“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ทำไมจึงทำให้น้ำมันหอมเสียไปเปล่าๆ”

72. การวางแผนกำจัดพระเยซูเจ้า การเจิมที่เบธานี ยูดาสทรยศต่อพระเยซูเจ้า (มก 14:1-11)
      
14 1สองวันก่อนจะถึงวันปัสกาและเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์คิดหาอุบายจับกุมพระเยซูเจ้า เพื่อจะได้ประหารชีวิตพระองค์ 2เขาพูดกันว่า “อย่าทำในวันฉลองเลย มิฉะนั้น ประชาชนจะก่อการจลาจล”

            3พระองค์ประทับอยู่ที่หมู่บ้านเบธานี ในบ้านของซีโมนที่เคยเป็นโรคเรื้อน ขณะที่กำลังประทับที่โต๊ะอาหาร หญิงคนหนึ่งถือขวดหินขาวบรรจุน้ำมันหอมสมุนไพรบริสุทธิ์ราคาแพงเข้ามา นางทุบขวดหินขาวแตก และเทน้ำมันหอมลงบนพระเศียรของพระองค์ 4บางคนพูดกันอย่างไม่พอใจว่า “ทำไมจึงทำให้น้ำมันหอมเสียไปเปล่าๆ 5น้ำมันหอมนี้อาจจะขายได้เงินมากกว่าสามร้อยเหรียญ แล้วเอาเงินไปให้คนยากจน” เขาเหล่านั้นบ่นว่านาง 6พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ปล่อยนางเถิด ทำให้นางยุ่งยากใจทำไม นางได้ทำกิจการดีต่อเรา 7ท่านจะมีคนยากจนอยู่กับท่านเสมอ ท่านจะทำดีต่อเขาเมื่อไรก็ได้ แต่ท่านจะไม่มีเราอยู่กับท่านเสมอไป 8นางได้ทำสิ่งที่นางทำได้แล้ว นางชโลมกายของเราล่วงหน้าก่อนจะถึงเวลาฝังศพ 9เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ที่ใดในโลกที่มีการประกาศข่าวดี จะมีการกล่าวถึงสิ่งที่นางได้ทำเพื่อเป็นการระลึกถึงนาง”

           10ยูดาส อิสคาริโอท หนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไปพบบรรดาหัวหน้าสมณะเพื่อจะมอบพระเยซูเจ้า 11เมื่อเขาเหล่านั้นได้ยินดังนี้ก็ดีใจและสัญญาจะให้เงินแก่ยูดาส ยูดาสจึงหาโอกาสที่จะมอบพระองค์

a) อธิบายความหมาย
ข้อความตั้งแต่บทที่ 14 จนถึงจบ เป็นภาคสุดท้ายของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เป็นภาคสำคัญที่สุดในพระวรสารเพราะเล่าการรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ภาคทั้งหมดก่อนหน้านี้เป็นเพียงบทนำยืดยาวที่มุ่งไปสู่เหตุการณ์เหล่านี้ ส่วนข้อความที่เรากำลังพิจารณาแบ่งออกเป็น 3 ตอนสั้น ๆ อย่างชัดเจนคือ การวางแผนกำจัดพระเยซูเจ้า (14:1-2) การเจิมที่เบธานี (14:3-9) และยูดาสทรยศต่อพระเยซูเจ้า (14:10-11) เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในวันที่สี่ของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์คือวันพุธ

- สองวันก่อนจะถึงวันปัสกาและเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ วันฉลองปัสกาและเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อมีต้นกำเนิดและความหมายแตกต่างกันทางประวัติศาสตร์ แต่เทศกาลทั้ง 2 นี้ เคยเฉลิมฉลองพร้อม ๆ กันอย่างต่อเนื่อง วันปัสกามีต้นกำเนิดจากอาชีพการเลี้ยงแกะ เฉลิมฉลองในวันขึ้น 15 ค่ำ ของฤดูใบไม้ผลิต ตรงกับวันที่ 15 เดือนนิสันตามปฏิทินของชาวยิว เย็นวันที่ 14 เดือนเดียวกันนี้ แต่ละครอบครัวจะฆ่าและกินลูกแกะเพื่อระลึกถึงทูตสวรรค์ที่ผ่านบ้านของชาวยิว โดยไม่ฆ่าบุตรชายคนแรกของเขาในคืนก่อนปลดปล่อยชาวยิวออกจากแผ่นดินอียิปต์ (อพย 12:1-14, 21-29) จนถึงทุกวันนี้ สำหรับชาวยิววันปัสกาเป็นวันฉลองสำคัญที่สุด ส่วนเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อมีต้นกำเนิดจากอาชีพการเพาะปลูก เฉลิมฉลองโดยกินขนมปังไร้เชื้อเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 15-21 เดือนนิสัน เพื่อระลึกถึงการปลดปล่อยชาวยิวให้พ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ (อพย 12:15-20)

- บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์คิดหาอุบายจับกุมพระเยซูเจ้า เพื่อจะได้ประหารชีวิตพระองค์ ในข้อ 11:18 นักบุญมาระโกได้บอกแล้วว่า บุคคลกลุ่มเดียวกันนี้ “หาช่องทางที่จะกำจัดพระองค์” และในการเล่าเรื่องการรับทรมานของพระเยซูเจ้าก็จะอ้างถึงกลุ่มนี้อีกบ่อย ๆ ว่า เป็นผู้รับผิดชอบต่อการตัดสินลงโทษพระเยซูเจ้าให้ถูกประหารชีวิต แม้กริยาคำว่า “จับกุม” มีความหมายโดยตรงว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เทียบ 14:49) แต่นักบุญมาระโกยังใช้คำนี้บ่อย ๆ ในบทที่เล่าการรับทรมานของพระองค์เพื่อแสดงความคิดว่า ความรักของพระเยซูเจ้าที่มีต่อมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่กว่าความพยายามของผู้ที่ใช้กลอุบายและความรุนแรงเพื่อกำจัดพระองค์

- เขาพูดกันว่า “อย่าทำในวันฉลองเลย มิฉะนั้น ประชาชนจะก่อการจลาจล” บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์คิดอย่างถูกต้องว่า แผนการของเขาอาจทำให้ประชาชนก่อการจลาจล (เทียบ 11:18; 12:12) เพราะวันฉลองปัสกาชาวยิวจำนวนมากเดินทางมาที่กรุงเยรูซาเล็ม และประชาชนชื่นชอบพระองค์ ดังนั้น บรรดาหัวหน้าต้องการหลีกเลี่ยงที่จะจับกุมพระเยซูเจ้าในระหว่างวันฉลอง จึงพยายามหาวิธีด้วยอุบายอื่นอย่างเงียบ ๆ เพื่อวางกับดักพระองค์

- พระองค์ประทับอยู่ที่หมู่บ้านเบธานี ในบ้านของซีโมนที่เคยเป็นโรคเรื้อน นอกจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 14:3-9) และนักบุญมัทธิวแล้ว (มธ 26:6-13) พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 12:1-8) ยังเล่าเรื่องการเจิมที่หมู่บ้านเบธานี นักบุญยอห์นยังบอกอย่างละเอียดอีกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น “หกวันก่อนฉลองปัสกา” คือวันเสาร์ก่อนวันอาทิตย์ใบลานเมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม บางทีนักบุญมาระโกและนักบุญมัทธิวได้เลื่อนเหตุการณ์นี้ให้เกิดขึ้นวันพุธในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะคิดว่ามีความหมายสำคัญและผูกพันกับเรื่องการับทรมานของพระเยซูเจ้า เราไม่รู้ว่า“ซีโมน ที่เคยเป็นโรคเรื้อน” เป็นผู้ใด แต่คงจะเป็นผู้มั่งมีคนหนึ่งที่หายจากโรคเรื้อน

- ขณะที่กำลังประทับที่โต๊ะอาหาร หญิงคนหนึ่งถือขวดหินขาวบรรจุน้ำมันหอมสมุนไพรบริสุทธิ์ราคาแพงเข้ามา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นละเว้นชื่อของเจ้าภาพ แต่บันทึกว่าหญิงผู้นี้คือนางมารีย์น้องสาวของลาซารัสและนางมาร์ธา ซึ่งร่วมอยู่ในงานเลี้ยงด้วย (เทียบ ยน 12:3) ลาซารัสร่วมรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะ ส่วนนางมาร์ธาช่วยเสิร์ฟอาหารให้แขกที่มาร่วมงาน บางครั้ง ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคิดว่าสตรีผู้นี้เป็นคนเดียวกันกับหญิงคนบาปในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (เทียบ ลก 7:37) หรืออาจเป็นคนเดียวกันกับนางมารีย์ชาวมักดาลาที่จะพบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่พระคูหา (เทียบ ยน 20:11-18) “น้ำมันหอมสมุนไพรบริสุทธิ์” สมุนไพรนี้มาจากประเทศอินเดีย มีราคาแพงและมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า nard หนังสือเพลงซาโลมอนอ้างถึงสมุนไพรนี้ใน 4:14 เพราะมีกลิ่นหอมมาก

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก