ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ

 

           1. ในพันธสัญญาเดิมมีหนังสือประเภท “ปรีชาญาณ” อยู่ห้าเล่ม ได้แก่ หนังสือโยบ สุภาษิต ปัญญาจารย์ (หรือ Qoheleth) บุตรสิรา (หรือ Ecclesiasticus) และหนังสือปรีชาญาณ นอกจากนั้นหนังสือหมวดนี้ยังรวม (อย่างไม่เหมาะนัก) หนังสือเพลงสดุดี และเพลงซาโลมอนเข้าไว้อีกด้วย หนังสือเหล่านี้รวบรวมความคิดซึ่งเป็นปัจจุบันในสมัยนั้นและความคิดเหล่านี้ยังพบได้อีกบ้างด้วยในหนังสือโทบิตและบารุค

            วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณพัฒนาเป็นที่รู้จัก และพบได้ทั่วไปในดินแดนแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณ วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของอียิปต์ปรากฏอยู่ในทุกยุคของประวัติศาสตร์ ในดินแดนแถบเมโสโปเตเมียนับตั้งแต่สมัยชาวสุเมเรียนเป็นต้นมาก็มีผู้แต่งสุภาษิตและนิทานต่างๆ รวมทั้งบทประพันธ์ที่กล่าวถึงความทุกข์ของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังสือโยบไว้ด้วย วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของดินแดนเมโสโปเตเมียนี้มีอิทธิพลในแผ่นดินคานาอันอย่างเห็นได้ชัด มีผู้ค้นพบข้อเขียนเป็นภาษาอัคคาเดียนเกี่ยวกับปรีชาญาณที่รัช-ชัมรา (ในประเทศซีเรียปัจจุบัน) เรายังค้นพบงานเขียนที่มีชื่อว่า “ปรีชาญาณของอาคิคาร์” จากดินแดนที่ประชาชนพูดภาษาอาราเมอิกอีกด้วย งานเขียนชิ้นนี้มีกำเนิดมาจากชาวอัสซีเรียและได้แปลเป็นภาษาโบราณหลายภาษา วรรณกรรม “ปรีชาญาณ” จึงไม่มีขอบเขตในเรื่องเชื้อชาติ ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของปรีชาญาณคือไม่มีลักษณะทางศาสนาโดยตรงเลย เพราะปรีชาญาณให้ความสนใจโดยเฉพาะต่อวิธีแก้ปัญหาตามประสบการณ์ของมนุษย์เท่านั้น วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณกล่าวถึงความหมายของชีวิตมิใช่ตามหลักปรัชญาในแนวความคิดแบบกรีก แต่โดยใช้ประสบการณ์ วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณเสนอแนะหลักการเพื่อความสำเร็จในชีวิตและยังเป็นเครื่องหมายของการศึกษาอบรมที่ดีด้วย วรรณกรรมปรีชาญาณสอนมนุษย์ให้รู้ว่าจะต้องปรับตนเข้ากับระเบียบของจักรวาลได้อย่างไร และยังเสนอ-อย่างน้อยทางทฤษฎี-ความลับเพื่อจะพบความสุขและความสำเร็จในชีวิต ถึงกระนั้น ประสบการณ์ที่ว่าความสุขและความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากความประพฤติดีเสมอไปทุกครั้ง ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลงานบางชิ้นของวรรณกรรมปรีชาญาณมีลักษณะมองโลกในแง่ร้ายด้วย เช่นในอียิปต์และเมโสโปเตเมีย

            ชาวอิสราเอลมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณนี้ พระคัมภีร์ยกย่องสรรเสริญกษัตริย์ซาโลมอนอย่างสูงสุด กล่าวว่าพระองค์ทรงพระปรีชายิ่งกว่าปรีชาญาณของชนชาวตะวันออกและปรีชาญาณของอียิปต์ (1 พกษ 5:10) ผู้มีปรีชาชาวอาหรับและชาวเอโดมก็เป็นที่รู้จักดีในสมัยโบราณ (ยรม 49:7; บรค 3:22-23; อบด 8) โยบและเพื่อนผู้มีปรีชาทั้งสามคนของเขาก็อาศัยอยู่ในแคว้นเอโดม ผู้เขียนหนังสือโทบิตรู้จักหนังสือ “ปรีชาญาณของอาคิคาร์” และข้อความใน สภษ 22:17 - 23:11 ก็แทบจะคัดลอกคำต่อคำมาจากคำพังเพยในภาษาอียิปต์ของอาเมน-เอมโอฟิส พระคัมภีร์กล่าวว่าเพลงสดุดีหลายบทเป็นผลงานของเฮมานและเอทาน ซึ่งข้อความใน 1 พกษ 5:11 กล่าวว่าเป็นผู้มีปรีชาของชาวคานาอัน ในหนังสือสุภาษิตเรายังพบ “ถ้อยคำของอากูร์” ใน สภษ 30:1-14 และ “ถ้อยคำของเลมูเอล” ใน สภษ 31:1-9 บุคคลทั้งสองนี้มาจากมัสสา ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งทางเหนือของคาบสมุทรอาหรับ (ดู ปฐก 25:14)

            เราจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่ผลงานประเภทปรีชาญาณของอิสราเอลในสมัยแรกๆ มีลักษณะคล้ายคลึงมากกับผลงานของชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ผลงานเหล่านี้จึงนับได้ว่าเป็นเสมือนพันธุ์พืชซึ่งขึ้นอยู่ตามที่ดินในบริเวณเดียวกัน เราพบว่าข้อความส่วนที่เขียนก่อนเพื่อนในหนังสือสุภาษิตแทบทั้งหมดไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากคำพังเพยที่เกิดจากปรีชาญาณของมนุษย์ ยกเว้นหนังสือบุตรสิราและหนังสือปรีชาญาณ ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในเวลาช่วงปลายของพันธสัญญาเดิม วรรณกรรมกลุ่มนี้ในพระคัมภีร์ไม่กล่าวอะไรเลยถึงคำสอนสำคัญๆ ของพันธสัญญาเดิม เช่นคำสอนเกี่ยวกับธรรมบัญญัติ พันธสัญญากับพระเจ้า การเลือกสรรจากพระองค์ และการกอบกู้มนุษยชาติ บรรดาผู้มีปรีชาของอิสราเอลไม่สนใจต่อความเป็นมาในอดีตและต่อชะตากรรมอนาคตของชาติเลย เขาสนใจแต่เพียงปัจเจกบุคคลและชะตากรรมของตนเช่นเดียวกับผู้มีปรีชาต่างชาติทั่วๆ ไป กระนั้นก็ดี บรรดาผู้มีปรีชาของอิสราเอลก็ไตร่ตรองถึงเรื่องนี้ในแนวคิดที่สูงส่งกว่าชนต่างชาติ กล่าวคือไตร่ตรองในมุมมองทางศาสนาของพระยาห์เวห์ แม้ว่าวรรณกรรมปรีชาญาณของอิสราเอลเกิดมาจากรากเหง้าเดียวกัน และมีลักษณะเหมือนๆ กันกับวรรณกรรมปรีชาญาณทั่วไปของชนชาติอื่นๆ ในตะวันออกกลาง วรรณกรรมปรีชาญาณของอิสราเอลก็มีความแตกต่างที่ลึกซึ้ง และจะแสดงผลชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อการเปิดเผยความจริงจากพระเจ้าพัฒนามากขึ้น ความแตกต่างที่เคยมีระหว่าง “ปรีชาญาณ” และ “ความโง่เขลา” ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่าง “ความชอบธรรม” และ “ความชั่วร้าย” ระหว่าง “ศาสนาเที่ยงแท้” และ “ศาสนาเท็จเทียม” ปรีชาญาณแท้จริงพบได้ใน “ความยำเกรงพระเจ้า” ซึ่งเป็นรากฐานของศาสนาเที่ยงแท้นั่นเอง วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของชนชาติต่างๆ ในตะวันออกกลางสมัยโบราณอาจเรียกได้ว่าเป็น “มานุษยวิทยา” แบบหนึ่ง แต่วรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของอิสราเอลต้องถือว่าเป็น “มานุษยวิทยาทางศาสนา” โดยแท้จริง

            2. มิติทางศาสนาของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาอย่างช้าๆ คำว่า “ปรีชาญาณ” ในภาษาฮีบรูมีความหมายหลากหลาย ตั้งแต่หมายถึงความชำนาญในงานมือและงานอาชีพ ความรู้เรื่องการเมือง การรู้จักคิดไตร่ตรอง มีไหวพริบ มีความรู้ในการดำเนินงาน รวมไปถึงวิชาการทางไสยศาสตร์เวทมนตร์คาถา “ปรีชาญาณ” ประสามนุษย์นี้อาจใช้เพื่อจุดประสงค์ดีหรือจุดประสงค์ร้ายก็ได้ ดังนั้น บรรดาประกาศกของอิสราเอลจึงมีท่าทีเป็นอริกับบรรดาผู้มีปรีชา (ดู อสย 5:21; 29:14; ยรม 8:9) และนี่คงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมบรรดาผู้มีปรีชาของอิสราเอลจึงเริ่มกล่าวถึงพระปรีชาญาณของพระเจ้าในสมัยหลังๆ เท่านั้น แม้เขาจะเชื่อว่าปรีชาญาณของมนุษย์มีต้นกำเนิดจากพระเจ้า และแม้ว่าวรรณกรรมภาษาอูการิต ซึ่งเก่าแก่มาก จะกล่าวว่า “ปรีชาญาณ” เป็นคุณลักษณะหนึ่งของ “เอล” จอมเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ กระนั้นก็ดี เราต้องรอจนถึงสมัยหลังกลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลน จึงจะอ่านพบในพระคัมภีร์ว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นทรงพระปรีชา พระปรีชาญาณของพระองค์สูงส่งและมนุษย์จะสังเกตได้จากผลงานที่ทรงเนรมิตสร้าง แต่พระปรีชาญาณนี้ก็สูงเกินกำลังสติปัญญาของมนุษย์ที่จะเข้าใจได้ (โยบ 28:38-39; บสร 1:1-10; 16:24ฯ; 39:12ฯ; 42:15-43:33) ในภาคอารัมภบทน่าประทับใจของหนังสือสุภาษิต (สภษ บทที่ 1-9) พระปรีชาญาณของพระเจ้าปราศรัยกับมนุษย์เหมือนกับว่าเป็นบุคคลหนึ่ง เคยอยู่ในพระเจ้าตั้งแต่นิรันดร ร่วมทำงานกับพระองค์ในการเนรมิตสร้าง (ดู โดยเฉพาะ สภษ 8:22-31) โยบ บทที่ 28 กล่าวถึงปรีชาญาณประหนึ่งว่ามีความเป็นอยู่แยกจากพระเจ้า พระองค์เท่านั้นทรงทราบว่าปรีชาญาณซ่อนอยู่ที่ใด ใน บสร บทที่ 24 ปรีชาญาณก็กล่าวว่าตนออกมาจากพระโอษฐ์ของพระผู้สูงสุด พำนักอยู่ในสวรรค์ และพระเจ้าทรงส่งตนลงมาจากสวรรค์ให้มาอาศัยอยู่กับชาวอิสราเอล ใน ปชญ 7:22-8:1 ปรีชาญาณกล่าวว่าตนไหลล้นออกมาจากพระสิริรุ่งโรจน์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ เป็นภาพลักษณ์ความบริบูรณ์ของพระองค์ ปรีชาญาณในฐานะที่เป็นคุณสมบัติของพระเจ้าจึงแตกต่างจากพระองค์และมีบุคลิกของตนเอง ข้อความต่างๆ ที่กล่าวมานี้ แม้จะน่าสนใจอย่างมากในบริบทของความเชื่อตามพันธสัญญาเดิม แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีความหมายมากกว่าจะเป็นวิธีการทางวรรณกรรมในการแสดงความคิดเท่านั้น ถึงกระนั้นข้อความเหล่านี้ก็ดูมีความลึกลับ และเตรียมหนทางไว้สำหรับการเปิดเผยความจริงเรื่องพระบุคคลที่แตกต่างกันในพระเจ้า “พระวจนาตถ์” หรือ “Logos” ที่ยอห์นกล่าวถึงนั้น อยู่ในพระเจ้าและแยกจากพระเจ้าในขณะเดียวกันเช่นเดียวกับ(พระ)ปรีชาญาณ และข้อความน่าประทับใจทุกข้อความเหล่านี้สนับสนุนการที่นักบุญเปาโลเรียกพระคริสตเจ้าใน 1 คร 1:24 ว่าทรงเป็น “พระปรีชาญาณของพระเจ้า”

           3. จากการที่บรรดาผู้มีปรีชามีความสนใจพิเศษถึงชะตากรรมชีวิตของแต่ละคน ปัญหาเรื่องบำเหน็จรางวัลตอบแทนความดีความชั่วจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ภายในแวดวงของบรรดาผู้มีปรีชาและอาศัยความคิดไตร่ตรองอย่างจริงจังของบุคคลเหล่านี้ ปัญหาดังกล่าวจึงพัฒนาขึ้น ตอนต้น (ตามลำดับเวลา) ของหนังสือสุภาษิตจึงกล่าวว่า “ปรีชาญาณ” (ซึ่งก็หมายถึง “ความชอบธรรม”) เป็นผู้นำความสุขมาให้มนุษย์ และความโง่เขลา (หรือ “ความชั่วร้าย”) ก็นำหายนะมาให้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนี้ พระเจ้าจึงประทานบำเหน็จรางวัลแก่คนดีและทรงลงโทษคนชั่ว ความคิดเช่นนี้ยังปรากฏอยู่ในอารัมภบทของหนังสือสุภาษิตด้วย (3:33-35; 9:6 และ 18) คำสอนนี้จึงเป็นพื้นฐานรองรับคำสอนเรื่องปรีชาญาณ โดยยึดมั่นว่าพระเจ้าผู้ทรงเที่ยงธรรมและทรงพระปรีชาเป็นผู้ปกครองดูแลโลกนี้ คำสอนที่ว่านี้ยกเอาประสบการณ์มาสนับสนุน แม้ว่าหลายครั้งประสบการณ์ไม่เป็นไปตามความคิดดังกล่าวก็ตาม ประสบการณ์ที่ขัดกับความเห็นนี้ถูกนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวน่าสนใจในหนังสือโยบเพื่อโต้แย้งคำสอนดังกล่าว ในเรื่องของโยบ เพื่อนสามคนของโยบ พยายามปกป้องความคิดเห็นที่เคยยึดถือกันมา (คือคนดีจะประสบความสุขและความสำเร็จ ส่วนคนชั่วจะต้องประสบหายนะ) แต่เมื่อประสบปัญหาที่คนดีมีธรรมต้องรับความทุกข์ สติปัญญาของเราก็ไม่อาจพบคำตอบให้เป็นที่น่าพอใจได้ ตราบใดที่เรายังยึดถือทฤษฎีว่าบำเหน็จรางวัลความดีต้องเกิดขึ้นในโลกนี้ เราต้องยึดมั่นในความเชื่อต่อพระเจ้าโดยไม่ถามคำถามใดๆ ส่วนหนังสือปัญญาจารย์ แม้จะมีมุมมองปัญหาแตกต่างออกไป แต่ก็ได้ข้อสรุปเดียวกัน หนังสือปัญญาจารย์ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีที่เคยถือกันมา โดยสอนว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิจะสอบสวนการกระทำของพระเจ้า หรือเรียกร้องพระเจ้าให้ประทานความสุขเป็นรางวัลตอบสนองความดีได้ บุตรสิราก็มีความคิดในแนวเดียวกัน จริงอยู่ เขากล่าวอย่างกระตือรือร้นถึงความสุขของบรรดาผู้มีปรีชา (หรือผู้ชอบธรรม) ใน บสร 14:20-15:10 แต่เขาก็มีความกังวลใจเมื่อคิดถึงความตายและรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับช่วงเวลาสุดท้ายนี้ของชีวิต “ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า ในวันที่คนหนึ่งตาย เพื่อพระองค์จะทรงตอบแทนเขาตามที่ความประพฤติของเขาสมจะได้รับ” (บสร 11:26; ดู 1:13; 7:36; 28:6; 41:9) เขามีความคิดล่วงหน้าแล้วถึง “เหตุสุดท้ายสี่ประการ” แต่เขาไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ชัดๆ ไม่นานหลังจากนั้น ดนล 12:2 จะแสดงความเชื่ออย่างชัดเจนเรื่องการตอบแทนความดีความชั่วภายหลังความตาย ความเชื่อในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย ชาวฮีบรูคิดไม่ออกว่าจิตที่แยกจากร่างกายแล้วจะมีความเป็นอยู่ได้อย่างไร แต่ทว่าในหมู่ชาวยิวที่กรุงอเล็กซานเดรีย ความคิดอีกแนวหนึ่งที่ขนานกันก็ได้พัฒนาไปอย่างมาก ความคิดทางปรัชญาของพลาโต้ซึ่งสอนว่าวิญญาณเป็นอมตะ ได้ช่วยให้ความคิดของชาวฮีบรูพ้นจากข้อจำกัดนี้ หนังสือปรีชาญาณประกาศได้ชัดว่า “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นอมตะ” (2:23) และหลังจากความตาย วิญญาณของผู้ชอบธรรมจะมีความสุขกับพระเจ้าตลอดไปไม่สิ้นสุด ขณะที่คนอธรรมจะได้รับโทษ (3:1-12) ในที่สุด ผู้มีปรีชาของอิสราเอลก็ตอบปัญหาสำคัญและยากประการนี้ได้

            รูปแบบเก่าแก่ที่สุดและซื่อที่สุดของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณคือรูปแบบของ “คำคม” หรือ “คำ พังเพย” ที่ภาษาฮีบรูเรียกว่า “mashal” และคำนี้ในรูปพหูพจน์ (mishlim) ก็เป็นชื่อของหนังสือที่เราเรียกว่าหนังสือ “สุภาษิต” ในพระคัมภีร์คำว่า “mashal” นี้หมายถึงประโยคที่สะกิดความสนใจและจินตนาการ เป็นคำพูดหรือคำพังเพยแบบชาวบ้าน ภาคแรกที่เก่าแก่ที่สุดของหนังสือสุภาษิตมีแต่ประโยคสั้นๆ ดังกล่าวเท่านั้น ต่อมา “mashal” เหล่านี้ก็พัฒนามีรูปแบบซับซ้อนขึ้น กลายเป็นอุปมา (parable) อุปมานิทัศน์ หรือการเปรียบเทียบในรายละเอียด (allegory) คำปราศรัย (discourse) การใช้เหตุผลโต้เถียง (argument) การพัฒนาเช่นที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นแล้วในภาคผนวกตอนสั้นๆ ของหนังสือสุภาษิต และเห็นชัดยิ่งขึ้นในอารัมภบท บทที่ 1-9 และจัดเป็นหมวดหมู่ชัดขึ้นในหนังสือฉบับต่อๆ มา ในหนังสือโยบและหนังสือปรีชาญาณ “mashal” กลายเป็นเรียงความ (literary composition) เรื่องยาวไปเลย

             ถ้าเราต้องการแสวงหาที่มาของรูปแบบแม้ซื่อที่สุดของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณนี้ เราจะต้องไปหาในแวดวงของครอบครัวและวงศ์ตระกูล คนเรามักสังเกตเรื่องธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์ เก็บสะสมต่อๆ กันมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายถึงลูกหลานเหลนในรูปของคำพังเพย คำคม คำคล้องจอง คติพจน์ คำสอนแบบชาวบ้าน โดยเน้นถึงความประพฤติในชีวิตประจำวัน รูปแบบดั้งเดิมของกฎหมายที่ใช้บังคับโดยทั่วไปก็มีลักษณะและเนื้อหาใกล้เคียงกับคำกล่าวเช่นนี้ของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณด้วย ในขณะที่มีผู้รวบรวมคำคมประเภทปรีชาญาณเข้าไว้ด้วยกันเป็นผลงานทางวรรณกรรมนี้ ปรีชาญาณแบบชาวบ้านก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง สุภาษิตและคำพังเพยต่างๆ ที่เราพบ เช่นใน 1 ซมอ 24:14; 1 พกษ 20:11 หรือนิทานที่เราพบใน วนฉ 9:8-15 หรือใน 2 พกษ 14:9 ก็เกิดขึ้นจากแวดวงของปรีชาญาณแบบชาวบ้านดังกล่าว แม้กระทั่งบรรดาประกาศกก็ยังยกข้อความแบบชาวบ้านนี้มาใช้ด้วย เช่น อสย 28:24-28; ยรม 17:5-11 เป็นต้น

              ประโยคสั้นๆ กระทัดรัดจำได้ง่ายเช่นนี้มีเจตนาสำหรับสั่งสอนกันด้วยปากต่อปาก พ่อแม่จะสอนลูกหลานต่อๆ กันไป (สภษ 1:8; 4:1; 31:1; บสร 3:1) และอาจารย์ที่สอนมักจะใช้คำว่า “ลูกเอ๋ย” เรียกศิษย์ที่ตนสอน นับตั้งแต่ที่บรรดาผู้มีปรีชามีสำนักสั่งสอนศิษย์อีกด้วย (บสร 51:23-26; ดู สภษ 7:1ฯ; 9:1ฯ) “ปรีชาญาณ” จึงกลายเป็นสิทธิพิเศษของผู้มีการศึกษาและของกลุ่มผู้คุ้นเคยกับวรรณกรรม ยรม 8:8-9 จัดบรรดา “ผู้มีปรีชา” ไว้คู่กับบรรดา “ธรรมาจารย์” และ บสร 38:24-39:11 จัดให้ “ธรรมาจารย์” มีฐานะสูงกว่าผู้ใช้แรงงานทั่วไป เพราะอาชีพของธรรมาจารย์ทำให้เขาค้นหาปรีชาญาณจนพบได้ งานเกี่ยวกับเอกสารในราชสำนักต้องการบริการของบรรดาธรรมาจารย์ คำสอนเกี่ยวกับปรีชาญาณจึงเริ่มพัฒนาขึ้นในราชสำนักเช่นนี้เอง ลักษณะต่างๆ ทั้งหมดนี้ของปรีชาญาณยังพบได้อีกตามศูนย์กลางอื่นๆ ที่ส่งเสริมปรีชาญาณในตะวันออกกลาง เช่นในอียิปต์หรือเมโสโปเตเมีย ในหนังสือสุภาษิต “ผู้คนของกษัตริย์เฮเซคียาห์แห่งยูดาห์” ได้รวบรวมคำคมต่างๆ ไว้เป็นชุด “สุภาษิตของกษัตริย์ซาโลมอน” (สภษ 25:1) แต่บรรดาผู้มีปรีชาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้รวบรวม” คำคมเก่าๆ เท่านั้น แต่ยังเป็น “ผู้แต่ง” ข้อความเหล่านี้ด้วย ผลงานทางวรรณกรรมสองเรื่องอาจแต่งขึ้นในราชสำนักของกษัตริย์ซาโลมอน เรื่องโยเซฟและเรื่องการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ดาวิดอาจนับได้ว่าเป็นผลงานประเภทปรีชาญาณด้วย

              ในตอนแรก สำนักของบรรดาผู้มีปรีชาจึงแตกต่างกันมากจากแวดวงสมณะหรือประกาศก ยรม 18:18 ก็แยกบุคคลไว้เป็นสามกลุ่มต่างกัน ได้แก่ (1) บรรดาสมณะ (2) ผู้มีปรีชา และ (3) ประกาศก บรรดาผู้มีปรีชามีความสนใจพิเศษเฉพาะของตน เขาไม่สนใจเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ดูเหมือนจะไม่กังวลใจเกี่ยวกับหายนะของชาติ และไม่ใส่ใจมากนักถึงความหวังยิ่งใหญ่ที่รวมประชาชนในชาติไว้ด้วยกัน แต่ว่าหลังจากที่กลับจากแดนเนรเทศเป็นต้นมา ข้อเขียนของบุคคลทั้งสามกลุ่มนี้เริ่มรวมตัวเข้าด้วยกัน คำนำของหนังสือสุภาษิตมีลักษณะเหมือนกับคำตักเตือนของประกาศก บุตรสิรา บทที่ 44-49 และหนังสือปรีชาญาณ บทที่ 10-19 กล่าวอย่างยืดยาวถึงประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น บุตรสิราแสดงความเคารพนับถือต่อตำแหน่งสมณะ เขาเป็นผู้นมัสการพระเจ้าด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และในที่สุดยังกล่าวว่า “ปรีชาญาณ” และ “ธรรมบัญญัติ” เป็นสิ่งเดียวกัน (บสร 24:23-24) ที่จุดนี้เราก็พบว่าบรรดาธรรมาจารย์หรือผู้มีปรีชารวมตัวเป็นพวกเดียวกันได้กับผู้สอนธรรมบัญญัติ ดังที่เราจะพบในสมัยของพระเยซูเจ้า

               กษัตริย์ซาโลมอนนับได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยาวนานในการแสวงหาปรีชาญาณ เรายังพบสภาพการณ์คล้ายกันในหมู่ชนชาติอื่นในตะวันออกกลางโบราณอีกด้วย งานเขียนสองชิ้นประเภทปรีชาญาณของชาวอียิปต์ ถือกันว่าเป็นคำสอนที่กษัตริย์ฟาโรห์พระองค์หนึ่งประทานแก่พระโอรส จากหนังสือพงศ์กษัตริย์ (1 พกษ 5:9-14; ดู 3:9-12, 28; 10:1-9) จนถึงหนังสือบุตรสิรา (บสร 47:12-17) เราจะเห็นคำสรรเสริญยกย่องกษัตริย์ซาโลมอนว่าเป็นผู้ทรงปรีชายิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล และข้อเขียนที่รวบรวมสุภาษิตเก่าแก่ที่สุด 2 ตอนในหนังสือสุภาษิต (บทที่ 10-22 และ 25-28) ก็ได้ชื่อว่าเป็นผลงานของพระองค์ ดังนั้น หนังสือสุภาษิตจึงมีชื่อว่า “สุภาษิตของกษัตริย์ซาโลมอน” (สภษ 1:1) หนังสือปัญญาจารย์ ปรีชาญาณ และเพลงซาโลมอนก็ได้ชื่อว่าเป็นผลงานของพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน คำสอนทั้งหมดนี้ที่ประชากรซึ่งพระเจ้าทรงเลือกสรรค่อยๆ ได้รับมา นับได้ว่าเป็นการเตรียมรับการเปิดเผยความจริงของ “พระปรีชาญาณที่ทรงรับสภาพมนุษย์” ในอนาคตนั่นเอง พระองค์จะตรัสดังนี้ว่า “แต่ที่นี่มีผู้ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ซาโลมอนอีก” (มธ 12:42)

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือโยบ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือโยบ

            1. หนังสือโยบเป็นงานชิ้นเอกของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ ตอนเริ่มของหนังสือเป็นข้อความเล่าเรื่องเป็นร้อยแก้ว เล่าว่าในกาลครั้งหนึ่งมีผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งของพระเจ้า ชื่อ “โยบ” เป็นคนร่ำรวยและมีความสุข พระเจ้าทรงอนุญาตให้ซาตานทดสอบเขา ให้เห็นว่าเขายังคงจะซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าต่อไปหรือไม่เมื่อเขาต้องประสบหายนะ โยบได้สูญเสียทรัพย์สมบัติและบุตรธิดาที่เขามี แต่เขาก็น้อมรับการที่พระเจ้าทรงเรียกทุกสิ่งที่พระองค์ประทานให้เขากลับคืนไป ต่อจากนั้น พระเจ้ายังทรงทำร้ายต่อตัวของเขาด้วย เขาได้รับความเจ็บป่วยและต้องทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ก็ยังยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า ภรรยาของเขาแนะนำเขาให้สาปแช่งพระเจ้า แต่เขาก็ตำหนินาง ต่อมา เพื่อนสามคนของเขาที่ชื่อเอลีฟัส บิลดัด และโศฟาร์ มาเยี่ยมเขาเพื่อร่วมทุกข์ด้วย (บทที่ 1-2) หลังจากอารัมภบทนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเป็นคำ ประพันธ์ในรูปของการสนทนาโต้ตอบยืดยาวของโยบ กับเพื่อนทั้งสามคน คำสนทนาโต้ตอบมีอยู่ด้วยกัน 3 ชุด คือ บทที่ 3-14 เป็นชุดแรก บทที่ 15-21 เป็นชุดที่สอง และบทที่ 22-27 เป็นชุดที่สาม โยบและเพื่อนทั้งสามคนถกเถียงกันอธิบายความเข้าใจของตนเรื่องความยุติธรรมของพระเจ้า ในบทสนทนาเหล่านี้ไม่มีการพัฒนาความคิดอย่างต่อเนื่องแต่ประการใด เป็น แต่เพียงการขยายความหลักการที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น เอลีฟัสกล่าวอย่างนุ่มนวลเช่นผู้สูงอายุ แต่ก็มีความหนักแน่นที่ได้รับมาจากประสบการณ์ชีวิตยาวนาน โศฟาร์มีอารมณ์รุนแรงแบบคนหนุ่ม ส่วนบิลดัดเป็นคนที่พูดเฉื่อยๆ อย่างระมัดระวัง ถึงกระนั้นเพื่อนของโยบทั้งสามคนนี้ก็ปกป้องทฤษฎีที่เคยเชื่อกันตลอดมาว่าการตอบแทนความดีความชั่วต้องสำเร็จไปในโลกนี้ ถ้าโยบมีความทุกข์ ก็เป็นเพราะว่าเขาได้ทำบาป เขาอาจคิดว่าตนไม่ได้ทำผิด แต่พระเจ้าไม่ทรงคิดเช่นนั้น เมื่อโยบกล่าวป้องกันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ทำผิดอะไร เพื่อนทั้งสามคนยิ่งยึดมั่นในความคิดของตนยิ่งขึ้น โยบตอบโต้ทฤษฎีดังกล่าวนี้ด้วยประสบการณ์น่าเศร้าของตนและยังกล่าวถึงประสบการณ์ความอยุติธรรมที่เห็นอยู่ทั่วไปด้วย เขากล่าวซ้ำเรื่องนี้หลายครั้ง และแต่ละครั้งเขาก็ต้องเผชิญกับความลึกลับของพระเจ้าผู้ทรงยุติธรรม ที่ทรงทำให้คนดีมีธรรมต้องทนทุกข์ ขณะที่คลำหาทางในความมืดเช่นนี้ ความพยายามที่จะหาคำตอบของเขาก็มิได้ก้าวหน้าไปถึงไหน เขามีความทุกข์ใจไม่น้อยไปกว่าความทุกข์ทางกายที่เขากำลังรับอยู่ ร่างกายมีความทุกข์รุนแรงและมีเวลาผ่อนคลาย จิตวิญญาณก็มีความรู้สึกเคียดแค้นและยอมจำนน อารมณ์ที่สลับกันเช่นนี้มีจุดยอดอยู่สองจุด จุดยอดแรกคือการแสดงความเชื่อในบทที่ 19 จุดยอดที่สองอยู่ที่การยืนยันความบริสุทธิ์ของตนในบทที่ 31 ต่อจากนี้จะมีอีกคนหนึ่งชื่อ “เอลีฮู” ปรากฏมากล่าวว่าทั้งโยบ และเพื่อนทั้งสามคนล้วนคิดผิดทั้งนั้น แล้วเขาก็กล่าวอย่างยืดยาวพยายามปกป้องพระเจ้าว่าทรงปฏิบัติถูกต้องแล้ว (บทที่ 32-37) ในที่สุด พระยาห์เวห์ก็ทรงทำให้เขาหยุดพูด พระองค์ประทานคำตอบของพระองค์แก่โยบ “ออกมาจากลมพายุ” (ซึ่งเป็นสำนวนที่พระคัมภีร์มักใช้กล่าวถึงการสำแดงองค์ของพระเจ้า) หรืออาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีคำตอบ” เพราะไม่มีมนุษย์คนใดจะไปต้อนพระเจ้าให้จนมุมได้ เพราะพระองค์ทรงพระปรีชาและทรงพระอานุภาพอย่างไม่มีขอบเขต เพราะฉะนั้น โยบจึงยอมรับว่าตนได้กล่าวอย่างโง่ๆ (38:1-42:6) หนังสือโยบจบด้วยภาคสรุปเป็นร้อยแก้วอีก พระยาห์เวห์ทรงตำหนิเพื่อนทั้งสามคนของโยบ และประทานรางวัลให้โยบมีบุตรชายหญิงอีก และมีทรัพย์สมบัติมากขึ้นอีกเป็นสองเท่า (42:7-17)

            2. โยบซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ (ดู อสค 14:14, 20) และเชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ในสมัยบรรพบุรุษของชาวอิสราเอลทางแถบชายแดนของอาราเบียและเอโดม ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นดินแดนที่มีผู้มีปรีชาหลายคน (ยรม 49:7; บรค 3:22-23; อบด 8) เพื่อนทั้งสามคนของโยบ ก็มาจากดินแดนแถบนี้ด้วย โยบเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็นตัวอย่างของผู้ชอบธรรม (ดู อสค บทที่ 14) ที่มีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าอย่างไม่หวั่นไหวแม้จะต้องถูกทดสอบอย่างหนัก ผู้นิพนธ์หนังสือโยบจึงใช้เรื่องโบราณนี้เป็นโครงสร้างงานวรรณกรรมของตน แม้ว่าคำประพันธ์ซึ่งเป็นบทสนทนามีรูปแบบและเนื้อหาต่างกันมากจากอารัมภบทและบทสรุปที่เป็นร้อยแก้ว คำประพันธ์เหล่านี้จึงไม่น่าจะอยู่โดดๆ โดยไม่มีอารัมภบทหรือบทสรุปร้อยแก้วนี้ได้

            3. มีหลายคนสงสัยว่าข้อความบางตอนในบทสนทนาอาจไม่ใช่ผลงานของผู้นิพนธ์โดยตรง บท ประพันธ์เกี่ยวกับปรีชาญาณในบทที่ 28 ไม่น่าจะเป็นถ้อยคำที่โยบกล่าว เพราะมีความคิดเกี่ยวกับปรีชาญาณแตกต่างจากที่โยบและเพื่อนของเขามี และดู เหมือนจะคล้ายกันมากกับพระดำรัสของพระยาห์เวห์ในบทที่ 38-39 ถึงกระนั้นข้อความนี้ถ้าไม่ใช่ผลงานของผู้ประพันธ์คนเดียวกันกับผู้แต่ง อย่างน้อยก็คงจะเป็นผลงานของบุคคลร่วมสำนักที่มีความคิดแบบเดียวกัน คล้ายกับความคิดหลักของหนังสือ แต่ก็เป็นการยากที่จะอธิบายว่าทำไมข้อความในบทที่ 28 นี้จึงถูกแทรกเข้ามาไว้จำเพาะที่ตรงนี้ ซึ่งไม่เข้ากับบริบทของเรื่องเลย บางคนยังคิดไปอีกว่าพระดำรัสของพระยาห์เวห์ในบทที่ 38-41 ไม่รวมอยู่ในบทประพันธ์ดั้งเดิม แต่เหตุผลของทฤษฎีนี้ดูเหมือนจะมาจากความเข้าใจผิดถึงความหมายของหนังสือ เป็นความจริงว่าพระดำรัสในบทที่ 38-41 ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการโต้เถียงก่อนหน้านั้นของโยบกับเพื่อน และไม่รู้ว่าโยบได้วอนขออะไรด้วย กลับย้ายการถกปัญหาจากระดับของมนุษย์ขึ้นไปในระดับของพระเจ้า แต่เหตุผลที่พระดำรัสของพระเจ้าให้คำตอบแก่ปัญหานี้เท่านั้น เป็นเหตุผลที่ผู้ประพันธ์คิด ว่าเป็นคำตอบถูกต้องแต่ประการเดียวสำหรับปัญหานี้ นั่นคือเหตุผลที่ว่าวิธีการปฏิบัติของพระเจ้าเป็นธรรม ล้ำลึกเกินความเข้าใจของมนุษย์ นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าอย่างน้อยข้อความสองตอนของส่วนหลังนี้เป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเติมในภายหลัง ได้แก่ข้อความบรรยายเรื่องนกกระจอกเทศใน 39:13-18 และคำบรรยายยืดยาวถึงเบเฮโมท (= ม้าน้ำหรือ “ฮิปโป”) และตัว “เลวีอาธาน” ใน 40:15-41:26 ซึ่งถ้าเราตัดเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์พิเศษทั้งสองชนิดนี้ออกไป พระดำรัสตอนที่สองนี้ของพระยาห์เวห์ก็แทบจะไม่เหลืออะไร นักวิชาการเหล่านี้จึงคิดว่าแต่เดิมคงมีพระดำรัสของพระเจ้าเพียงตอนเดียว ต่อมาจึงมีผู้ขยายความให้ยาวขึ้นแล้วจึงใช้คำตอบสั้นๆ ของโยบใน 40:3-5 ตัดพระดำรัสนี้ออกเป็นสองตอน ทฤษฎีนี้น่าสนใจไม่น้อย แต่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้และไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนัก ในที่สุด การเรียงลำดับข้อบทที่ 24-27 ดูจะไม่เรียบร้อยนัก เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่าเกิดมาจากความสะเพร่าของผู้คัดลอก หรือจากการเรียบเรียงลำดับใหม่ในภายหลัง

             เหตุผลที่คิดว่าคำสนทนาของเอลีฮูในบทที่ 32-37 เป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเติมในภายหลังนั้นดูจะมีน้ำหนักมากกว่า เอลีฮูจู่ๆ ก็เข้ามาในเรื่องโดยไม่มีใครคาด และพระยาห์เวห์ซึ่งตรัสในตอนต่อไปก็ไม่ทรงกล่าวถึงเขาเลยแม้แต่น้อย และที่แปลกกว่านั้นอีกก็คือเอลีฮูกล่าวล่วงหน้าไปแล้วถึงข้อความที่พระยาห์เวห์จะตรัสต่อไป คล้ายกับว่าเขามีเจตนาจะทำให้พระดำรัสของพระองค์สมบูรณ์ขึ้น ยิ่งกว่านั้น เขายังกล่าวซ้ำข้อความที่เพื่อนทั้งสามคนของโยบเคยกล่าวไปแล้วเสียเปล่า นอกจากนั้นถ้อยคำและลีลาที่เขียนก็แตกต่างไป และมีสำนวนภาษาอาราเมอิกมากกว่าในตอนอื่น เพราะฉะนั้น ข้อความตอนนี้ (บทที่ 32-37) จึงน่าจะมีผู้แต่งอื่นแต่งเติมเข้ามาในหนังสือในภายหลัง ทำให้คำประพันธ์นี้มีสาระทางศาสนามากขึ้น

            4. เรารู้จักผู้ประพันธ์หนังสือโยบได้จากงานเขียนของเขาเท่านั้น หนังสือที่เขาเขียนแสดงว่าเขาเป็นชาวอิสราเอลโดยไม่ต้องสงสัย ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของบรรดาประกาศกและคำสอนของผู้มีปรีชาต่างๆ เขาคงพำนักอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ แต่ก็คงเคยได้ไปเยี่ยมประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอียิปต์ หรืออาจเคยพำนักอยู่ต่างแดนชั่วระยะหนึ่งด้วย เราไม่ทราบแน่ว่าเขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาไหน ข้อความที่เป็นร้อยแก้ว สะท้อนช่วงเวลาของบรรพบุรุษ จึงทำให้นักเขียนในสมัยต้นๆ คิดว่า หนังสือโยบนี้เป็นผลงานของโมเสสเช่นเดียวกับหนังสือปฐมกาล แต่เหตุผลดังกล่าวก็ใช้ได้กับส่วนคำร้อยแก้วที่เป็นกรอบของหนังสือเท่านั้น แต่ทว่าแม้ที่นี่ด้วย เราอาจอธิบายได้ว่า ลีลาการเขียนดังกล่าวอาจมาจากการใช้แหล่งข้อมูลโบราณหรือเป็นการเลียนแบบกัน หนังสือโยบนี้เขียนขึ้นภายหลังหนังสือประกาศกเยเรมีย์และเอเสเคียล (ซึ่งมีสำนวนและความคิดเหมือนกันหลายแห่ง) และภาษาที่ใช้ก็สะท้อนอิทธิพลจากภาษาอาราเมอิกอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น หนังสือฉบับนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นในสมัยหลังกลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เพราะในขณะนั้นความคิดถึงชะตากรรมส่วนรวมของชาติลดความสำคัญลง และประชาชนมีความสนใจต่อปัจเจกบุคคลมากขึ้น ช่วงเวลาที่หนังสือนี้เขียนขึ้นจึงน่าจะอยู่ราวต้นศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล แต่ก็ยังรับรองแน่นอนไม่ได้

            ผู้เขียนพิจารณาเรื่องราวของผู้ชอบธรรมคน หนึ่งที่ต้องทนทุกข์แสนสาหัส สภาพการณ์เช่นนี้ขัดแย้งโดยตรงกับความคิดที่เคยเชื่อถือกันมาแต่เดิมที่ว่า การกระทำของคนเราจะได้รับรางวัลหรือถูกลงโทษระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ทุกคนยอมรับทฤษฎีนี้โดยดุษฎีตราบใดที่เป็นกรณีของชนทั้งชาติ ดังที่ปรากฏในข้อความของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 28 และหนังสือเลวีนิติ บทที่ 26 เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอลดังที่มีเล่าไว้ในหนังสือผู้วินิจฉัยและหนังสือพงศ์กษัตริย์เป็นข้อพิสูจน์ความจริงของทฤษฎีนี้ได้อย่างดี คำเทศน์สอนของบรรดาประกาศกยังสนับสนุนความคิดดังกล่าวนี้อีกด้วย คำเทศน์สอนของประกาศกเอเสเคียล (บทที่ 18) กล่าวชัดเจนถึงความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลที่มีต่อชะตากรรมของตน แม้ว่าความคิดเช่นนี้ซ่อนตัวอยู่แล้วในพระคัมภีร์ และบางครั้งก็ปรากฏตัวออกมาชัดเจนด้วยใน ฉธบ 24:16; 2 พกษ 14:6; ยรม 31:29-30 แต่ทว่าประกาศกเอเส เคียลก็ยังคิดถึงเพียงแต่การตอบสนองความดีความชั่วในโลกนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นหลายครั้งประกาศกจึงต้องประสบกับความเป็นจริงที่ยากจะยอมรับได้ เมื่อพูดถึงชุมชน อาจเป็นไปได้ว่าชุมชนในฐานะที่เป็นชุมชนต้องรับผิดชอบการทำผิดของตน และในชุมชนนั้นคนดีอาจถูกลงโทษไปพร้อมกับคนชั่วด้วย แต่ถ้าจะกล่าวว่าแต่ละคนจะได้รับการตอบแทนการกระทำของตน ก็จะต้องมีคำถามว่าทำไมคนดีจึงต้องรับทุกข์ด้วย ถึงกระนั้นเหตุการณ์ก็เป็นเช่นนี้ ดังที่เรื่องของโยบ เป็นตัวอย่าง ผู้อ่านรู้แล้วจากเรื่องที่เล่าในอารัมภบทว่าความทุกข์ทรมานของโยบไม่ได้มาจากกระทำของพระเจ้า แต่มาจากการกระทำของซาตานเป็นการทดสอบความซื่อสัตย์ของโยบ แต่โยบไม่รู้เรื่องนี้ เพื่อนของเขาก็ไม่รู้เรื่องนี้ด้วย เพื่อนเหล่านี้จึงเสนอการแก้ปัญหาแบบดั้งเดิมที่เคยถือกันมา เช่นกล่าวว่าความสุขของคนชั่วนั้นไม่จีรังยั่งยืน (ดู สดด บทที่ 37 และ 73) หรือกล่าวว่าความทุกข์ของคนดีเป็นเครื่องทดสอบความเข้มแข็งของเขา (ดู ปฐก 22:12) หรือความทุกข์เช่นนี้อาจเป็นการลงโทษความผิดที่เขาเคยทำไปโดยไม่รู้ตัวหรือเพราะความอ่อนแอ (ดู สดด 19:12; 25:7) เพื่อนทั้งสามคนของโยบเสนอคำอธิบายต่างๆ เหล่านี้โดยที่ยังคิดว่าโยบเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มากก็น้อย แต่เสียงคร่ำครวญที่โยบเปล่งออกมาด้วยความเจ็บปวด และอดทนพระเจ้าแทบไม่ได้นั้น ทำให้เพื่อนของเขาเชื่อมั่นว่าโยบมีความผิดอยู่ลึกๆ บาปหนักเท่านั้นจึงอธิบายเหตุผลของความทุกข์เช่นนี้ได้ คำปราศรัยของเอลีฮู กล่าวย้ำและขยายความคำอธิบายเหล่านี้ด้วย ความทุกข์ทรมานของผู้ที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นผู้ชอบธรรมนั้น เป็นการชดเชยบาป การละเว้นไม่ประกอบความดี หรือการทำบาปโดยขาดความยั้งคิด หรือเป็นการป้องกันไม่ให้ทำผิดหนักขึ้นและเป็นการแก้ไขความหยิ่งยโส (นี่คือความคิดใหม่เอี่ยมของข้อความตอนนี้) แต่เอลีฮู แม้จะไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเหมือนกับเพื่อนอีกสามคนของโยบ ก็เชื่อว่าบาปกับความทุกข์นั้นมีความสัมพันธ์กันแน่ๆ

           โยบประท้วงไม่ยอมรับทฤษฎีเคร่งครัดเรื่องเหตุและผลเช่นนี้ โดยอ้างว่าตนรู้ดีถึงความบริสุทธิ์ของตน เขาไม่ปฏิเสธหลักการว่าพระเจ้าทรงให้บำเหน็จรางวัลความดีและลงโทษความชั่วในโลกนี้ได้ อันที่จริงเขาเองก็มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังเช่นนั้น และพระเจ้าก็ ประทานบำเหน็จรางวัลให้เขาตอนจบด้วย (ดู บทสรุป) แต่ในปัจจุบันขณะที่พระเจ้าทรงขยักรางวัลนี้ไว้ไม่ประทานให้เขา นี่คือปัญหาของโยบ และเขาพยายามค้นหาความหมายของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ แต่ก็หาไม่พบ ขณะที่กำลังทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เขาทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์ทรงหนีเขาไป แต่โยบยังคงวางใจในพระทัยดีของพระองค์ ในที่สุด เมื่อพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เพื่อบอกโยบว่าไม่มีใครเข้าใจพระองค์และแผนการของพระองค์ได้ทั้งหมด โยบก็พูดอะไรไม่ออก ต้องเงียบ คำสอนของหนังสือโยบก็คือ เรายังคงต้องมีความเชื่อมั่นในพระเจ้าอยู่เสมอ แม้เมื่อเราไม่เข้าใจว่าทำไมพระองค์จึงทรงกระทำดังที่ทรงปฏิบัติ ในช่วงนี้ของการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงแก่มนุษย์ ผู้แต่งหนังสือโยบไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้มากกว่านี้ เราไม่อาจเข้าใจเหตุผลลึกล้ำของการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องรับความทุกข์ทรมานได้ เราต้องรอจนกว่าพระเจ้าจะทรงเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับชีวิตหน้า และพระเจ้าจะประทานบำเหน็จรางวัลความดีและการลงโทษความชั่วให้ภายหลังความตายให้แก่มนุษย์ และทรงเปิดเผยให้เรารู้คุณค่าของการทนทุกข์ทรมานโดยการร่วมทนทุกข์กับพระคริสตเจ้า ข้อความสองตอนจากข้อเขียนของนักบุญเปาโลให้คำตอบแก่โยบได้ “ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันเปรียบไม่ได้เลยกับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะทรงบันดาลให้ปรากฏแก่เรา” (รม 8:18) และ “ข้าพเจ้ายินดีที่ได้รับทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของข้าพเจ้าเพื่อพระกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร” (คส 1:24)

ความรู้เกี่ยวกับเพลงสดุดี

ความรู้เกี่ยวกับเพลงสดุดี

 

1. ชื่อ ลักษณะทั่วไป

          หนังสือ "เพลงสดุดี" มีชื่อในภาษาฮีบรูว่า "Tehillim" (= เพลงสรรเสริญ) หมายถึงหนังสือที่รวบรวมบทประพันธ์ทางศาสนาจำนวน 150 บทที่ใช้เป็นคำภาวนาของอิสราเอล หนังสือนี้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูจัดไว้เป็นฉบับแรกในหมวด Ketubim (Writings) ก่อน โยบ และ สภษ ส่วนภาษากรีกฉบับ LXX เรียกหนังสือนี้ว่า "Psalmoi" หรือ "Psalterion" จัดเป็นฉบับแรกอยู่ในหมวดหนังสือปรีชาญาณ ตามด้วย สภษ ปญจ ส่วนในพระคัมภีร์ของคริสตชน สดด จัดอยู่ระหว่างหนังสือ โยบ และ สภษ

          คำว่า "Psalterion" ในภาษากรีกแปลว่าเครื่องดนตรีที่มีสาย เช่นพิณหรือกีร์ต้า ส่วนคำว่า "Psalmos" หมายถึงการดีดเครื่องดนตรีนี้ หรือหมายถึงบทเพลงที่ร้องคลอกับเสียงเครื่องดนตรีดังกล่าว

          จำนวน 150 บทของเพลงสดุดีในพระคัมภีร์เป็นจำนวนที่กำหนดขึ้นในภายหลัง เพราะคำภาวนาที่เป็นคำประพันธ์ในพระคัมภีร์ยังมีอีกไม่น้อยนอกหนังสือเพลงสดุดี เช่น บทเพลงของนางเดโบราห์ (วนฉ 5) บทเพลงของนางฮันนาห์ (1 ซมอ 2:2-10) คำไว้อาลัยของดาวิดต่อกษัตริย์ซาอูลและโยนาธานพระโอรส (2 ซมอ 1:19-27) คำอธิษฐานของกษัตริย์เฮเซคียาห์ (อสย 38:10-20) คำอธิษฐานของประกาศกเยเรมีย์ (ยรม 15:15-25) เพลงคร่ำครวญ (พคค 3) คำอธิษฐานของดาเนียลและเพื่อน (ดนล 2:20-23; 3:26-45, 52-90) คำอธิษฐานของโยนาห์ (ยนา 2:2-9) ของโทบิต (ทบต 13) คำไว้อาลัยของยูดาสมัคคาบีต่อบิดา (1 มคบ 3:3-9) คำไว้อาลัยของประชากรอิสราเอลต่อซีโมน (1 มคบ 14:4-15) เป็นต้น   ในพันธสัญญาใหม่ก็มีบทเพลงของเศคาริยาห์ (ลก 1:68-79) ของพระนางมารีย์ (ลก 1:26-55) และของสิเมโอน (ลก 2:29-32) นอกพระคัมภีร์ยังมีบทสดุดีของซาโลมอน (Psalms of Solomon) และ Hodayoth (เพลงขอบพระคุณ) ของชุมชนที่กุมราน ตกมาถึงสมัยปัจจุบันนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพลงสดุดีทั้ง 150 บทนี้เป็นที่รู้จักและใช้กันมากที่สุดทั้งในหมู่ชาวยิวและคริสตชน

          บทประพันธ์เหล่านี้แสดงความรู้สึกต่างๆ ของมนุษย์ในความสัมพันธ์ติดต่อกับพระเจ้า ตั้งแต่ความเศร้าโศกหมดหวังจนถึงความชื่นชมโสมนัสยินดี ดังนั้น แม้ว่าเพลงสดุดีเหล่านี้จะแต่งขึ้นจากสภาพแวดล้อมเฉพาะเจาะจง แต่ก็สะท้อนสภาพจิตใจของมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ จึงนับว่ามีลักษณะสากลและเป็น "อมตะ" โดยแท้จริง

          เรารู้จักเพลงสดุดีโดยเรียกเลขประจำแต่ละบท แต่ทว่าเลขหมายเพลงสดุดีของฉบับภาษาฮีบรูแตกต่างกันเล็กน้อยกับเลขหมายของฉบับภาษากรีก/ละติน (โดยทั่วไป ฉบับภาษาฮีบรูมีเลขมากกว่า 1 หน่วย) ดังจะเขียนให้เห็นตามตารางต่อไปนี้

ภาษาฮีบรู

ภาษากรีก/ละติน

ข้อสังเกต

1 - 8

1 - 8

เลขตรงกัน

9-10

9

 

11 -113

10 - 112

ภาษาฮีบรูเลขมากกว่า 1 หน่วย

114-115

113

 

116

114-115

 

117 - 146

116 - 145

ภาษาฮีบรูเลขมากกว่า 1 หน่วย

147

146-147

 

148 - 150

148 - 150

เลขตรงกัน

  แต่ก่อนนี้พระคัมภีร์ฉบับแปลของคาทอลิกมักจะใช้เลขหมายเพลงสดุดีตามฉบับภาษากรีก/ละติน (LXX/Vg) แต่ในปัจจุบันใช้เลขหมายตามฉบับภาษาฮีบรู

2. ข้อความนำหน้าเพลงสดุดี

            เพลงสดุดีส่วนมากมีข้อความนำหน้าบอกให้ทราบถึง (ก) ลักษณะ “เทคนิค” ทางดนตรีและคำแนะนำในการขับร้อง (ข) ชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงสดุดีบทนั้น และ (ค) เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ข้อความนำหน้าที่พบได้เป็นครั้งแรก (สดด 3) มี ลักษณะครบทั้ง 3 ประการ คือ (ก) “เพลงสดุดี” (mizmor) (ข) “ของกษัตริย์ดาวิด” (ค) “ขณะที่ทรงหนีจากอับซาโลมพระโอรส” ข้อความนำหน้าเช่นนี้พบได้ทั้งใน ต้นฉบับภาษาฮีบรู (MT=Masoretic Text) ภาษากรีก ฉบับ LXX (= Septuaginta) และในตัวบทของ สดด ที่พบได้ที่ Qumran ข้อความเหล่านี้คงจะเป็นข้อความเพิ่มเติมตัวบทแท้ๆ จากธรรมประเพณีเก่าแก่ของบรรดารับบีชาวยิวก่อนคริสตกาล

3. แบบวรรณกรรมของเพลงสดุดี

             เนื่องจากเพลงสดุดีเป็นบทเพลง มีลักษณะเป็นคำประพันธ์ที่มีเจตนาแสดงอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่จะเน้นความคิดหรือคำสั่งสอน ดังนั้นเมื่ออ่านเพลงสดุดีเหล่านี้ เราจึงต้องอ่านโดยคำนึงถึงแบบแผนของคำประพันธ์ในภาษาฮีบรู ซึ่งมีลักษณะพิเศษอยู่ที่ “ความคิดคล้องจองกัน” (Parallelism) เราจึงจะเข้าใจได้ว่าผู้ประพันธ์ต้องการจะกล่าวถึงอะไร ข้อความ 2 บรรทัดที่ดูเหมือนจะซ้ำหรือขัดแย้งกันนั้น อันที่จริงต้องการแสดงความคิดเพียงความคิดเดียว โดยมองจากมุมมองต่างกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น จุดอ่อนอีกประการหนึ่งในการอ่านเพลงสดุดีก็คือ ข้อความเหล่านี้เป็นบทประพันธ์สำหรับใช้ขับร้องคลอกับดนตรี ดังนั้นเมื่อนำมาอ่านโดยไม่มีทำนองประกอบด้วย จึงขาดความไพเราะไปเป็นอันมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อแปลเป็นภาษาอื่นแล้ว ลักษณะคำประพันธ์ของภาษาฮีบรูซึ่งมีความไพเราะของตนอยู่ด้วย (เช่นเดียวกับคำประพันธ์ทุกภาษา) ไม่อาจถ่ายทอดออกมาได้ จึงทำให้ความไพเราะซาบซึ้งต้องสูญหายไปเกือบหมดทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในคำแปลที่เรามีก็ยังทำให้เราเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้ประพันธ์ได้อยู่ไม่น้อย

              เราอาจจำแนกเพลงสดุดีเป็นกลุ่มๆ ได้โดยใช้มาตรการ 3 ประการ คือ (ก) สถานการณ์แวดล้อมที่ให้กำเนิด หรือ “Sitz im Leben” (ข) เนื้อหาความคิดหรืออารมณ์ที่แสดงออก (content) และ (ค) แบบวรรณกรรม (Literary Forms) ซึ่งมีโครงสร้างและแบบแผนเฉพาะของตน

              เมื่อทราบถึงสถานการณ์แวดล้อมและแบบ วรรณกรรมแล้ว เราจึงจะแน่ใจได้ว่าเนื้อหาและความหมายของเพลงสดุดีแต่ละบทคืออะไร ในสมัยหลังเนรเทศ เพลงสดุดีทุกบทถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมของพระวิหาร แม้ว่าเพลงสดุดีบางบทไม่ได้มีกำเนิดขึ้นจากพิธีกรรม เช่นเพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนส่วนตัวซึ่งเกิดขึ้นจากความทุกข์ร้อนหรืออันตรายส่วนตัวของผู้ประพันธ์ เป็นต้น

การจำแนกเพลงสดุดีตามแบบวรรณกรรม ทำให้เราได้แบบสำคัญ 3 แบบต่อไปนี้

             3.1 เพลงสดุดีประเภท “คำสรรเสริญ” (Tehillim ในภาษาฮีบรู) ได้แก่ สดด 8; 19; 29; 33; 65-66[:1-12]; 100; 104-105; 111; 113-114; 117; 135-136; 145-146; 148-150 และยังรวม สดด 46; 48; 76; 84; 87 ซึ่งเป็น “บทเพลงศิโยน” กับ สดด 47; 93; 95-96 ซึ่งเป็น “บทเพลงกล่าวถึงพระยาห์เวห์ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์” อีกด้วย

              เพลงสดุดีประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังจะเห็นได้จาก “บทเพลงของมีเรียม” (อพย 15:21) ซึ่งขยายออกเป็น “บทเพลงของโมเสส” (อพย 15:1-19) เฉลิมฉลองพระอานุภาพของพระเจ้าที่ทรงช่วยประชากรอิสราเอลข้ามทะเล คำนำของ “บทเพลงของนางเดโบราห์” (วนฉ 5:3) ก็มีลักษณะคำประพันธ์ประเภทนี้ ซึ่งแสดงความชื่นชมยินดี ยืนยันความยิ่งใหญ่ พระกรุณาของพระเจ้า ทั้งในการที่ทรงกอบกู้อิสราเอล ทั้งในการเนรมิตสร้าง หรือในพระองค์เอง สถานการณ์แวดล้อมที่ให้กำเนิดของเพลงสดุดีประเภทนี้ก็คือพิธีชุมนุมเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ ของอิสราเอล

              เพลงสดุดีประเภท “คำสรรเสริญ” นี้ มีโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจนเป็น 3 ตอนดังนี้คือ

              (ก) คำเชิญชวน เพลงสดุดีประเภทนี้มักจะเริ่มด้วยคำเชิญชวนให้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า (เช่น “จง สรรเสริญ” “จงขับร้อง” “จงชื่นชมยินดี” ฯลฯ) ผู้รับเชิญชวนนี้ก็มีหลายพวก เช่น “ผู้ชอบธรรม” “อิสราเอล” “ประชาชาติ” “แผ่นดิน” “ทะเล” “ป่าเขาลำเนาไพร” หรือตัวผู้ประพันธ์เองในสำนวนว่า “วิญญาณข้าพเจ้าเอ๋ย” เป็นต้น

               (ข) ต่อจากนั้นจะเป็น “เนื้อหา” หรือ “เหตุผล” ว่าทำไมจึงต้องสรรเสริญพระองค์ ซึ่งมักจะมีคำนำว่า “เพราะ” แล้วบรรยายเหตุผลต่างๆ คำสอนทางเทววิทยาของเพลงสดุดีส่วนใหญ่จะพบได้ใน “เหตุผล” เหล่านี้ เช่น ลักษณะของพระเจ้า ความดี ความยุติธรรม พระกรุณา ความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ มหิทธานุภาพ ฯลฯ ของพระเจ้า นอกจากนั้นเหตุผลในการสรรเสริญพระเจ้าอาจเป็นการที่ทรงเลือกสรรอิสราเอลมาเป็นประชากรของพระองค์ หรือเหตุการณ์ที่แสดงพระกรุณาในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ความดีงามของสิ่งสร้างและคุณธรรม เป็นต้น

               (ค) สรุป เพลงสดุดีประเภท “คำสรรเสริญ” นี้มักจะสรุปโดยคำเชิญชวนให้สรรเสริญอีกครั้งหนึ่ง (สดด 8; 103-104; 135-136) หรืออาจเป็นคำอวยพรก็ได้ (สดด 29; 33; 146; 148) คำที่คุ้นหูมากๆ จากเพลงสดุดีประเภทนี้ได้แก่ คำ “อัลเลลูยา” (Hallelu-ia = จงสรรเสริญพระยาห์[เวห์]เถิด) คงจะเป็นข้อความที่ผู้ร่วมชุมนุมโห่ร้องรับพร้อมกันแบบ “ลูกคู่” เช่นเดียวกับคำโห่ร้องรับอื่นๆ เช่น “อาเมน” (=“สาธุ” - เทียบ 1 พศด 16:36; ยดธ 15:10; สดด 41:13; 72:19; 89:52; 106:48) หรือ “เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงเป็นนิตย์” ใน สดด 136; 118 และที่อื่นๆ เช่น 2 พศด 5:13; 7:3, 6; 20; 21; ยรม 33:11

              3.2 เพลงสดุดีประเภท “คำอ้อนวอน” (Psalms of supplication) ซึ่งผู้ประพันธ์มิได้สรรเสริญพระเจ้า แต่ร้องหาพระองค์โดยตรง ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในยามทุกข์ยาก ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น “คำอ้อนวอนส่วนตัว” (Individual supplication) ถ้าความทุกข์ร้อนนั้นเป็นความทุกข์ร้อนส่วนตัว และ “คำอ้อนวอนส่วนรวม” (Collective supplication) เมื่อประชากรทั้งชาติต้องเผชิญกับความทุกข์ร้อนหรืออันตรายส่วนรวม และร้องหาพระยาห์เวห์ให้ทรงช่วยเหลือ

               เพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้ (ก) คำร้องหาพระยาห์เวห์ (ข) เนื้อหาของเพลงสดุดีประเภทนี้จะเป็นการบรรยายถึงความทุกข์และความต้องการต่างๆ (ค) คำอ้อนวอนขอความ ช่วยเหลือจากพระเจ้าให้พ้นทุกข์ (ง) เหตุผลที่ทำให้พระยาห์เวห์ต้องยื่นพระหัตถ์มาช่วยเหลือ (จ) คำสัญญา หรือบนบานว่าจะขอบพระคุณหรือสรรเสริญ ถ้าพระองค์ทรงฟังคำอ้อนวอนและประทานความช่วยเหลือแล้ว (ฉ) คำขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ทรงช่วยเหลือ

              (ก) คำอ้อนวอนส่วนตัว เพลงสดุดีประเภทนี้มีจำนวนมากที่สุด คือประมาณ 1/3 ของเพลงสดุดีทั้งหมด ได้แก่ สดด 3; 5-7; 13; 17; 22; 25; 26; 28; 35; 38; 42-43; 51; 54-57; 59; 63; 64; 69-71; 86; 102; 120; 130; 140-143 ความทุกข์ร้อนที่ผู้ประพันธ์อ้อนวอนขอให้ทรงช่วยให้พ้นนั้นมักจะเป็นหนึ่งในสามเรื่องนี้คือ ความตายที่กำลังคุกคามอยู่ ความเจ็บป่วย(ถึงตาย) และการถูกใส่ร้ายกล่าวโทษอย่างผิดๆ

              (ข) คำอ้อนวอนส่วนรวม ได้แก่ สดด 12; 44; 60; 74; 79; 80; 83; 85; 106; 123; 129; 137 มีโครงสร้างแบบเดียวกับ “คำอ้อนวอนส่วนตัว” แต่ความทุกข์หรืออันตรายที่ขอให้พระยาห์เวห์ทรงช่วยนั้นเป็นเหตุร้ายของชาติ เช่นการแพ้สงคราม การที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย ภัยพิบัติระดับชาติ เช่นยามกันดารอาหาร โรคระบาด หรือประสบภัยธรรมชาติ (ยอล1:2) สถานการณ์แวดล้อมของเพลงสดุดีประเภทนี้ก็คือการชุมนุมของประชาชนเพื่ออธิษฐานภาวนาหรือจำศีลอดอาหารใช้โทษบาปตามประกาศทางการ

              ในคำอ้อนวอนส่วนรวมจะมีการเน้นถึงพันธสัญญาและการที่พระยาห์เวห์ทรงเคยช่วยเหลือประชากรมาแล้วในอดีต ในคำร้องหาพระยาห์เวห์ พระองค์จะได้รับสมญาที่บอกลักษณะส่วนรวม เช่น “ผู้เลี้ยงแห่งอิสราเอล” (สดด 80:1) และมักเปรียบอิสราเอลเป็น “ฝูงแกะ” หรือ “สวนองุ่น” ของพระองค์ที่จำเป็นต้องทรงเอาพระทัยใส่ตามพระสัญญา ไม่อาจทรงทอดทิ้งให้บรรดาศัตรูเยาะเย้ยพระองค์ได้ ดังนั้นพระองค์ทรงต้องช่วยเหลือ “เพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์” (สดด 79:9) หรือ “เพราะเห็นแก่ความรักมั่นคงของพระองค์” (สดด 44:25) เพราะประชากรอิสราเอลเป็นของพระองค์และวางใจในพระองค์เหมือนกับจะกล่าวว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ นี่คือประชากรของพระองค์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นธุระของพระองค์โดยตรง” การขอร้องให้ทรงช่วยในบางครั้งก็เร่งเร้าเป็นพิเศษ เช่นอาจขอให้พระองค์ “ทรงตื่นขึ้น” จากหลับ (สดด 44:23) แต่ก็มีความมั่นใจว่าจะทรงสดับฟังคำอ้อนวอนอย่างแน่นอนเช่นเดียวกับในคำอ้อนวอนส่วนตัว

              เนื่องจากว่าในเพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนมีสำนวนแสดงความไว้วางใจในพระเจ้าบ่อยๆ (สดด 3; 4-6; 5:12; 22:4-5; 28:7; 44:6-7) เมื่อเพลงสดุดีบทหนึ่งเน้นถึงความไว้วางใจในพระเจ้าเป็นพิเศษ เราอาจจัดไว้ต่างหากเป็น “เพลงสดุดีแสดงความไว้วางใจ” (Psalms of Trust) ซึ่งอาจแบ่งเป็น “ส่วนตัว” (สดด 4;11; 16; 23; 62; 91; 121; 13) และ “ส่วนรวม” (สดด 115; 125; 129)

              3.3 เพลงสดุดีประเภท “คำขอบพระคุณ” (Psalms of Thanksgiving) เพลงสดุดีประเภทนี้สืบเนื่องมาจากประเภท “คำอ้อนวอน” ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นการขอบพระคุณที่ได้รับความช่วยเหลือจากพระยาห์เวห์ตามที่ได้อ้อนวอนขอ เพลงสดุดีประเภทนี้มีจำนวนไม่มากนัก (สดด 9-10; 18; 21; 30; 33; 34; 40; 65-68; 92; 116; 118; 124; 129; 138; 144) สถานการณ์แวดล้อมของเพลงสดุดีประเภทนี้ก็คือศาสนพิธีในพระวิหารที่บุคคลซึ่งได้รับความช่วยเหลือตามที่วอนขอมาถวายบูชาขอบพระคุณที่พระยาห์เวห์ได้โปรดให้ตามที่ขอ จะเป็นการส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ได้

              โครงสร้างของเพลงสดุดีประเภทนี้ประกอบด้วย (ก) การแสดงความยินดีที่จะสรรเสริญขอบคุณพระยาห์เวห์ในรูปคำบอกเล่า เช่น “ข้าพเจ้าจะขอบพระคุณพระองค์สิ้นสุดจิตใจ” (สดด 133:1; 9:1) บางครั้งข้อความตอนนี้อาจทำให้นึกว่าเป็น “คำสรรเสริญ” ซึ่งมักจะอยู่ในรูปคำเชิญชวนมากกว่า (ข) ต่อจากนั้นจะเป็นการบรรยายถึงความทุกข์ที่เคยได้รับและขอให้พระองค์ทรงช่วย ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับเพลงสดุดีประเภท “คำอ้อนวอน” เป็นอย่างมาก แต่เพลงสดุดีประเภท “คำขอบพระคุณ” มักจะเน้นถึงการที่พระยาห์เวห์ได้ทรงช่วยให้พ้นจากอันตรายเหล่านั้นแล้ว การกล่าวเน้นถึง “ความช่วยเหลือ” จากพระยาห์เวห์นับเป็นสาระสำคัญยิ่งของเพลงสดุดีประเภท “คำขอบพระคุณ” (สดด 31:1-3; 40:1-2) ความช่วยเหลือที่ได้รับอาจเป็นการช่วยให้พ้นจากความเจ็บป่วยร้ายแรง (สดด 30; 116) หรือการอภัยบาป (สดด 32; 103) (ค) และหลายครั้งมีการขยายข้อความเรื่องพระยาห์เวห์ทรงช่วยเหลือนี้ออกเป็นคำสั่งสอนผู้ที่อยู่รอบๆ นั้นด้วย (สดด 1; 23-24; 40:4-10; 66:16-19) (ง) เพลงสดุดีประเภทคำขอบพระคุณมักจะลงท้ายด้วย คำสรุปสั้นๆ สรรเสริญพระยาห์เวห์ เช่นเดียวกับประเภท “คำสรรเสริญ”

4. การจำแนกเพลงสดุดีตามเนื้อหา

              การแบ่งเพลงสดุดีตามลักษณะวรรณกรรมช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาของเพลงสดุดีแต่ละบทได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่หลายครั้งลักษณะต่างๆ ที่ช่วยให้จัดประเภทเช่นนี้อาจเห็นได้ไม่ง่ายนัก ส่วนมากในเพลงสดุดีบทเดียวกันอาจมีลักษณะของประเภทต่างๆ ปนกันอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจใช้ “เนื้อหา” และ “โอกาสที่ใช้” ของเพลงสดุดีมาเป็นมาตรการจัดประเภทเพลงสดุดีได้อีก ดังนี้

              4.1 เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ (Royal Psalms) เพลงสดุดีประเภทนี้ไม่มีแบบวรรณกรรมใหม่ เพราะจัดอยู่ในประเภทคำสรรเสริญ คำอ้อนวอน หรือคำขอบพระคุณก็ได้ แต่มีการกล่าวถึงกษัตริย์โดยเฉพาะ เพราะกษัตริย์ในอิสราเอลมีตำแหน่งพิเศษ พระองค์มิใช่เพียงผู้นำทางโลกของประชากรที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกสรรเป็นพิเศษเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นเครื่องมือในแผนการของพระเจ้า ทรงมีส่วนในพระสัญญาและทรงเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ของชนชาตินี้ด้วย กษัตริย์ทรงเป็นทั้งผู้แทนของพระยาห์เวห์ ผู้นำประชากร และทรงเป็นผู้แทนประชากรเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระองค์ยังเป็นผู้แทนของราชวงศ์ที่ได้รับพระพรพิเศษจากพระเจ้า (2 ซมอ 7) เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ส่วนใหญ่จึงมีความหมายถึงพระเมสสิยาห์ (= “ผู้รับเจิม”) ของพระยาห์เวห์อีกด้วย เพลงสดุดีประเภทนี้ได้แก่ สดด 2; 18; 20-21; 45; 72; 89; 101; 110; 132

              สถานการณ์แวดล้อมของเพลงสดุดีเหล่านี้ก็คือราชสำนักของอิสราเอลในโอกาสพิธีราชาภิเษก (สดด 2; 72; 110) หรือราชาภิเษกสมรส (สดด 45) หรือเฉลิมฉลองชัยชนะของพระราชา (สดด 18; 21) รวมทั้งอ้อนวอนขอพระยาห์เวห์ให้ทรงคุ้มครองพระราชา (สดด 20; 89) เพลงสดุดีเหล่านี้คงจะแต่งขึ้นในสมัยที่อิสราเอลยังมีกษัตริย์ปกครองอยู่ ชาวอิสราเอลหลังกลับจากเนรเทศไม่มีกษัตริย์ปกครองแล้วก็จริง แต่เพลงสดุดีเหล่านี้ยังใช้ขับร้องต่อไป เป็นการหล่อเลี้ยงความหวังในพระเมสสิยาห์ที่จะเสด็จมาในอนาคต ต่อมาคริสตชนจะขับร้องเพลงสดุดีเหล่านี้โดยความเข้าใจว่าพระ เมสสิยาห์ผู้นี้ก็คือพระเยซูคริสตเจ้า (Christos = ผู้รับเจิม = พระเมสสิยาห์)

              4.2 บทเพลงศิโยน (Psalms of Sion) เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงยึดกรุงเยรูซาเล็มได้แล้ว ทรงสถาปนาให้เป็นราชธานี และทรงนำหีบพันธสัญญามาประดิษฐานที่นี่ เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารขึ้นแล้ว กรุงเยรูซาเล็มหรือศิโยนกลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของอิสราเอล เป็นสถานที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกไว้เป็นที่ประทับของพระองค์ (สดด 78:68-69; 67:16) เมื่อพระวิหารถูกทำลายและชาวอิสราเอลกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ศิโยนได้กลายเป็นศูนย์กลางของความหวังในพระเมสสิยาห์ (อสย 60; 66; ศคย 8) เป็นศูนย์รวมจิตใจของมวลมนุษย์ เพราะฉะนั้น ทั้งก่อนและหลังเนรเทศจึงมีเพลงสดุดีหลายบทกล่าวถึงนครศักดิ์สิทธิ์และพระวิหาร (เช่น สดด 15; 24; 46; 48; 76; 84; 120-134)

               บทเพลงศิโยนเหล่านี้ใช้ขับร้องขณะที่ชาวอิสราเอลผู้แสวงบุญเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ในโอกาสฉลอง 3 ครั้ง คือ ปัสกา เปนเตกอสเต และเทศกาลอยู่เพิง (อพย 23:17; 34:23; ฉธบ 16:16)

               4.3 เพลงสดุดีกล่าวถึงพระยาห์เวห์ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์ (Kingship of Yahweh Psalms) อิสราเอลมีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองพวกเขา (อพย 15:18; กดว 23:21; ฉธบ 33:5; วนฉ 8:22; 1 ซมอ 8:7; 12:12) พระองค์ประทับท่ามกลางพวกเขาเหนือหีบพันธสัญญาระหว่างเครูบสองตน (สดด 18:10; 80:1; 99:1; ดนล 3:55; 2 พกษ 19:15) หนังสืออพยพ (37:1-9) บรรยายถึงหีบพันธสัญญาว่ามีฝาเป็น “พระที่นั่งพระกรุณา” ประดิษฐานอยู่ในกระโจมนัดพบ และภายหลังใน “สถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” ที่มืดทึบของพระวิหารส่วนในที่สุด พระยาห์เวห์จึง “ประทับอยู่เหนือหีบพันธสัญญา” โดยไม่มีใครแลเห็น หีบพันธสัญญาจึงได้ชื่อว่าเป็น “ที่รองพระบาทของพระยาห์เวห์” (สดด 132:7 เทียบ 99:5)

               4.4 เพลงสดุดีประเภทปรีชาญาณ (Wisdom Psalms) แบบแผนและเนื้อหาของเพลงสดุดีประเภทนี้แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ แต่ก็ยังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติระหว่างผู้รู้เกี่ยวกับปัญหาสำคัญ 3 ประการด้วยกัน คือ (ก) เพลงสดุดีบทใดบ้างอาจจัดอยู่ในประเภทนี้  (ข) สถานการณ์ที่มาของเพลงสดุดีประเภทนี้ และ (ค) เพลงสดุดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะอย่างไร เพลงสดุดีประเภทนี้ได้แก่ สดด 1; 34; 37; 49; 112; 128 และยังอาจรวมถึง สดด 32; 73; 111 และ 127 ด้วย

                ลักษณะเฉพาะของเพลงสดุดีประเภทนี้คล้ายกับลักษณะของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณทั่วไป บางบทขึ้นต้นด้วยสูตร “ย่อมเป็นสุข” ('ashre) สดด 1:1; 32:1-2; 127:5; 128:1 หรือสูตร “ดีกว่า” สดด 37:16; หรือคำเรียกศิษย์ว่า “ลูกเอ๋ย” (สดด 34:11-14) และยังมีสุภาษิตบางบทแทรกเข้ามาด้วย (สดด 37:9-11, 22, 28ข-29ก, 34ข = สภษ 2:21-22; สดด 111:10 = สภษ 1:7) นอกจากนั้น สดด 127:1-2, 3-5 ยังมีลักษณะคำพังเพย และ สดด 34; 37; 111; 112; 119 ยังมีลักษณะ “กลบทอักษร” (acrostic) คือแต่ละบรรทัดหรือแต่ละตอนจะเริ่มด้วยพยัญชนะภาษาฮีบรูเรียงตามลำดับด้วย

                4.5 เพลงสดุดีศาสนพิธี (Liturgical Psalms) เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ว่าเพลงสดุดีเป็นบทเพลงที่ใช้ขับร้องในศาสนพิธี เพลงสดุดีแต่ละบทอาจสะท้อนบางด้านของศาสนพิธีของอิสราเอล แต่ก็มีเพลงสดุดีจำนวนไม่น้อยที่มีที่มาจากศาสนพิธีโดยตรง เช่นเป็นบทเพลงใช้ตอนเริ่มพิธี สดด 15; 24:3-6; อสย 33:14ข-16 (เทียบ ยรม 7:2-15; มคา 6:6-8) บทเพลงเหล่านี้อาจเป็นองค์ประกอบของศาสนพิธีภาคเริ่มต้น โดยที่ผู้มาร่วมพิธีเดินขบวนแห่เข้ามาในบริเวณพิธี มีการโต้ตอบระหว่างผู้จะเข้ามาร่วมพิธีกับบุคลากรของพระวิหาร เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมจะเข้ามาร่วมพิธีในพระวิหารได้ คำตอบเน้นถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและยืนยันว่าผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวอาจเข้ามาร่วมพิธีได้ (สดด 15:1/15:5ข; 24:3/24:5-6) สดด 24:7-10 อาจสะท้อนการแห่เข้าพระวิหารซึ่งเป็นพิธีต่อจากนั้น บางท่านยังเห็นว่า สดด 134 ก็เป็นเพลงสดุดีศาสนพิธีด้วย เพลงสดุดีสั้นๆ บทนี้ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของ “บทเพลงแห่ขึ้น” ประกอบด้วยคำเชิญชวนให้ถวายเกียรติแด่พระยาห์เวห์ (ข้อ 1-2) และจบลงด้วยคำอวยพรจากสมณะประธานในพิธี (ข้อ 3)

                4.6 เพลงสดุดีประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ (Historical Psalms) สดด 78; 105-106; 135-136 เล่าถึงกิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงกระทำในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล

5. ผู้นิพนธ์และระยะเวลานิพนธ์เพลงสดุดี

                “คำนำหน้า” จัดให้เพลงสดุดีจำนวน 73 บทเป็นของกษัตริย์ดาวิด 12 บท เป็นของอาสาฟ 11 บทเป็นของ “คณะโคราห์” และเป็นของเฮมาน เอทาน (หรือเยดูธูน) โมเสสและซาโลมอน คนละ 1 บท คำนำหน้าในภาษากรีก (LXX) ไม่ตรงกับตัวบทภาษาฮีบรูเสมอไปนัก และให้เพลงสดุดีจำนวน 82 บทเป็นของกษัตริย์ดาวิด ในภาษาซีเรียคก็ยิ่งแตกต่างกันไปอีกมาก ธรรมประเพณีมักจัดให้กษัตริย์ดาวิดเป็นผู้ประพันธ์มิใช่เพียงแต่เพลงสดุดีที่มีชื่อของพระองค์ติดอยู่เท่านั้น แต่เป็นผู้ประพันธ์เพลงสดุดีทั้งหมด

                แต่ในความเป็นจริง หนังสือเพลงสดุดีครอบคลุมผลงานกวีของกวีหลายคนตลอดเวลาหลายศตวรรษ เพลงสดุดีจำนวนมากทีเดียวประพันธ์ขึ้นในสมัยมีกษัตริย์ปกครอง โดยเฉพาะเพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ ส่วนเพลงสดุดีเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์นั้นสะท้อนเพลงสดุดีก่อนหน้านั้น เพลงสดุดีบางบทน่าจะประพันธ์ขึ้นระหว่างช่วงเวลาเนรเทศ เช่น สดด 137 ที่กล่าวถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็มและการเนรเทศ สดด 126 ฉลองการกลับจากถิ่นเนรเทศ ระยะเวลาหลังจากนั้นน่าจะเป็นเวลาที่เพลงสดุดีจำนวนมากประพันธ์ขึ้น พระวิหารหลังที่สองซึ่งสร้างขึ้นใหม่คงจะเอื้ออำนวยการฟื้นฟูศาสนพิธีให้สง่างามยิ่งขึ้น สถานภาพของนักขับร้องได้รับการยกย่องขึ้นเสมอกับชนเลวี และผู้มีปรีชาอย่างบุตรสิราก็ใช้แบบแผนของเพลงสดุดีในการเผยแผ่คำสั่งสอนของตน เพลงสดุดีบางบทอาจเขียนขึ้นในสมัยชาวเปอร์เซียปกครองหรือในสมัยมัคคาบีด้วย เช่น สดด 44; 74; 79 และ 83 เป็นต้น

6. คุณค่าทางจิตใจของเพลงสดุดี

                เพลงสดุดีเป็นคำอธิษฐานภาวนาของอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า พระองค์ทรงดลใจให้เกิดความรู้สึกที่บรรดาบุตรของพระองค์ควรมีต่อพระองค์ ทรงดลใจให้เขียนข้อความที่เขาควรใช้เมื่อสนทนากับพระองค์ พระเยซูเจ้า พระนางมารีย์พรหมจารี บรรดาอัครสาวก มรณสักขีในสมัยแรกได้ใช้เพลงสดุดีเหล่านี้สนทนากับพระเจ้า พระศาสนจักรได้รับเอาเพลงสดุดีมาเป็นบทภาวนาทางการของตนด้วยโดยมิได้เปลี่ยนแปลง คำร้องสรรเสริญ อ้อนวอนและขอบพระคุณที่ออกมาจากผู้ประพันธ์เพลงสดุดีในเหตุการณ์และประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิต มีคุณค่าเป็นสากล เพราะแสดงออกซึ่งท่าทีและความรู้สึกที่มนุษย์ทุกคนควรมีต่อพระเจ้า พระศาสนจักรรับเพลงสดุดีเหล่านี้มาโดยมิได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำก็จริง แต่ก็ทำให้ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายสมบูรณ์และร่ำรวยขึ้น ในพันธสัญญาใหม่ คริสตชนผู้ขับร้องจะสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงเปิดเผยความลึกลับเกี่ยวกับพระธรรมชาติของพระองค์ให้เราทราบ ขอบพระคุณพระองค์ที่ประทานพระคริสตเจ้า พระบุตรเพื่อไถ่ชาวเรา ขอบพระคุณพระองค์ที่ประทานพระจิตเจ้าให้มาประทับอยู่กับเรา เพราะฉะนั้น คริสตชนจึงสรุปเพลงสดุดีแต่ละบทด้วยการถวายเกียรติแด่พระตรีเอกภาพ “พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา และพระบุตร และพระจิต...” คำอ้อนวอนของอดีตยิ่งมีความหมายประทับใจมากขึ้นในเมื่อการเลี้ยงครั้งสุดท้าย ไม้กางเขน และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าได้สอนเราให้เข้าใจความรักอันปราศจากขอบเขตของพระเจ้า ความเลวร้ายของบาป และความรุ่งเรืองที่ทรงสัญญาจะประทานให้แก่ผู้มีความเชื่อ ความหวังที่เพลงสดุดีเหล่านี้แสดงไว้ก็ได้สำเร็จเป็นจริงแล้ว พระเมสสิยาห์เสด็จมาแล้ว พระองค์กำลังครองราชย์ และนานาชาติก็ได้รับเชิญให้เข้ามาสรรเสริญพระองค์โดยพร้อมเพรียงกัน

7. เพลงสดุดีเป็นคำภาวนาของคริสตชนอย่างไร

เพลงสดุดีอาจจะรับการตีความจากคริสตชนได้เป็น 3 แบบต่อไปนี้ คือ

           (ก) เป็นพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ตรัสกับพระบิดา

           (ข) เป็นถ้อยคำที่พระศาสนจักร (อิสราเอลแท้จริง) กราบทูลพระบิดาเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า หรือ

            (ค) เป็นถ้อยคำที่พระศาสนจักรกราบทูลพระคริสตเจ้า (“พระยาห์เวห์” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า”) โดยตรง

             7.1 ในกรณีแรก (พระคริสตเจ้าตรัสกับพระบิดา) นักบุญออกัสตินเน้นคำสอนที่ว่าพระคริสตเจ้าผู้ตรัสกับพระบิดานี้คือ “พระคริสตเจ้าทั้งหมด” (The Whole Christ) คือพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะพร้อมกับพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกาย ฉะนั้น เมื่อกลุ่มคริสตชนขับร้องหรือภาวนาเพลงสดุดี พระคริสตเจ้า “ทั้งหมด” ก็ทรงร่วมภาวนาด้วย คริสตชนกราบทูลพระบิดาในพระนามของพระคริสตเจ้า เปล่งพระสุรเสียงและแสดงความรู้สึกของพระองค์ การเข้าใจแบบนี้ใช้ได้ดีกับเพลงสดุดีประเภท “อ้อนวอน” และ “ขอบพระคุณ” พระคริสตเจ้าซึ่งยังประทับอยู่ในโลก ในพระศาสนจักร และในคริสตชนแต่ละคน อ้อนวอนขอพระบิดาในความทุกข์ยากลำบากของบรรดาคริสตชน และขอบพระคุณสำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับ ความคิดที่ว่าคริสตชนทุกคนเป็นส่วนของพระกายเดียวกันของพระคริสตเจ้านับว่ามีความสำคัญมากสำหรับบทภาวนาในพิธีกรรม ตัวอย่างเช่น คริสตชนที่กำลังขับร้องหรือสวดเพลงสดุดีอาจไม่มีความทุกข์ตามถ้อยคำของเพลงสดุดีที่บรรยายถึงความทุกข์ยากนั้นเลย แต่การภาวนาของเขาก็ยังมีความหมาย เพราะเขาเป็นหนึ่งเดียวกับคริสตชนอื่นๆ ที่กำลังทนทุกข์ ร่วมเป็นพระกายเดียวกันของพระคริสตเจ้า

              7.2 คำภาวนาของพระศาสนจักรเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าแสดงออกในเพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ (พระเมสสิยาห์) พระศาสนจักรขอบพระคุณพระเจ้าที่ประทานพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นพระเมสสิยาห์จากตระกูลดาวิดตามพระสัญญาให้เป็นผู้นำพระศาสนจักร และนำความรอดพ้นมาให้คริสตชนซึ่งเป็นประชากรของพระองค์ นอกจากนั้น คริสตชนแต่ละคน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า ก็มีส่วนในตำแหน่งกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าด้วย จึงขอความช่วยเหลือจากพระบิดาสำหรับกษัตริย์ให้มีชัยชนะ

               7.3 พระศาสนจักรใช้เพลงสดุดีเป็นคำอ้อนวอนและสรรเสริญพระคริสตเจ้าโดยตรง ในฐานะพระยาห์เวห์ผู้ทรงกอบกู้ชาวเรา พระคริสตเจ้าทรงหลั่งพระโลหิตชำระพระศาสนจักรให้บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ เป็นธรรมเนียมของพระศาสนจักรแต่แรกเริ่มมาแล้วที่จะถวายคำภาวนาต่อพระคริสตเจ้าโดยตรง ในฐานะที่ทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (Kyrios = Lord ซึ่งเป็นนามที่ชาวอิสราเอลใช้เรียกพระยาห์เวห์ พระเจ้าของตน) และทรงเป็น “พระผู้กอบกู้” เช่นเดียวกับที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำต่ออิสราเอลประชากรของพระองค์

               แม้ว่าเพลงสดุดีจะเป็นบทภาวนาของอิสราเอลโดยเฉพาะ ถึงกระนั้น คริสตชนและพระศาสนจักรก็อาจใช้เป็นบทภาวนาของตนได้โดยไม่ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปมากนัก ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงหลักการปรับความคิดความเข้าใจทั้งสามประการดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี ในฐานะที่พระคริสตเจ้าทรงพร่ำสอนเราคริสตชนให้มีความถ่อมตนในความต่ำต้อย เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป ทั้งยังทรงกำชับให้เรารักเพื่อนมนุษย์ทุกคนแม้กระทั่งศัตรู ตามแบบฉบับที่ทรงให้อภัยแก่เพชฌฆาตที่ประหารชีวิตพระองค์ด้วย คริสตชนบางคนอาจจะรู้สึกว่าข้อความบางตอนของเพลงสดุดีขัดกับคำสอนของพระคริสตเจ้า ได้แก่ การยืนยันความบริสุทธิ์ของตน และคำสาปแช่งศัตรู

               ก่อนอื่นเราต้องไม่ลืมว่าข้อความดังกล่าวก็เป็นข้อความที่พระเจ้าทรงดลใจเช่นเดียวกับพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ นอกจากนั้นการเปิดเผยความจริงจากพระเจ้าเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีรู้สึกว่าตนมีคุณธรรมตามมาตรการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อเปรียบเทียบกับคนบาปที่ไม่มีความเชื่อและไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเลย ผู้ยืนยันความบริสุทธิ์ยังสำนึกอยู่เสมอว่าตนยังทำผิดพลาดได้ และต้องการพระเมตตากรุณาจากพระเจ้า การยืนยันความบริสุทธิ์เช่นนี้จึงไม่ใช่การโอ้อวดตนด้วยความภูมิใจแบบชาวฟาริสีที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิ

                ส่วนเรื่องการสาปแช่งและขอให้พระเจ้าทรงแก้แค้นศัตรู ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของพระคริสตเจ้า เราควรคำนึงว่า “พระองค์มิใช่พระเจ้าซึ่งพอพระทัยในความชั่ว คนชั่วจะอยู่กับพระองค์ไม่ได้” (สดด 5:4) พระเจ้าทรงเป็น “ผู้ที่พระเนตรบริสุทธิ์เกินกว่าที่จะทอดพระเนตรดูความชั่วใดๆ” (ฮบก 1:13) ผู้ภาวนาจึงวอนขอให้พระเจ้าทรงทำลายความชั่ว แต่ความชั่วที่จำเป็นต้องถูกทำลายนั้นมิได้ลอยอยู่ด้วยตัวเอง แต่อยู่ใน “คนชั่ว” เพราะถ้า “คนชั่ว” ถูกขจัดให้สิ้นแล้ว “ความชั่ว” ก็ย่อมจะไม่มีด้วยเช่นเดียวกัน การขอให้พระเจ้าทรงทำลายคนชั่วจึงเป็นการแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะขจัดความชั่วทั้งปวง จึงเป็นการแสดงความปรารถนาให้ “พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึง” อย่างแท้จริง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือสุภาษิต

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือสุภาษิต

             1. หนังสือสุภาษิตนับได้ว่าเป็นผลงานสะท้อนวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของอิสราเอลได้ดีที่สุด (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรรมประเภทปรีชาญาณ”) เนื้อหาของหนังสือฉบับนี้แบ่งได้เป็นตอนสำคัญสองตอน ตอนแรกคือ สภษ 10–22:16 ซึ่งได้ชื่อว่า “สุภาษิตของกษัตริย์ซาโลมอน” (ประกอบด้วยสุภาษิต 275 บท) ตอนที่สองคือบทที่ 25-29 มีข้อความนำว่า “สุภาษิตเพิ่มเติมของกษัตริย์ซาโลมอน ที่ข้าราชสำนักของกษัตริย์เฮเซคียาห์คัดลอกไว้” (ประกอบด้วยสุภาษิต 128 บท) เนื้อหาแต่ละตอนนี้ยังมีกลุ่มสุภาษิตผนวกเพิ่มเข้ามาอีกด้วย เนื้อหาตอนแรกมี “ถ้อยคำของผู้มีปรีชา” (22:17–24:22) และ “ต่อไปนี้ยังเป็นข้อเขียนของผู้มีปรีชาด้วย” (24:23-34) ส่วนเนื้อหาตอนที่สองมีข้อความเพิ่มเติมที่จั่วหน้าว่า “คำพูดของอากูร์” (30:1-9) ตามด้วย “สุภาษิตกล่าวเป็นตัวเลข” (30:15-33) และ “คำพูดของเลมูเอล” (31:1-9) และหนังสือทั้งหมดมีภาคอารัมภบทยืดยาวนำหน้า (บทที่ 1-9) ซึ่งเป็นคำสอนที่บิดาสอนบุตรของตนให้แสวงหาปรีชาญาณ และปรีชาญาณก็เข้ามาร่วมตักเตือนด้วย หนังสือสุภาษิตจบด้วยบทประพันธ์กลบทอักษรชมสรรเสริญยอดหญิงที่เป็นภรรยา

              ลำดับที่ส่วนกลางของหนังสือจัดเรียงสุภาษิตต่างๆ นั้นไม่สู้จะมีความสำคัญมากนัก เราพบว่าพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกเรียงลำดับแตกต่างจากฉบับภาษาฮีบรู และสุภาษิตในแต่ละตอนของหนังสือก็เรียงไว้โดยไม่มีความต่อเนื่องทางความคิดแต่ประการใด หนังสือสุภาษิตจึงนับได้ว่าเป็น “การรวบรวมข้อความต่างๆ ที่นำมารวมกันไว้แล้ว” (“Collection of Collections”) ภายในกรอบของ “อารัมภบท” และ “บทสรุป” หนังสือสุภาษิตนี้จึงสะท้อนวิวัฒนาการทางวรรณกรรมที่เรากล่าวไว้แล้วใน “ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ” เนื้อหาของหนังสือทั้งสองตอนที่สำคัญเกือบทั้งหมดประกอบด้วย “mashal” ที่เขียนในรูปแบบดั้งเดิมที่สุดเป็นคำคมสั้นๆ เพียง 2 ประโยค ส่วนใน “ภาคผนวก” เราพบรูปแบบที่มีการพัฒนามากขึ้น เช่นบทประพันธ์สั้นๆ ที่กล่าวถึงจำนวนเลขใน 30:15-33 (ดู 6:16-19) เพิ่มความน่าอ่านของการแสดงความคิดซึ่งมีการทายปัญหาเพิ่มเข้ามาในข้อความที่เป็นคำเตือนใจด้วย วิธีเขียนเช่นนี้เคยมีใช้แล้วก่อนหน้านั้นด้วย (ดู อมส 1) อารัมภบทในบทที่ 1-9 ประกอบด้วยคำตักเตือนยืดยาวคั่นด้วยคำเตือนของปรีชาญาณซึ่งแสดงตนเป็นอาจารย์สอน ส่วน “บทสรุป” ใน 31:10-31 เป็นคำประพันธ์ที่เรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นนักวิชาการ

               การพัฒนารูปแบบเช่นนี้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาต่างๆ ของกิจกรรมด้านวรรณกรรม เนื้อหาเก่าแก่ที่สุดประกอบด้วยสุภาษิตชุดใหญ่สองชุด ชุดแรกคือบทที่ 10-22 ชุดที่สองคือบทที่ 25-29 ข้อเขียนทั้งสองชุดนี้ถูกจัดให้เป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนซึ่งตามข้อความใน 1 พกษ 5:12 ทรงเป็นผู้ประพันธ์ “สุภาษิตสามพันบท” และทรงได้รับความนับถือว่าเป็นผู้มีปรีชายิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล แต่ทว่าสุภาษิตเหล่านี้มิได้แสดงลักษณะเฉพาะส่วนตัวใดๆ เลยของผู้แต่ง จึงทำให้เราไม่อาจกล่าวได้ว่าสุภาษิตบทใดบ้างเป็นผลงานของพระองค์ แต่ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะคิดว่าการรวบรวมสุภาษิตเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยของพระองค์ สุภาษิตชุดที่สองถูกกล่าวว่ามีอายุเก่าแก่อยู่แล้วเมื่อข้าราชสำนักของกษัตริย์เฮเซคียาห์ ราวปี 700 ก่อน ค.ศ. ได้คัดลอกข้อความเหล่านี้ไว้ สุภาษิตทั้งสองชุดนี้จึงเป็น “แก่น” ของหนังสือและให้ชื่อผลงานนี้อย่างเต็มยศว่า “หนังสือสุภาษิตของกษัตริย์ซาโลมอน” (1:1) ถึงกระนั้น ชื่อของตอนย่อยต่าง ๆแสดงว่าเราต้องไม่เข้าใจชื่อของหนังสือนี้ตามตัวอักษรเกินไป พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ใช่ข้อความทุกตอนเป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนทั้งหมด เพราะข้อความใน สภษ 22:17 – 24:34 ถูกกล่าวว่าเป็นผลงานของผู้มีปรีชาที่เราไม่รู้จักชื่อ และยังมีคำสอนของอากูร์และของลามูเอลใน สภษ 30:1 – 31:9 อีกด้วย ถึงแม้ว่าชื่อของผู้มีปรีชาชาวอาหรับทั้งสองท่านนี้อาจเป็นชื่อสมมติไม่ใช่ชนชาตินั้นจริงๆ ชื่อเหล่านี้ก็ยังบอกเราว่าพระคัมภีร์ให้ความเคารพนับถือแก่วรรณกรรมปรีชาญาณของชนต่างชาติด้วย (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ” ข้อ 1) ข้อพิสูจน์ชัดเจนในเรื่องนี้ยังพบได้อีกใน “ถ้อยคำของผู้มีปรีชา” (สภษ 22:17 – 23:11) ซึ่งมีพื้นฐานจากสุภาษิตอียิปต์ของอาเมน-เอม-โอฟิส ที่เขียนบันทึกไว้ราวต้นสหัสวรรษที่หนึ่ง ก่อน ค.ศ.

               2. คำปราศรัยใน สภษ บทที่ 1-9 มีลักษณะเหมือนกับ “คำแนะนำสั่งสอน” ตามแบบคลาสสิคของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของชาวอียิปต์ และยังเหมือนกับ “คำแนะนำที่บิดาให้แก่บุตร” ซึ่งเพิ่งค้นพบได้เมื่อไม่นานมานี้เป็นงานเขียนภาษาอัคคาเดียนที่เมืองอูการิต (Ugarit) ในประเทศซีเรีย การที่ปรีชาญาณแสดงตนเป็นเหมือนบุคคลหนึ่งที่สั่งสอนศิษย์นับได้ว่าเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่เคยพบแล้วในอียิปต์ ที่ซึ่ง “ความยุติธรรม-ความจริง” แสดงตนเป็นเทพี “มาอัท” แต่ถึงกระนั้น การเอาอย่างเช่นนี้ก็ไม่ใช่การเอาอย่างทุกแง่มุมเต็มร้อย เพราะหนังสือสุภาษิตยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะของนักคิดชาวอิสราเอล ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเชื่อที่เขามีต่อพระยาห์เวห์ ส่วนสำคัญที่เป็นแก่นของหนังสือ (บทที่ 10-29) จึงอาจกล่าวได้ว่ามีอายุตั้งแต่สมัยก่อนเนรเทศไปกรุงบาบิโลน เราไม่อาจกำหนดได้แน่ว่าบทที่ 30-31 เขียนขึ้นเมื่อไร ส่วนอารัมภบทในบทที่ 1-9 นั้นเขียนขึ้นในสมัยหลังอย่างแน่นอน เพราะมีลักษณะทางวรรณกรรมคล้ายกับงานเขียนสมัยหลังเนรเทศที่กรุงบาบิโลน จึงน่าจะชวนให้คิดว่าได้เรียบเรียงขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. และในช่วงเวลานี้เองที่หนังสือสุภาษิตทั้งเล่มได้รับรูปแบบตายตัวดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน

          เนื่องจากว่าหนังสือสุภาษิตสะท้อนความคิดของบรรดาผู้มีปรีชาตลอดหลายศตวรรษ จึงเห็นได้ว่าคำสอนในหนังสือก็พัฒนาไปด้วย แนวความคิดเด่นชัดในส่วนดั้งเดิมทั้งสองตอนของหนังสือจึงเป็นแนวความคิดของปรีชาญาณแบบมนุษย์ทั่วไป เกี่ยวกับโลกนี้ ที่อาจสะดุดใจผู้อ่านที่เป็นคริสตชน แม้ว่าในตอนนี้สุภาษิตราวหนึ่งในเจ็ดข้อยังมีความคิดเกี่ยวกับศาสนาอยู่ด้วย แต่คำสอนเกี่ยวกับศาสนานี้ก็ไม่ใช่คำสอนทางทฤษฎี หากเป็นเรื่องทางปฏิบัติ เช่นสอนว่าพระเจ้าประทานรางวัลแก่ผู้ที่กล่าวความจริง มีความรัก มีเจตนาบริสุทธิ์ มีความถ่อมตน และทรงลงโทษผู้ประพฤติเลวที่ตรงกันข้าม บ่อเกิดและที่รวมของคุณธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือปรีชาญาณหรือ “ความยำเกรงพระยาห์เวห์” นั่นเอง (สภษ 15:16,33; 16:6; 22:4) พระองค์เท่านั้นทรงน่าเชื่อถือ (20:22; 29:25) ข้อความในบทต้นๆ ให้หลักการเหมือนๆ กันเรื่องปรีชาญาณแบบมนุษย์และปรีชาญาณเกี่ยวกับพระเจ้า คำสอนเหล่านี้เน้นถึงนิสัยเลวที่ผู้มีปรีชาในสมัยแรก ๆ ไม่กล่าวถึง เช่นเรื่องการผิดประเวณี (2:16ฯ; 5:2ฯ, 15ฯ) บทสรุปยังแสดงให้เห็นว่ามีการให้เกียรติแก่สตรีมากขึ้นด้วย ที่สำคัญกว่านั้น บทสรุปยังให้คำสอนที่เรียงลำดับความคิดอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับปรีชาญาณ เกี่ยวกับคุณค่าและบทบาทของปรีชาญาณในฐานะที่เป็นผู้แนะนำและควบคุมความประพฤติของมนุษย์ด้วย ผู้ปราศรัยก็คือปรีชาญาณ ซึ่งกล่าวยกย่องตนเองและอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ตนมีกับพระเจ้า ซึ่งปรีชาญาณอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์มาตั้งแต่นิรันดร และปรีชาญาณได้ช่วยเหลือพระองค์ในการเนรมิตสร้างโลก (8:22-31) ข้อความตอนนี้เป็นข้อความเก่าแก่ที่สุดที่ปรีชาญาณกล่าวถึงตนเอง (ข้อความทำนองนี้ยังพบได้อีกใน บสร บทที่ 24 และ ปชญ 7:22 – 9:1; ดู สภษ 8:22 เชิงอรรถ e ด้วย)

            3. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำสอนของพระคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นพระปรีชาญาณของพระเจ้านั้นสมบูรณ์กว่าคำสอนของหนังสือสุภาษิตมาก แต่ถึงกระนั้น สุภาษิตหลายบทก็กล่าวนำคำสอนทางจริยธรรมของพระวรสารแล้ว เราต้องจำไว้ด้วยว่าการนับถือศาสนาเที่ยงแท้นั้นพัฒนาขึ้นมาได้จากความประพฤติถูกต้องน่านับถือของมนุษย์เท่านั้น การที่พันธสัญญาใหม่ใช้หนังสือสุภาษิตบ่อยๆ (มีการยกข้อความมาใช้ถึงสิบสี่ครั้ง และกล่าวพาดพิงถึงยี่สิบครั้ง) จึงเป็นการสั่งให้คริสตชนเคารพนับถือความคิดเหล่านี้ของบรรดาผู้มีปรีชาในอดีตของอิสราเอลด้วย

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือปัญญาจารย์

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือปัญญาจารย์

 

           1. ชื่อภาษาฮีบรูของหนังสือสั้นๆ ฉบับนี้มีว่า “ถ้อยคำของ Qoheleth พระโอรสของดาวิด กษัตริย์ที่กรุงเยรูซาเล็ม”  คำภาษาฮีบรู “Qoheleth” (ดู 1:2 และ 12; 7:27; 12:8-10) เป็นสามัญนาม ไม่ใช่วิสามัญนาม บางครั้งจึงมีคำนำหน้าเจาะจง (definite article) นำอยู่ด้วย คำ “Qoheleth” นี้มีรูปเป็นเพศหญิง (สตรีลึงค์) แต่ถูกใช้เหมือนกับว่าเป็นคำเพศชาย (ปุงลึงค์) คำอธิบายที่น่าเป็นไปได้มากที่สุดในเรื่องนี้คือ คำ “Qoheleth” นี้มีความหมายบอกหน้าที่ของการเป็น “ผู้ปราศรัยต่อประชาชนที่มาประชุมกัน” (‘qahal’ ในภาษาฮีบรู และ ‘ekklesia’ ในภาษากรีก ดังนั้นชื่อของหนังสือในภาษาละตินและอังกฤษจึงใช้ว่า “Ecclesiastes” ตามชื่อในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก) ส่วนชื่อในภาษาไทยใช้โดยอนุโลมว่า “ปัญญาจารย์” ซึ่งทำหน้าที่ “เป็นอาจารย์ผู้ประกาศเทศน์สอน” ประชาชน  “ปัญญาจารย์” ผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็น “พระโอรสของดาวิด กษัตริย์ที่กรุงเยรูซาเล็ม” ซึ่งแน่นอนทีเดียวมาจากความเข้าใจว่า “ปัญญาจารย์” ผู้นี้คือกษัตริย์ซาโลมอน ที่ข้อความหลายตอนเท้าความถึงแม้จะไม่ออกพระนามโดยตรง เช่น ปญจ 1:16 (เทียบ 1 พกษ 3:12; 5:10-11; 10:7)  2:7-9 (เทียบ 1 พกษ 3:13; 10:23) ถึงกระนั้น วิธีเขียนเช่นนี้ก็เป็นเพียงเทคนิคทางวรรณกรรมเท่านั้น ผู้เขียนเสนอความคิดของตนแก่ประชาชนโดยใช้พระนามของ “ผู้ทรงปรีชา” ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล ศัพท์และลีลาการเขียนที่ใช้ในหนังสือนี้ รวมทั้งคำสอน (ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง) บอกเราว่าหนังสือฉบับนี้ไม่เขียนขึ้นก่อนช่วงเวลาเนรเทศไปกรุงบาบิโลนแน่ๆ นักวิชาการบางคนคิดว่าผู้เขียนหนังสือนี้ไม่มีเพียงคนเดียว แต่มีด้วยกันหลายคน มีเครื่องหมายชวนให้คิดว่าผู้เขียนอาจมีสอง สาม จนถึงแปดคนทีเดียว แต่ในปัจจุบันนักวิชาการมีแนวโน้มมากยิ่งๆ ขึ้นที่จะไม่แยกแยะเนื้อหาของหนังสือเช่นนี้ เพราะการแยกแยะดังกล่าวทำให้เราไม่เข้าใจความคิดและรูปแบบวรรณกรรมของหนังสือนี้ได้ หนังสือฉบับนี้ดูเหมือนจะมีเอกภาพในลีลาการเขียนและการใช้ศัพท์ต่างๆ ถึงกระนั้น เราสังเกตเห็นเส้นแบ่งได้ชัดเจนระหว่าง 6 บทแรกกับ 6 บทหลังของหนังสือนี้ บรรดาศิษย์ของผู้เขียนได้เรียบเรียงผลงานของอาจารย์ให้เป็นผลงานชิ้นเดียวกัน โดยเพิ่มข้อความสรุปในตอนท้าย (ปญจ 12:9-14)

          คล้ายกับหนังสือวรรณกรรมปรีชาญาณฉบับอื่นๆ เช่น หนังสือโยบและหนังสือบุตรสิรา รวมทั้งหนังสือสุภาษิตที่มีองค์ประกอบหลายส่วน ความคิดหลักของหนังสือปัญญาจารย์ดำเนินไปโดยไม่มีระเบียบมากนัก ผู้เขียนกล่าวถึงความคิดประการหนึ่ง แล้วกล่าวซ้ำอีก และแก้ไขความคิดนั้น หนังสือนี้จึงไม่มีโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจน ดูเหมือนจะเป็นเพียงการกล่าวถึงความคิดหลักเพียงความคิดเดียว คือความคิดถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ตอนต้นของหนังสือ (1:2) และในข้อสุดท้ายตอนจบ (12:8) ทุกสิ่งทุกอย่าง ได้แก่วิชาความรู้ ทรัพย์สมบัติ ความรัก แม้กระทั่งชีวิต ล้วนเป็นสิ่งหลอกลวงไม่จีรังยั่งยืน ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่อะไรอื่นมากไปกว่าลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่เกี่ยวข้องกันและไม่มีความหมายอะไรเลย (3:1-11) จบลงด้วยความชรา (12:1-7) แล้วความตายก็มาถึง เป็นชะตากรรมที่ทั้งของคนฉลาดและคนโง่ คนร่ำรวยและคนยากจน มนุษย์และสัตว์ จะต้องเผชิญเหมือนๆกัน (3:18-20) ปัญหาของปัญญาจารย์เป็นปัญหาเดียวกันกับปัญหาของโยบ คือปัญหาว่าคุณธรรมความดีและความชั่วได้รับผลตอบแทนในโลกนี้หรือไม่ ทั้งปัญญาจารย์และโยบต่างให้คำตอบว่า “ไม่” ประสบการณ์บอกเราว่าคำตอบที่เคยได้ยินอยู่เสมอนั้นไม่เป็นความจริง (7:25 – 8:14) แต่ความคิดของปัญญาจารย์แตกต่างไปจากความคิดของโยบ  โยบพยายามหาความหมายของความทุกข์ในชีวิตนี้ แต่ปัญญาจารย์ยินดีในการมีสุขภาพดี แต่ก็พบว่าความสุขนั้นเองไม่มีความหมายและปลอบใจตนเองให้ยอมรับความยินดีที่จำกัดซึ่งชีวิตนำมาให้ได้ (3:12-13; 8:15; 9:7-9) หรือถูกกว่านั้น ปัญญาจารย์พยายามปลอบใจตนเอง เพราะเราเห็นได้ว่าเขารู้สึกผิดหวังในตอนสุดท้ายเหมือนกับในตอนแรก เขาพยายามใช้สมองพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับชีวิตหน้า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ (3:21: 9:10; 12:7) กระนั้นก็ดี เขายังมีความเชื่อในพระเจ้า วิธีการที่พระองค์ทรงปฏิบัติกับมนุษย์อาจทำให้เขารู้สึกผิดหวัง แต่เขาก็ยืนยันว่าพระเจ้าไม่ทรงมีความจำเป็นต้องอธิบายให้เหตุผลถึงวิธีการปฏิบัติของพระองค์ (3:11, 14; 7:13) แต่มนุษย์ต้องยอมรับความทุกข์และความสุขตามที่พระเจ้าทรงส่งมาให้เขา (7:14) มนุษย์ต้องมีความยำเกรงต่อพระเจ้าและปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ (12:13)

          จริงอยู่ คำสอนเช่นนี้ไม่สมเหตุสมผลนัก แต่การจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดและบางครั้งดูเหมือนจะมีความเห็นขัดแย้งกันเอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่หนังสือนี้มีผู้เขียนหลายคนนั้นไม่น่าจะรับฟังได้มากกว่าการจะอธิบายว่า ความคิดของมนุษย์เราหวั่นไหวได้เมื่อต้องเผชิญกับความลึกลับสุดๆ เช่นนี้ และไม่มีข้อมูลเพียงพอจะให้คำตอบได้ ไม่มีคำตอบใดทำให้ทั้งปัญญาจารย์และโยบหายข้องใจได้ นอกจากคำสอนเรื่องรางวัลความดีและการลงโทษความชั่วในชีวิตหลังความตายเท่านั้น (ดู “ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ” ข้อ 3)

2.       หนังสือปัญญาจารย์มีลักษณะของช่วงระยะการเปลี่ยนแปลง ความคิดที่เคยเชื่อถือกันมาแต่ดั้งเดิมถูกท้าทายและยังไม่มีความคิดใหม่เข้ามาแทนที่ ความคิดแบบฮีบรูกำลังอยู่ตรงทางแยก และนักวิชาการหลายคนในสมัยนี้ก็พยายามศึกษาความคิดของปัญญาจารย์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชนต่างชาติ แต่เราอาจกล่าวได้เลยว่าปัญญาจารย์ไม่มีความคิดเกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของลัทธิสโตอา ลัทธิเอปีคูรัส และลัทธิประชดประชันสังคม (Cynism) ดังที่มีบางคนเสนอ และปัญญาจารย์อาจมีความคุ้นเคยกับปรัชญาเหล่านี้ผ่านทางชาวอียิปต์กรีกนิยม แต่ความละม้ายคล้ายกันบ้างนี้ไม่อาจให้ข้อสรุปอะไรได้ และความคิดของผู้เขียนหนังสือปัญญาจารย์ก็ดูเหมือนจะห่างไกลจากความคิดของบรรดานักปรัชญาชาวกรีก อย่างไรก็ตาม ความคล้ายคลึงที่มีน้ำหนักกว่าน่าจะพบได้เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานประพันธ์ของชาวอียิปต์ เช่น “บทสนทนาโต้ตอบของคนหมดหวังกับวิญญาณของตน” หรือ “บทเพลงของคนดีดพิณ” และเมื่อเร็วๆนี้นักวิชาการยังเห็นความละม้ายของหนังสือปัญญาจารย์ กับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของชาวเมโสโปเตเมีย และกับ “มหากาพย์เรื่องกิลกาเมช” แต่เราก็ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าผลงานเหล่านี้มีอิทธิพลโดยตรงกับหนังสือปัญญาจารย์อย่างไรบ้าง สิ่งที่ผลงานเหล่านี้มีอยู่เหมือนๆ กันก็คือความคิดหลักบางข้อ ซึ่งบ่อยๆ เป็นความคิดที่เก่าแก่มาก และเป็นความคิดที่พบได้บ่อยๆ ในวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณของชนหลายชาติในตะวันออกกลาง ปัญญาจารย์ยังบอกด้วยว่าตนได้รับความคิดมาจากผู้มีปรีชาในอดีต และตนเป็นเพียงผู้เรียบเรียงความคิดที่ได้รับถ่ายทอดมาเท่านั้น (12:9)

          ปัญญาจารย์เป็นชาวยิวที่อาศัยในดินแดนปาเลสไตน์ อาจเป็นชาวกรุงเยรูซาเล็ม เขาเขียนผลงานเป็นภาษาฮีบรูในสมัยหลัง ซึ่งมีสำนวนภาษาอาราเมอิกแทรกอยู่ทั่วไป เขายังใช้คำภาษาเปอร์เซียด้วย 2 คำ ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่าหนังสือปัญญาจารย์เขียนขึ้นหลังสมัยเนรเทศไปกรุงบาบิโลนนานพอควร แต่ก่อนต้นศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. เพราะบุตรสิราใช้ข้อความจากหนังสือนี้แล้ว นักโบราณคดีได้ศึกษาเศษของหนังสือปัญญาจารย์ที่พบในถ้ำที่กุมรานและสรุปว่ามีอายุราวปี 150 ก่อน ค.ศ. เพราะฉะนั้นจึงน่าสรุปได้ว่าหนังสือปัญญาจารย์ต้องเขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ. ในขณะนั้นแผ่นดินปาเลสไตน์อยู่ในปกครองของราชวงศ์โทเลมีและได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีก แต่ก็ยังไม่เผชิญกับการต่อต้านอารยธรรมกรีกเพื่อปกป้องความเชื่อและความหวังของชาติในสมัยมัคคาบี

          หนังสือปัญญาจารย์สะท้อนช่วงหนึ่งของวิวัฒนาการทางศาสนาของอิสราเอล เราจึงต้องประเมินคุณค่าของหนังสือนี้ โดยพิจารณาพร้อมกันกับผลงานที่เขียนก่อนหน้าและภายหลังจากนั้นด้วย การย้ำว่าความคิดคำนึงและความพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาชีวิตมนุษย์ยังไม่ได้ผลที่คาดหวังไว้นั้นชวนให้มีการพิจารณาปัญหาของมนุษย์ต่อไป แสดงว่ามนุษย์ยังต้องการให้พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงใหม่ๆ เพิ่มขึ้น คำสอนของหนังสือปัญญาจารย์เตือนเราอย่าให้ผูกพันกับสิ่งของของโลกนี้มากเกินไป และที่กล่าวว่าคนร่ำรวยไม่ใช่ผู้มีความสุขก็เป็นการเตรียมให้โลกคอยฟังพระวาจาที่จะตรัสว่า “ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข” (ลก 6:20)

 

 

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือเพลงซาโลมอน

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือเพลงซาโลมอน

 

           1. ชื่อหนังสือฉบับนี้ในภาษาฮีบรู “เพลงแห่งเพลง” (Song of Songs) มีความหมายว่า “ยอดเพลง” หรือ “เพลงไพเราะที่สุด” ประกอบด้วยบทประพันธ์ชุดหนึ่งซึ่งกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาวคู่รักที่มาพบกัน แล้วต้องแยกจากกัน ต่างแสวงหากัน และในที่สุดก็ได้พบกันอีก หนุ่มคู่รักได้ชื่อเรียกว่า “กษัตริย์” ใน 1:4 และ 12 หรือได้ชื่อว่า “ซาโลมอน” ใน 3:7 และ 9 ส่วนหญิงสาวได้ชื่อว่า “สาวแห่งชูเลม” ใน 7:1 ซึ่งเป็นชื่อที่หลายคนคิดต่างกันไปว่ามีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ซาโลมอน หรืออาจหมายถึงนางอาบีชากแห่งชูเนมซึ่งปรากฏในเรื่องของกษัตริย์ดาวิดและซาโลมอนใน 1 พกษ 1:3; 2:21-22  ในหนังสือพงษ์กษัตริย์ (1 พกษ 5:12) ธรรมประเพณีของชาวฮีบรูกล่าวว่ากษัตริย์ซาโลมอนทรงประพันธ์บทเพลงจำนวนหนึ่ง ดังนั้น “ยอดเพลง” หรือ “เพลงไพเราะที่สุด” นี้จึงน่าจะเป็นผลงานของพระองค์ ดังนั้น หนังสือฉบับนี้จึงได้ชื่อภาษาไทยว่า “เพลงซาโลมอน” (พซม 1:1) เหมือนกับที่หนังสือสุภาษิต ปัญญาจารย์และปรีชาญาณ ได้ชื่อว่าเป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนในฐานะที่ทรงเป็น “ผู้มีปรีชา” คนหนึ่ง ความคิดที่ว่าหนังสือ “เพลงซาโลมอน” นี้เป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนจึงทำให้หนังสือฉบับนี้ถูกจัดไว้ในหมู่หนังสือประเภท “ปรีชาญาณ” อยู่ถัดจากหนังสือ “ปัญญาจารย์” ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก (LXX) และอยู่ระหว่างหนังสือ “ปัญญาจารย์” และ “ปรีชาญาณ” ซึ่งถือกันว่าเป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนด้วยในพระคัมภีร์ฉบับ Vulgata ภาษาละติน ส่วนในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูหนังสือเพลงซาโลมอนถูกจัดไว้ในหมวด “ข้อเขียน” (Ketubim หรือ “Writings”) ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายและล่าสุดของสารบบพระคัมภีร์ของชาวยิว

          ใครๆ ที่อ่านหนังสือฉบับนี้จะต้องรู้สึกแปลกใจมากที่หนังสือถูกจัดไว้ในสารบบพระคัมภีร์ซึ่งเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่หนังสือฉบับนี้ไม่กล่าวถึงพระเจ้าเลยแม้แต่ครั้งเดียว และยังใช้ภาษาที่กล่าวถึงความรักระหว่างหนุ่มสาวอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย อย่างไรก็ดี ความข้องใจดังกล่าวที่มีอยู่ในหมู่ชาวยิวของคริสตศตวรรษที่ 1 ก็ถูกขจัดไปโดยการอ้างถึงธรรมประเพณีที่เคยถือต่อๆ กันมา หลังจากนั้น บรรดาคริสตชนก็ใช้เหตุผลเดียวกันยอมรับหนังสือฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ด้วย

          ไม่มีหนังสือฉบับใดเลยในพันธสัญญาเดิม ได้รับการอธิบายความหมายที่แตกต่างกันอย่างมากมายเท่ากับหนังสือฉบับนี้ คำอธิบายล่าสุดเสนอความคิดว่าหนังสือเพลงซาโลมอนมีกำเนิดมาจากพิธีกรรมบูชาเทพีอิชทาร์และเทพทัมมุซของชาวสุเมเรียน ใน “พิธีสมรส” ของเทพเจ้าทั้งสององค์นี้พระมหากษัตริย์ทรงประกอบพิธีในฐานะตัวแทนของเทพทัมมุซ นักวิชาการที่อธิบายในแนวนี้ยังเสนอความคิดอีกว่า ในสมัยโบราณ ชาวยิวยังได้ยืมจารีตพิธีดังกล่าวจากชาวคานาอันมาใช้ในพิธีกรรมบูชาพระยาห์เวห์ด้วย โดยวิธีนี้ หนังสือ “เพลงซาโลมอน” อาจได้รับการชำระและเรียบเรียงใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิธีแสดงคารวะต่อพระยาห์เวห์ ทฤษฎีที่ว่าหนังสือเพลงซาโลมอนถือกำเนิดมาจากตำนานเทพ และจากพิธีกรรมต่างศาสนาเช่นว่านี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์น่าเชื่อถือได้ นอกจากนั้นยังไม่ง่ายนักที่จะคิดว่าชาวอิสราเอลซึ่งนับถือพระยาห์เวห์จะไปยืมบทเพลงที่ใช้ในพิธี “บูชาวอนขอความอุดมสมบูรณ์จากเทพเจ้า” มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเพียง “เพลงรัก” ชุดหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าบทเพลงบูชาเทพีอิชทาร์และเทพทัมมุซจะมีข้อความคล้ายคลึงกับบทประพันธ์ของหนังสือเพลงซาโลมอนมากน้อยเพียงไร ความคล้ายคลึงดังกล่าวก็อธิบายได้ไม่ยากจากความจริงที่ว่าบทเพลงทั้งสองกลุ่มใช้ภาษาเรื่องเกี่ยวกับ “ความรัก” ระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้นเอง

          วิธีอธิบายความหมายแบบ “อุปมานิทัศน์” (allegorical interpretation) เป็นวิธีอธิบายที่เก่าแก่ที่สุด วิธีอธิบายแบบนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวยิวตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 เป็นต้นมา ความรักที่พระเจ้าทรงมีต่ออิสราเอลและความรักที่อิสราเอลมีต่อพระเจ้าได้รับการเปรียบเทียบโดยใช้ภาพของความสัมพันธ์ของสามีกับภรรยา ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้ว บรรดาประกาศกนับตั้งแต่โฮเชยาเป็นต้นมา ได้พัฒนาความคิดที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของชีวิตสมรส และนักเขียนชาวคริสต์ส่วนมาก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากโอริเจน ก็มักจะมีความคิดตามแนวของผู้อธิบายพระคัมภีร์ชาวยิวเท่านั้น จะมีก็น้อยคนที่ต่อต้านการอธิบายแบบนี้ เช่น เทโอโดร์แห่งมบสุเอเชีย (Theodore of Mopsuetia) เพียงแต่ว่านักอธิบายพระคัมภีร์ชาวคริสต์คิดว่าบทเพลงเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบถึงพิธีสมรสของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร หรือหมายถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งของวิญญาณกับพระเจ้า การอธิบายแบบ “อุปมานิทัศน์” เช่นนี้มีหลายรูปแบบและยังมีนักวิชาการหลายคนใช้อธิบายความหมายอยู่อีก ไม่ว่าเพียงแต่ยึดความคิดกว้างๆ ว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระภัสดาของอิสราเอล หรือพยายามอธิบายความรู้สึกต่างๆ ที่บทเพลงแสดงออกนั้นว่าเป็น “การกลับใจ” “ความรู้สึกผิดหวัง” หรือ “ความหวัง” ของประชากรอิสราเอลที่พระเจ้าทรงเลือกสรร แต่ได้ละทิ้งพระองค์ไปนับถือเทพเจ้าของชนต่างชาติและถูกพระยาห์เวห์ลงโทษ ความเชื่อที่ว่าหนังสือเพลงซาโลมอนได้รับการดลใจจากพระเจ้าและอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ทำให้ผู้อธิบายพระคัมภีร์คิดว่า หนังสือฉบับนี้จำเป็นต้องกล่าวถึงความหมายอื่นนอกเหนือจากเรื่องความรักตามธรรมดาประสามนุษย์ แต่ทว่าเหตุผลที่ผู้อธิบายพระคัมภีร์ยกมาเพื่อสนับสนุนวิธีอธิบายแบบ “อุปมานิทัศน์ในรายละเอียด” ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการใช้ข้อความเหมือนกันกับข้อความที่พบได้ในหนังสือฉบับอื่นในพระคัมภีร์นั้น ดูจะเป็นการ “บีบเค้นความหมาย” ของถ้อยคำต่างๆ อย่างไม่เป็นไปตามธรรมชาตินัก

          เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้การอธิบายความหมายตามตัวอักษรจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และคำอธิบายนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากธรรมประเพณีโบราณที่สุดด้วย ก่อนคริสตกาลไม่เคยมีหลักฐานเลยว่า หนังสือเพลงซาโลมอนได้รับการอธิบายความหมายแบบ “อุปมานิทัศน์” (allegory) และในเอกสารซึ่งพบได้ที่กุมราน (Qumran) ก็ไม่มีร่องรอยของการอธิบายความหมายแบบนี้เลย ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่านักวิชาการเคยกล่าวไว้อย่างไรในอดีต พันธสัญญาใหม่ก็มิได้สนับสนุนการอธิบายตีความแบบนี้เลย ชาวยิวในคริสตศตวรรษที่หนึ่งเคยใช้บทเพลงในหนังสือเพลงซาโลมอนนี้ในการฉลองพิธีสมรส และยังคงปฏิบัติกันต่อมาทั้งๆที่ถูกห้ามจากรับบีอากีบา (Aqiba) นอกจากนั้นหนังสือเพลงซาโลมอนเองก็ไม่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาให้ได้รับการอธิบายความหมายแบบอุปมานิทัศน์เช่นนี้ ต่างจากหนังสือของบรรดาประกาศกซึ่งกล่าวอธิบายความหมายไว้อย่างชัดเจนเมื่อใช้ภาษาอุปมานิทัศน์ ดังจะเห็นได้ใน อสย 5:7 (เรื่องสวนองุ่น); อสค 16:2; 17:12; 23:4; 31:2; 32:2 ฯลฯ ไม่มีเครื่องหมายใดๆ เลยบอกว่าจำเป็นต้องมี “กุญแจ” เพื่อไขความหมายของหนังสือเพลงซาโลมอน หรือมีข้อความใดที่ต้องเข้าใจเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากความหมายโดยตรงของตัวบท หนังสือนี้รวบรวมบทเพลงที่เฉลิมฉลองความรักซื่อสัตย์ที่ชายหนุ่มหญิงสาวมีต่อกันก่อนจะประกอบพิธีสมรส บทเพลงเหล่านี้ยืนยันความถูกต้องและยกย่องคุณค่าความรักของมนุษย์เรา และเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องทางโลกที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระเจ้า รว เพราะพระเจ้าทรงอวยพระพรการแต่งงานซึ่งในที่นี้มิได้หมายความเพียงว่าเป็นกระบวนการเพื่อให้กำเนิดชีวิตใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการที่ทำให้ชายหญิงร่วมชีวิตกันด้วยความรักเป็นการถาวรตลอดไป (ดู ปฐก บทที่ 2) ชาวคานาอันที่อยู่โดยรอบคิดว่า ความสัมพันธ์ทางเพศนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเทพเจ้าซึ่งบันดาลความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน แต่ความเชื่อและความเคารพต่อพระยาห์เวห์ทำให้ตำนานเทพดังกล่าวไม่มีความสำคัญอีกต่อไป และยังกล่าวถึงความรักของชายหญิงอย่างงดงามตามความเป็นจริง หนังสือฉบับอื่น ๆ ในพันธสัญญาเดิมยังกล่าวถึงความรักประสามนุษย์ด้วย ตัวอย่างเช่นเรื่องในหนังสือปฐมกาลตอนต้น ในเรื่องของกษัตริย์ดาวิด ในหนังสือสุภาษิตและบุตรสิรา ซึ่งต่างก็กล่าวถึงความรักนี้ตามแบบเดียวกัน และบางครั้งยังใช้ถ้อยคำคล้ายกับในหนังสือเพลงซาโลมอนอีกด้วย ความคิดที่ว่าความรักเป็นสิ่งงดงาม ทำให้บรรดาประกาศกใช้ภาษาความรักเช่นนี้บรรยายถึงความรักระหว่างพระยาห์เวห์กับประชากรอิสราเอล  จึงไม่ควรจะมีอุปสรรคใดที่หนังสือซึ่งกล่าวถึงเรื่องความรักเช่นนี้จะถูกรวมไว้ในสารบบพระคัมภีร์ด้วย เราไม่มีสิทธิใดเลยที่จะไปกำหนดขอบเขตของการดลใจจากพระเจ้าได้

             2. หนังสือเพลงซาโลมอนน่าจะมีที่มาจากงานฉลองการแต่งงาน (เทียบ สดด บทที่ 45; ยรม 7:34; 16:9) และเคยมีหลายคนเปรียบเทียบข้อความในหนังสือเพลงซาโลมอน กับพิธีฉลองและบทเพลงในงานแต่งงานของชาวอาหรับในประเทศซีเรียและปาเลสไตน์ แต่หนังสือเพลงซาโลมอนไม่ใช่หนังสือรวมบทเพลงแบบชาวบ้าน แม้ว่าผู้นิพนธ์หนังสือเพลงซาโลมอนอาจรู้จักบทเพลงโบราณต่างๆ เหล่านี้ แต่เขาก็เป็นนักประพันธ์ที่มีความคิดเป็นของตนและรู้จักวรรณกรรมเป็นอย่างดี ข้อความที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากนั้นยังพบได้ในบทเพลงรักของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมด้วย  แต่เราก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้นิพนธ์หนังสือเพลงซาโลมอนได้ยืมความคิดของบทประพันธ์ของตนมาจากบทเพลงเหล่านี้ของชาวอียิปต์ เช่นเดียวกันกับชนชาติต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ ชาวอิสราเอลคงต้องมีเพลงรักที่เป็นบทประพันธ์ของตนเอง และในสภาพแวดล้อมคล้ายๆ กัน ภาษาความรักย่อมต้องใช้ภาพพจน์และการเปรียบเทียบที่หวือหวาเกินจริงคล้ายกันด้วย

          หนังสือเพลงซาโลมอนไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแต่ประการใด หนังสือนี้เป็นเพียงการรวบรวมบทเพลงต่างๆ ที่มีความคิดเดียว คือเรื่องความรัก เข้าไว้ด้วยกัน การที่คำแปลฉบับนี้แยกข้อความของหนังสือออกเป็น “บทประพันธ์” ต่างๆ นั้นเป็นเพียงการเสนอความคิดว่าเนื้อหาของหนังสืออาจแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยๆ ได้ แม้เราอาจเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นค่อยๆ มีการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่จะมองหาการพัฒนาความคิดหรือการกระทำที่เห็นได้ชัดเจนในบทประพันธ์เหล่านี้ ผลงานรวบรวมบทเพลงของชาวอียิปต์ที่ตกทอดมาถึงเราก็มีการเรียบเรียงคล้ายๆ กันนี้ด้วย ทำให้เราเลือกเรียงลำดับตามสภาพแวดล้อมหรือผู้เกี่ยวข้องได้ตามใจชอบ และนี่ก็อธิบายได้ว่าทำไมคำประพันธ์เกี่ยวกับความคิดเดียวกันจึงมีความแตกต่างกันไป และทำไมจึงมีการกล่าวซ้ำเรื่องเดียวกันบ่อยๆ เหตุผลก็คือว่า ผู้แต่งบทเพลงต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจให้ขับร้องหรืออ่านบทประพันธ์ทุกบทในโอกาสเดียวกัน

          ในเมื่อเราไม่เห็นด้วยกับการอธิบายความหมายโดยใช้วิธี “อุปมานิทัศน์” และพร้อมกันนั้นก็ไม่คิดว่า บทประพันธ์เหล่านี้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอล จึงเป็นการยากที่จะกำหนดลงไปว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่อใด นักวิชาการบางคนคิดว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอนทีเดียว แต่ทว่าภาษาที่ใช้มีลักษณะของภาษาอาราเมอิก และยังมีคำที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซียใน 4:13 และจากภาษากรีกใน 3:9 จึงชวนให้คิดว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในสมัยหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน คือราวศตวรรษที่ 5 หรือ 4 ก่อน ค.ศ. ส่วนสถานที่เขียนขึ้นนั้นต้องเป็นดินแดนปาเลสไตน์แน่ๆ

          นอกจากการที่แต่เดิมถือกันว่า หนังสือฉบับนี้เป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอนผู้ทรงปรีชาแล้ว การอธิบายความหมายของหนังสือนี้แบบตามตัวอักษรยังสนับสนุนให้หนังสือฉบับนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดหนังสือประเภทปรีชาญาณ เช่นเดียวกับหนังสือฉบับอื่นในประเภทนี้ หนังสือเพลงซาโลมอนกล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ และอันที่จริงกล่าวถึงลักษณะด้านหนึ่งที่สำคัญยิ่งของมนุษย์อีกด้วย นั่นคือเรื่องความรักและการแต่งงาน หนังสือฉบับนี้ใช้วิธีการเฉพาะของตนเองสอนเกี่ยวกับความดีงามและศักดิ์ศรีของความรัก ซึ่งดึงดูดชายหญิงให้มาร่วมชีวิตกัน นอกจากนั้น ยังช่วยขจัดความเข้าใจผิดๆ ที่เกี่ยวกับความรักในสมัยโน้น และแสดงให้เห็นความรักตามธรรมชาติที่ไม่ต้องกังวลว่าเป็นสิ่งเลวร้าย หรือตรงกันข้าม กลับสอนว่าความรักไม่ใช่การปล่อยตัวได้ตามใจโดยไม่มีขอบเขตจำกัด นอกเหนือจากการอธิบายความหมายตามตัวอักษรนี้แล้ว เรายังอาจใช้หนังสือเพลงซาโลมอนนี้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักรได้อีกด้วย (ถึงกระนั้น นักบุญเปาโลก็มิได้ทำเช่นนี้ใน อฟ บทที่ 5) หรืออธิบายถึงความสนิทสัมพันธ์ของคริสตชนแต่ละคนกับ “พระเจ้าแห่งความรัก” เป็นการสนับสนุนรับรองวิธีการที่บรรดาผู้บำเพ็ญฌานหลายท่าน เช่นนักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน  ใช้หนังสือฉบับนี้