การประกาศพระวาจาของพระเจ้า การคืนดีและสันติภาพระหว่างชนชาติต่างๆ

102.    ในบรรดาหน้าที่ต่างๆ สมัชชาย้ำกล่าวถึงการส่งเสริมการคืนดีและสันติ ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะค้นพบพระวาจาของพระเจ้าในฐานะบ่อเกิดของการคืนดีและสันติ เพราะในพระวาจานี้เองพระเจ้าทรงทำให้ทุกสิ่งคืนดีกับพระองค์ (เทียบ 2 คร 5:18-20; อฟ 1:10) พระคริสตเจ้าคือ "สันติของเรา" (อฟ 2:14) พระองค์ทรงทำลายกำแพงที่แบ่งแยก การเสนอความคิดเห็นหลายครั้งในสมัชชาแสดงให้เห็นว่ายังมีความขัดแย้งกันอย่างหนัก และการต่อสู้กันอย่างรุนแรงอยู่ในโลกของเรา บางครั้งการเป็นอริกันนี้ดูเหมือนจะมีลักษณะเป็นการต่อสู้กันเรื่องศาสนา ข้าพเจ้าต้องการจะกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการไม่ยอมรับหรือสงครามเรื่องศาสนานั้นไม่มีข้อแก้ตัวได้ เราไม่อาจใช้พระนามของพระเจ้ามาอ้างเพื่อใช้ความรุนแรงได้เลย[1] แต่ละศาสนาต้องพยายามใช้เหตุผลอย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมคุณค่าทางจริยธรรมที่ช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันได้

ชาวคาทอลิกและผู้มีน้ำใจดีทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์ต่องานการคืนดี ที่พระเจ้าทรงทำให้สำเร็จในพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ เขาต้องเอาใจใส่ให้แบบอย่างของการคืนดี เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรมและมีสันติ[2] เราต้องไม่ลืมเลยว่า "ที่ใดที่คำพูดของมนุษย์ทำอะไรไม่ได้เพราะเสียงของความรุนแรงและศาสตราวุธมีพลังมากกว่า พลังของพระวาจาของพระเจ้า พระวาจาที่ทรงพลังประหนึ่งวาจาของประกาศกหาได้อ่อนแรงลงเลย ยังบอกย้ำแก่เราอยู่เสมอว่าสันติภาพยังมีได้ และเราต้องเป็นเครื่องมือของการคืนดีและสันติ"[3]



[1] Cfr Benedictus XVI, Nuntius de XL Die mundiali Pacis 2007 (8 Decembris 2006), 10; Insegnamenti IV,2 (2006), 780.

[2] Cfr Propositio 8.

[3] Benedictus XVI, Homilia (25 Ianuarii 2009): Insegnamenti V,1 (2009), 141.