง แต่ผู้เรียบเรียงไม่เคยกล่าวถึงข้อมูลเหล่านี้โดยตรงเลย ตรงกันข้าม เขามักจะอ้างถึงผลงานบางชิ้นเช่น “หนังสือ” เรื่องกษัตริย์แห่งอิสราเอล หรือเรื่องกษัตริย์ของอิสราเอลและยูดาห์ “มีดราช” (midrash = คำอธิบาย) ของหนังสือพงศ์-กษัตริย์ หรือกล่าวถึง “ถ้อยคำ” หรือ “นิมิต” ของประกาศกองค์นี้องค์นั้น ในปัจจุบันนี้เราไม่มีข้อเขียน
ดังกล่าวเหล่านั้นอีกแล้ว และนักวิชาการก็ยังถกเถียงกันไม่ยุติว่าข้อเขียนเหล่านี้มีเนื้อหาและมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง เป็นไปได้ว่าข้อเขียนเหล่านี้เป็น เรื่องราวของกษัตริย์ในรัชกาลต่างๆ ที่เขียนขึ้นจากมุมมองที่ว่าบรรดาประกาศกเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง ดูเหมือนว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารไม่น่าจะใช้ธรรมประเพณีที่เล่าสืบต่อกันมาเพียงด้วยปากต่อปาก (oral traditions) เท่านั้น

            จากเพียงเหตุผลที่ว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารใช้แหล่งข้อมูลที่เราไม่รู้จัก แต่อาจเป็นข้อมูลน่าเชื่อถือได้ เราไม่ควรด่วนสรุปล่วงหน้าไปว่าเรื่องราวซึ่งไม่มีกล่าวถึงในพระคัมภีร์ แต่ได้เสริมเข้ามานั้นเชื่อถือไม่ได้ เราต้องประเมินแต่ละเรื่องตามความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่ผู้เรียบเรียงนำมาใช้อ้างอิง การศึกษาค้นคว้าเมื่อไม่นานมานี้ยังสนับสนุนว่าในหลายตอนหนังสือพงศาวดารเล่าเรื่องราวน่าเชื่อถือได้ ขัดแย้งกับความเห็นของผู้อธิบายพระคัมภีร์หลายคนในอดีตที่มักจะไม่สู้เชื่อเรื่องราวในหนังสือพงศาวดารนัก ถึงกระนั้น หลายครั้งหนังสือพงศาวดารก็เล่าถึงเหตุการณ์แตกต่างไปจากวิธีเล่าที่พบได้ในหนังสือซามูเอล และพงศ์กษัตริย์ และบางครั้งได้จงใจเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เล่าด้วย นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมักจะยอมรับวิธีการเช่นนี้ไม่ได้ เพราะงานของนักประวัติศาสตร์ก็คือเล่าและอธิบายเหตุการณ์ตามลำดับก่อนหลังที่เกิดขึ้น แต่ทว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารมิได้มีเจตนาเช่นนั้น เขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เป็นนักเทววิทยา เขาศึกษาพิจารณาประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอิสราเอล โดยเฉพาะเรื่องราวของกษัตริย์ดาวิด เขาจึงเขียนประวัติศาสตร์ของอิสราเอลให้เป็นภาพของอาณาจักรในอุดมการณ์ เหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตถูกนำมารวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นเรื่องเดียว เขาคิดขึ้นมาเองถึงการจัดระเบียบพิธีกรรมต่างๆ และนำไปใส่ไว้ในสมัยของกษัตริย์ดาวิด โดยละเว้นไม่กล่าวถึงทุกเรื่องที่อาจทำให้ดาวิดซึ่งเป็น “พระเอก” ของเขาต้องด้อยค่าลง นอกจากข้อมูลใหม่ๆ บางข้อที่เราต้องแยกประเมินคุณค่าแล้ว งานเขียนชิ้นนี้จึงไม่ใช่การบันทึกเรื่องราวในอดีตมากเท่ากับเป็นภาพของสภาพการณ์ในสมัยของผู้เรียบเรียงที่เขามีความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะ

            จากเหตุผลที่ว่าผู้เรียบเรียงเขียนหนังสือนี้สำหรับประชากรร่วมสมัยกับเขา เขาจึงเชิญชวนผู้อ่านให้ระลึกว่าประเทศชาติจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ก็เมื่อประชากรยังมีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเท่านั้น นั่นคือยัง คงเชื่อฟังธรรมบัญญัติและถวายคารวกิจต่อพระองค์ด้วยความศรัทธาจากใจจริง เขาต้องการให้เพื่อนร่วมชาติของเขาเป็นชุมชนที่มีศรัทธาต่อพระเจ้า เพื่อให้ พระสัญญาที่พระเจ้าประทานให้แก่กษัตริย์ดาวิดนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

3) หนังสือเอสราและเนหะมีย์

3. หนังสือเอสราและเนหะมีย์

           หนังสือเอสราและเนหะมีย์แต่เดิมเป็นหนังสือฉบับเดียว คือ “หนังสือเอสดราส” ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูและภาษากรีก ฉบับ LXX แต่เนื่องจากว่าพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX ยังรักษาหนังสือนอกสารบบภาษากรีกอีกเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “เอสดราส” (Esdras) และจัดให้อยู่ในอันดับแรก (โดยเรียกว่า “เอสดราส ฉบับที่ 1” หรือ Esdras I) พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX จึงเรียกหนังสือเอสรา-เนหะมีย์ว่า “เอสดราส ฉบับที่ 2” หรือ Esdras II ต่อมา บรรดาคริสตชนได้แยกหนังสือนี้ออกเป็นสองฉบับ และพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata ก็แบ่งหนังสือฉบับนี้ตามไปด้วย แต่เรียกหนัง-สือ “เอสดราส ฉบับที่ 1” หรือ Esdras I ว่า “หนังสือเอสรา”และเรียกหนังสือ “เอสดราส ฉบับที่ 2” หรือ Esdras II ว่า “หนังสือเนหะมีย์” แล้วเรียกหนังสือนอกสารบบ “เอสดราส ฉบับที่ 1” หรือ Esdras I ว่า “หนังสือเอสดราส ฉบับที่ 3” (Esdras III) พระคัมภีร์ฉบับนี้ของเรา “หนังสือเอสรา” และ “หนังสือเนหะมีย์” เรียกชื่อตามบุคคลเอกที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนังสือ “เอสดราส” นอกสารบบนั้น ถ้าเราจะกล่าวถึงในเชิงอรรถ เราจะเรียกว่า “1 Esd.” ส่วนเรื่องความสำคัญที่ 1 Esd. มีต่อพระคัมภีร์ฉบับอื่นนั้น ให้ดูที่ อสร 1:6 เชิงอรรถ g

            เราได้กล่าวไว้แล้วว่าหนังสือเอสราและเนหะมีย์เป็นผลงานต่อจากหนังสือพงศาวดาร ผู้เรียบเรียงหนัง-สือพงศาวดารไม่เล่าอะไรเลยถึงช่วงเวลาราว 50 ปีของการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน แต่จะเล่าเรื่องราวต่อไปโดยเริ่มตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาของกษัตริย์ไซรัสในปี 538 ก่อน ค.ศ. ที่ทรงอนุญาตให้ชาวยิวกลับมาก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ที่กรุงเยรูซาเล็ม การกลับจากเนรเทศเริ่มขึ้นทันที แต่งานก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่ต้องหยุดชะงักไปเพราะความเป็นอริของชาวสะมาเรีย และการก่อสร้างจะดำเนินต่อไปได้อีกในรัชสมัยของกษัตริย์ ดาริอัสที่ 1 พระวิหารหลังที่สองนี้สร้างเสร็จในปี 515 ก่อน ค.ศ. ส่วนความพยายามที่จะสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ต้องถูกชาวสะมาเรียขัดขวางอีกเป็นเวลาถึง 50 ปี (อสร 1-6) ในรัชสมัยของกษัตริย์อารทาเซอร์ซิส ธรรมาจารย์ที่ชื่อเอสรา ซึ่งเป็นผู้แทนของชาวยิวในราชสำนักเปอร์เซีย ก็มาถึงกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับผู้กลับจากเนรเทศอีกกลุ่มหนึ่ง โดยได้รับมอบหมายเป็นทางการให้นำ “ธรรมบัญญัติของโมเสส” ซึ่งกษัตริย์เปอร์เซียทรงรับรองแล้ว มาใช้เป็นกฎหมายปกครองชาวยิว เอสรายังต้องใช้มาตรการเคร่งครัดกับชาวยิวที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ (อสร 7-10) ต่อจากนั้น เน-หะมีย์พนักงานเชิญถ้วยเสวยของกษัตริย์อารทาเซอร์ซิส ก็ได้รับพระราชานุญาตให้มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อจัดการก่อสร้างกำแพงเมือง แม้จะถูกชาวสะมาเรียคอยขัดขวาง งานก่อสร้างก็สำเร็จลงในไม่ช้าและประชา-กรก็เข้ามาพำนักในกรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งหนึ่ง (นหม 1:1-7:72ก) ในช่วงเวลานั้น เนหะมีย์ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูดาห์อีกด้วย เอสราได้จัดให้มีการอ่านหนังสือ “ธรรมบัญญัติ” อย่างสง่าให้ประชาชนฟัง มีการฉลองเทศกาลอยู่เพิง ประชาชนสารภาพบาปของตนและสัญญาจะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (นหม 7:72ข-10:40) ต่อจากนั้นจะกล่าวถึงรายชื่อต่างๆ มาตรการเพิ่มเติมบางประการ และพิธีถวายกำแพงเมืองแด่พระเจ้า (11:1-13:3) หลังจากที่กลับไปยังเปอร์เซียแล้ว เนหะมีย์ก็กลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งหนึ่ง และพบว่า จำเป็นต้องจัดระเบียบกับความไม่ถูกต้องบางประการที่แทรกซึมเข้ามาในสังคมชาวยิวในช่วงที่เขาไม่อยู่ (นหม 13:4-31)

              เหตุการณ์ที่กล่าวมาโดยย่อนี้ชี้ให้เห็นว่า หนังสือเอสราและเนหะมีย์มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับประวัติศาสตร์ของชาวยิว ที่กลับมาสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่หลังกลับมาจากถิ่นเนรเทศแล้ว ข้อความในบทแรกๆ ของหนังสือเอสราเสริมข้อมูลที่ประกาศกฮักกัย เศคาริยาห์และมาลาคีบอกให้เรารู้แล้ว หนังสือทั้งสองฉบับนี้เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่เรามีเกี่ยวกับผลงานของเอสราและเนหะมีย์ หนังสือทั้งสองฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนหนังสือพงศาวดาร และที่สำคัญที่สุดก็คือหนังสือทั้งสองฉบับนี้ยกเอาเอกสารร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่เล่าถึงมาบันทึกไว้คำต่อคำทีเดียว เช่น รายชื่อของผู้เดินทางกลับมาจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน รายชื่อของผู้อาศัยที่กรุงเยรูซาเล็ม พงศาวดารของกษัตริย์เปอร์เซีย เอกสารโต้ตอบทางการ และโดยเฉพาะรายงานของ เอสราเกี่ยวกับภารกิจของตน รวมทั้งบันทึกความจำของเนหะมีย์ซึ่งอธิบายให้เหตุผลการกระทำของตน

            ถึงกระนั้น แม้จะมีข้อมูลมากมายเช่นนี้ ก็ยังยากมากที่จะให้อรรถาธิบายเรื่องผลงานของเอสราและเนหะมีย์ เพราะผู้เรียบเรียงจัดลำดับเอกสารเหล่านี้ไว้สับสน รายชื่อของผู้กลับจากการเนรเทศก็ให้ไว้ 2 ครั้ง ใน อสร 2 และ นหม 7 ข้อความใน อสร 4:6-6:18 ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาราเมอิกและกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์ดาริอัสที่ 1 (511-486 ก่อน ค.ศ.) ถูกจัดให้อยู่หลังเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์เซอร์ซิสที่ 1 (486-465 ก่อน ค.ศ.) และอารทาเซอร์ซิสที่ 1 (464-423 ก่อน ค.ศ.) อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์ดาริอัสเกิดขึ้นก่อนราวครึ่งศตวรรษ แม้แต่เรื่องราวที่เอสราและเนหะมีย์บันทึกไว้ด้วยตนเอง ก็ยังถูกแบ่งแยกแล้วนำมารวมกันใหม่ วันเดือนปีต่างๆ ที่เอสราและเนหะมีย์กล่าวถึงไว้ในเอกสาร ช่วยเราให้เรียงลำดับวันเดือนปีของเหตุการณ์ต่างๆ ได้ใหม่ดังนี้คือ เริ่มด้วยเหตุการณ์ที่มีบันทึกไว้ ใน อสร 7:1-8:36 แล้วจึงต่อด้วยเรื่องราวใน นหม 7:72ข-8:18; อสร 9:1-10:44 แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องราวใน นหม 9:1-37

