“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ความรู้เกี่ยวกับพระวรสารและจดหมายของนักบุญยอห์น

พระวรสาร

              ตอนจบของพระวรสารฉบับที่สี่ก่อนภาคผนวก (20:31) บอกเจตนาของข้อเขียนชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดี ข้อเขียนนี้เป็น “พระวรสาร” หรือ “ข่าวดี” เช่นเดียวกับที่การประกาศสอนของพระศาสนจักรในสมัยแรก เป็น “ข่าวดี” คือ เป็นการประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์และพระบุตรของพระเจ้า การเทศน์สอนนี้มีพื้นฐานอยู่บน “เครื่องหมายอัศจรรย์” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงกระทำ และมีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านมีความเชื่อในพระเมสสิยาห์ จะได้มีชีวิต เพราะเหตุนี้ แม้ว่าหลักฐานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าพระวรสารฉบับนี้เขียนในระยะหลัง แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับการเทศน์สอนของพระศาสนจักรในสมัยแรก (kerygma) และยังรักษาทั้งโครงสร้างและสาระสำคัญของการเทศน์สอนนี้ไว้ คือ พระจิตเจ้าเสด็จลงมาตามคำยืนยันของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง เพื่อแจ้งว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ (1:31-34) พระคริสตเจ้าทรงแสดง “พระสิริรุ่งโรจน์” ในกิจการและในพระวาจาของพระองค์ (1:35-12:50) มีการกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ และการสำแดงพระองค์หลังการกลับคืนพระชนมชีพ (13:1-20:20) พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวก ออกไปหลังจากได้รับพระคุณของพระจิตเจ้าและอำนาจที่จะอภัยบาปแล้ว (20:21-29) นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังอ้างอีกว่าผู้เป็นพยานถึงเรื่องราวที่มีเขียนไว้เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติของการเป็นอัคร-สาวกทุกประการ (ดู กจ 1:8 เชิงอรรถ k) คือ เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่มีเขียนไว้ในหนังสือ (แม้จะไม่มีการกล่าวชื่อ) เป็น “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อทรงรับทรมาน (ดู ยน 13:23; 19:26, 35 เทียบกับ 18:15ฯ) ได้เห็นพระคูหาว่างเปล่า (20:2ฯ) และเห็นพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (21:7, 20-24) พยานผู้นี้อาจเป็นศิษย์หนึ่งในสองคนแรกของพระเยซูเจ้า (1:35ฯ) ก็ได้

                ลักษณะพิเศษบางประการของพระวรสารฉบับที่สี่ทำให้หนังสือฉบับนี้แตกต่างจากพระวรสารสหทรรศน์อย่างชัดเจน ประการแรก พระวรสารฉบับที่สี่สนใจที่จะอธิบายความหมายของเหตุการณ์ในพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ามากกว่าพระวรสารสหทรรศน์ เหตุการณ์ในพระชนมชีพของพระคริสต-เจ้าคือ กิจการที่ทรงกระทำและพระวาจาที่ตรัสสอน กิจการที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำเป็น “เครื่องหมาย” นั่นคือผู้ที่เห็นกิจการนั้นยังไม่เข้าใจความหมายชัดเจน แต่จะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว (2:22; 12:16; 13:17) พระวาจาที่พระองค์ตรัสไว้มีความหมายลึกซึ้งที่ผู้ฟังยังไม่เข้าใจทันที (ดู 2:20 เชิงอรรถ g) และเป็นภารกิจของพระจิตเจ้าผู้ตรัสในพระนามพระคริสต-เจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่จะทรงช่วยบรรดาศิษย์ให้จดจำ และเข้าใจพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัส และ “นำ” เขาไปยังความจริงทั้งหมด (ดู 14:26 เชิงอรรถ r) พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นเป็นการมองย้อนกลับไปยังพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าในโลกโดยใช้ความรู้ความเข้าใจที่สมบูรณ์ ซึ่งได้รับในภายหลังมาช่วยอธิบายความหมายให้ชัดเจน

               ลักษณะประการที่สอง ผู้เขียนน่าจะได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากกระแสความคิดของลัทธิ ยิวบางกลุ่ม เช่น ความคิดที่สะท้อนให้เห็นในเอกสารของพวกเอสเซนซึ่งค้นพบที่ถ้ำคุมราน ตามความคิดของสำนักดังกล่าว มีการเน้นความสำคัญของ “ความรู้” จนทำให้ศัพท์ที่ใช้มีความหมายใกล้เคียงกับแนวความคิดของพวกไญยนิยมในเวลาต่อมา เช่นวิธีเขียนโดยใช้คู่คำที่มีความหมายตรงกันข้าม “แสงสว่าง/ความมืด” “ความจริง/ความเท็จ” “ทูตแห่งความสว่าง/ทูตแห่งความมืด” (เบลีอาร์) ความคิดทั้งหมดเป็นความคิดแบบทวินิยม ชุมชนกุมรานรอคอยการเสด็จมาของพระเจ้าซึ่งคิดกันว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า จึงได้เน้นเป็นพิเศษถึงความจำเป็นต้องมีเอกภาพและความรักต่อกันและกัน ความคิดเหล่านี้ทั้งหมดซึ่งปรากฏหลายครั้งในพระวรสารฉบับที่สี่ เป็นลักษณะของสภาพชีวิตคริสตชนที่เป็นชาวยิว ทำให้สันนิษฐานว่า พระวรสารฉบับนี้ถือกำเนิดมาจาก กลุ่มคริสตชนที่เคยเป็นยิวนี้เอง

               ยิ่งกว่านั้น พระวรสารฉบับนี้ยังสนใจเรื่องพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์มากกว่าพระวรสารสห-ทรรศน์ ยอห์นเล่าเรื่องพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าให้สัมพันธ์กับปีพิธีกรรมของชาวยิว และเล่าเรื่องอัศจรรย์ที่ทรงกระทำให้สัมพันธ์กับวันฉลองสำคัญทางศาสนา ยอห์นยังเล่าอีกว่าพระเยซูเจ้าทรงกระทำอัศจรรย์หรือตรัสปราศรัยในบริเวณพระวิหารหลายครั้ง พระองค์ทรงยืนยันว่า ทรงเป็นศูนย์กลางของศาสนาที่ได้รับการฟื้นฟู “เดชะพระจิตเจ้าและตามความจริง” (4:24) แต่ยังเป็นศาสนาซึ่งมีศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายที่แสดงความเป็นจริงให้ปรากฏ บทสนทนากับนิโคเดมัสรวมสาระสำคัญของคำสอนเรื่องศีลล้างบาปอยู่ทั้งหมด (3:1-21) การเล่าเรื่องชายตาบอดแต่กำเนิดและเรื่องคนง่อยดูเหมือนจะเสนอคำสอนเกี่ยวกับศีลล้างบาป ในแง่ที่บันดาลแสงสว่าง (9:1-39) และชีวิตใหม่ (5:1-14; 5:21-24)ให้มนุษย์ บทที่ 6 รวบรวมคำสอนเรื่องศีลมหา-สนิทไว้อย่างครบครัน แต่พระวรสารฉบับที่สี่ในภาพ รวมเสนอความคิดว่าปัสกาของพระคริสตเจ้าเข้ามาแทนที่ปัสกาของชาวยิว (1:29, 36; 2:13; 6:4; 19:36 เชิงอรรถ u) พิธีชำระตัวของชาวยิว (2:6; 3:25) เป็นเพียงการเตรียมรับการชำระจิตใจโดยพระวจนาตถ์ (15:3) และพระจิตเจ้า (20:22ฯ) ดังนั้น พระชนมชีพของพระคริสตเจ้าจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับชีวิต คริสตชน ด้านพิธีกรรม และศีลศักดิ์สิทธิ์

              พระวรสารฉบับที่สี่เป็นงานเขียนที่ซับซ้อน มีความสัมพันธ์กับการประกาศสอนและภารกิจของพระคริสตเจ้า สำหรับยอห์นพระองค์ทรงเป็นพระวจนาตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ ผู้เสด็จมาประทานชีวิต (1:14) ธรรมล้ำลึกที่พระวจนาตถ์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์นี้ครอบคลุมความคิดทั้งหมดของยอห์น ยอห์นแสดงความคิดทางเทววิทยาอย่างเป็นรูปธรรมว่า พระเยซูเจ้าทรงถูกส่งมา พระเยซูเจ้าทรงเป็นพยานยืนยัน พระคริสตเจ้าคือข่าวสารจากพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระวจนาตถ์ซึ่งพระเจ้าทรงส่งมาในโลก และจะต้องกลับไปหาพระเจ้าเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ (ดู 1:1 เชิงอรรถ a) ภารกิจของพระวจนาตถ์คือการประกาศความลี้ลับของพระเจ้า และการเป็นพยานถึงทุกสิ่งที่ทรงได้เห็นหรือทรงได้ยินจากพระบิดา (ดู 3:11 เชิงอรรถ e) พระเจ้าประทานงานหรือ “เครื่องหมายอัศจรรย์” บางประการให้พระวจนาตถ์ทรงกระทำเพื่อเป็นประกันรับรองว่าพระวจนาตถ์ทรงมาจากพระเจ้าจริง งานและเครื่องหมายอัศจรรย์นี้เรียกร้องอำนาจเหนือมนุษย์เพื่อจะทำได้และพิสูจน์ได้ว่าพระเจ้าผู้ทรงส่งพระวจนาตถ์มาทรงกระทำกิจการเหล่านี้ในพระองค์ (ดู 2:11 เชิงอรรถ f) โดยทางเครื่องหมายเหล่านี้ มนุษย์เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้อย่างรางๆ แต่พระสิริรุ่งโรจน์นี้จะปรากฏชัดแจ้งในวันที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (ดู 1:14 เชิงอรรถ n) เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะ “ถูกยกขึ้น” ดังที่ประกาศกอิสยาห์กล่าวล่วงหน้าไว้ (อสย 53:12 ตาม LXX) เพื่อกลับไปหาพระบิดาโดยทางไม้กางเขน (ดู ยน 12:32 เชิงอรรถ j) และเพื่อได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงมีร่วมกับพระเจ้า “มาตั้งแต่ก่อนสร้างโลกขึ้นมา” (17:5 เชิงอรรถ f, 24) นี่คือพระสิริรุ่งโรจน์ที่บรรดาประกาศกล่วงรู้โดยพระเจ้าทรงเปิดเผย (ดู 5:27; 12:41; 19:37) การเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์นี้เป็นการที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ เป็นการเปิดเผยสุดท้ายและสมบูรณ์ที่สุด รวบรวมการเปิดเผยก่อนหน้านั้นทั้งหมด คือการเปิดเผยพระองค์ในการเนรมิตสร้าง (1:1) การเปิดเผยพระองค์แก่โมเสส (1:17) แก่ยาโคบ (1:51) แก่อับราฮัม (8:56) และแก่บรรดาประกาศก พระสิริรุ่งโรจน์ใน “วันของพระยาห์เวห์” (ดู อมส 5:18 เชิงอรรถ m) เป็นสิ่งเดียวกันกับ “วัน” ของพระเยซูเจ้า (ยน 8:56) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “เวลา” ของพระองค์ (2:4 เชิงอรรถ e) ซึ่งเป็นเวลาของการ “ถูกยกขึ้น” และการได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ เมื่อถึงเวลานั้น พระคริสตเจ้าจะทรงแสดงพระมหิทธานุภาพของพระองค์ในฐานะที่พระเจ้าทรงส่งพระองค์มา (8:24 เชิงอรรถ g) เป็นพระมหิทธานุภาพของผู้เสด็จมาในโลกเพื่อประทานชีวิต (3:35 เชิงอรรถ t) แก่ทุกคนที่มีความเชื่อเปิดใจรับข่าวสารเรื่องความรอดพ้นที่พระองค์ทรงนำมาให้ (3:11 เชิงอรรถ e )พระบุตรได้ทรงถูก “ส่งมา” เพื่อ “ความรอดพ้นนี้” เท่านั้น ดังนั้น การที่พระบิดาทรงส่งพระองค์มาจึงเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่า พระบิดาทรงรักมนุษยโลกอย่างยิ่ง (17:6 เชิงอรรถ g)

              พระวรสารสหทรรศน์มักจะกล่าวถึงการเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า ร่วมกับการเสด็จมาของพระองค์ในวันสิ้นพิภพ (มธ 16:27ฯ) พระวรสารฉบับที่สี่รวบรวมองค์ประกอบพื้นฐานของคำสอนเรื่องอวสานกาลไว้ทั้งหมด ได้แก่การรอคอย “วันสุดท้าย” (ยน 6:39ฯ; 11:24; 12:48) “การเสด็จมาของพระเยซูเจ้า” (14:3; 21:22ฯ) การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย (5:28ฯ; 11:24) การพิพากษาประมวลพร้อม (3:36; 5:29) แต่ยอห์นเน้นลักษณะของอวสานกาลสองประการเป็นพิเศษ คือ (1) อว-สานกาลเริ่มแล้วเวลานี้และที่นี่ (2) อวสานกาลไม่เป็นเพียงเหตุการณ์ภายนอก แต่เป็นประสบการณ์ “ภายใน” ด้วย ดังนี้ “การเสด็จมา” ของบุตรแห่งมนุษย์จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันสุดท้าย แต่ในอันดับแรก หมายถึง “การเสด็จมา” ของพระเยซูเจ้าสู่โลกนี้ เมื่อพระวจนาตถ์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ การที่พระองค์ “ทรงถูกยกขึ้น” บนไม้กางเขนและการเสด็จกลับมาหาบรรดาศิษย์เดชะพระจิตเจ้า ก็เป็นการเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์ด้วย ในทำนองเดียวกัน “การพิพากษา” ยังเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในจิตใจของมนุษย์ และชีวิตนิรันดร (ซึ่งมีความหมายเท่ากับ “พระอาณาจักร” ในพระวรสารสห-ทรรศน์) ก็เป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งผู้มีความเชื่อมีอยู่แล้ว การมองเห็นว่า “เหตุการณ์สุดท้าย” เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความรอดพ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติรวมกันอยู่ในการดำรงพระชนมชีพบนแผ่นดิน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ชาวยิวไม่ยอมรับพระเยซูเจ้าก็จริง แต่เบื้องหลังการไม่ยอมรับ มีอำนาจที่ลึกซึ้งกว่ารองรับอยู่แล้ว คือ “โลก” (ดู 1:9-10; 10 เชิงอรรถ g) “ความมืด” (ดู 8:12 เชิงอรรถ b) ซึ่งซาตานควบคุมอยู่ ซาตานนี้เป็น “เจ้านายของโลกนี้” (ดู 1 ยน 2:13ฯ) คอยท้าทายพระเจ้าและผู้รับเจิมของพระองค์ ไม่มีผู้ใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้อันลึกซึ้งฝ่ายจิตเช่นนี้ “โลก” เมื่อเผชิญหน้ากับพระวจนาตถ์ก็ต้องรับ “การพิพากษา” (12:31-32) ถูกตัดสินลงโทษและยอมแพ้ (16:7-11, 33) พระคริสตเจ้าทรงมอบชีวิตของพระองค์ (ดู 10:18 เชิง-อรรถ j) พระองค์ “ทรงถูกยกขึ้น” บนไม้กางเขนโดยสมัครพระทัย และเพื่อจะเข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์เท่านั้น (ดู 12:32 เชิงอรรถ j) พระสิริรุ่งโรจน์นี้ยังปรากฏแจ้งในโลกด้วยเพื่อทำให้ผู้ไม่มีความเชื่อต้องอับอาย และพระองค์จะทรงพิชิตซาตานอย่างเด็ดขาดตลอดไป การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์เป็นประกันว่าพระเจ้าทรงพิชิตความชั่วร้ายและประทานความรอดพ้นแก่โลกแล้ว การเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าในวันสุดท้ายจะเป็นเพียงการรับรองเหตุการณ์เหล่านี้เท่านั้น

                กำหนดให้ชัดเจนได้ยากว่า ยอห์นวางโครงสร้างอย่างไรเพื่อเรียบเรียงคำสอนดังกล่าวนี้ ประ-การแรก ไม่ง่ายเสมอไปที่จะอธิบายการจัดลำดับบทต่างๆ ของพระวรสาร เช่น การลำดับบทที่ 4, 5, 6, 7:1-24 ไม่สู้จะต่อเนื่องกัน คำปราศรัยในบทที่ 15-17 ถูกจัดไว้หลังคำอำลาใน 14:31 ข้อความบางตอนเช่น 3:31-36 และ 12:44-50 ขัดกับบริบท ความสับสนเหล่านี้อาจอธิบายได้ถ้าคำนึงถึงวิธีเขียนและเรียบเรียงพระวรสารฉบับนี้ พระวรสารในปัจจุบันน่าจะเป็นผลงานขั้นสุดท้ายของกระบวนการเขียนซึ่งพัฒนาขึ้นโดยลำดับ กระบวนการดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่รวบรวมเรื่องราวที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน แต่ยังปรับปรุงแก้ไข ต่อเติม และบางครั้งเรียบเรียงคำปราศรัยเดิมอีกหลายครั้ง ในที่สุดผู้ที่นำผลงาน ออกมาใช้ในกลุ่มคริสตชนก็ไม่ใช่ยอห์นผู้เป็นพยานเห็นเหตุการณ์ แต่เป็นศิษย์ หลังจากยอห์นสิ้นชีวิตไปแล้ว (21:24) บรรดาศิษย์เหล่านี้น่าจะมีข้อเขียนของยอห์นเป็นตอนสั้นๆ อยู่ในมือด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ต้องการละทิ้งไป จึงนำข้อเขียนเหล่านี้มาแทรกไว้ในพระวรสารดั้งเดิมด้วย แม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าจะต้องแทรกไว้ตรงไหน

                 การแบ่งเนื้อหาของพระวรสารฉบับนี้ทำได้หลายวิธี แล้วแต่ว่าจะใช้ข้อมูลอะไรเป็นมาตรการ แต่วิธีที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการแบ่งโดยใช้มาตรการที่ผู้นิพนธ์พระวรสารเองใช้ ประการแรก ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ยอห์นให้ความสำคัญแก่วันฉลองทางศาสนาของชาวยิวเป็นพิเศษโดยใช้วันฉลองเหล่านี้เป็นจุดแบ่งเรื่องราวต่างๆ ยอห์นกล่าวถึงวันปัสกาสามครั้ง (2:13; 6:4; 11:55) วันฉลองไม่ออกนามหนึ่งครั้ง (5:1) วันฉลองการอยู่เพิงหนึ่งครั้ง (7:2) และวันฉลองการถวายพระวิหารหนึ่งครั้ง (10:22) ประการที่สอง ผู้นิพนธ์พระวรสารจงใจนับวันเพื่อแบ่งชีวิตช่วงหนึ่งของพระเยซูเจ้าอย่างชัดเจนหลายครั้ง เช่น สัปดาห์แรกของการออกเทศนาสั่งสอนของพระคริสตเจ้า (1:19-2:11) สัปดาห์ของเทศกาลอยู่เพิง (7:2, 14, 37) และสัปดาห์ของพระทรมาน (12:1, 12; 19:31, 42) สัปดาห์สุดท้ายนี้เริ่มต้นเมื่อมารีย์ใช้น้ำมันหอมเจิมพระบาทซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการฝังพระศพ (12:7) และจบลงด้วยการฝังจริงๆ (19:38ฯ) ในทำนองเดียวกัน 4:45 ทำให้เราคิดถึงการฉลองปัสกาครั้งแรก (ดู 2:13-25) และรวมเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างนั้นเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้มาตรการทั้งสองนี้ เราจึงอาจแบ่งโครงสร้างของพระวรสารได้ดังนี้

. อารัมภบท

   (1:1-18) “เมื่อแรกเริ่มนั้น…”

. พระภารกิจของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้าทรงประกาศระบบใหม่

    (1:19-4:54) สัปดาห์แรกและเหตุการณ์ในวันปัสกาครั้งแรก

2. วันฉลองที่สอง “วันสับบาโตที่กรุงเยรูซาเล็ม ปฏิกิริยาต่อต้านครั้งแรก” (5:1-47)

3. เทศกาลปัสกาครั้งที่สองที่แคว้นกาลิลี ปฏิกิริยาต่อต้านครั้งใหม่ (6:1-71)

4. เทศกาลอยู่เพิง : พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ แต่ชาวยิวไม่ยอมรับ (7:1-10:21)

5. วันฉลองการถวายพระวิหาร : ชาวยิวตกลงใจจะประหารชีวิตพระเยซูเจ้า (10:22-54)

6. พระเยซูเจ้าทรงมุ่งหาความตาย (11:1-12:50)

. เวลาของพระเยซูเจ้ามาถึงแล้ว การฉลองปัสกา เมื่อลูกแกะของพระเจ้าถูกประหารชีวิต (13:1-20:31)

1. อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้ากับบรรดาศิษย์ (13:1-17:26)

2. พระทรมาน (18-19)

3. การกลับคืนพระชนมชีพ การมอบภารกิจแก่บรรดาศิษย์ (20:1-29)

4. บทสรุปพระวรสาร (20:30, 31)

. บทส่งท้าย (21:1-25) องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงสั่งสอนพระศาสนจักร

                โครงสร้างของพระวรสารนี้จึงบอกให้รู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้สถาบันทั้งหลายของศาสนายิวบรรลุเป้าหมาย การทำเช่นนี้ทำให้สถาบันเหล่านี้จบบทบาท

                มีคำถามข้อแรกว่า ยอห์นเขียนพระวรสารโดยคำนึงถึงพระวรสารสหทรรศน์หรือไม่ ปัญหานี้ตอบยาก แต่เราสามารถให้ข้อสังเกตต่อไปนี้ (1) มีรายละเอียดบางประการที่ทำให้คิดว่า ยอห์นคุ้นเคยกับธรรมประเพณีที่มีบันทึกอยู่ในพระวรสารสห-ทรรศน์ การที่ยอห์นละข้อมูลสำคัญบางประการจะเข้าใจไม่ได้ นอกจากยอห์นจะคิดว่าผู้อ่านรู้เรื่องนั้นแล้วจากแหล่งอื่น แต่ในบางครั้ง  ยอห์นดูเหมือนต้องการเพิ่มเติมข้อมูลจากธรรมประเพณีของพระวรสารสหทรรศน์ให้สมบูรณ์ หรือต้องการเน้นเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสมัยนี้ให้เหตุผลชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่า ยอห์นเขียนพระวรสารโดยไม่คำนึงถึงพระวรสารสหทรรศน์เลย แม้เมื่อยอห์นเล่าเรื่องที่เราพบในพระวรสารสหทรรศน์ ยอห์นก็ยังเล่าไม่เหมือนจนกระทั่งไม่อาจคิดได้ว่า ยอห์นรู้เรื่องนี้มาจากพระวรสารสหทรรศน์ แต่รู้มาจากพยานแหล่งอื่น ยอห์นจึงนับได้ว่าเป็นพยานอีกทางหนึ่งของธรรมประเพณีจากอัครสาวก ยอห์นมีความสัมพันธ์กับ ลก มากกว่าพระวรสารอื่นๆ เป็นไปได้ว่า เมื่อ ลก เขียนพระวรสารของตน ลก ได้ใช้ข้อความจากธรรมประเพณีของยอห์นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า แต่ก็ยังเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่า ในการเรียบเรียงขั้นสุดท้าย ยอห์นได้รับอิทธิพลจาก ลก ด้วย

                คำถามข้อสองคือ ยอห์นเล่าเหตุการณ์ตรงตามที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ การที่นักวิชาการเห็นว่า ยอห์นเขียนพระวรสารโดยไม่คำนึงถึงพระวรสารสห-ทรรศน์ เป็นการแสดงว่านักวิชาการยอมรับมากขึ้นว่ายอห์นเล่าเหตุการณ์ตรงตามที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น เมื่อยอห์นเล่าถึงภารกิจของพระคริสตเจ้า ยอห์นเล่าเรื่องอย่างละเอียดเจาะจงมากกว่าพระวรสารสหทรรศน์ ระยะเวลาการเทศนาสั่งสอนของพระเยซูเจ้า และลำดับเหตุการณ์เรื่องพระทรมานดูเหมือนจะตรงกับความจริงมากกว่ารายละเอียด เช่น ใน ยน 2:20 (พระวิหารต้องใช้เวลาสร้างถึง 46 ปี) ทำให้เรารู้ว่าขณะนั้นคือ ปี ค.ศ. 28 ตรงกับข้อความใน ลก 3:1 ยอห์นกล่าวถึงสถานที่ต่างๆ อย่างละเอียดมากกว่าในพระวรสารสหทรรศน์ และการขุดพบทางโบราณคดีในปัจจุบันยังสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ด้วย (เช่น สระน้ำที่มีเฉลียงห้าด้านใน 5:2) นอกจากนั้นทั่วพระวรสาร เราพบรายละเอียดข้อเท็จจริงซึ่งแสดงว่า ยอห์นคุ้นเคยกับการปฏิบัติศาสนา ของชาวยิว กับความคิดของพวกรับบี และกับการแก้ปัญหาโดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นของพวกธรรมาจารย์ ยอห์นวาดภาพของพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นบุคคลที่ อยู่เหนือโลกนี้ แต่ในขณะเดียวกันยังทรงเป็นมนุษย์จริงทุกประการ ทรงเรียบง่ายและสุภาพถ่อมตน แม้เมื่อทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เราอาจตั้งข้อสังเกตได้อีกว่า ถ้ายอห์นไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เขาเขียนถึงนั้นได้เกิดขึ้นจริง พระวรสารของเขาคงเป็นปริศนาที่แก้ไม่ตก

                แต่เราต้องตระหนักถึงความจริงข้อหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์” ในพระวรสารมีความหมายแตกต่างจากในความคิดของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เป็นอันมาก ผู้นิพนธ์พระวรสารต้องการแสดงความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการกระทำของพระเจ้าและของมนุษย์ในเวลาเดียวกัน เป็นเหตุการณ์ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางเทววิทยา เป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในกาลเวลาแต่มีรากลึกอยู่ในนิรันดรภาพ จุดมุ่งหมายของผู้นิพนธ์พระวรสารคือการเล่าเรื่องอย่างตรงความจริง เป็นเรื่องซึ่งเขาตั้งใจให้ผู้อ่านมีความเชื่อว่าเรื่องราวที่เขาเล่านั้นเป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ การที่พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จมา เป็นการกระทำในประวัติศาสตร์มนุษย์ พระองค์ผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ ผู้นิพนธ์พระวรสารเลือกเรื่องราวและเหตุการณ์ที่จะเล่าด้วยความเอาใจใส่ โดยคัดเอาเฉพาะเรื่องที่เป็นสัญ-ลักษณ์ของความจริงที่เขาต้องการสอนได้เท่านั้น เขาใช้วิธีนี้เพื่อเผยความหมายลึกซึ้งของเหตุการณ์และให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์ดังกล่าวด้วย อัศจรรย์ที่เล่าเป็น “เครื่องหมาย” นั่นคือเผยให้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า และยังเป็นสัญ-ลักษณ์ของพระพรต่างๆ ที่พระองค์ทรงนำมาประ-ทานแก่โลก (เช่น การชำระตนแบบใหม่ ปังบันดาลชีวิต แสงสว่างและชีวิต) แม้กระทั่งเหตุการณ์ธรรมดาซึ่งไม่ใช่อัศจรรย์ ยอห์นก็ยังใช้เป็นสื่อนำ ความหมายฝ่ายจิตอีกด้วย คือทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นสื่อของธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้า (ดู 2:19-21; 9:7; 11:51ฯ; 13:30; 19:31-37 พร้อมเชิงอรรถ)
ยอห์นมองเห็นความหมายลึกซึ้งฝ่ายจิตแม้กระทั่งในเหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา พระองค์เสด็จมาในฐานะที่ทรงเป็นแสงสว่างส่องโลก ตลอดพระชนมชีพของพระองค์เป็นการต่อสู้กับความมืด การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นการพิพากษาโลกทั้งโลก และรูปแบบต่างๆ ในพันธ-สัญญาเดิมสำเร็จไปในพระองค์ ทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า (1:29) เป็นพระวิหารใหม่ (2:21) เป็นงูที่โมเสสตั้งขึ้นเพื่อคืนสุขภาพแก่ประชาชน (3:14) เป็นปังแห่งชีวิตที่มีมานนาเป็นภาพล่วงหน้า (6:35) เป็นผู้เลี้ยงที่สมบูรณ์ (10:11) เป็นเถาองุ่นแท้ (15:1)  ยอห์นวาดภาพพระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้า แต่ยังมีรายละเอียดของความเป็นมนุษย์แท้ของพระองค์อยู่มากด้วย ยอห์นเล่าถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า แต่พระองค์ยังทรงเป็นพระผู้ไถ่กู้โลกอีกด้วย ดังนั้น สัญลักษณ์ที่ยอห์นใช้จึงไม่ขัดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่เรียกร้องเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย เพราะสำหรับยอห์น ไม่มีความขัดแย้งระหว่างสัญลักษณ์กับข้อเท็จจริง สัญลักษณ์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และความหมายของสัญลักษณ์แฝงอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้ สัญลักษณ์ไม่เพียงแต่อธิบายความหมายฝ่ายจิตของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เท่านั้น แต่สำหรับยอห์น สัญลักษณ์ยังเป็นพยานดีที่สุดถึงพระวจนาตถ์ผู้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ สัญลักษณ์ทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายถ้าเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

               ปัญหาว่าใครเป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับนี้ ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรตอบเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นยอห์นอัครสาวกบุตรของเศเบดี ตั้งแต่ก่อน ค.ศ.150 พระวรสารฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างดีแล้ว อิกญาซีโอแห่งอันทิโอก ผู้เขียนเพลงสดุดีของซาโลมอน ปาปีอัส จัสติน และบางทีเคลเมนต์แห่งโรมรู้จักและใช้พระวรสารฉบับนี้ แสดงว่ายอห์นเป็นข้อเขียนที่มีอำนาจของอัครสาวกอยู่เบื้องหลัง ผู้ที่ยืนยันเป็นคนแรกว่ายอห์นเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารฉบับนี้ คือ อีเรเนโอ ราว ค.ศ.180 อีเรเนโอเขียนไว้ว่า “ในที่สุดยอห์นศิษย์ที่เอนกายชิดพระอุระขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็เขียนพระวรสารอีกฉบับหนึ่ง เมื่อเขาอยู่ที่เอเฟซัส” ประมาณช่วงเวลาเดียวกัน เคลเมนต์แห่ง อเล็กซานเดรีย แทร์ทูเลียนและสารบบของมูราโตรี เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ยอห์นอัครสาวกเป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับที่สี่ แต่ในราว ค.ศ.200 ปฏิปักษ์บางคนของพวกมอนตานิสต์ไม่ยอมรับความเห็นนี้ เพราะพวกมอนตานิสต์ใช้พระวรสารฉบับที่สี่มา สนับสนุนทฤษฎีของตนเรื่องพระจิตเจ้า แต่ปฏิกิริยาของผู้ต่อต้านเช่นนี้ใช้เหตุผลทางเทววิทยาโดยไม่มีหลักฐานจากธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเป็นข้ออ้าง

                แต่ปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุด ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันด้วยเหตุผลต่างๆ ว่า พระวรสารฉบับที่สี่ผ่านกระบวนการพัฒนาค่อนข้างซับซ้อนก่อนจะมีรูปแบบสุดท้ายดังปัจจุบัน นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่าผู้นิพนธ์พระวรสารใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งมาดัดแปลงขยายความให้เข้ากับเทววิทยาของตน เช่น นักวิชาการคนหนึ่งแยกแหล่งข้อมูลออกเป็น “แหล่งที่มาของเครื่องหมายอัศจรรย์” ซึ่งประกอบด้วยอัศจรรย์ในพระวรสารฉบับที่สี่ กับ “แหล่งที่มาของพระวาจา” ของพระคริสตเจ้า และยังมีเรื่องเล่าพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพที่แตกต่างจากเรื่องเล่าในพระวรสารสหทรรศน์ นักวิชาการอีกหลายคนได้พยายามวิเคราะห์ลักษณะและจุดประสงค์ของแหล่งที่มาของ “เครื่องหมายอัศจรรย์” ดังกล่าวนี้ สมมติฐานนี้ทำให้คิดว่ายอห์นอัครสาวกคงไม่เป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับที่สี่ เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์จะใช้แหล่งข้อมูลอื่นเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของตน ดังนั้น เราสันนิษฐานได้เพียงว่า แหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียวต้องมาจากพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์เท่านั้น นักพระคัมภีร์คนอื่นๆ เลือกกำหนดสมมติฐานอีกข้อหนึ่งว่า มีพระวรสารฉบับที่สี่ดั้งเดิมอยู่ก่อน ซึ่งซับซ้อนน้อยกว่าฉบับปัจจุบัน และต่อมาถูกขยายความและพัฒนาอีกหลายขั้นตอนในครึ่งหลังของศตวรรษแรกของคริสตกาล สมมติฐานข้อนี้อ้างหลักฐานยืนยันจากการเล่าเรื่องซ้ำกันหลายแห่งในพระวรสาร เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าธรรมประเพณีหนึ่งวิวัฒนาการไปได้หลายแนว แต่ในที่สุดถูกรวบรวมเข้าด้วยกันเป็นพระวรสารอย่างที่เรามีในปัจจุบัน ตามทรรศนะนี้ อัครสาวกยอห์นจึงเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารได้ ไม่ใช่ฉบับปัจจุบันทั้งหมด (ซึ่งจะต้องเป็นงานของบรรดาศิษย์ ยน 21:24) แต่ยอห์นอัครสาวกก็เป็นผู้ให้กำเนิดพระวรสารฉบับดั้งเดิม สมมติฐานข้อนี้มีเหตุผลสนับสนุนจากรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และเรื่องลำดับเวลา ซึ่งเจาะจงและสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

                 เรายังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระวรสารฉบับที่สี่กับอัครสาวกยอห์นได้หรือไม่ ยน 21:24 ยืนยันว่า พระวรสารฉบับนี้เขียนโดย “ศิษย์ที่พระเยซู เจ้าทรงรัก” ศิษย์คนนี้เป็นคนเดียวกันกับอัครสาวกยอห์นหรือไม่ ข้อมูลที่ทำให้คิดเช่นนี้คือมิตรภาพพิเศษของยอห์นกับเปโตร ใน ยน 13:23ฯ; 18:15; 20:3-10; 21:20-23 ลูกาก็กล่าวถึงมิตรภาพนี้เช่นเดียวกัน (ลก 22:8; กจ 3:1-4; 4:13; 8:14) แต่เหตุผลที่นำมาใช้อ้างยังไม่เพียงพอเพื่อตัดสินว่าศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักคือยอห์นอัครสาวก เพราะยังมีปัญหาอยู่บ้าง อัครสาวกยอห์นเป็นชาวประมงที่ทะเลสาบทีเบรีอัส แต่ “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” อาศัยอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม (ยน 13:23) และเป็นที่รู้จักของมหาสมณะ (ยน 18:16) อย่างไรก็ตาม ยังเป็นไปได้ว่า มีความสับสนระหว่างยอห์นอัครสาวกกับยอห์น “ผู้อาวุโส” ซึ่งปาปิอัสพระสังฆราชของเมืองฮีราโปลิส กล่าวถึงราว ค.ศ.135 ตามความเห็นของยูเซบีอัสแห่งซีซารียา ความสับสนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอีเรเนโอแล้ว ราวปี ค.ศ.180

จดหมายของนักบุญยอห์น

                  จดหมายสามฉบับซึ่งธรรมประเพณีกล่าวว่า “ยอห์น” เป็นผู้เขียน มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระวรสารทั้งในลีลาการเขียนและคำสอน จนกระทั่งเกือบทุกคนยอมรับว่าเป็นผลงานจากสำนักเดียวกัน

                  เคยมีเวลาหนึ่งที่บางคนสงสัยว่า ยอห์นอาจไม่ใช่ผู้เขียนจดหมายฉบับที่สองและที่สาม ตามหลักฐานที่พบได้ในข้อเขียนของโอริเจน ยูเซบีอัสแห่งซีซา-รียาและเยโรม ขณะที่พระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอกและในแคว้นซีเรียโดยทั่วไปไม่ยอมรับจดหมายสองฉบับนี้เข้าอยู่ในสารบบพระคัมภีร์เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามจดหมายสั้นๆ ทั้งสองฉบับนี้ไม่มีคำ-สอนสำคัญอะไรนัก จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเข้ามาอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ ถ้าหากว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระวรสารของยอห์น

3 ยน น่าจะเป็นจดหมายที่เขียนก่อนฉบับอื่น จดหมายฉบับนี้ต้องการยุติปัญหาเรื่องอำนาจปกครองในพระศาสนจักรแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้นำไม่ยอมรับอำนาจปกครองของผู้เขียน

2 ยน เขียนถึงพระศาสนจักรอีกแห่งหนึ่งเพื่อตอบโต้ผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงที่ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

1 ยน เป็นจดหมายสำคัญที่สุดในสามฉบับนี้ มีรูปแบบเหมือนกับสารเวียนถึงกลุ่มคริสตชนต่างๆ ในแคว้นอาเซียที่กำลังถูกคุกคามจากคำสอนของบรรดามิจฉาทิฐิในศตวรรษแรก ในจดหมายฉบับนี้ ผู้เขียนสรุปสาระทั้งหมดของประสบการณ์ทางศาสนาของตน เขาค่อยๆ พัฒนาแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน เช่น แสงสว่าง (1:5ฯ) ความชอบธรรม (2:29ฯ) ความรัก (4:7-8ฯ) และความจริง (5:6ฯ) แล้วจึงใช้ความคิดดังกล่าวนี้เป็นฐาน อธิบายว่าคริสตชนในฐานะที่เป็นบุตรของพระเจ้า จำเป็นต้องดำเนินชีวิตอย่างดีบริบูรณ์ ซึ่งสำหรับยอห์น หมายถึงการปฏิบัติตามบทบัญญัติสองประการ คือต้องเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า และต้องรักเพื่อนมนุษย์ (ดู เชิงอรรถ 1:3, 7) 1 ยน เป็นจดหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกับพระวรสารของยอห์นมากที่สุด ทั้งในลีลาการเขียนและคำสอน จดหมายฉบับนี้น่าจะเขียนขึ้นประมาณช่วงเวลาเดียวกันกับพระวรสาร แต่เรายังไม่อาจกำหนดได้ว่า 1 ยน เขียนก่อนหรือหลังพระวรสาร

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก