บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

สมโภชพระเยซูเจ้า  กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
24  พฤศจิกายน   2013
บทอ่าน    2 ซมอ  5: 1-3  ;  คส  1: 12-20  ;  ลก  23: 35-43
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)  440, 1021, 2266, 2616
จุดเน้น    เราได้รับ    การไถ่กู้และการอภัยบาป  โดยอาศัยพระเยซูเจ้า  กษัตริย์ผู้ดีพร้อม


    รัฐบาลเป็นมิตร หรือ เป็นศัตรูของเรา  หลายคนมีความเห็นแตกต่างกัน  ที่แน่นอนคือ  เราต้องมีรัฐบาลบริหารประเทศ (ดูแลประชาชนให้มีความเจริญ)  ตัวอย่างเช่น  เราจะอยู่สงบได้อย่างไร  ถ้าไม่มีตำรวจ  ไม่มีตำรวจดับเพลิง    ดังนั้น  คำถามที่ว่า  รัฐบาลเป็นมิตร หรือ เป็นศัตรูของเรา  เราจะต้องพูดว่า  บางทีก็เป็นมิตร  บางทีก็เป็นศัตรู

    ผู้เขียนพระคัมภีร์ก็เช่นกัน  ได้ถูกแบ่งตามธรรมชาติของรัฐบาล  สำหรับผู้เขียนพระคัมภีร์  ตามปกติฝ่ายปกครอง (รัฐบาล)  คือ กษัตริย์  บางครั้งพวกเขามองกษัตริย์ในฐานะที่ดี  แต่บางครั้งก็ไม่ดี  ผู้เขียนบทอ่านที่หนึ่ง (ซามูเอล)  เห็นชัดเจนว่ากษัตริย์ดี  บทอ่านจึงบรรยายประชากรของพระเจ้า  ยอมรับกษัตริย์ดาวิดว่าเป็นผู้ปกครองของพวกเขา  เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งในพวกเขา  “ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นสายเลือดเดียวกับพระองค์”  ดาวิดได้รับเจิมเป็นกษัตริย์  มิใช่เป็นเจ้านายเหนือประชาชน  แต่เพื่อรับใช้พวกเขา  นี่ชัดเจนว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าให้กษัตริย์ดาวิด  “เลี้ยงดูอิสราเอล  ประชากรของเรา”

    ดังนั้น  พี่น้อง  เราควรจะพิจารณารัฐบาลอย่างไร  ทัศนคติของเราต้องไตร่ตรองความจริง  ในฐานะศิษย์ของพระเยซูเจ้า ว่าเรามีสัญชาติ  2 อย่าง  เราเป็น (คนไทย) ประชาชนของประเทศ  แต่เราเป็นประชาชนของอาณาจักรสวรรค์  ด้านชีวิตจิตวิญญาณด้วย  ในฐานะประชาชนของประเทศ (ไทย)  เราอยู่และทำงานกับพี่น้องต่างความเชื่อ (เช่น ชาวพุทธ  มุสลิม  โปรแตสแตนท์)  และบางคนไม่สนใจศาสนา  เพื่อจะพิจารณาภาพการใช้อำนาจรัฐบาลตามบทอ่านแรกเท่าที่สามารถ  จะเห็นว่ายังคงใกล้ชิดประชาชน  ช่วยเหลือบริการประชาชน  มากกว่าปกครองเหนือพวกเขา  ในเวลาเดียวกัน  เราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลแม้จะอยู่ในมือของประชาชนที่มีเจตนาดี  ก็สามารถกลายเป็นศัตรูกับคนดี หรือ ศัตรูของพระเจ้าได้  เมื่อเป็นเช่นนี้  ให้เรามองดูนักบุญเปโตรที่ได้ตอบคำสั่งของเจ้าหน้าที่อยุติธรรมในสมัยของท่านว่า  “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์”  (กจ 5: 29)

    ในฐานะประชากรของอาณาจักรสวรรค์  เราตระหนักถึงกฎเกณฑ์ของพระมหากษัตริย์  ผู้เป็นภาพลักษณ์กษัตริย์ในบทอ่านที่หนึ่งว่า  ยังไม่มีผู้ปกครองฝ่ายโลก หรือ รัฐบาลใดสามารถเป็นได้สมบูรณ์แบบ  บทอ่านจากพระวรสารบอกเราว่า  กษัตริย์ที่สมบูรณ์ (พระเยซูเจ้า) ได้ทนทุกข์ในมือของรัฐบาลสมัยนั้น  พระองค์ทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนอย่างโหดร้ายและอยุติธรรม  ปอนทิอัส  ปิลาต  ผู้ปกครองปาเลสไตน์ในสมัยนั้น  สั่งให้เขียนว่า  “นี่คือกษัตริย์ของชาวยิว” (Iesu Nazarenus Rex Iudaeorum - INRI)  ปิลาตตั้งใจให้เขียนเตือน (จะได้ไม่มีใครกล้ากบฏ)  อย่างไรก็ดีสำหรับเรา  คำพูดที่ปิลาตได้สั่งให้เขียนบนกางเขนเป็นแรงบันดาลใจ  แสดงให้เห็นว่า  กษัตริย์พระองค์นี้รับใช้และช่วยไถ่กู้ประชากรของพระองค์

    การสนทนาสั้นๆ ในพระวรสารระหว่างพระเยซูเจ้ากับผู้ร้ายที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนข้างพระองค์  แสดงให้เห็นว่า  แม้ในช่วงทุกข์สุดๆ  กษัตริย์พระองค์นี้ทรงต้อนรับผู้ที่กลับใจ  แม้มีเครื่องหมายนิดหน่อยก็ตาม  ไม่ว่าความผิดของเราจะหนักเพียงไร  ถ้าเรากลับใจมาหาพระเยซูเจ้า  พระผู้ถูกตรึงกางเขน  เราจะพบการต้อนรับและการให้อภัย  เราเป็นประชากรแห่งอาณาจักรที่มีกฎหลัก คือ ต้อนรับและให้อภัยเสมอ

    พี่น้อง  ในฐานะประชากรของพระองค์  พระเยซูเจ้ากษัตริย์ของเรา  ขอให้เราเพียงกลับมาหาพระองค์  พระองค์พร้อมต้อนรับและให้อภัย  เราได้รับอะไรฟรีๆ  ก็ขอให้เราแบ่งปันเช่นนี้แก่ผู้อื่นฟรีๆ ด้วย
     
พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(ตุลาคม – ธันวาคม 2013), หน้า 463-465.