บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
6 พฤษภาคม 2018
บทอ่าน กจ 10:25-26, 34-35, 44-48 ; 1 ยน 4:7-10 ; ยน 15:9-17
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 363, 434, 459, 609, 614, 737, 1823, 1824, 1970, 1972, 2074, 2347, 2615, 2745, 2815
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (CSDC) 13, 29, 39, 580
จุดเน้น ความรักเป็นพื้นฐานของความยินดีแบบคริสตชน


      อะไรทำให้เกิดความยินดี แน่นอนความงดงามของธรรมชาติ และบรรดาเด็กๆ พระเยซูเจ้าทรงยินดีเมื่อบรรดาเด็กๆ ขึ้นมานั่งบนตัก และเมื่อพระองค์ได้รักษาประชาชน
อย่างไรก็ดี แหล่งความยินดีของพระเยซูเจ้า คือ ความสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์ทรงบอกเราว่าไม่ว่าพระองค์เสด็จไปที่ใด จะทำอะไร พระองค์มั่นคงในความรักของพระบิดาเสมอ

     พระเยซูเจ้าปรารถนาให้เรามีความยินดีนี้ด้วย พระองค์ทรงบอกเราในพระวรสารวันนี้ “เราได้บอกท่านแล้วว่า ความยินดีของเราอยู่ในท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” และพระองค์เสริมว่า “จงคงอยู่ในความรักของเรา” อย่างไร... พระเยซูเจ้าทรงอธิบายทันทีว่า “ถ้าท่านปฏิบัติตามพระบัญญัติ ท่านก็คงอยู่ในความรักของเรา”

    พระบัญญัติทั้งหมดที่พระเยซูเจ้ากล่าวคืออะไร พระองค์ตรัสว่า จงรักกันและกันเหมือนที่เรารักท่าน พระองค์ทรงอธิบายต่อถึงความรักชนิดนี้ ไม่ใช่ความรู้สึกอบอุ่น แต่เป็นแบบกระตือรือร้น ความรักที่รู้จักให้ ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่านี้ คือการสละชีวิตเพื่อมิตรสหาย นี่เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำเพื่อกันและกัน

     ในบทจดหมายฉบับแรกของนักบุญยอห์น เราได้ยินเรื่องเดียวกัน ให้เรารักกันและกัน เพราะความรักเป็นของพระเจ้า ผู้ใดรักก็เป็นบุตรพระเจ้าและรู้จักพระเจ้า และพระเจ้าทรงเปิดเผยความรักนี้แก่เรา โดยอาศัยการถวายพระบุตรของพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ เพื่อเราจะได้มารู้จักพระเจ้า รักพระเจ้าและมีชีวิตในพระเจ้า ใครจะไม่สามารถพบความยินดีในประสบการณ์ความรักที่ยอมมอบชีวิตให้แบบนี้

      คำกล่าวที่ว่า ความรักเป็นพื้นฐานของความยินดีแบบคริสตชน ไม่ได้หมายความว่าความรักปฏิบัติได้ง่ายๆ การรักผู้อื่นบ่อยๆ เป็นสิ่งปฏิบัติไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกอย่างไรและเราชอบพวกเขาหรือไม่ แต่เพราะเหตุว่ามันเรียกร้องเราให้ไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละตนเอง และยังให้เรายินดี ยิ่งเรามอบตนเองมากเท่าไร เราก็มีที่ว่างในตัวเราเองสำหรับพระเจ้า ผู้เป็นองค์ความรัก มากขึ้นเท่านั้น

     ความรักต้องทำความดีเพื่อคนอื่น ไม่ปรารถนาอะไร นอกจากเพื่อให้เขาเติบโตเกิดผลในคุณธรรม ให้เราภาวนาขอพระหรรษทาน ให้สามารถปฏิบัติตามที่พระเจ้าทรงสอนเรา ขอให้บูชานี้ให้เราได้รับความรักของพระเจ้า ช่วยเปลี่ยนแปลงเราด้วยพระหรรษทานนั้น

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Daily Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing (เมษายน-มิถุนายน 2018), หน้า 205-206.