             อย่างไรก็ดี รายงานของเอสราที่ผู้เรียบเรียงพงศาวดารเคยเขียนข้อความบางตอนไว้ในบุรุษที่ 3 แล้วนั้น ผู้เรียบเรียงก็นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ และยังได้เพิ่มเติมข้อความอีกบางเรื่องเข้าไปด้วย เช่น รายชื่อของผู้ทำผิดใน อสร 10:18, 20-44 บทภาวนาใน อสร 9:6-15 และ นหม 9:6-37 บันทึกส่วนตัวของเนหะมีย์ประกอบด้วยข้อความต่อไปนี้คือ นหม 1-2; 3:33-7:5; 12:27-13:31 บันทึกส่วนตัวเหล่านี้ผู้เรียบเรียงพงศาวดารได้แทรกเอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มใน 3:1-32 เข้าไปอีก ส่วนรายชื่อของชาวยิวกลุ่มแรกที่กลับมาจากการเนรเทศใน นหม 7:6-72ก ก็คัดมาจาก อสร 2 และ นหม 10 ก็เป็นเอกสารอีกฉบับหนึ่งจากหอเก็บเอกสารทางราชการ เอกสารนี้บันทึกคำสัญญาของชุมชนชาวยิวต่อพระเจ้าเมื่อเนหะมีย์กลับมาปฏิบัติภารกิจที่กรุงเยรูซาเล็มครั้งที่ 2 (นหม 13) ส่วน นหม 11-12 เป็นรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้ประชาชนเข้ามาพำนักในกรุงเยรูซาเล็ม การจัดให้ประชาชนพำนักอยู่ในชนบท รวมทั้งรายชื่อของครอบครัวสมณะและชนเผ่าเลวีหลังกลับจากการเนรเทศด้วย

             เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ผู้เรียบเรียงพงศาวดารตั้งใจจะมองเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างกว้างๆ แล้วรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ไว้ด้วยกันเป็นชุดๆ ความคิดหลักของ อสร 1-6 คือเรื่องการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ในรัชสมัยของพระเจ้าดาริอัสที่ 1 เรื่องราวการกลับจากเนรเทศที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งได้รับการกล่าวถึงพร้อมๆ กัน เชชบัสซาร์ซึ่งเป็นผู้นำในการเดินทางกลับครั้งแรกถูกกันให้ออกไปเพื่อเน้นความสำคัญของเศรุบบาเบลให้เด่นชัดขึ้น ในตอนต่อมาจึงเล่าถึงการที่ชาว สะมาเรียพยายามทุกวิธีเพื่อขัดขวางการก่อสร้างนี้ หนังสือเอสราและเนหะมีย์ในบทต่อๆ มาเล่าถึงกิจกรรมที่บุคคลทั้งสองร่วมกันปฏิบัติเพื่อจุดประสงค์ยิ่งใหญ่เดียวกัน

              วิธีการเรียบเรียงเช่นนี้ก่อปัญหายิ่งใหญ่ให้แก่นักประวัติศาสตร์ ปัญหาหนักใจและยากที่สุดก็คือลำดับเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการกำหนดว่าเหตุการณ์ที่เล่าอยู่ในหนังสือทั้งสองฉบับนี้เหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เมื่อไร ถ้าเรายอมรับลำดับเหตุการณ์ตามที่มีอยู่ในหนังสือ เราต้องบอกว่าเอสรามาถึงกรุงเยรูซาเล็มในปี 458 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 7 ในรัชกาลกษัตริย์อารทาเซอร์ซิสที่ 1 (อสร 7:8) ส่วนเนหะมีย์นั้นมาร่วมงานกับเขาในปี 445 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 20 ในรัชกาลเดียวกัน (นหม 2:1) เขาอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม 12 ปี (นหม 13:6) แล้วจึงกลับไปเปอร์เซียในปี 433 ก่อน ค.ศ. ไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่ที่นั่นนานเท่าไร แต่ก็ได้กลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งหนึ่งก่อนที่กษัตริย์อารทาเซอร์ซิสที่ 1 จะสวรรคตในปี 423 ก่อน ค.ศ. ผู้เชี่ยวชาญในการอธิ-บายพระคัมภีร์เห็นด้วยกับลำดับเหตุการณ์ดังที่เคยเชื่อถือกันมาเช่นนี้ แต่กระนั้นก็มักจำกัดเวลาไว้ว่าเอสราประกอบภารกิจของตนเพียงปีเดียวเท่านั้น เพื่อรักษาตัวเลขที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ และกล่าวว่าเอสรากลับไปเปอร์เซียก่อนที่เนหะมีย์จะมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม ผู้อธิบายพระคัมภีร์อีกกลุ่มหนึ่งสลับลำดับการมาถึงของบุคคลทั้งสอง เพราะเห็นว่าผลงานยิ่งใหญ่ของเอสราต้องเกิดขึ้นหลังจากเนหะมีย์ได้ปฏิบัติ ภารกิจของตน แล้วเท่านั้น ตามสมมติฐานนี้ วันเวลาที่ผู้เรียบเรียงกล่าวถึงเอสราอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์อารทาเซอร์-ซิสที่ 2 (404-358 ก่อน ค.ศ.) ไม่ใช่ในรัชสมัยของกษัตริย์อารทาเซอร์ซิสที่ 1 (464-423 ก่อน ค.ศ.) ที่เนหะมีย์มาที่กรุงเยรูซาเล็ม ดังนั้นเอสราจึงไม่ได้มาถึงปาเลส-ไตน์ก่อนปี 398 ก่อน ค.ศ. ส่วนความเห็นของนักวิชาการกลุ่มที่ 3 เห็นด้วยกับทฤษฎีที่ว่า เอสรามาในปาเลสไตน์ภายหลังเนหะมีย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่าทั้งสองมิได้ปฏิบัติงานในรัชกาลเดียวกัน เพราะพระคัมภีร์มิได้กล่าวถึง 2 รัชกาล ทฤษฎีนี้จึงเสนอความเห็นว่าเอสรามาที่กรุงเยรูซาเล็มระหว่างสองช่วงเวลาที่เนหะมีย์ประกอบภารกิจที่นั่น นักวิชาการกลุ่มที่ 3 นี้จึงจำเป็นต้องแก้ตัวเลขใน อสร 7:8 ให้เอสรามาที่กรุงเยรูซาเล็มไม่ใช่ในปีที่ 7 แต่ในปีที่ 27 (แก้เลข 7 เป็น 27) ของรัชสมัยกษัตริย์อารทาเซอร์ซิสที่ 1 นั่นคือในปี 428 ก่อน ค.ศ.

            สมมติฐานแต่ละแบบนี้ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุน แต่ก็มีปัญหาอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงยังไม่มีข้อยุติ อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ทุกคนยอมรับก็คือ เนหะมีย์มาปฏิบัติภารกิจของตนที่กรุงเยรูซาเล็มในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 445 ถึง 433 ก่อน ค.ศ.

             อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญด้านศาสนาของหนังสือเอสราและเนหะมีย์แล้ว ปัญหาเรื่องวันเดือนปีที่บุคคลทั้งสองมาที่กรุงเยรูซาเล็มนับว่ามีความสำคัญน้อยมาก ผู้เรียบเรียงพงศาวดารต้องการเสนอภาพรวมของการฟื้นฟูประชากรและศาสนายิว แต่อาจสับสนอยู่บ้างในเรื่องลำดับเวลา และเพื่อจะ ประเมินความหมายของเหตุการณ์นี้ สิ่งที่มีความสำคัญก็คือความคิดที่เป็นพลังบันดาลใจเบื้องหลังการฟื้นฟูมากกว่าลำดับเหตุการณ์ในขั้นตอนต่างๆเนื่องจากว่า กษัตริย์เปอร์เซียทรงมีพระราชกุโศลบายเปิดกว้างในเรื่องศาสนาสำหรับชนชาติต่างๆ ทั่วจักรวรรดิ ชนชาติยิวจึงกลับจากถิ่นเนรเทศมายังแผ่นดินแห่งพระสัญญา จัดการรื้อฟื้นคารวกิจดั้งเดิมของตนและสร้างพระวิหารรวมทั้งกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนที่มีผู้ปกครองเป็นชนชาติเดียวกันและมีธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นกฎหมายปกครอง สิ่งเดียวที่ราชสำนักเปอร์เซียต้องการคือความสวามิภักดิ์อย่าง ซื่อสัตย์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรสำหรับชาวยิวเลย ในเมื่อราชสำนักเปอร์เซียให้ความเคารพต่อขนบประเพณีของชาวยิวอยู่แล้ว สภาพการณ์เช่นนี้มีความสำคัญมาก นับได้ว่าเป็นการถือกำเนิดของศาสนายู-ดายทีเดียว โดยที่ชาวยิวได้ครุ่นคิดไว้นานแล้วตั้งแต่อยู่ในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลน และกิจกรรมของบรรดาผู้นำที่พระเจ้าทรงปลุกขึ้นมานั้นก็ช่วยได้อย่างมากทีเดียว

             หลังจากที่เศรุบบาเบลได้ก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แล้ว (แม้ว่าผู้เรียบเรียงพงศาวดารมิได้ให้ตำแหน่ง “พระเมสสิยาห์” แก่เขาเหมือนกับที่ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์เคยตั้งให้ ดู ฮกก 2:23; ศคย 6:12ฯ) เอสราและเนหะมีย์ก็มาเป็นผู้บุกเบิกในการฟื้นฟูชุมชนชาวยิวในแผ่นดินปาเลสไตน์ นับได้ว่าเอสราเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนายูดายโดยแท้จริง เขามีความคิดหลักอยู่สามประการคือ (1) ชนชาติยิวเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร (2) พระวิหาร และ (3) ธรรมบัญญัติ ถ้าเรารู้สึกว่ามาตรการที่เขาใช้ในการปฏิรูปนั้นเคร่งครัด และเขามีแนวคิดแคบๆ ให้ชาวยิวแยกตนจากชนต่างชาตินั้น เหตุผลก็คือเขามีความกระตือรือร้นอย่างมาก และความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เป็น สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เขาเป็นแบบอย่างสำหรับ “ธรรมาจารย์” ทุกคน เป็นวีรบุรุษที่ได้รับความเคารพนับถือมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในธรรมประเพณีของชาวยิว ส่วนเนหะมีย์ซึ่งแม้จะมีอุดมการณ์เหมือนกัน แต่ก็ปฏิบัติงานในข่ายงานต่างกัน คือในเรื่องการฟื้นฟูและจัดให้ประชาชนเข้าไปพำนักอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ทำให้กรุงนี้มีผู้มาพำนักอยู่ได้และน่าอยู่เพื่อให้ชาวยิวดำรง ความเป็นชาติของตนต่อไปได้ด้วยดี บันทึกที่เขาทิ้งไว้ถ่ายทอดความในใจของเขาให้เรารู้ได้ลึกซึ้งกว่าบันทึกของเอสรา บันทึกนี้ทำให้เรารู้ว่าเขามีบุคลิกกระฉับกระเฉงและน่าคบ ไม่กลัวที่จะใช้ความพยายาม แต่ก็ใช้ความคิดอย่างรอบคอบ วางใจในพระเจ้าและอธิษฐานภาวนาขอความช่วยเหลือจากพระองค์บ่อยๆ เขาทิ้งความทรงจำน่ายกย่องไว้แก่ชนรุ่นหลัง บุตรสิราถึงกับกล่าวชมเชยเขาว่าเป็นผู้ “ที่สร้างกำแพงเมืองที่ปรักหักพังของพวกเราขึ้นมาใหม่” (บสร 49:13)เราจึงไม่ต้องประหลาดใจที่ผู้เรียบเรียงพงศาว-ดารเห็นว่าสังคมชาวยิวที่สถาปนาขึ้นใหม่รอบพระวิหารและปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้ ทำให้สังคมในอุดมการณ์ที่พระเจ้าทรงปกครองซึ่งเขากล่าวขอร้องในหนังสือพงศาวดารอยู่ตลอดเวลาให้เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงขึ้นมาได้ เขารู้ดีว่าความเป็นจริงเช่นนี้ยังไม่สมบูรณ์ ยังจะมีบางสิ่งที่ดีกว่ารออยู่ในอนาคต แต่ในหนังสือเอสราและเนหะมีย์เขายังต้องใช้เอกสารต่างๆ อยู่อีกมากกว่าที่เคยใช้ในหนังสือพงศาวดาร และเขายังคัดลอกเอกสารเหล่านี้ให้เราเห็นด้วย เขาแสดงให้เห็นว่ายังคงต้องยึดมั่นให้สังคมของชาวยิวแยกตัวจากชน ต่างชาติอยู่ตามที่สภาพแวดล้อมเรียกร้อง และยังเคารพการที่ชาวยิวเหล่านี้ไม่กล่าวถึงความหวังในพระเมสสิยาห์ การงดเว้นไม่กล่าวถึงเรื่องพระเมสสิยาห์เช่นนี้คงมีเหตุผลมาจากความรอบคอบด้านการเมืองแน่ๆ เขาเขียนผลงานของเขากลางช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 4 และที่ 3 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรารู้จักน้อยมาก ในช่วงเวลานี้ชุมชนชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มปลีกตัวออกไปอยู่ต่างหากจากชนต่างชาติ แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ จนเข้าใจตนเองและมีชีวิตจิตลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามความเชื่อทางศาสนาของตน

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก