“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์น

 

               ชื่อภาษากรีกของหนังสือฉบับนี้แปลตามตัวอักษรได้ว่า “วิวรณ์ของยอห์น”  หรือ “การเปิดเผยของยอห์น” แต่ข้อความใน วว 1:1-2 มีความหมายว่า “ยอห์นได้รับการเปิดเผย” ข้อเขียนที่อยู่ในประเภท “วิวรณ์” ซึ่งแปลว่า “การเปิดเผย” ผู้เขียนมักจะอ้างว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยเรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่ให้ตนทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความแตกต่างของข้อเขียนของประกาศกและข้อเขียนประเภทวิวรณ์ มองเห็นได้ไม่ง่ายนัก ในแง่หนึ่งผู้เขียนหนังสือประเภทวิวรณ์เป็นผู้สืบต่อหน้าที่ของประกาศก และเราพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า บรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมได้รับข่าวสารจากพระเจ้าโดยได้ยินพระวาจาจากพระองค์ และถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้โดยการเทศน์สอน แต่ผู้เขียนหนังสือประเภทวิวรณ์ได้รับข่าวสารจากพระเจ้าโดยเห็น “ภาพนิมิต” และถ่ายทอดข่าวสารนี้ลงเป็นลายลักษณ์อักษร

                ภาษาของวรรณกรรมประเภทวิวรณ์ เป็นภาษาที่ใช้สัญลักษณ์อยู่ทั่วไป และภาพนิมิตที่เล่านั้นไม่ต้องเข้าใจความหมายตรงตามตัวอักษร เราอาจตั้งเป็นกฎได้เลยว่า รายละเอียดทุกประการในข้อเขียนประเภทนี้เป็นสัญลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถานที่ สัตว์ การกระทำ สิ่งของ ส่วนของร่างกาย จำนวนที่นับและปริมาณที่วัดได้ ดวงดาว กลุ่มดาว สีและเสื้อผ้า ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากเข้าใจผิดหรือบิดเบือนความหมายที่ผู้เขียนต้องการบอกให้รู้ เราจะต้องตีความหมายของสัญลักษณ์เหล่านั้นให้ได้ตรงกับที่ผู้เขียนต้องการจะบอกให้รู้ มีข้อความบางตอนที่เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นภาษาสัญลักษณ์และมีความหมายอย่างไร แต่ในบางตอนเราไม่อาจบอกได้ว่ามีความหมายอย่างไรแน่ เพราะมีการรวมเอาสัญลักษณ์หลายภาพเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจเข้าใจได้หลายแบบหลายวิธี

              งานเขียนประเภทวิวรณ์เป็นที่นิยมอย่างมากในแวดวงของชาวยิวบางกลุ่ม (รวมทั้งกลุ่มเอสเซนที่คุมราน) ในช่วงเวลาสองศตวรรษก่อนคริสตกาล

              ภาพนิมิตที่ประกาศกบางท่านเช่น เอเสเคียลและเศคาริยาห์ได้แลเห็น นับเป็นการปูทางให้งานเขียนประเภทวิวรณ์นี้ และวรรณกรรมประเภทวิวรณ์ได้พัฒนาเต็มรูปแบบแล้วในสมัยที่เขียนหนังสือดาเนียลและหนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์อีกหลายฉบับตอนต้นคริสตกาล พันธสัญญาใหม่มีหนังสือประเภทวิวรณ์เพียงเล่มเดียว ผู้เขียนกล่าวว่าตนชื่อยอห์น (1:9) และยังบอกอีกว่า เขาเขียนหนังสือนี้ขณะถูกเนรเทศอยู่ที่เกาะปัทมอสเพราะความเชื่อในพระคริสตเจ้า ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยของจัสตินและเป็นที่ยอมรับทั่วไป ราวปลายศตวรรษที่สอง (อีเรเนอัส เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย แทร์ทุลเลียน สารบบที่มูราโตรีค้นพบ) คิดว่ายอห์นผู้เขียนวิวรณ์เป็นคนเดียวกันกับยอห์นอัครสาวกผู้นิพนธ์พระวรสารฉบับที่สี่ แต่ในทางกลับกัน ดูเหมือนว่า พระศาสนจักรต่างๆ ในแคว้นซีเรีย คัปปาโดเชียและแม้กระทั่งแคว้นปาเลสไตน์ไม่ยอมรับหนังสือวิวรณ์นี้ไว้ในสารบบพระคัมภีร์ของตนจนถึงคริสตศตวรรษที่ห้า ทั้งนี้เพราะว่าเขาไม่เชื่อว่าหนังสือวิวรณ์เป็นงานเขียนของอัครสาวก ราวต้นคริสตศตวรรษที่สาม กายุสพระสงฆ์องค์หนึ่งที่กรุงโรมคิดว่าหนังสือวิวรณ์เป็นผลงานของเชรินธุส มิจฉาทิฐิคนหนึ่ง แต่ที่เขาอ้างเช่นนี้อาจเป็นเพียงเหตุผลเพื่อสนับสนุนการที่ตนไม่ยอมรับหนังสือวิวรณ์ฉบับนี้เป็นพระคัมภีร์ เมื่อเราพิจารณาเนื้อหาและลีลาการเขียนของหนังสือวิวรณ์กับงานเขียนอื่นๆ ของยอห์น จะเห็นว่ามีความละม้ายคล้ายกันอยู่บ้าง แต่ก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในด้านภาษา วิธีเขียน และความคิดทางเทววิทยา โดยเฉพาะในเรื่องการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า จึงทำให้สรุปได้ว่าผู้เขียนหนังสือในรูปแบบปัจจุบันต้องเป็นคนละคนกับผู้เขียนหนังสือฉบับอื่นๆ ของยอห์น อย่างไรก็ตาม หนังสือวิวรณ์ยังใช้ศัพท์ที่แสดงความคิดทางเทววิทยาเหมือนกับที่พบได้ในหนังสือฉบับอื่นๆ ของยอห์น หนังสือวิวรณ์นี้จึงน่าจะออกมาจากพระศาสนจักรที่รักษาธรรมประเพณีของยอห์นไว้ ส่วนเรื่องเวลาที่เขียน ความคิดเห็นส่วนใหญ่คือ วิวรณ์เขียนขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิโดมีเตียน ราวปี ค.ศ. 95 แต่ยังมีอีกความเห็นหนึ่ง ซึ่งมีเหตุผลด้วยเช่นเดียวกันที่คิดว่า ข้อความบางตอนของหนังสือวิวรณ์ ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด น่าจะเขียนขึ้นไม่นานหลังรัชสมัยของพระจักรพรรดิเนโร ระหว่างปี ค.ศ. 68 และ 70

               ถึงเราจะไม่รู้แน่ว่าหนังสือวิวรณ์ เขียนขึ้นเมื่อไร เราก็ไม่อาจเข้าใจหนังสือนี้ได้ ถ้าไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้หนังสือฉบับนี้เกิดขึ้น ก่อนอื่นหมด หนังสือวิวรณ์เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของช่วงเวลาในขณะนั้น เช่นเดียวกับหนังสือประเภทวิวรณ์ฉบับอื่นๆ โดยเฉพาะหนังสือประกาศกดาเนียล หนังสือวิวรณ์เขียนขึ้นในช่วงของความสับสนวุ่นวายและการเบียดเบียนอย่างหนัก เพื่อเสริมความหวังและความมั่นใจให้แก่พระศาสนจักรที่เกิดใหม่ พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “จงเข้มแข็งไว้เถิดเราชนะโลกแล้ว” (ยน 16:33) แล้วทำไมพระเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ศัตรูเข้าจู่โจมเพื่อทำลายพระศาสนจักรของพระองค์เช่นนี้เล่า คำตอบของยอห์นเริ่มต้นโดยระลึกถึงคำสอนที่รู้จักกันดีของบรรดาประกาศก โดยเฉพาะเรื่อง “วันของพระยาห์เวห์” (ดู อมส 5:18 เชิงอรรถ m) เมื่อประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรต้องตกเป็นทาสของชาวอัสซีเรีย ชาวเคลเดีย และชาวกรีก เมื่อพวกเขาถูกเนรเทศให้กระจัดกระจายไปอยู่ต่างแดนและถูกเบียดเบียนจนใกล้จะสิ้นชาติ บรรดาประกาศกสัญญาว่า วันนั้นจะมาถึง และจะมาถึงในไม่ช้า เมื่อพระเจ้าจะทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์ให้พ้นจากผู้กดขี่ และจะทรงทำให้เขาเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง พระองค์จะทรงช่วยเขาให้เอาชนะศัตรูได้ แม้ว่าพระองค์ทรงลงโทษประชากรของพระองค์จนเกือบจะสิ้นชาติแล้วก็ตาม เมื่อยอห์นเขียนหนังสือวิวรณ์ พระศาสนจักร ประชากรใหม่ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรก็ถูกเบียดเบียนจนแทบจะไม่มีเหลือ (บทที่ 6:10-11; 13; 16:6; 17:6) กรุงโรมและจักรวรรดิโรมัน (ซึ่งมีสัตว์ร้ายเป็นสัญลักษณ์) เป็นเพียงเครื่องมือที่ซาตานใช้ (บทที่ 12; 13:1, 4) ซาตานนี้เป็นศัตรูแท้จริงแต่ผู้เดียวของพระคริสตเจ้าและของประชากรของพระองค์ ในภาพนิมิตตอนต้นของหนังสือ ยอห์นบรรยายถึงพระเจ้าเหมือนกับว่าเป็นพระจักรพรรดิ ประทับนั่งบนพระบัลลังก์ในสวรรค์ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายซึ่งกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ (บทที่ 4) พระองค์ทรงมอบม้วนหนังสือให้ลูกแกะ ม้วนหนังสือบันทึกหายนะของผู้เบียดเบียน (บทที่ 5) หลังจากนั้นภาพนิมิตแจ้งข่าวการรุกรานจากคนต่างชาติ (ชาวปารเธีย) และเหตุการณ์ซึ่งเป็นผลตามมา คือ สงคราม ความอดอยาก โรคระบาด (บทที่ 6) ในช่วงเวลานี้ ผู้ซื่อสัตย์ของพระเจ้าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้ (7:1-8 เทียบ 14:1-5) และในที่สุดจะชื่นชมอย่างผู้มีชัยชนะในสวรรค์ (7:9-17 เทียบ 15:1-5) แต่พระเจ้าทรงประสงค์จะช่วยศัตรูของประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นด้วย ดังนั้น แทนที่จะทรงทำลายเขาทันที พระองค์ทรงตักเตือนเขาก่อน เหมือนกับที่เคยทรงตักเตือนชาวอียิปต์และกษัตริย์ฟาโรห์ด้วยภัยพิบัติต่างๆ (บทที่ 8-9 เทียบ บทที่ 16) แต่ผู้เบียดเบียนไม่ยอมกลับใจ กลับมุ่งมั่นในความชั่วยิ่งขึ้น พระเจ้าจึงทรงจำเป็นต้องทำลายเขา (บทที่ 17) ผู้เบียดเบียนมีเจตนาเพียงประการเดียวคือชักชวนให้ทั้งโลกทำบาป และชักจูงมวลมนุษย์ให้มากราบไหว้ซาตาน (เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการกราบไหว้พระจักรพรรดิเป็นเทพเจ้าดังที่ปฏิบัติกันที่กรุงโรม) หลังจากนั้น มีการร่ำไห้อาลัยถึงกรุงบาบิโลนที่ล่มสลาย คือกรุงโรม (บทที่ 18) และมีบทเพลงฉลองชัยชนะในสวรรค์ (19:1-10) ยังมีภาพนิมิตอีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับการทำลายสัตว์ร้าย (ซึ่งหมายถึงกรุงโรมที่เบียดเบียนคริสตชน) แต่ครั้งนี้ผู้ทำลายคือพระคริสตเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ (19:11-21) การทำลายสัตว์ร้ายนี้เป็นการเริ่มต้นยุครุ่งเรืองสำหรับพระศาสนจักร (20:1-6) ยุคนี้จะจบลงด้วยการโจมตีครั้งใหม่ของซาตาน (20:7ฯ) ตามด้วยการทำลายศัตรูผู้นั้นจนสิ้นซาก ผู้ตายจะกลับคืนชีพและถูกพิพากษา (20:11-15) และในที่สุดจะมีการสถาปนาพระอาณาจักรซึ่งนำความบรมสุขในสวรรค์เมื่อความตายจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง (21:1-8) ภาพนิมิตสุดท้ายหันกลับไปพิจารณาช่วงเวลาก่อนจะถึงความบริบูรณ์นี้ และบรรยายความงดงามของนครเยรูซาเล็มในโลกนี้คือพระศาสนจักร (21:9ฯ)

               ความหมายของหนังสือวิวรณ์มีมากกว่าความหมายพื้นฐานที่ได้จากการอธิบายสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ กล่าวคือหนังสือวิวรณ์แสดงสภาพความเป็นจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นรากฐานรองรับความเชื่อในทุกยุคของประวัติศาสตร์ พระสัญญาของพระเจ้าที่จะ“ประทับอยู่กับประชากรของพระองค์” (ดู อพย 25:8 เชิงอรรถ d) เพื่อทรงปกป้องและช่วยให้รอดพ้นเป็นพื้นฐานรองรับความเชื่อต่อพระองค์ในพันธสัญญาเดิม และการประทับอยู่เช่นนี้ของพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์เมื่อพระเจ้าทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวเหมือนคู่สมรสกับประชากรใหม่ที่ทรงเลือกสรรในพระบุคคลของพระบุตรผู้ทรงเป็น “อิมมานูเอล” (พระเจ้าสถิตกับเรา) พระสัญญาของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลายทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” นั้น เป็นคำสัญญาที่ประทานชีวิตแก่พระศาสนจักร (มธ 28:20) ดังนั้น ผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าจึงไม่ต้องหวาดกลัวสิ่งใด เขาอาจต้องทนทุกข์อยู่ชั่วขณะหนึ่งเพื่อพระองค์ แต่ในที่สุดเขาจะมีชัยชนะเหนือซาตานและเหนือกลอุบายของมัน

               ตัวบทของหนังสือวิวรณ์ดังที่เรามีในปัจจุบัน มีบางตอนที่ซ้ำกันถึงสองหรือสามครั้ง บางตอนดูเหมือนขาดความต่อเนื่อง ระหว่างภาพนิมิตต่างๆ มีข้อความบางตอนที่ไม่ค่อยเข้ากับบริบท (โดยเฉพาะในบทที่ 20-22) ผู้อธิบายพระคัมภีร์พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้หลายแบบด้วยกัน เช่น บางคนว่าเป็นการรวบรวมเรื่องราวจากแหล่งข้อมูลหลายสาย บางคนว่ามีการสับเปลี่ยนข้อความบางตอนโดยบังเอิญ ฯลฯ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า จดหมายถึงพระศาสนจักรทั้งเจ็ด (1:9-3:22) เป็นส่วนที่ถูกต่อเติมเข้ามาในการเรียบเรียงครั้งสุดท้าย ส่วนภาคที่เป็นการประกาศพระวาจาโดยตรงของหนังสือ (บทที่ 4-22) ดูเหมือนจะเป็นการรวบรวมข้อเขียนแบบวิวรณ์สองชิ้นเข้าด้วยกัน ข้อเขียนทั้งสองชิ้นนี้เป็นผลงานของบุคคลเดียวกัน แต่เขียนขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน ยังมีผู้อธิบายซับซ้อนกว่านี้อีก คือ หนังสือวิวรณ์เป็นการรวบรวมข้อเขียน 3 ชิ้นต่างกัน เราไม่อาจตัดสินได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่เราอาจอ่านหนังสือวิวรณ์ได้ในฐานะที่เป็นงานเขียนชิ้นเดียว ซึ่งใช้สัญลักษณ์จำนวนมากที่เร้าอารมณ์ แจ้งข่าวสารที่ให้ความมั่นใจและความหวังแก่ผู้อ่าน การที่พระคริสตเจ้าทรงถวายองค์เป็นบูชาเหมือนลูกแกะที่ถูกประหารชีวิต ทำให้พระองค์ทรงได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าพระศาสนจักรจะต้องประสบความทุกข์ยากอย่างไร ความวางใจในพระเจ้าผู้ทรงสัตย์จะไม่มีวันหวั่นไหว องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา “ในไม่ช้า” (1:1; 22:20) หนังสือวิวรณ์เป็นบทประพันธ์เฉลิมฉลองความหวังของคริสตชน เป็นบทเพลงฉลองชัยของพระศาสนจักรที่ถูกเบียดเบียน

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก