"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา”

15. พระเยซูเจ้ากับพระประยูรญาติของพระองค์และคู่อริ (3)
- “เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า"
เป็นครั้งแรกที่เราพบสำนวนนี้ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก แต่จะพบบ่อย ๆ ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น นักบุญมาระโกยังใช้สำนวนนี้อีกใน 8:12 พระเยซูเจ้าทรงใช้สำนวนนี้ทั้งสองกรณีเมื่อทรงต่อต้านความคิดของศัตรู เพื่อยืนยันความจริงตรงกันข้าม พระองค์ตรัสว่า

- "มนุษย์จะรับการอภัยบาปทุกประการรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่ได้พูดออกไป"
พระเยซูเจ้าทรงยืนยันอำนาจของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยทุกอย่าง แต่มีข้อยกเว้นซึ่งที่แปลกและหลายคนไม่เข้าใจคือ

- "แต่ใครที่พูดดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย เขามีความผิดตลอดนิรันดร” น่าสังเกตว่า การที่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันความจริงนี้แสดงว่า พระองค์ทรงมีความรู้ถึงเจตนารมณ์ของพระเจ้า จึงเป็นการท้าทายศัตรูมากยิ่งขึ้นว่า ทรงมีพระอานุภาพของพระเจ้ามากทีเดียว แน่นอน สำนวนที่ว่า พระเจ้าจะทรงให้อภัยบาปทุกชนิด ไม่หมายความว่าคนบาปจะได้รับการอภัยโดยอัตโนมัติ   ถ้าเราศึกษาพระวรสารทั้งหมดจะเห็นว่าจำเป็นที่ต้องกลับใจ บาปทุกชนิดเมื่อเป็นทุกข์กลับใจก็จะได้รับการอภัย

- พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพราะมีผู้พูดว่า “คนนี้มีปีศาจสิงอยู่” ประโยคนี้อธิบายว่า บาปผิดต่อพระจิตเจ้าหมายถึงอะไร จากบริบทเห็นชัดเจนว่า พระเยซูเจ้าทรงแสดงอำนาจให้อภัยบาปและขับไล่ปีศาจ แต่หัวหน้าชาวยิวตีความหมายตรงกันข้าม ยืนยันว่าการกระทำของพระเยซูเจ้าไม่ใช่การกระทำของพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าไม่ทรงแสดงอำนจของพระเจ้าแต่เป็นอำนาจที่มาจากซาตาน นี่แหละคือบาปที่ผิดต่อพระจิตเจ้า พระเจ้าจะประทานอภัยบาปมนุษย์ได้อย่างไร ถ้าผู้นั้นคิดว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงมีอำนาจให้อภัย นี่เป็นกรณีเดียวที่มนุษย์ไม่ได้รับการอภัยบาป เพราะไม่เชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงมีอำนาจอภัยบาป

3) พระประยูรญาติแท้ของพระเยซูเจ้า

ข้อความ (3:31-35) เล่าเรื่องต่อจากข้อความ (3:20-21) เมื่อพระประยูรญาติของพระเยซูเจ้า "ออกไปควบคุมพระองค์ไว้" โดยกล่าวว่า "พระมารดาและพระประยูรญาติของพระองค์มาถึง" โดยแท้จริงแล้วคำในภาษาไทย พระประยูรญาติ ข้อ 21 และข้อ 31 เป็นคนละคำกัน  ข้อ 21 ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ "his own"  หมายถึงญาติพี่น้องโดยไม่คำนึงว่าผู้นั้นจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากเพียงใด ส่วนคำในข้อ 31 บอกว่าพระประยูรญาติของพระองค์นั้นประกอบด้วยพระมารดาและบรรดาพี่น้อง (แปลเป็นภาษาอังกฤษ "his brothers") แต่คำว่า "พี่น้อง" ในภาษากรีกไม่เจาะจงว่า เป็นพี่น้องโดยมีพ่อแม่เดียวกัน หรือเป็นลูกพี่ลูกน้อง หรือยังเป็นญาติโดยไม่คำนึงว่าสนิทมากน้อยเพียงใด การแปลตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคือ "พระประยูรญาติ" เพราะแม้พันธสัญญาใหม่ใช้คำนี้บ่อย ๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า แต่ไม่มีข้อความใดที่กล่าวชัดเจนว่า พี่น้องของพระเยซูเจ้าเป็นบุตรของพระมารดามารีย์กับนักบุญโยเซฟ น่าสังเกตว่า พระนางมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้าในฐานะที่เป็นสตรีไม่ทรงมีอำนาจเหนือพระประยูรญาติของพระเยซูเจ้า เราไม่รู้ว่าพระนางเสด็จมาพร้อมกับญาติ ๆ โดยจำพระทัยหรือทรงเป็นห่วงพระเยซูเจ้า

- นักบุญมาระโกเล่าต่อไปว่า พระประยูรญาติ "ยืนรออยู่ข้างนอก ส่งคนเข้าไปทูลพระองค์" ผู้เขียนต้องการเน้นว่า ญาติพี่น้องไม่ยอมเข้าไปข้างใน ไม่ใช่เพราะในบ้านมีคนจำนวนมากจนเข้าไปไม่ได้เหมือนกับเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนง่อย แต่เพราะญาติพี่น้องไม่สนใจที่จะฟังพระเยซูเจ้า ต่างจากประชาชนที่กำลังนั่งล้อมพระองค์และปรารถนาที่จะเป็นศิษย์ของพระองค์ ญาติพี่น้องไม่ได้มาเพื่อเป็นศิษย์ที่จับตามองพระเยซูเจ้าและฟังพระองค์ แต่มาสอนพระองค์ว่าต้องนอบน้อมต่อเขา 

- ประชาชนกำลังนั่งล้อมพระองค์อยู่ เขาจึงทูลพระองค์ว่า “มารดาและพี่น้องของท่านกำลังตามหาท่าน คอยอยู่ข้างนอก” ประชาชนไม่รู้เจตนาของญาติพี่น้องที่มาควบคุมพระเยซูเจ้า เขาคงจะคิดว่าญาติพี่น้องปรารถนาที่จะพบพระองค์

- พระองค์ตรัสว่า "ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา" น่าสังเกตว่า เราพบวลี "มารดาและพี่น้อง" ทั้ง 6 ครั้งในข้อความสั้น ๆ นี้ หมายความว่าเนื้อหาสำคัญคือการเป็นญาติพี่น้องของพระเยซูเจ้า โดยแท้จริงแล้ว พระเยซูเจ้าทรงละบิดามารดาญาติพี่น้องเมื่อเสด็จเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธไปเทศนาสั่งสอนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า แต่พระวาจานี้แสดงว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงแยกพระองค์ออกจากครอบครัวทางกายเท่านั้น แต่ทางจิตใจด้วย พระองค์ทรงพระประสงค์ที่จะสร้างครอบครัวใหม่ พระเยซูเจ้าจึงทรงถือโอกาสเปิดเผยพันธกิจนี้ของพระองค์

- แล้วพระองค์ทอดพระเนตรผู้ที่นั่งเป็นวงล้อมอยู่ การทอดพระเนตรโดยรอบเป็นสำนวนที่เราพบบ่อย หมายถึงการมองของผู้ควบคุมสถานการณ์ ช่างสังเกตและผู้ต้องการดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง

- ตรัสว่า "นี่คือมารดาและพี่น้องของเรา ผู้ใดทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิงและเป็นมารดาของเรา” ผู้ปรารถนาเป็นญาติพี่น้องและเป็นสมาชิกในครอบครัวใหม่ของพระเยซูเจ้าจำเป็นต้องมีท่าทีหนึ่งเดียวคือ ฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า น่าสังเกตว่า การฟังเท่านั้นไม่เพียงพอ แม้การฟังเป็นท่าทีแรกที่จำเป็นเพื่อเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า แต่ต้องนำความจริงที่ได้ฟังไปปฏิบัติด้วย

ข้อความทั้งหมดนี้ (3:20-35) จึงต่อเนื่องจากข้อความที่เล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงเลือกบรรดาศิษย์ให้มาอยู่กับพระองค์ (3:13-19) เราจึงเข้าใจว่า การอยู่กับพระองค์หมายถึงฟังคำสั่งสอนของพระองค์ รักพระองค์ และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์