ความรู้เกี่ยวกับพระวรสารสหทรรศน์

(Synoptic Gospel)

          1. หนังสือบันทึก “ข่าวดี” (evangelium) ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงประกาศนั้น มีสี่ฉบับที่พระศาสนจักรรับรองอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ สามฉบับแรกคล้ายกันมากจนนำข้อความหลายตอนมาวางไว้เคียงข้างกันและพิจารณาพร้อมกันได้ เพราะเหตุนี้ พระวรสารสามฉบับแรกจึงได้ชื่อว่าพระวรสาร “สหทรรศน์” หรือ “Synoptic” (จากคำว่า synopsis แปลว่า “การมองพร้อมกันครั้งเดียว”)

           ธรรมประเพณีตั้งแต่ศตวรรษที่สองสอนว่าผู้นิพนธ์พระวรสารสามฉบับนี้ คือ นักบุญมัทธิว นักบุญมาระโกและนักบุญลูกาตามลำดับ ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรนี้สอนอีกว่ามัทธิวซึ่งเคยเป็นคนเก็บภาษีและเป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวก (มธ 9:9; 10:3) เป็นคนแรกที่เขียนพระวรสาร เขาเขียนพระวรสารในประเทศปาเลสไตน์สำหรับคริสต-ชนที่กลับใจจากศาสนายิว ผลงานที่เขาเขียน “เป็นภาษาฮีบรู” ซึ่งอาจจะหมายถึงภาษาอาราเมอิกนั่นเอง ต่อมาแปลเป็นภาษากรีก

           ยอห์น มาระโก ศิษย์ผู้หนึ่งชาวเยรูซาเล็ม (กจ 12:12) ได้ช่วยเหลือเปาโลในงานธรรมทูต (กจ 12: 25; 13:5, 13; ฟม 24; 2 ทธ 4:11) ช่วยเหลือบารนาบัสซึ่งเป็นญาติ (กจ 15:37, 39; คส 4:10) และเปโตร (1 ปต 5:13) มาระโกเป็น “ล่าม” ของเปโตร จึงได้บันทึกคำเทศน์ของเปโตรเป็นลายลักษณ์อักษรที่กรุงโรม

           ศิษย์อีกคนหนึ่งชื่อลูกา เป็นแพทย์ (คส 4:14) และไม่ได้นับถือศาสนายิวแต่กำเนิด ต่างกับมัทธิวและมาระโก (คส 4:10-14) ตามหลักฐานที่ปรากฏ ลูกาเกิดที่เมืองอันทิโอก ติดตามเปาโลในการเดินทางธรรมทูตครั้งที่สอง (กจ 16:10ฯ) และครั้งที่สาม (กจ 20:5ฯ) อยู่กับเปาโลในระหว่างที่เปาโลถูกจองจำที่กรุงโรมทั้งสองครั้ง (กจ 27:1ฯ; 2 ทธ 4:11) ด้วย พระวรสารของลูกา ซึ่งเป็นพระวรสารฉบับที่สาม จึงอ้างได้ว่าสะท้อนคำสอนของเปาโล (ดู 2 คร 8:18) ดังที่พระวรสารของมาระโกอ้างได้ว่าสะท้อนคำสอนของเปโตร ลูกายังเขียนหนังสืออีกฉบับหนึ่งคือ “กิจการอัครสาวก” ภาษาเดิมของพระวรสารของมาระโกและลูกาเป็นภาษากรีก

            แม้ว่าธรรมประเพณีที่กล่าวถึงนี้จะเก่ามาก แต่ก็มิได้เป็นคำสอนที่ทุกคนยอมรับ นักวิชาการหลายคน ทั้งชาวโปรเตสแตนต์และชาวคาทอลิกสงสัยความถูกต้องของธรรมประเพณีนี้ การยอมรับว่าพระวรสารเป็นเอกสารทางการที่ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้ามิใช่การยอมรับว่าผู้เขียนพระวรสารจะต้องเป็นผู้มีชื่อดังกล่าว หลายคนมีความเห็นว่า มัทธิวคนเก็บภาษีไม่ได้เขียนพระวรสารที่มีชื่อของเขา แม้ว่าเขาอาจจะมีส่วนบ้างในการเริ่มธรรมประ-เพณีที่ผู้นิพนธ์พระวรสารฉบับนี้ใช้ ในทำนองเดียวกัน หลายคนมีความเห็นว่า ธรรมประเพณีที่กล่าวว่าพระวรสารของมาระโกบันทึกการเทศน์สอนของเปโตรนั้น เป็นการสรุปง่ายเกินไป ถ้าพระวรสารของมาระโกมีความสัมพันธ์กับการเทศน์สอนของเปโตร จริง ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่มีอยู่น้อยมาก จุดสงสัยข้อที่สามคือ ผู้นิพนธ์พระวรสารฉบับที่สามและหนังสือกิจการอัครสาวก เป็นเพื่อนร่วมงานของเปาโลจริงหรือไม่ แต่ก่อนที่จะ พิจารณาปัญหาความสงสัยเหล่านี้ จำเป็นต้องกล่าวถึงปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ด้านวรรณกรรมของพระวรสารทั้งสามฉบับนี้ก่อน ปัญหาดังกล่าวนี้เรียกว่า “ปัญหาสหทรรศน์”

           2. ปัญหานี้ได้รับการอธิบายหลายแบบด้วยกัน จนถึงขณะนี้คำอธิบายแต่ละแบบต่างไม่อาจตอบปัญหาได้ทั้งหมด คำอธิบายแต่ละแบบมีความจริงอยู่บ้างที่อาจนำมาใช้รวมกับคำอธิบายแบบอื่นในการแก้ปัญหาให้สมบูรณ์ได้ น่าจะเป็นไปได้อย่างมากว่า ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสามฉบับใช้ธรรมประเพณีที่เล่าต่อๆ กันมาด้วยปากต่อปาก (Oral tradition) ซึ่งผู้นิพนธ์แต่ละท่านนำมาเรียบเรียงใหม่เป็นเอกเทศ และมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ธรรมประเพณีที่เล่าด้วยปากต่อปากเท่านั้น ไม่อาจอธิบายความคล้ายคลึงกันมากมายที่มีอยู่ทั้งในรายละเอียดและในการลำดับเรื่องราวต่างๆ ได้ แม้ความทรงจำอย่างน่าพิศวงของคนโบราณในแถบตะวันออกกลางก็ไม่อาจอธิบายความคล้ายคลึงกันดังกล่าวได้ มีแต่ธรรมประเพณีที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร (Written tradition) เท่านั้นที่อธิบายความคล้ายคลึงนี้ได้ ทฤษฎีที่อ้างว่าผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสามฉบับต่างใช้เอกสารที่เขียนไว้แล้วนี้เป็นเอกเทศ ยังไม่อาจอธิบายความเหมือนและความแตกต่างที่แสดงว่าผู้นิพนธ์แต่ละท่านรู้จักผลงานของอีกสองท่าน เพราะหลายครั้งเราเห็นได้ชัดว่ามีหลายตอนที่คัดลอกหรือแก้ไขปรับ-ปรุงข้อความซึ่งกันและกัน จึงน่าจะต้องมีความสัมพันธ์กันโดยตรงอยู่บ้าง และเห็นได้ชัดเจนว่าลูกาใช้มาระโกในส่วนที่เป็นการเล่าเรื่อง แต่ไม่ปรากฏชัดว่ามาระโกใช้มัทธิวดังที่เคยเชื่อกันมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลหลายประการที่ชี้แนะในทางตรงกันข้าม ส่วนความสัมพันธ์โดยตรงของมัทธิวกับลูกาไม่มีเหตุผลชวนให้คิดว่าลูกาใช้มัทธิว หรือมัทธิวใช้ลูกา และข้อความเหมือนกันที่มัทธิวและลูกาไม่ได้คัดลอกมาจากมาระโก น่าจะมีแหล่งข้อมูลอีกฉบับหนึ่งหรือมากกว่า นอกเหนือจากพระวรสารมาระโก

           ในการพิจารณาจากตัวบทเช่นนี้ นักวิเคราะห์เสนอ “ทฤษฎีแหล่งข้อมูลสองแหล่ง” ซึ่งอธิบายว่า แหล่งข้อมูลทั้งสองนี้คือ (1) มาระโก ซึ่งมัทธิวและลูกาใช้ในส่วนที่เป็นเรื่องเล่า (2) แหล่งข้อมูลที่สองซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีอยู่จากข้อความเหมือนกันที่มีอยู่ในตัวบทของมัทธิวและลูกาเท่านั้น แหล่งข้อมูลนี้เรียกกันว่า “Q” (ตัวอักษรแรกของคำว่า Quelle ในภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่าแหล่งข้อมูลนั่นเอง) จาก Q ทั้งมัทธิวและลูกาคัดลอก “พระดำรัส” หรือคำปรา-ศรัยของพระเยซูเจ้า (“Logia”) ซึ่งในมาระโกเกือบจะไม่มีบันทึกไว้เลย ทฤษฎีนี้เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย แต่อาจแก้ปัญหาได้ไม่ทั้งหมด พระวรสารมาระโกในรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน และ Q ดังที่นักวิชาการสันนิษฐานไม่เพียงพอที่จะอธิบายปัญหาทุกข้อที่ผู้เสนออ้างว่าอธิบายได้

          เป็นความจริงที่ว่า โดยทั่วไปมาระโกน่าจะ แสดงความคิดและใช้สำนวนเก่ากว่ามัทธิวและลูกา แต่บางกรณีอาจตรงกันข้าม บางครั้งมาระโกเผยให้เห็นลักษณะที่ชวนให้คิดว่าได้เขียนขึ้นในระยะหลัง เช่นใช้สำนวนและแนวคิดของเปาโล และปรับข้อความให้ผู้อ่านชาวกรีก-โรมันเข้าใจได้ง่ายๆ ขณะที่มัทธิวและลูกายังคงรักษาสำนวนเก่าไว้ เช่นสำนวนเซมิติกและรายละเอียดที่มาจากแวดวงชาวปาเลสไตน์ เป็นต้น มีผู้เสนอว่ามัทธิวและลูกาใช้พระวรสารมาระโกฉบับที่ยังไม่ได้พัฒนาดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน

          เหตุผลอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวคือ มัทธิวและลูกามีข้อความเหมือนกันบางแห่งซึ่งไม่ตรงกับมาระโก แสดงว่าพระวรสารทั้งสองไม่ได้ใช้มาระโก ดังที่เรามีข้อความที่เหมือนกันนี้พบได้หลายครั้งและเหมือนกันอย่างน่าประหลาด มีผู้พยายามอธิบายเรื่องนี้โดยยังคงรักษาทฤษฎีสองแหล่งข้อมูลไว้ เขาคิดว่าข้อความที่เหมือนกันเกิดจากการที่ผู้คัดลอกสำเนาโบราณปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกัน หรือคิดว่าผู้นิพนธ์พระวรสารแก้ไขข้อความเหล่านี้ที่คัดลอกมาจากพระวรสารของมาระโก เพราะเห็นว่ายังดีไม่พอ คำอธิบายเช่นนี้อาจเป็นที่ยอมรับได้ในบางกรณี แต่ไม่เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทั้งหมด สรุปแล้ว คำอธิบายตอนต้นน่าจะดีกว่า คือ คำอธิบายที่ว่ามัทธิวและลูการู้จักและใช้พระวรสารของมาระโกฉบับดั้งเดิม พระวรสารมาระโกดังที่มีในปัจจุบันนี้เป็นฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขหลังจากที่มัทธิวและลูกาคัดลอกไปแล้ว คำอธิบายเช่นนี้ทำให้เราเข้าใจว่า เหตุใดข้อความบางตอนของมาระโกจึงน่าจะเขียนขึ้นภายหลัง

          สมมติฐานว่ามีแหล่งข้อมูล Q ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างน่าพอใจเช่นเดียวกัน อย่างน้อยในรูปแบบที่เสนอกันโดยทั่วไป นักวิชาการหลายท่าน พยายามสร้างเอกสารดังกล่าวขึ้น แต่ผลที่ได้มีรูปแบบแตกต่างกันมากจนยากที่จะกำหนดให้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย แม้ความคิดที่ว่ามีแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียวก็ยังมีผู้โต้แย้ง อันที่จริง คำกล่าวที่อ้างว่ามาจาก Q นี้ พบได้ในมัทธิวและลูกาในแบบที่ชวนให้คิดว่า คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลสองแหล่ง มิใช่แหล่งเดียว เพราะในตอนกลางพระวรสารของลูกามีคำกล่าวกลุ่มหนึ่ง (ที่มักเรียกกันว่า ตอน “เปเรอา”) (ลก 9:51-18:14) ซึ่งแตกต่างไปจากคำกล่าวอื่นๆ ในพระวรสารนี้ แม้ว่าคำกล่าวของลูกาทั้งสองกลุ่มจะมีอยู่เช่นกันในมัทธิว แต่คำกล่าวที่ลูกามิได้รวมไว้ด้วยกันก็พบได้ในมัทธิว กระจายตามลำดับเดียวกัน ส่วนคำกล่าวที่ลูการวมไว้ด้วยกัน (ลก 9:51-18:14) นั้นพบได้กระจายอยู่ทั่วไปในมัทธิว ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามัทธิวและลูกาคัดลอกคำกล่าวจากแหล่งข้อมูลสองแหล่ง ได้แก่ (1) ข้อมูลรวมซึ่งบางคนเรียกว่า S (อักษรตัวหน้าของคำว่า Source) ที่ลูกาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่ของตอนที่เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เปเรอา ส่วนมัทธิวแยกคำกล่าวต่างๆ แทรกไว้ในการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า และ (2) พระวรสารของมัทธิวฉบับดั้งเดิม

           อาจจำเป็นจะต้องตั้งสมมติฐานว่า ทั้งพระวรสารของมัทธิวและของลูกาต้องมีฉบับดั้งเดิมที่แตกต่างไปจากฉบับที่เรามีอยู่ในปัจจุบันดังที่ได้สันนิษ-ฐาน สำหรับมาระโกแล้ว การวิเคราะห์ซึ่งไม่อาจนำ มากล่าวที่นี่ได้เสนอขั้นตอนการเขียนพระวรสารว่ามีสามขั้นตอน อย่างน้อยสำหรับมาระโกและมัทธิวคือ (1) เอกสารดั้งเดิม (2) ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งแรก และ (3) ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นฉบับที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ มีการคัดลอกซึ่งกันและกัน ทำให้มีข้อความที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังที่เราพบได้ในพระวรสารที่มีในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงแก้ไขครั้งแรกของมาระโกคงจะได้รับอิทธิพลจากเอกสารดั้งเดิมของมัทธิว แต่พระวรสารของมาระโกฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งแรกนี้คงมีอิทธิพลต่อมัทธิวฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้าย อิทธิพลที่สานเกี่ยวโยงกันไปมานี้ แม้จะดูว่าค่อนข้างซับซ้อน ก็เป็นคำอธิบายอย่างเดียวที่อาจแก้ปัญหาอันซับซ้อนนี้ได้ การอ้างว่ามีวิธีแก้ปัญหา “สหทรรศน์” นี้ได้อย่างง่ายๆ เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น

           เราอาจบรรยายขั้นตอนต่างๆ ในการเขียนพระวรสารสามฉบับแรก แม้ว่านักวิชาการยังมีความเห็นแตกต่างกันมากในรายละเอียดก็ตาม สมมติฐานที่เสนอ ณ ที่นี้เป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผลแบบหนึ่ง

           สาระสำคัญของการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกคงจะได้แก่ kerygma (การประกาศข่าวดี) ซึ่งประกาศว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เป็นการไถ่กู้มนุษยชาติ คำปราศรัยของเปโตรในหนังสือกิจการอัครสาวกแสดงให้เราเห็นเนื้อหาโดยย่อของการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวก ซึ่งในทางปฏิบัติคงจะรวมเรื่องเล่าที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องพระทรมานซึ่งคงจะมีรูปแบบการเล่าตายตัวแล้วตั้งแต่สมัยแรก ดังจะเห็นได้จากเรื่องพระทรมานในพระวรสารทั้งสี่ซึ่งมีรายละเอียดใกล้เคียงกันมาก นอกจากเรื่องพระทรมานแล้ว ยังมีเรื่องเล่าหลายเรื่องจากพระชนมชีพของพระอาจารย์ ที่แสดงให้เห็นบุคลิกภาพ พันธกิจและพระอานุภาพของพระองค์ หรือมิฉะนั้นก็อธิบายคำสอนของพระองค์โดยเล่าเหตุการณ์ พระวาจา อัศจรรย์ คำประกาศ หรือคำ อุปมา ฯลฯ ที่จดจำกันได้ นอกจากบรรดาอัครสาวกแล้ว ยังมีนักเล่าเรื่องอาชีพ เช่นผู้ประกาศข่าวดี (หมายถึง ผู้ที่มีพระพรพิเศษไม่จำกัดเพียงผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่เท่านั้น ดู กจ 21:8; อฟ 4:11; 2 ทธ 4:5) บุคคลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องราวตามรูปแบบตายตัวซ้ำๆ กัน ต่อมาไม่นานนัก พยานรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงเริ่มลดจำนวนลง มีผู้พยายามบันทึกธรรมประเพณีที่เล่ากันปากต่อปากนี้ลงเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องราวซึ่งแต่ก่อนเคยเล่าไว้แยกจากกันและเป็นเอกเทศ คงถูกนำมารวมไว้ด้วยกันตามลำดับเวลา (ตัวอย่าง มก 1:16-39 วันหนึ่งที่เมืองคาเปอรนาอุม) หรือตามเหตุผลต่อเนื่องกันของสาระ (ตัวอย่างเช่น มก 2:1-3:6 ข้อโต้แย้งห้าเรื่อง) เมื่อเริ่มแรก เรื่องราวที่ถูกนำมารวมกันคงเป็นชุดเล็กๆ แล้วต่อมาจึงขยายกลายเป็นเรื่องราวชุดใหญ่ขึ้น ในขั้นตอนนี้เอง “ผู้นิพนธ์” คนหนึ่งเข้ามามีบทบาท คือ มัท-ธิวอัครสาวกตามที่เรารู้จากธรรมประเพณีนั่นเอง มัทธิวเป็นคนแรกที่เขียน “พระวรสาร” รวบรวมพระราชกิจและพระวาจาของพระคริสตเจ้าเป็นเรื่องเล่าต่อเนื่องที่รวมเหตุการณ์ในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่ทรงรับพิธีล้างจนถึงวันกลับคืนพระชนม-ชีพ หลังจากนั้นไม่นาน ยังมี “หนังสือรวบรวมพระวาจา” ที่เรียกว่า “S” ไม่ปรากฏชื่อผู้รวบรวมเกิดขึ้นควบคู่กับพระวรสารฉบับแรกนี้ มีจุดประสงค์เพื่อรักษาพระดำรัสอื่นๆ ของพระเยซูเจ้าที่ไม่มีบันทึกไว้ในพระวรสาร หรือพระดำรัสที่มีบันทึกไว้แต่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน พระวรสารฉบับแรกนี้และหนังสือรวบรวมพระวาจาดังกล่าวเขียนเป็นภาษาอาราเมอิก และต่อมาไม่นานจึงแปลเป็นภาษากรีก และคง ได้มีคำแปลเอกสารเหล่านี้ในหลายรูปแบบ

            ความจำเป็นต้องปรับเอกสารทั้งสองฉบับนี้ให้คริสตชนที่เคยเป็นคนต่างศาสนาเข้าใจได้ น่าจะทำให้พระวรสารฉบับแรกของมัทธิวนี้ได้รับรูปแบบใหม่ และรูปแบบใหม่นี้เป็นเอกสารพื้นฐานของธรรมประเพณีของมาระโก นอกจากสองรูปแบบพระวรสารที่มาจากมัทธิวฉบับดั้งเดิม และ “หนังสือรวบรวมพระวาจา S” แล้ว ในขั้นตอนนี้ยังมีพระวรสารเก่าแก่อีกฉบับหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งที่มาของเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพในพระวรสารของลูกาและยอห์น ดังนี้เราจึงมีเอกสารพื้นฐานสี่ฉบับในตอนแรกของสามขั้นตอนในการเขียนพระวรสารดังที่เสนอไว้

           ในขั้นตอนที่สอง มีผู้นำเอกสารเหล่านี้มาผสมผสานกันในรูปแบบต่างๆ ธรรมประเพณีของมาระโกซึ่งเป็นการปรับปรุงพระวรสารดั้งเดิมของมัทธิว สำหรับคริสตชนที่เคยเป็นคนต่างศาสนามาแล้วแบบหนึ่ง ก็ได้รับการแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่พระวรสารของมาระโกฉบับนี้ยังไม่ใช่ฉบับสุดท้ายดังที่เรามีในปัจจุบัน พระวรสารของมาระโกในขั้นที่สองนี้ เป็นฉบับที่ผู้เรียบเรียงพระวรสารมัทธิวและลูกา ฉบับปัจจุบันรู้จักและนำมาใช้ ส่วนธรรมประเพณีของมัทธิวในขั้นที่สองก็รวมมัทธิวฉบับดั้งเดิมกับหนังสือรวบรวมพระวาจา S เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดพระวรสารของมัทธิวฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่

           ผู้เรียบเรียงพระวรสารมัทธิวในขั้นตอนที่สองนี้ทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน แบ่งพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่รวบรวมไว้เป็นชุดๆ ใน S มาแจกจ่ายแยกกันในพระวรสารและดังนี้ได้เรียบเรียงเป็นคำเทศนาชุดใหญ่ 5 ชุด หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เรียบเรียงพระวรสารของลูกาก็เริ่มงาน เขาค้นคว้าแสวงหาข้อเขียนต่างๆ ที่มีบันทึกไว้ก่อนหน้านั้นอย่างละเอียด (ลก 1:1-4) พระวรสารของลูกาในขั้นตอนแรกซึ่งอาจเรียกว่า “ปฐมลูกา” รวมพระวรสารของมาระโก ฉบับดั้งเดิมและพระวรสารของมัทธิวฉบับปรับปรุงแก้ไขซึ่งรวมหนังสือรวบรวมพระวาจา S อยู่แล้ว ลูกายังรู้จักเอกสาร S นี้ด้วย จึงเลือกที่จะนำพระดำรัสนี้ทั้งชุดมาแทรกไว้ในตอนกลางของพระวรสารของตน แทนที่จะแบ่งแยกพระดำรัสเหล่านี้ไว้อย่างที่มัทธิวได้ทำ ในที่สุด ลูกาใช้เอกสารเก่าที่พระวรสารฉบับที่สี่ได้ใช้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพ เอกสารเก่าฉบับนี้อธิบายได้ว่าทำไมรายละเอียดของลูกาจึงเหมือนกับของยอห์นมากกว่าจะเหมือนกับมัทธิวและมาระโก ส่วนนี้ของพระวรสารปฐมลูกาไม่แสดงให้เห็นว่ารู้จักมาระโก แม้ในรูปแบบขั้นตอนที่สองนี้ด้วย ในภายหลังเท่านั้นที่ลูกาใช้มาระโกฉบับนี้ เพื่อต่อเติมพระวรสารของตนให้ สมบูรณ์ แต่การทำเช่นนี้เป็นขั้นตอนที่สาม

          ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ พระวรสารของมัทธิวในขั้นตอนที่สองถูกเรียบเรียงใหม่ทั้งหมด อาศัยเนื้อหาจากพระวรสารของมาระโกฉบับปรับปรุง (ขั้นตอนที่สอง) เข้ามาช่วยด้วย พระวรสารมาระโกฉบับนี้ยังไม่ใช่ฉบับที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแบบที่เรารู้จักในปัจจุบัน พระวรสารของมาระโกได้รับการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่งโดยสลับข้อความจากพระวรสารของมัทธิวฉบับปรับปรุงในขั้นตอนที่สอง และบางที ยังใช้ข้อความจาก “ปฐมลูกา” และจากเปาโลอีกด้วย ส่วนพระวรสารของลูกาก็ปรับปรุงครั้งสุดท้ายโดยใช้มาระโกฉบับปรับปรุงขั้นตอนที่สองเช่นเดียวกับที่มัทธิวทำไว้ ในขั้นตอนแรกของการเรียบเรียง (ปฐม ลูกา) มีข้อความจากมาระโกสามตอน (4:31-6:19; 8:4-9:50; 18:15-21:38) แทรกอยู่แล้ว การแทรกข้อความทั้งสามตอนนี้คงเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกาใช้ข้อ ความจากมัทธิวและ S แทรกในพระวรสารของตนแล้ว เพราะในระยะต่อมาเขาตัดเรื่องที่ซ้ำกันนี้จากมัทธิวและ S ออกไป น่าสังเกตอีกว่าลูกาใช้แหล่งข้อมูลเฉพาะที่เขาค้นคว้าอย่างละเอียด (1:3) มากกว่าที่มัทธิวได้ทำจากแหล่งข้อมูลพิเศษ ลูกาได้รับเรื่องราวเกี่ยวกับปฐมวัยของพระเยซูเจ้า และเรื่องราวน่าประทับใจอีกหลายเรื่องซึ่งทำให้พระวรสารของตนเพิ่มเติมพระวรสารของมัทธิวและมาระโกให้สมบูรณ์ขึ้น (เช่น เรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี เรื่อง มารธาและมารีย์ เรื่องลูกล้างผลาญ เรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี)

         3. กระบวนการเรียบเรียงที่กล่าวมานี้คำนึงถึงและใช้ข้อมูลหลักจากธรรมประเพณี แล้วเพิ่มเติมรายละเอียดลงไป การอธิบายเช่นนี้ก็ยังไม่อาจกำหนดวันเดือนปี ที่แน่นอนที่พระวรสารสหทรรศน์แต่ละฉบับได้เขียนขึ้น เราคาดคะเนได้ว่า ธรรม-ประเพณีที่เล่าปากต่อปากค่อยๆ พัฒนาขึ้น จนพระวรสารฉบับดั้งเดิมของมัทธิวและหนังสือรวบรวม พระวาจา S นั้นน่าจะเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ.40 ถึง 50 การกำหนดวันเวลาเร็วเช่นนี้คงแน่นอนถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าจดหมายของเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกาซึ่งเขียนขึ้นประมาณ ปี 51-52 ใช้คำปราศรัยของพระเยซูเจ้าเรื่องอวสานกาลตามที่บันทึกไว้ในพระวรสารดั้งเดิมของมัทธิว ถ้ามาระโกเขียนพระวรสารราวปลายชีวิตของเปโตร (ดังที่เคลเมนต์แห่งอาล็กซานเดรียยืนยัน) หรือไม่นานหลังจากความตายของเป-โตร (ดังที่อีเรเนอัสยืนยัน) พระวรสารของเขาน่าจะ เขียนในราวปี ค.ศ.64 หรือก่อนปี ค.ศ.70 เพราะไม่ปรากฏจากพระวรสารฉบับนี้ว่ากรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายแล้ว พระวรสารฉบับภาษากรีกของมัทธิวและของลูกาเขียนขึ้นภายหลังมาระโก แต่ยากที่จะ กำหนดวันเวลาให้ชัดลงไปได้ หนังสือกิจการอัคร-สาวกสมมติว่าลูกาเขียนพระวรสารแล้ว (กจ 1:1) แต่เราไม่รู้ว่าหนังสือกิจการฯเขียนขึ้นเมื่อไร จึงนำมาใช้ในการกำหนดเวลาเขียนพระวรสารไม่ได้ เป็นความจริงว่า ทั้งมัทธิวฉบับภาษากรีกและลูกาไม่บอกชัดว่ากรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายแล้ว (แม้แต่ ลก 19:42-44; 21:20-24 ซึ่งใช้สูตรตายตัวจากหนังสือประกาศกบรรยายเหตุการณ์ซึ่งคาดคะเนได้ไม่ยากนัก) แต่ข้อมูลดังกล่าวยังใช้กำหนดแน่นอนลงไปไม่ได้ ถ้า มัทธิวและลูกาต่างไม่รู้เรื่องการทำลายกรุงเยรูซาเล็มก็หมายความว่ามัทธิวและลูกาน่าจะเขียนก่อนปี ค.ศ.70 แต่ถ้าทั้งสองท่านจงใจที่จะรักษาลักษณะโบราณของข้อความที่คัดลอกมา พระวรสารทั้งสองฉบับน่าจะเขียนขึ้นหลังจากที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายแล้ว คือประมาณปี ค.ศ.80

          การที่พระวรสารมีขั้นตอนเรียบเรียงจากเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอัครสาวกทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้พระวรสารสหทรรศน์มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และยังช่วยให้เข้าใจลักษณะพิเศษของคุณค่าทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวอีกด้วย โดยเหตุที่ พระวรสารมีต้นกำเนิดมาจากการเทศน์สอนปากต่อปาก ซึ่งย้อนกลับไปถึงสมัยแรกของกลุ่มคริสตชนผู้เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ จึงเป็นหลักประกันได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทั้งบรรดาอัครสาวกผู้เทศน์สอนข่าวดีคนอื่นๆ และผู้เล่าเรื่องพระวรสาร ต่างไม่เคยคิดที่จะเขียนหรือสอนประวัติศาสตร์ตามความหมายทางวิชาการในปัจจุบัน เขาสนใจเพียงการแพร่ธรรมและอธิบายความเชื่อ เขาเทศน์สอนเพื่อให้คนกลับใจและประพฤติดีเพื่อทำให้ผู้ฟังมีความเชื่อ เพื่ออธิบายและป้องกันความเชื่อจากผู้โต้แย้ง เพื่อจุดประสงค์นี้ เขาจึงอ้างถึงพยานหลักฐานที่แน่นอนตรวจสอบได้ เพื่อจะอ้างเช่นนี้เขาจำเป็นต้องมีความจริงใจและพยายามที่จะไม่ให้โอกาสฝ่ายตรงข้ามโต้แย้งได้ ผู้เรียบเรียงพระวรสารขั้นตอนสุดท้าย รวบรวมหลักฐานและนำมาเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่างต้องการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและมีความเคารพแหล่งข้อมูลที่ใช้ ดังจะเห็นได้ชัดจากลักษณะโบราณและเรียบง่ายของข้อความที่เขียนไว้ การเขียนพระวรสารนี้ ยังไม่มีการพัฒนาความคิดทางเทววิทยาดังที่พบได้ในทศวรรษต่อๆ มา (เช่นในข้อเขียนของเปาโล) และยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีร่องรอยของตำนานพิสดารใดๆ ดังที่เห็นได้บ่อยๆ ในพระวรสารนอกสารบบ พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับอาจจะไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์ แต่ทั้งสามฉบับมุ่งจะให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

          ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า แต่ละเหตุ-การณ์หรือคำปราศรัยซึ่งมีบันทึกอยู่จะตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายละเอียดทุกประการ โดยทั่วไปไม่มีใครคาดว่าการให้การเป็นพยานและการถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้รายละเอียดอย่างแม่นยำทุกประการ ได้มีตัวอย่างเห็นได้ชัดในพระวรสารเอง ที่บันทึกเหตุการณ์หรือคำปราศรัยเดียวกันไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ความแตกต่างเช่นนี้พบได้ไม่เพียงแต่ในการเล่าเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังพบได้ในการจัดลำดับเรื่องราวต่างๆ อีกด้วย พระวรสารแต่ละฉบับจัดลำดับเหตุการณ์เป็นของตนโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องผิดปกติถ้าคำนึงถึงขั้นตอนการเรียบเรียงที่ซับซ้อนของพระวรสาร เรื่องต่างๆ ในพระวรสารแต่แรกเป็นเรื่องที่เล่าแยกกัน ต่อมาได้รวมเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มๆ และนำมารวมหรือแยกจากกันอีกในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาใกล้เคียงกันหรือมีความต่อเนื่องด้านเหตุผลตามลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น เหตุการณ์หรือพระดำรัสหลายประการที่มีเล่าอยู่ในพระวรสาร จึงไม่อยู่ในเวลาและสถานที่เดิมดังที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจความหมายของสันธานวลี เช่น “ต่อมา” “หลังจากนี้” “ในวันนั้น” “ในเวลานั้น” ฯลฯ ตรงตามตัวอักษรไม่ได้

         4. กระบวนการเรียบเรียงพระวรสารนี้เกิดขึ้นโดยมีพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำ พระจิตเจ้าทรงแนะนำ กลุ่มคริสตชน และโฆษกของกลุ่มให้เก็บรักษา คัดเลือกและจัดลำดับเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ผู้นิพนธ์พระวรสารเป็นผู้เขียนอย่างแท้จริง และพระจิตเจ้าทรงแนะนำเขาในการเขียน มิใช่เข้ามาแทนที่ความสามารถทางเทววิทยาและทางวรรณกรรมของเขาเหล่านี้ แต่ตรงกันข้ามทรงเสริมสมรรถภาพเหล่านี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้แต่ละคนเน้นแง่มุมต่างๆ ของธรรมประเพณีอันหลากหลายเกี่ยวกับข่าวดีของพระเยซูเจ้า

5. พระวรสารของมาระโก

5. พระวรสารของมาระโก

         โครงสร้างพระวรสารที่มาระโกใช้มีความซับซ้อนน้อยที่สุดในบรรดาพระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับ อารัมภบท (1:1-13) ประกอบด้วยเรื่องการเทศน์สอนของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง รวมกับเรื่องพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างและถูกผจญ แล้วถึงช่วงเวลาภารกิจของพระคริสตเจ้าที่กล่าวกันว่าเกิดขึ้นในแคว้นกาลิลี (1:14 -7:23) ต่อจากนั้นเป็นการเดินทางของพระเยซูเจ้าและบรรดาอัครสาวกไปยังบริเวณเมืองไทระและไซดอน เดคาโปลิสหรือทศบุรี บริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิป และกลับมายังแคว้นกาลิลีอีกครั้งหนึ่ง (7:24-9:50) เหตุการณ์ต่อมาคือการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ และการเดินทางครั้งสุดท้ายผ่านแคว้นเปเรอาและเมืองเยรีโคไปกรุงเยรูซาเล็ม สถานที่ที่ทรงรับทรมานและทรงกลับคืนพระชนมชีพ (10:1-16:8) ลำดับเหตุการณ์บางประการอาจตรงกับที่เกิดขึ้นจริง แต่โครงสร้างทั้งหมดนี้คงจะเป็นการสร้างของมาระโก เพราะพระเยซูเจ้าน่าจะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มหลายครั้งดังที่พระวรสารของยอห์น ทำให้เราแน่ใจยิ่งขึ้น ถึงกระนั้น โครงสร้างนี้มีความสำคัญ ทำให้เราเห็นการพัฒนาที่สำคัญ ทั้งในด้านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความหมายทางเทววิทยาของเหตุการณ์เหล่านั้น ประชาชนทั่วไปต้อนรับพระเยซูเจ้าอย่างดีในตอนแรก แต่ความกระตือรือร้นของเขาจางหายไปเมื่อเขาเข้าใจว่า พระองค์ทรงมีความคิดเรื่องพระเมสสิยาห์ผู้อ่อนโยน ซึ่งมิได้เสด็จมาสร้างอาณาจักรในโลกนี้ ทำให้เขาผิดหวัง พระเยซูเจ้าจึงเสด็จออกจากแคว้นกาลิลี ใช้เวลาสั่งสอนผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์กลุ่มเล็กๆ และคำประกาศยืนยันความเชื่อที่เมืองซีซารียาแห่งฟีลิป ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความเชื่อในพระองค์แล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้พระชนมชีพของพระเยซูเจ้าต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด หลังจากนั้น กรุงเยรูซาเล็มจะกลับเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์ทั้งหลาย การต่อต้านพระองค์จะเข้มข้นยิ่งขึ้นที่นั่น จนจบลงในการรับทรมานและ ชัยชนะเด็ดขาดเมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ

          ข้อเท็จจริงที่น่าจะขัดแย้งกันนี้เป็นสาระสำคัญของพระวรสารฉบับนี้ นั่นคือการที่พระเยซูเจ้าทรงเป็นทูตผู้ทรงชัยของพระเจ้า ทั้งๆ ที่มนุษย์เข้าใจผิดและไม่ยอมรับพระองค์ พระวรสารฉบับนี้ไม่สนใจที่จะเรียบเรียงคำสอนของพระอาจารย์มากนัก จึงบันทึกพระดำรัสเพียงไม่กี่ข้อ ประเด็นสำคัญของคำสอนแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ผู้ถูกตรึงกางเขน ด้านหนึ่งพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ดังที่พระบิดาทรงยืนยัน (1:11; 9:7) ปีศาจ (1:24; 3:11; 5:7) และแม้กระทั่งมนุษย์ก็ยืนยันด้วย (15:39) พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ซึ่งทรงอ้างว่าทรงเป็นพระเจ้า (14: 62) ทรงมีฐานะสูงกว่าทูตสวรรค์ (13:32) ทรงเป็นผู้อภัยบาปมนุษย์ (2:10) ทรงทำอัศจรรย์ (1:31; 4:41 ฯลฯ) และทรงขับไล่ปีศาจ (1:27; 3:23) เพื่อทรงพิสูจน์พระอานุภาพและพระภารกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง พระวรสารฉบับนี้ยังเน้นว่าพระองค์คล้ายกับจะทรงประสบความล้มเหลวจากประชาชน หลายคนสบประมาทหรือปฏิเสธพระองค์ (5:40; 6:2) ผู้นำทางศาสนาต่อต้าน (2:1-3:6) แม้กระทั่งบรรดาศิษย์ก็ไม่เข้าใจพระองค์ (4:13 เชิงอรรถ b) การต่อต้านทั้งหมดนี้ ในที่สุดทำให้พระองค์ต้องรับทรมานอย่างน่าอับอายบนไม้กางเขน พระวรสารฉบับนี้ต้องการอธิบายความหมายของการสะดุดและการปฏิเสธนี้ พระวรสารอธิบายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่โดยทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างไม้กางเขนกับชัยชนะที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์เท่านั้น แต่ยังแสดงว่าการต่อต้านนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการอันลึกลับของพระเจ้าอีกด้วย จำเป็นที่พระคริสตเจ้าจะต้องรับทรมานและดังนี้จะทรงไถ่กู้มนุษยชาติ (10:45; 14:24) เพราะพระคัมภีร์กล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว (9:12; 14:21, 49) พระเยซูเจ้าทรงแสดงวิถีทางแห่งความถ่อมตนและนอบน้อมทั้งสำหรับพระองค์ (8:31; 9:31; 10:33) และสำหรับผู้ติดตาม (8:34; 9:35; 10:15, 24, 29, 39; 13:9-13) แต่ชาวยิวซึ่งรอคอยพระเมสสิยาห์ นักรบผู้พิชิต รู้สึกผิดหวังในพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงกำชับมิให้ใครพูดถึงอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ (5:43) และมิให้กล่าวว่าพระองค์เป็นใคร (7:24; 9:30) เพื่อหลีกเลี่ยงความกระตือรือร้นที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเรียกตนเองว่าพระเมสสิยาห์ (8:29) แต่ทรงใช้พระนามที่ต่ำต้อยและลึกลับว่าบุตรแห่งมนุษย์” (2:10 เทียบ มธ 8:20 เชิงอรรถ h) การที่ทรงระมัดระวังเช่นนี้เรียกได้ว่าความลับเรื่องพระเมสสิยาห์” (1:34 เชิงอรรถ m) และเป็นความคิดหลักในพระวรสารของมาระโกความลับเรื่องพระเมสสิยาห์ที่ว่านี้มิใช่เรื่องที่มาระโกคิดขึ้นเอง แต่น่าจะสอดคล้องกับเหตุการณ์จริงๆ เบื้องหลังพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าผู้ทรงรับทรมาน มาระโกจะเข้าใจความหมายของพระทรมานนี้โดยแสงสว่างของความเชื่อซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์จากเหตุการณ์ในวันปัสกาและจะถ่ายทอดความเข้าใจนี้ให้แก่เราในพระวรสาร

6. พระวรสารของมัทธิว

6. พระวรสารของมัทธิว

           มัทธิวแสดงความเชื่อและเล่าเรื่องพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในโครงสร้างคล้ายๆ กับพระวรสารของมาระโก แต่เน้นแนวความคิดต่างกัน ในแผนของพระวรสารไม่เหมือนกันและซับซ้อนกว่า พระวรสารของมัทธิวแบ่งเป็นห้าภาค แต่ละภาคประกอบด้วยคำปราศรัยของพระคริสตเจ้า โดยเล่าเหตุการณ์เป็นการเตรียมคำปราศรัย เรื่องราวห้าภาคนี้รวมกับเรื่องปฐมวัยและเรื่องพระทรมานจึงเป็นหนังสือฉบับเดียว ซึ่งมีเจ็ดภาคประกอบกันอย่างดี เป็นไปได้ที่การเรียบเรียงเช่นนี้ซึ่งชัดเจนมากได้มีแล้วในฉบับดั้งเดิมภาษาอาราเมอิก อย่างไรก็ตาม ในฉบับปัจจุบันภาษากรีก การเรียบเรียงเรื่องเช่นนี้เห็นได้ชัดเจน มัทธิวใช้แหล่งข้อมูลตามสบายเพื่อเรียบเรียงพระวรสารตามแนวความคิดที่วางไว้แล้วเป็นอย่างดี เนื่องจากว่าพระวรสารฉบับนี้บันทึกคำสอนของพระคริสตเจ้าสมบูรณ์กว่าพระวรสารของมาระโก และเน้นโดยเฉพาะความคิดหลักเรื่องอาณาจักรสวรรค์ (4:17 เชิงอรรถ f) พระวรสารฉบับนี้จึงเป็นเหมือนบทละครเรื่องการมาถึงของอาณาจักรสวรรค์ แบ่งออกเป็น 7 องก์ดังต่อไปนี้

          (1) การเตรียมพระอาณาจักรในพระบุคคลของพระเมสสิยาห์ กุมาร (บทที่ 1- 2)

          (2) การประกาศกฎบัตรของพระอาณาจักร อย่างเป็นทางการแก่บรรดาศิษย์และสาธารณชน นั่นคือธรรมเทศนาบนภูเขา (บทที่ 5-8)

          (3) การเทศน์ประกาศถึงพระอาณาจักรโดยบรรดาธรรมทูตซึ่งมีอัศจรรย์เป็นเครื่องหมายรับรองคำเทศน์สอน เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงกระทำ พระองค์ทรงสั่งสอนพร้อมกับทรงมอบอำนาจให้บรรดาธรรมทูตกระทำอัศจรรย์ได้ด้วย (บทที่ 8-10)

          (4) อุปสรรคซึ่งพระอาณาจักรต้องเผชิญ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้าที่ว่าพระอาณาจักรจะมาถึงอย่างเงียบๆ ไม่เอิกเกริก ดังที่พระเยซูเจ้าทรงอธิบายโดยใช้เรื่องอุปมา (11:1-13:52)

          (5) พระอาณาจักรเริ่มต้นจากบรรดาศิษย์กลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีเปโตรเป็นหัวหน้า มีกฎสำหรับพระศาสนจักรที่จะต้องพัฒนาต่อไป มีกล่าวไว้ในคำแนะ-นำสำหรับกลุ่มคริสตชนในตอนสุดท้าย (13:53-18:35)

          (6) วิกฤตการณ์ของพระอาณาจักรที่เกิดขึ้นเมื่อผู้นำชาวยิวแสดงตนเป็นศัตรูต่อพระคริสตเจ้ามากยิ่งขึ้น เป็นการเตรียมทางสำหรับพระอาณาจักรที่จะมาถึงอย่างถาวร วิกฤตการณ์นี้ยังเป็นหัวข้อของการเทศน์สอนเรื่องอวสานกาล (บทที่ 19-25)

          (7) การมาถึงของพระอาณาจักร เกิดขึ้นผ่านทางความทุกข์และชัยชนะโดยพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพ (บทที่ 26-28)

              พระอาณาจักรของพระเจ้า (ของ “สวรรค์” ในมัทธิว) เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ซึ่งมารู้จัก รับใช้และรักพระองค์ในที่สุด

              พันธสัญญาเดิมกล่าวถึงและเตรียมพระอาณาจักรนี้แล้ว ดังนั้น มัทธิวซึ่งเขียนพระวรสารสำหรับคริสตชนชาวยิว จึงพยายามพิสูจน์ว่าทุกสิ่งที่กล่าวไว้ในธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก “เป็นความจริง” วลีนี้มีความหมายว่า ความหวังของบรรพบุรุษและบรรดาประกาศกไม่เพียงแต่สำเร็จลงตามที่คาดหวังเท่านั้น แต่ยังบรรลุถึงความสมบูรณ์อีกด้วย มัทธิวประยุกต์ความจริงข้อนี้กับพระบุคคลของพระเยซูเจ้า เขาอ้างข้อความจากพันธสัญญาเดิมเพื่อแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด (1:1-17) ทรงบังเกิดจากพรหมจารี (1:23) ที่เมืองเบธเลเฮม (2:6) ทรงพำนักในอียิปต์ ทรงปฏิบัติภารกิจที่เมืองคาเปอรนาอุม (4:14 -16) เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในฐานะพระเมสสิยาห์ (21: 5,16) มัทธิวยังประยุกต์ความจริงนี้กับพระราชกิจของพระเยซูเจ้าอีกด้วย เขาอ้างข้อความจากพันธสัญญาเดิมเพื่ออธิบายถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนเจ็บป่วย (11:4-5) ในที่สุด มัทธิวยังประยุกต์ความจริงนี้กับคำสอนของพระเยซูเจ้า คำสอนนี้ “ปรับปรุงธรรมบัญญัติให้สมบูรณ์” (5:17) พร้อมกับยกธรรม-บัญญัติให้มีความหมายสูงกว่าเดิมอีกระดับหนึ่ง (5:21-48; 19:3-9, 16-21) มัทธิวยังยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นเดียวกันว่า พระคัมภีร์เป็นความจริงแม้ในความต่ำต้อยของพระเยซูเจ้าและในกิจการที่มนุษย์คิดว่าพระองค์ประสบความล้มเหลว แผนการของพระเจ้ารวมเหตุการณ์ต่อไปนี้ ซึ่งพันธสัญญาเดิมกล่าวไว้ล่วงหน้าคือทารกผู้วิมลถูกประหารชีวิต (2: 17ฯ) พระชนมชีพซึ่งไม่เปิดเผยที่เมืองนาซาเร็ธ (2:23) ความเมตตากรุณาของ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” (12:17-21; เทียบ 8:17; 11:29; 12:7) บรรดาศิษย์จะละทิ้งพระองค์ (26:31) ค่าตอบแทนเล็กน้อยสำหรับการทรยศ (27:9-10) ทรงถูกจับกุม (26:54) ทรงถูกฝังสามวัน (12:40) พันธสัญญาเดิมยังทำนายล่วงหน้าด้วยว่าชาวยิวจะไม่เชื่อ (13:13-15) เพราะเขาดื้อรั้นยึดมั่นในธรรมประเพณีที่มนุษย์ตั้งขึ้น (15:7-9)  พระองค์ทรงเข้าถึงชาวยิวเหล่านี้ได้โดยทางอุปมาเท่านั้น (13:14-15, 35) มัทธิวไม่ใช่ผู้นิพนธ์พระวรสารสหทรรศน์เพียงคนเดียวที่ใช้ข้อความจากพันธสัญญาเดิมอ้างถึงพระคริสตเจ้า แต่เป็นคนที่ใช้มากที่สุด จนเป็นลักษณะเฉพาะของพระวรสารของเขา พระวรสารของมัทธิวเป็นพระวรสารที่มีสำนวนเซมิติกมากที่สุด พระวรสารนี้ไม่เพียงแต่แสดงความสนใจอย่างมากและกล่าวถึงรายละเอียดของประเพณีปฏิบัติของชาวยิวอยู่บ่อยๆ เช่น เรื่องวันสับบาโต เรื่องการเขียนข้อความจากพระคัมภีร์ใส่กลักเล็กๆ คาดไว้ที่ศีรษะและแขน (phylacteries) เรื่องภาษีหนึ่งในสิบและพิธีชำระตัวเท่านั้น แต่ยังใช้เทคนิคของชาวยิวในการอธิบายพระคัมภีร์และวิธีการอื่นๆ ของพวกรับบีในการโต้แย้งอีกด้วย ลักษณะของชาวยิวอีกประการหนึ่งคือ ความห่วงกังวลเรื่องการพิพากษาสุดท้ายและการตอบแทนความดีความชั่ว โดยบรรยายปรากฏการณ์วุ่นวายบนท้องฟ้า ลักษณะความเป็นชาวยิวนี้อธิบายความสนใจของมัทธิวที่จะแสดงว่าบัญญัติใหม่ของพระคริสตเจ้าทำให้บัญญัติเดิมสมบูรณ์และประชากรใหม่ของพระเจ้าเป็นผู้สืบทอดต่อจากอิสราเอลของพันธสัญญาเดิม ซึ่งได้รับเชิญมาร่วมงานเลี้ยงของพระเมสสิยาห์เป็นอันดับแรก แต่ปฏิเสธคำเชื้อเชิญนั้น (23:34 -38 เทียบ 10:5-6, 23; 15:24) มัทธิวยังสนใจเรื่องการที่พันธสัญญาเดิมเป็นความจริงในพระคริสตเจ้า โดยแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นโมเสสคนใหม่อยู่บ่อยๆ พระชนมชีพของพระเยซูเจ้าดำเนินตามรอยชีวิตของโมเสส และทรงเป็นผู้ประทานบัญญัติในพันธสัญญาใหม่ แต่มากกว่านั้น พระเยซูเจ้าทรงความยิ่งใหญ่แม้ในระหว่างที่ทรงพระชนมชีพอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรับการยอมรับว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า (14:33; 16:16; 22:2; 27:40, 43) เช่นเดียวกับทรงเป็นพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด

             ตั้งแต่ทูตสวรรค์แจ้งเรื่องการปฏิสนธิของพระองค์แล้ว เรารู้ว่าพระองค์ คือ “พระเจ้าสถิตกับเรา” อีกมิติหนึ่งของพระวรสารของมัทธิวคือความสนใจเรื่องหมู่คณะ เพราะในคำปราศรัยของพระเยซูเจ้ามีบทหนึ่ง (บทที่ 18) ซึ่งกล่าวถึงพฤติกรรมภายในหมู่คณะโดยเฉพาะ และมัทธิวเน้นความสำคัญของเปโตร ในฐานะที่เป็นศิลาฐานของอิสราเอลใหม่ (16:18) และของบรรดาศิษย์ มัทธิวพยายามงดเว้นไม่กล่าวถึงถ้อยคำรุนแรงที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิพวกเขาตามที่มาระโกเล่า หรืออย่างน้อยพยายามลดความรุนแรงลง

7. พระวรสารของลูกา

7. พระวรสารของลูกา

           คุณสมบัติเด่นของพระวรสารฉบับที่สามเป็นผลมาจากบุคลิกภาพที่น่ารักของผู้แต่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นในงานเขียนของเขาทุกตอน ลูกาเป็นทั้งนักเขียนที่มีความสามารถและเป็นคนที่มีจิตใจละเอียดอ่อนและไวต่อความรู้สึก เขาเขียนพระวรสารตามแนวความคิดของตน พยายามรวบรวมข้อมูลที่แน่นอนอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเล่าอย่างเป็นระเบียบ (1:3) ลูกาเคารพแหล่งข้อมูลและเรียบเรียงเรื่องราวอย่างมีระเบียบก็จริง แต่เขาก็ไม่ได้ดำเนินตามลำดับเวลาก่อนหลัง มัทธิวและมาระโกก็ทำเช่นเดียวกัน ลูกา ดำเนินเรื่องตามลำดับของมาระโกโดยเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย (3:19-20; 4:16-30; 5:1-11; 6:12-19; 22:31-34) บางครั้งลูกา เปลี่ยนแปลงลำดับเพื่อให้เรื่องราวชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น บางครั้งเปลี่ยนแปลงลำดับเพราะอิทธิพลของธรรมประเพณีสายอื่น รวมทั้งธรรมประเพณีสายหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังพระวรสารของยอห์น เรื่องราวอื่นๆ บางเรื่องถูกละไว้ทั้งหมดด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิว (มก 9:11-13) หรือเป็นเพราะว่าลูกาพบอยู่แล้วในหนังสือรวบรวมพระวาจา S (มก 12:28-34; ดู ลก 10:25-28) หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะลูกาคิดว่าจะเป็นการกล่าวซ้ำโดยไม่จำเป็น (ข้อความยืดยาวของ มก 6:45-8:26) ความแตกต่างจากมาระโกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ลูกาสอดแทรกข้อความยืดยาว (ดู 9:51-18:14) ซึ่งเราอธิบายแล้วว่า เป็นการรวมพระดำรัสจากหนังสือรวบรวมพระวาจา S กับข้อมูลอื่นๆ ที่ลูกาพบด้วยตนเอง ข้อความสำคัญตอนกลางนี้ใช้การเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มเป็นกรอบ (เทียบการย้ำข้อความใน มก 10:1 เป็นสามครั้ง ใน ลก 9:51; 13:22; 17:11) โดยแท้จริงข้อความนี้ไม่ใช่การเล่าถึงการเดินทางที่เกิดขึ้นจริงแต่ประการใด แต่เป็นวิธีหนึ่งที่ลูกาใช้เพื่อนำเสนอแนวคิดทางเทววิทยาที่สำคัญของเขา นั่นคือความคิดที่ว่า นครศักดิ์สิทธิ์เป็นเวทีที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าสำหรับเหตุการณ์ที่จะนำความรอดพ้นมาให้ (9:31; 13:33; 18:31; 19:11) เพราะการประกาศข่าวดีแก่โลกจะต้องเริ่มต้นจากกรุงเยรู-ซาเล็ม (24:47; กจ 1:8) พระวรสารของเขาจึงเริ่มต้นที่นั่น (1:5) และพระวรสารของเขาจะจบลงที่นั่นเช่นเดียวกัน (24:52) ลูกาเล่าถึงการสำแดงพระองค์และการสนทนาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพว่าไม่ได้เกิดขึ้นที่แคว้นกาลิลี (ดู 24:13-51 และเทียบ 24:6 กับ มก 16:7; มธ 28:7, 16-20)

             8. ถ้าเราเปรียบเทียบพระวรสารของลูกากับแหล่งข้อมูลทั้งสองของเขา คือ (1) พระวรสารของมาระโก และ (2) แหล่งข้อมูลต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังข้อความในพระวรสารของมัทธิวซึ่งพบได้ในพระวรสารของลูกาด้วย จะเห็นชัดว่าลูกาเอาใจใส่ปรุงแต่งข้อความที่เขาได้รับ เขาเปลี่ยนแปลงข้อความเหล่านี้เพียงเล็กน้อย แต่ทำให้ผลงานของเขามีลักษณะจำเพาะของตนเอง เขาหลีกเลี่ยงการใช้ข้อความที่อาจทำให้ผู้อ่านไม่พอใจ (8:43; เทียบ มก 5:26 ลูกาละ มก 9:43-48; 13:32) หรือข้อความที่คิดว่าผู้อ่านไม่เข้าใจ (ลูกาละ มธ 5:21, 33; มก 15:34 ฯลฯ) เขาละสิ่งที่เป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของบรรดาอัครสาวก (มก 4:13; 8:32; 9:28; 14:50) และแก้ตัวให้ (ลก 9:45; 18:34; 22:45) เขาอธิบายข้อความที่เข้าใจยาก (6:15) และให้ความกระจ่างเกี่ยวกับชื่อสถานที่ (4:31; 19:28, 37; 23:51) ฯลฯ

              ลักษณะที่ประทับใจมากที่สุดของลูกา ประการหนึ่งคือ การบรรยายถึงความอ่อนโยนของพระคริสตเจ้า เขาพยายามเน้นความรักของพระอาจารย์ต่อคนบาป (15:1, 7, 10) บันทึกการที่ทรงให้อภัย (7:36-50; 15:11-32; 19:1-10; 23:34, 39-43) เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างความอ่อนหวานของพระองค์ต่อผู้ต่ำต้อยและคนยากจน กับความเข้มงวดที่ทรงแสดงต่อคนหยิ่งยโสและต่อผู้ที่ใช้ทรัพย์สมบัติของตนอย่างผิดๆ (1:51-53; 6:20-26; 12:13-21; 14:7-11; 16:15, 19-31; 18:9-14) แม้จะทรงมีความเข้มงวดเช่นนี้ คนชั่วร้ายที่สมควรจะถูกลงโทษจึงยังไม่ถูกตัดสินลงโทษจนกว่าเวลาแห่งความเมตตากรุณาจะพ้นไป (13:6-9 เทียบ มก 11:12-14) สิ่งจำเป็นเพียงประการเดียวคือการเป็นทุกข์กลับใจ การปฏิเสธตนเอง และในเรื่องนี้ลูกาซึ่งเป็นคนอ่อนโยนและผ่อนปรน จะไม่ยอมประนีประนอม แต่ยืนยันให้สละตนอย่างเด็ดขาด (14:25-34) โดยเฉพาะต่อการสละทรัพย์สมบัติ (6:34; 12:33; 14:12-14; 16:9-13) ข้อความอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบ เฉพาะในพระวรสารของลูกาคือข้อความเรื่องความจำเป็นที่จะต้องอธิษฐานภาวนา (11:1-8; 18: 1-8) ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเป็นแบบฉบับในเรื่องนี้ (3:21; 5:16; 6:12; 9:28) ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารสหทรรศน์เพียงผู้เดียวที่ให้ความสำคัญแก่พระจิตเจ้าแบบที่เราพบได้ในข้อเขียนของเปาโลและในกิจการอัครสาวก (ลก 1:15, 35, 41, 67; 2:25-27; 4:1,14,18; 10: 21; 11:13; 24:49) คุณสมบัติเหล่านี้รวมกับลักษณะของความชื่นชมยินดีในพระเจ้าและการสำนึกในบุญคุณต่อพระองค์สำหรับพระพรต่างๆ ที่ได้รับ ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระวรสารของลูกา (2:14; 5:26; 10:17; 13:17; 18:43; 19:37; 24:51) และเป็นลักษณะที่ทำให้ผลงานของลูกาประสบความสำเร็จสะท้อนความใจดีและความอ่อนโยนของผู้เขียน

9. ลีลาการเขียน

          ภาษากรีกที่มาระโกใช้ไม่สละสลวย สะท้อนสำนวนภาษาอาราเมอิกและผิดไวยากรณ์บ่อยครั้ง แต่เป็นภาษาพูดที่มีชีวิตชีวาและน่าสนใจ ภาษากรีกของมัทธิวก็สะท้อนสำนวนภาษาอาราเมอิกด้วย แต่น้อยกว่ามาระโก เป็นภาษาเขียนและถูกไวยากรณ์มากกว่า ภาษากรีกของลูกามีลักษณะผสม เมื่อเขียนโดยไม่ใช้แหล่งข้อมูล ภาษากรีกของลูกาเป็นภาษากรีกที่ดีมาก แต่เพราะความเคารพต่อแหล่งข้อมูลที่ใช้ เขาจึงคัดความบกพร่องทางภาษาของแหล่งข้อมูลเหล่านั้นเข้ามาด้วย แม้ได้ขัดเกลาบ้างแล้วก็ตาม บางครั้งลูกาพยายามอย่างมากที่จะเขียนเลียนแบบภาษากรีกของพันธสัญญาเดิม (LXX)

10. ลักษณะการแปลสำนวนนี้

           การแปลครั้งนี้รักษาเอกลักษณ์การเขียนของผู้นิพนธ์พระวรสารสหทรรศน์แต่ละคนไว้ มุ่งจะแสดงรายละเอียดที่เหมือนและที่แตกต่างกัน เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางวรรณกรรมของพระวรสารทั้งสามเท่าที่จะทำได้