บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันอาทิตย์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา
บทอ่าน อสย 25:6-10 ; ฟป 4:12-14, 19-20 ; มธ 22:1-14
            คนที่มิได้รับเชิญมาร่วมงานเลี้ยง
ในพระคัมภีร์ งานเลี้ยงเป็นภาพแสดงถึงอาณาจักรพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าประทานให้เราอย่างอิสระ


มอบให้คนจนฟรีๆ
          นักบุญมัทธิวเล่าเรื่อง มีอุปมา 2 เรื่องติดกัน คือ อุปมาเรื่องผู้รับเชิญ และแขกคนหนึ่งไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอุปมาทั้งสองเกี่ยวกับผู้รับเชิญสู่อาณาจักรพระเจ้า นานมาแล้วที่เราคิดว่าผู้รับเชิญที่ไม่เหมาะสม หมายถึง ประชาชนอิสราเอลที่ไม่ต้อนรับบรรดาประกาศก แต่ปัจจุบันเรามีการอธิบายความที่ดีกว่า คือ ผู้รับเชิญที่ไม่เหมาะสมคือผู้นำประชาชน ที่มีความรู้ด้านธรรมบัญญัติและมีฐานะอยู่ในสังคม เป็นผู้มีทุ่งนา มีธุรกิจ หรือ ความสนใจต่อการเชิญ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาทำร้ายบรรดาผู้รับใช้ จึงเป็น “ผู้รับเชิญที่ไม่เหมาะสมกับงานนี้” (วรรคที่ 8)

            การเชิญเข้าอาณาจักรสวรรค์ เป็นแบบเปิดรับทุกคน แต่กษัตริย์ต้องส่งผู้รับใช้ไปเชิญ “คนตามทางแยก เชิญทุกคนที่พบมาร่วมงานเลี้ยง” (วรรคที่ 9) คนที่ไม่มีบ้าน คนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีธุรกิจในเมือง คนจน คนชายขอบ ที่ผู้นำศาสนาของประชาชนเรียกพวกเขาว่า คนโง่ คนบาป ในอุปมา นักบุญลูกาพูดเจาะจงว่า “จงพาคนยากจน คนพิการ คนตาบอด” (ลูกา 14:21) เป็นคำตอบของพระเยซูเจ้าต่อศิษย์ของนักบุญยอห์นบัปติสที่ถามว่าพระองค์เป็นใคร นักบุญมัทธิวเพิ่มว่า “จงไปตามถนน... ตามทางแยก ไปรวบรวมทุกคนที่พบมารวมกัน ทั้งคนเลวและคนดี แขกรับเชิญจึงมาเต็มห้องงานอภิเษกสมรส” (วรรคที่ 10) ทั้งคนเลวและคนดี เพื่อทำให้ชัดเจนว่า ผู้รับเชิญมิใช่บุญกุศลของตน แต่เพราะเหตุว่าเป็นความดีของพระเจ้าประทานให้คนจน คนสุดท้าย คนบาปฟรีๆ พระหรรษทานเปลี่ยนผู้ที่มิได้รับเชิญ ให้มีสิทธิพิเศษร่วมงานเลี้ยงและอาณาจักรสวรรค์ เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนสุดท้าย มานั่งร่วมงานโต๊ะเดียวกันกับผู้ที่มิได้รับเชิญ

การรอความหวังและการอุทิศตัว
           พระวรสารนักบุญมัทธิว (แตกต่างจากนักบุญลูกา) อุปมายังต่อเรื่องออกไปอีก คือ คนไม่สวมเสื้องานวิวาห์ การรับการเชิญสู่อาณาจักรพระเจ้า ก็ต้องมีความประพฤติที่แสดงออกมาทางการแต่งตัวเหมาะสม คือ สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ (วรรคที่ 11)

            ดังคำสัญญาของประกาศกอิสยาห์ อาณาจักรสวรรค์มีความสัมพันธ์แห่งความรอดพ้นกับพระเจ้า ต้นกำเนิดแห่งความสมบูรณ์และความยินดี “นี่คือพระเจ้าของเรา เราเคยหวังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเราให้รอดพ้น เราจงชื่นชมยินดีที่พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้นเถิด” (อสย 25:9) จะเป็นชัยชนะเหนือความตายและน้ำตา “พระองค์จะทรงทำลายความตายตลอดไป องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาจากใบหน้าของทุกคน จะทรงช่วยประชาชนของพระองค์ให้พ้นจากการถูกลบหลู่ทั่วแผ่นดิน” (วรรคที่ 8)

       ความหวังเรื่องความรอดพ้นนี้สัมพันธ์กับความดีอื่นๆ ทุกประการ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้จักมีชีวิตอยู่อย่างอดออม และรู้จักมีชีวิตอยู่อย่างอุดม” และรู้วิธีดำเนินชีวิตในสถานการณ์ที่แตกต่าง “เผชิญกับความอิ่มท้องและความหิวโหย เผชิญกับความมั่งคั่งและความขัดสน” (ฟป 4:12) ความหวังในพระสัญญาช่วยให้เราดำเนินชีวิตดังเหตุผลที่ว่า “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้ในพระองค์ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า” (ฟป 4:13)
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustaro Gutierrez, หน้า 234-236.