พระคัมภีร์และหนังสือบทอ่าน

57.      เมื่อย้ำว่าพระวาจามีความสัมพันธ์กับพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงสมแล้วที่สภาสมัชชาต้องการเตือนให้ตระหนักถึงมุมมองบางประการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเรื่องพระวาจา ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวโดยเฉพาะถึงความสำคัญของหนังสือบทอ่าน การปฏิรูปที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ริเริ่มไว้[1]ได้เกิดผลทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงพระคัมภีร์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพิธีกรรมเฉลิมฉลองวันอาทิตย์ โครงสร้างหนังสือบทอ่านปัจจุบันนี้นอกจากเสนอตัวบทสำคัญๆจากพระคัมภีร์มากกว่าแต่ก่อน ยังช่วยเราให้เข้าใจเอกภาพของแผนการของพระเจ้าจากความสอดคล้องกันของพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่ "ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่พระคริสตเจ้าที่ทรงได้รับการระลึกถึงในพระธรรมล้ำลึกปัสกา"[2] ความยากลำบากที่ยังมีอยู่บ้างเพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบทอ่านจากพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ จะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงการอธิบายความหมายตามแบบแผนที่พระศาสนจักรกำหนดไว้ นั่นคือโดยคำนึงถึงเอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งหมด ถ้าจำเป็น ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องควรจัดให้มีการจัดพิมพ์หนังสือ ที่จะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างบทอ่านที่เสนอไว้ในหนังสือบทอ่าน ซึ่งทุกบทต้องอ่านให้ผู้ร่วมพิธีกรรมได้ฟังตามที่พิธีกรรมประจำวันกำหนดไว้ ถ้ามีคำถามหรือข้อข้องใจอื่นๆก็ให้เสนอไปยังสมณกระทรวงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนั้นจะต้องไม่ลืมว่า หนังสือบทอ่านฉบับปัจจุบันนี้ของจารีตละตินยังมีความสำคัญด้านคริสตศาสนสัมพันธ์ด้วย เพราะถูกนำไปใช้และได้รับความนิยมจากกลุ่มคริสตชนบางกลุ่มที่ยังไม่มีความสัมพันธ์สมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย แต่ปัญหาเรื่องหนังสือบทอ่านที่ใช้ในพระศาสนจักรคาทอลิกจารีตตะวันออก สภาสมัชชานี้ขอให้ "ได้รับการพิจารณาจากผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง"[3] ตามธรรมประเพณีของตนและตามอำนาจของพระศาสนจักรเหล่านี้ที่มีกฎหมายเฉพาะของตน แต่ในเรื่องนี้ก็จำต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางคริสตศาสนิกสัมพันธ์ด้วย



[1] Cfr Conc.Oecum.Vat.II, Const. de sacra Liturgia Sacrosanctum Concilium, 107-108.

[2] Ordo Lectionum Missae, 66.

[3] Propositio 16.