“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

พระวาจาของพระเจ้าและพระจิตเจ้า

15.      หลังจากได้กล่าวถึงพระวาจาของพระเจ้าที่ทรงส่งมาในโลกนี้ในยุคสุดท้ายอย่างบริบูรณ์แล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงพันธกิจของพระจิตเจ้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระวาจาด้วย เพราะถ้าพระจิตเจ้าผู้บรรเทาไม่ทรงช่วยเหลือแล้ว ก็จะไม่อาจเข้าใจการเปิดเผยในคริสตศาสนาอย่างถูกต้องได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการที่พระเจ้าทรงสื่อสารให้เรารู้จักพระองค์ได้นั้นจำเป็นจะต้องรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบุตรกับพระจิตเจ้าด้วยเสมอ นักบุญอีเรเนอุสแห่งลียงส์กล่าวว่าพระบุตรและพระจิตเจ้าทรงเป็น"พระหัตถ์ทั้งสองของพระบิดา"[1] นอกจากนั้นพระคัมภีร์เองยังสอนเราถึงการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น และโดยเฉพาะในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งทรงปฏิสนธิจากพระนางพรหมจารีมารีย์เดชะพระจิตเจ้า (เทียบ มธ 1:18; ลก 1:35) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศนาสั่งสอนประชาชนที่ฝั่งแม่น้ำจอร์แดน ทรงเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบ (มธ 3:16) พระองค์ทรงปฏิบัติพระภารกิจ ตรัสสอน และทรงปลาบปลื้มพระทัยเดชะพระจิตเจ้านี้ (เทียบ ลก 10:21) ทรงถวายพระองค์เดชะพระจิตเจ้า (เทียบ ฮบ 9:14) นักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารยังเล่าอีกว่า ในวาระสุดท้ายที่ทรงปฏิบัติพระภารกิจ พระเยซูเจ้าทรงสัมพันธ์การมอบพระชนมชีพของพระองค์กับการส่งพระจิตเจ้าแก่บรรดาศิษย์ (เทียบ ยน 16:7) เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้ายังทรงรักษาเครื่องหมายพระทรมานไว้ในพระวรกาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้า (เทียบ ยน 20:22) พร้อมกับโปรดให้บรรดาศิษย์มีส่วนในพันธกิจของพระองค์ (เทียบ ยน 20:21) พระจิตเจ้าจะทรงสอนทุกสิ่งแก่บรรดาศิษย์และจะทรงให้บรรดาศิษย์ระลึกถึงทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าเคยทรงบอกไว้ (เทียบ ยน 14:26) เพราะพระองค์คือพระจิตแห่งความจริง (เทียบ ยน 15:26) จะทรงนำบรรดาศิษย์ไปสู่ความจริงทั้งมวล (เทียบ ยน 16:13) ในที่สุด เราอ่านพบในหนังสือกิจการของอัครสาวกว่า พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนืออัครสาวกทั้งสิบสองคน ขณะที่กำลังร่วมอธิษฐานภาวนาอยู่กับพระนางมารีย์ในวันเปนเตก๊อสเต (เทียบ 2:1-4) และทรงส่งพวกเขาออกไปประกาศข่าวดีแก่นานาชาติ[2]

ดังนั้น อาศัยพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ พระวาจาของพระเจ้าจึงแสดงออกเป็นถ้อยคำของมนุษย์ พระภารกิจของพระบุตรจึงไม่อาจแยกจากพระภารกิจของพระจิตเจ้าได้และร่วมกันเป็นแผนการความรอดพ้นหนึ่งเดียวกัน พระจิตเจ้าซึ่งทรงทำงานเมื่อพระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์ ก็คือพระจิตเจ้าองค์เดียวกันที่ทรงนำพระเยซูเจ้าตลอดเวลาที่ทรงปฏิบัติพระภารกิจ และทรงสัญญาจะประทานพระจิตเจ้านี้แก่บรรดาศิษย์. พระจิตเจ้าองค์นี้ ซึ่งตรัสทางบรรดาประกาศก ทรงปกป้องคุ้มครองและเป็นพลังของพระศาสนจักร ทรงอุดหนุนงานประกาศพระวาจาของพระเจ้าและในการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวก, พระจิตเจ้าองค์นี้เองยังทรงดลใจผู้นิพนธ์พระคัมภีร์อีกด้วย

16.      บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาทราบดีถึงบทบาทของพระจิตเจ้า จึงอยากจะเน้นถึงความสำคัญของพระจิตเจ้าซึ่งทรงทำงานในพระศาสนจักร และในจิตใจของผู้มีความเชื่อ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์[3] ถ้า "พระจิตแห่งความจริง" (ยน 14:17) ไม่ทรงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราก็ไม่อาจเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าได้ ดังที่นักบุญอีเรเนอุสยังกล่าวอีกว่า "ผู้ที่ไม่มีส่วนในพระจิตเจ้าก็ไม่อาจได้รับอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต ดั่งทารกดูดนมจากทรวงอกของมารดาได้ เขาจะไม่ได้รับน้ำเลี้ยงจากพุน้ำบริสุทธิ์ที่ไหลหลั่งออกมาจากพระกายของพระคริสตเจ้าเลย"[4] พระวาจาของพระเจ้ามาถึงเราในพระกายของพระคริสตเจ้าฉันใด เราก็รับและเข้าใจพระวาจานี้ในพระกายของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทและในพระคัมภีร์ โดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือได้ฉันนั้นด้วย

บรรดานักเขียนที่มีชื่อเสียงในธรรมประเพณีคริสตศาสนาล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันถึงบทบาทของพระจิตเจ้าเมื่อผู้มีความเชื่อจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ นักบุญยอห์นครีโซส ตมกล่าวว่า "พระคัมภีร์ไม่ต้องการปรีชาญาณของมนุษย์เพื่อจะเข้าใจได้ แต่ต้องการการเปิดเผยจากพระจิตเจ้า เพื่อจะได้ค้นพบความหมายแท้จริงซึ่งจะนำผลประโยชน์มาให้เราอย่างมากมาย"[5] นักบุญเยโรมยังเชื่อมั่นด้วยว่า "เพื่อจะเข้าใจพระคัมภีร์ เราต้องการความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า ซึ่งทรงดลใจผู้เขียนพระคัมภีร์"[6] นักบุญเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ก็เน้นอย่างแข็งขันถึงบทบาทของพระจิตเจ้าในการเรียบเรียงและอธิบายความหมายพระคัมภีร์ "พระองค์เองทรงเนรมิตสร้างถ้อยคำในพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ และทรงเปิดเผยความหมายของถ้อยคำเหล่านั้น"[7] ริชาร์ดแห่งนักบุญวิกเตอร์ให้ข้อสังเกตว่าเราต้องการ "ตาของนกพิราบ" ที่ได้รับแสงสว่างและคำสั่งสอนจากพระจิตเจ้าเพื่อจะเข้าใจตัวบทพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ได้[8]

ข้าพเจ้ายังปราถนาจะเน้นคำยืนยันถึงความสัมพันธ์ของพระจิตเจ้ากับพระคัมภีร์ ดังที่พบในตัวบทพิธีกรรมที่มีการประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่บรรดาผู้มีความเชื่อ และอธิบายความหมายของพระวาจาเหล่านี้ด้วย เราพบหลักฐานเรื่องนี้ในบทภาวนาโบราณต่างๆซึ่งอยู่ในรูปของบทเอปีเคลซิส (epiclesis) หรือบทอัญเชิญพระจิตเจ้าก่อนจะประกาศพระวาจา เช่น "โปรดส่งพระจิตเจ้าลงมาในใจข้าพเจ้าทั้งหลาย และโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เรียนรู้พระคัมภีร์จากพระจิตเจ้า และอธิบายความหมายได้อย่างเหมาะสม เพื่อประชากรทุกคนซึ่งอยู่ที่นี่จะได้รับผลประโยชน์" เรายังพบบทภาวนาที่เรียกหาพระเจ้าหลังจบบทเทศน์แล้วอีก ขอให้พระเจ้าประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้มีความเชื่อดังนี้ว่า "ข้าแต่พระเจ้าพระผู้กอบกู้....ข้าพเจ้าทั้งหลายวอนขอพระองค์เพื่อประชากรนี้ โปรดส่งพระจิตเจ้าลงมาเหนือเขา และขอให้พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเยี่ยมเขา ตรัสในใจของทุกคน และเตรียมจิตใจเขาเพื่อรับความเชื่อ ชักนำวิญญาณไปหาพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา"[9] จากข้อความทั้งหมดนี้เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่าเราจะเข้าใจความหมายของพระวาจาไม่ได้ ถ้าเราไม่เปิดรับการทำงานของพระจิตเจ้าพระผู้ทรงบรรเทาในพระศาสนจักรและในจิตใจของผู้มีความเชื่อ



[1] Adversus haereses, IV,7,4; PG 7, 992-993; V, I,3: PG 7,  1123; V, 6,1: PG 7, 1137; V, 28,4; PG 7, 1200.

[2] Cfr. Benedictus XVI, Adhort.ap.postsynodalis Sacramentum caritatis (22 Februarii 2007), 12: AAS 99 (2007), 12: AAS 99 (2007), 113-114.

[3] Cfr. Propositio 5.

[4] Adversus haereses, III, 24,1; PG 7, 966.

[5] Homiliae in Genesim, XXII, 1: PG 53, 175.

[6] Epistula 120, 10; CSEL 55, 500-506.

[7] Homiliae in Ezechielem, I, VII, 17: CC 142, 94.

[8] "Oculi ergo devotae animae sunt columbarum quia sensus eius per Spiritum Sanctum sunt illuminati et edocti, spiritalia sapientes... Nunc quidem aperitur animae talis sensus, ut intellegat Scripturas": Richardus a Sancto Victore, Explicatio in Cantica canticorum, 15: PL 196, 450 B.D.

[9] Sacramentum Serapionis II(XX), Didascalia et Constitutiones apostolorum, ed. F.X.Funk, Paderbornae 1906, p.161.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก