"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้าเถิด”  
76. ในสวนเกทเสมนี (2)

- พระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งได้ เป็นสำนวนที่เราพบบ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาใหม่ (เทียบ 9:23 ; 10:27; 11:24 ลก 1:37; 17:6) และพันธสัญญาเดิม (เทียบ ปฐก 18:14; โยบ 42:2; ศคย 8:6) พระวาจานี้ของพระเยซูเจ้าแสดงความไว้วางใจยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อพระบิดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่พระองค์กังวลพระทัย โดยรู้สึกว่าพระบิดาทรงอยู่ห่างไกล

- โปรดทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด ในพันธสัญญาเดิมสำนวนที่ว่า “ดื่มจากถ้วย” เป็นสัญลักษณ์ของการรับทรมานและเป็นชะตากรรมแห่งความตาย (เทียบ สดด 75:9; อสย 51:17-23; ยรม 25:15, 27-31; อสค 23:31-34) ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก พระเยซูเจ้าตรัสกับยากอบและยอห์นที่วอนขอให้เขาทั้งสองคนนั่งข้างขวาและข้างซ้ายของพระองค์ เมื่อพระองค์จะทรงชัยชนะอย่างเด็ดขาดในฐานะที่เป็นพระเมสสิยาห์ กษัตริย์ว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่...ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะได้ดื่ม และการล้างที่เราจะรับนั้น ท่านก็จะได้รับ” (10:38-39) ดังนั้น นักบุญมาระโกรวมสำนวนของการดื่มจากถ้วย กับการรับทรมานของผู้ที่จะถูกทดลองและจะต้องตายเข้าด้วยกัน ยิ่งกว่านั้น ในพันธสัญญาเดิมคำว่า “ถ้วย” ยังเป็นสัญลักษณ์ของการทรมานอย่างสาหัสที่พระเจ้าทรงส่งมาให้แก่ผู้ที่ได้ทำผิดอย่างหนัก (เทียบ อสย 51:17, 22; ยรม 25:15; พคค 4:21) ดังนั้น คำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าจึงรวมความคิดทางอ้อมว่า พระองค์ทรงยอมรับการทรมานเพื่อการชดเชยบาปของมนุษย์ทุกคน โดยประกาศว่าทรงพร้อมที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าจนถึงที่สุด

- อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” พระวรสารอีกสามฉบับบันทึกพระวาจาประโยคนี้ด้วย (เทียบ มธ 6:10; ลก 22:42; ยน 5:30; 6:38 ; 14:31) เรายังพบพระวาจานี้ในจดหมายถึงชาวฮีบรู (ฮบ 5:8) ความตึงเครียดในพระทัยของพระเยซูเจ้าระหว่างความเกลียดชังโดยธรรมชาติที่จะต้องรับทรมาน กับการยึดมั่นอย่างแน่วแน่ต่อพระประสงค์ของพระบิดา ผ่อนคลายลงด้วยความซื่อสัตย์สมบูรณ์ของพระองค์ต่อแผนการแห่งความรอดพ้น นักบุญมาระโกเน้นการรับทรมานอย่างสาหัสของพระเยซูเจ้า โดยบันทึกว่าพระบิดาไม่ทรงตอบสนองคำอธิษฐานภาวนาของพระบุตรเลย ซึ่งต่างจากพระวรสารฉบับอื่น ๆ (เทียบ ลก 22:43-44 และเทียบ ยน 12:28)

- พระองค์เสด็จกลับมา พบศิษย์ทั้งสามคนกำลังหลับ พระเยซูเจ้าทรงเลือกอัครสาวกสามคนนี้ เพื่อจะได้รับความบรรเทาใจเมื่อพระองค์ทรงโศกเศร้า แต่เขาทั้งสามคนก็นอนหลับ เขาอาจปิดตาเพื่อจะไม่ต้องมองความทุกข์ทรมานของพระองค์ก็ได้

- จึงตรัสกับเปโตรว่า “ซีโมน ท่านหลับหรือ ท่านตื่นเฝ้าสักหนึ่งชั่วโมงไม่ได้หรือ สังเกตได้ว่า พระเยซูเจ้าทรงเน้นความทะเยอะทะยานของนักบุญเปโตร ซึ่งไม่นานก่อนนี้ เขารับรองอย่างสง่าผ่าเผยว่าพร้อมที่จะตายเพื่อพระองค์

- จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การผจญ ในบริบทของเหตุการณ์นี้ การผจญหมายถึงการทดลองซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเผชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์ในการต่อสู้ระหว่างพระเจ้ากับซาตาน การรับทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเป็นจุดสูงสุดของการต่อสู้นี้ ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงเตือนบรรดาศิษย์ให้ตื่นเฝ้าอยู่เสมอ คือให้ซื่อสัตย์ต่อแผนการและการกระทำของพระเจ้าในชีวิตมนุษย์ การตื่นเฝ้านี้รวมคำอธิษฐานภาวนาด้วย หมายถึงการฟังพระวาจาและการขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า เพื่อเราจะได้มั่นคงอยู่ในความซื่อสัตย์ดังที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ

- จิตใจพร้อมแล้วก็จริง แต่เนื้อหนังอ่อนกำลัง” แม้นักบุญเปาโลเป็นผู้อ้างถึงความแตกต่างระหว่างจิตใจกับเนื้อหนังก็จริง แต่พันธสัญญาเดิมก็เคยเปรียบเทียบความคิด 2 ประการนี้ด้วย คือ “จิตใจ” หมายถึงมนุษย์ที่อ่อนน้อมต่อพระจิตเจ้า (เทียบ สดด 50:14) ส่วน “เนื้อหนัง” หมายถึงมนุษย์ในแง่ที่เป็นสิ่งสร้างอ่อนแอ ตายได้ และมีข้อจำกัดมากมาย ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างเนื้อหนังกับจิตใจในพระคัมภีร์จึงแตกต่างจากความคิดของชาวกรีกและวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างกายกับจิตวิญญาณ

- แล้วพระองค์เสด็จไปอธิษฐานภาวนาอีกครั้งหนึ่ง ทรงกล่าวถ้อยคำเดียวกัน ครั้นเสด็จกลับมาก็ทรงพบเขาหลับอยู่อีก เพราะลืมตาไม่ขึ้น และเขาไม่รู้จะทูลตอบพระองค์อย่างไร เมื่อเสด็จกลับมาครั้งที่สาม การที่พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาพบอัครสาวกทั้งสามคน เป็นโอกาสสำหรับนักบุญมาระโกที่จะเน้นทั้งความกังวลใจและความรู้สึกโดเดี่ยวที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับในสวนเกทเสมนี และความซื่อสัตย์แน่วแน่ของพระองค์ต่อประสงค์ของพระบิดา

- พระองค์ตรัสกับเขาว่า “บัดนี้ท่านหลับต่อไปและพักผ่อนได้ ประโยคนี้ในต้นฉบับภาษากรีกเข้าใจค่อนข้างยาก บางคนคิดว่าเป็นคำแสดงความประหลาดใจ และอีกบางคนคิดว่า เป็นคำสั่งในแง่ประชดประชัน อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่าเวลาของการรับทรมานมาถึงแล้ว ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงยอมรับอย่างเต็มพระทัย ต่างจากเหตุการณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เมื่อทรงเห็นอัครสาวกกำลังหลับอยู่ ซึ่งแสดงความผิดหวังอย่างขมขื่นและทรงตำหนิเขา

- พอเถอะ เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะต้องถูกมอบไว้ในมือของคนบาปมาถึงแล้ว เมื่อพระเยซูเจ้าทรงควบคุมความวิตกกังวลได้แล้ว และชนะการผจญด้วยความซื่อสัตย์มั่นคงต่อแผนการของพระเจ้า พระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจต่อไปอย่างรู้ตัวและเต็มพระทัย สำหรับชาวยิว “คนบาป” หมายถึงคนต่างศาสนา แต่ในที่นี้ “คนบาป” หมายถึงชาวยิวนั่นเอง ในแง่ที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่ได้กระทำ โดยบังคับพระเยซูเจ้าให้ทรงรับทรมานทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ทรงมีความผิดเลย

- จงลุกขึ้น ไปกันเถิด ผู้ทรยศมาแล้ว” แม้บรรดาศิษย์ปฏิบัติตนไม่ดีต่อพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนี แต่พระองค์ทรงเขาเชิญชวนเหล่านั้นให้ติดตามพระองค์ต่อไป ทำให้เขามีส่วนร่วมในขั้นตอนสุดท้ายแห่งภารกิจของพระองค์ เพราะประสบการณ์โดยตรงแห่งการเดินทางของพระองค์จนถึงความตาย จะทำให้เขาสามารถเป็นพยานถึงพระองค์จนถึงสุดปลายแผ่นดิน