“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ความสำคัญของการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์

59.      สมาชิกแต่ละคนในประชากรของพระเจ้า "มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันเกี่ยวกับพระวาจาของพระเจ้า นั่นคือบรรดาสัตบุรุษต้องฟังและคิดคำนึงถึงพระวาจา ผู้ที่ได้รับหน้าที่สั่งสอนจากศีลบวชเท่านั้นจึงทำหน้าที่อธิบายพระวาจาของพระเจ้าได้"[1] ได้แก่พระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกร เราจึงเข้าใจถึงความเอาใจใส่ที่สภาสมัชชาให้แก่เรื่องการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์. ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ในสมณลิขิตเตือนหลังสมัชชา Sacramentum caritatis แล้วว่า "ในเมื่อพระวาจาของพระเจ้ามีความสำคัญอย่างเห็นได้ชัด จึงจำเป็นต้องทำให้การเทศน์มีคุณภาพดีขึ้นด้วย เพราะการเทศน์เช่นนี้ ‘เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม' มีบทบาทช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจพระวาจาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พระวาจาจะได้เกิดผลในชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อ"[2] การเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ทำให้เข้าใจคำสอนของพระวาจา เพื่อนำบรรดาสัตบุรุษให้ค้นพบว่าพระวาจาของพระเจ้าอยู่และทำงานในชีวิตประจำวันของตน การเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ยังต้องช่วยให้เขาเข้าใจธรรมล้ำลึกที่กำลังเฉลิมฉลอง เชิญชวนให้ปฏิบัติพันธกิจ และเตรียมประชากรให้ประกาศยืนยันความเชื่อ ให้ภาวนาเพื่อมวลประชากรและประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ดังนั้นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติพันธกิจการเทศน์สอนนี้โดยเฉพาะ จึงต้องใจใส่ต่อภารกิจประการนี้ จะต้องหลีกเลี่ยงการเทศน์แบบกว้างๆไม่เจาะจงหรือเป็นนามธรรม ซึ่งปิดบังไม่ให้เห็นความชัดเจนของพระวาจาของพระเจ้า ยังต้องหลีกเลี่ยงการกล่าวนอกเรื่องที่ไร้ประโยชน์ซึ่งอาจเป็นอันตรายที่เรียกร้องความสนใจไปหาผู้เทศน์ มากกว่าจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจแก่นคำสอนของพระวรสาร บรรดาผู้มีความเชื่อจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่า บทบาทของผู้เทศน์คือทำให้ผู้ฟังเห็นพระคริสตเจ้าซึ่งจะต้องเป็นศูนย์กลางของการเทศน์ทุกครั้ง ดังนั้น ผู้เทศน์จึงจำเป็นต้องมีความคุ้นเคยกับตัวบทพระคัมภีร์และใช้ตัวบทนี้[3] เขาต้องเตรียมตัวเทศน์โดยรำพึงและสวดภาวนาเพื่อจะเทศน์ด้วยความมั่นใจและด้วยความรู้สึกจากใจ สภาสมัชชายังเตือนให้ถามตนเองบ่อยๆดังนี้  "บทอ่านที่ข้าพเจ้ากำลังประกาศอยู่นี้กล่าวถึงเรื่องอะไร บอกอะไรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากำลังจะบอกอะไรแก่ชุมชนโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม"[4] "ผู้เทศน์ต้องเป็นคนแรกที่ฟังพระวาจาของพระเจ้าที่ตนกำลังประกาศ"[5] เพราะ "ผู้ที่ไม่ฟังพระวาจาของพระเจ้าภายในใจ ก็เป็นเพียงผู้เทศน์ภายนอกที่ไร้ประโยชน์"[6] ดังที่นักบุญออกัสตินเคยกล่าวไว้ บทเทศน์สำหรับวันอาทิตย์และวันสมโภชจึงควรได้รับการเตรียมด้วยความเอาใจใส่ แม้แต่ในมิสซาวันธรรมดาที่มีประชาชนร่วมพิธีด้วย ถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่ควรละโอกาสที่จะให้ข้อคิดเหมาะสมที่อาจช่วยสัตบุรุษให้รับพระวาจาที่ได้ฟังและทำให้พระวาจานั้นเกิดผลในชีวิตด้วย



[1] Ibid., 8.

[2] N. 46: AAS 99(2007), 141.

[3] Cfr  Conc.Oecum.Vat.II, Const.dogm.de divina Revelatione Dei Verbum, 25.

[4] Cfr Propositio 15.

[5] Ibid.

[6] Sermo 179,1: PL 38, 966.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก