บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา
19 พฤศจิกายน 2017
(วันสิทธิมนุษยชน และวันสากลเพื่อคนจน)

บทอ่าน
สภษ 31:10-13, 19-20, 30-31 ; 1 ธส 5:1-6 ; มธ 25:14-30
เราสามารถรักโดยไม่เสี่ยงไหม
           สมัยปัจจุบันเป็นยุคของเศรษฐกิจแบบเสรี หรือเสรีใหม่ โดยเน้นความสามารถ (ตะลันต์ มีคุณค่ามาก) เพื่อประหยัดเงินและการลงทุน ในที่ต่างๆ และมีบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่อุปมาเรื่องตะลันต์ชี้แสดงถึงเรื่องอื่น


ทัศนะคติสองประการ
       อุปมานี้สอนเราเกี่ยวกับทัศนคติ 2 อย่าง : ผู้ที่รับสิ่งใดจากพระเจ้าและส่งต่อไป และผู้ที่เก็บสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้พวกเขาไว้สำหรับตนเอง จุดเน้นของอุปมานี้อยู่ในการวิจารณ์ทัศนคติที่สอง ตั้งแต่เริ่ม เจ้านายไม่อยู่ ได้ออกเดินทางไป (ข้อ 14) ทำให้เราคิดถึงความรับผิดชอบของบรรดาคริสตชนในประวัติศาสตร์ พวกเขารับผิดชอบการประกาศพระวรสาร ในชีวิตประจำวันซึ่งมีช่วงเวลาที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง มีความเครียดและข้อขัดแย้ง บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องเป็นพยานชีวิต นี่คือความหมายของการรับตะลันต์ความสามารถ นักบุญเปาโลจึงบอกเราว่า “จงตื่นอยู่เสมอ” (1 ธส 5:6) ผู้รับใช้สองคนแรกได้ทำดังนั้น ยิ่งกว่านั้น พวกเขาซื่อสัตย์และขยันทำงาน จนทรัพย์สินนั้นบังเกิดผลทำกำไรได้
บทอ่านแรกจากหนังสือสุภาษิต วิสัยทัศน์เฉพาะของบทบาทสตรีในข้อความตอนนี้เกินข้อจำกัด เราพบว่า เธอใจดี ช่วยเหลือคนยากจน แสดงความรักต่อผู้อื่น

ความยินดีแท้จริงของพระเจ้า
      ทัศนคติของผู้รับใช้คนที่ 3 แตกต่างจากสองคนแรกสิ้นเชิง มีความกลัวเวลารายงาน ที่ดูเหมือนดีกับพระเจ้า ไม่ได้ละทิ้งโลกของเขาเอง (ข้อ 18) เขาคิดว่าชีวิตแห่งความเชื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตนเองกับพระเจ้า เขาคิดว่าพระเจ้าเป็นคนเข้มงวด เรียกร้อง ชอบตัดสินลงโทษมากกว่าเน้นความรัก (ข้อ 24-25) เขาไม่เข้าใจความหมายของข้อเรียกร้องของพระวรสาร ซึ่งเขาตีความว่าหลักศาสนาต้องแน่นอนและปฏิบัติตามกฎทางการ คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเขาไม่มีที่ในชีวิตคริสตชน ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจอันตรายสำหรับเขา คนอื่นอาจทำให้เขาออกนอกทางที่เขาตั้งใจ และกีดกันเขามิให้ทำตามสิ่งที่เขาเห็น ในฐานะหน้าที่ของผู้มีความเชื่อ เขาจึงไม่ชอบเสี่ยงและคืนตะลันต์ที่เขาได้รับแด่พระเจ้า เพื่อว่าเขารู้สึกมั่นคงกว่า นักบุญเปาโลจึงกล่าวว่า “เขาหลับใหล” (1 ธส 5:6)

      ผู้รับใช้นี้ไม่ช้าจะรู้ว่าวิถีทางของเขามิได้นำไปสู่แสงสว่าง แต่นำไปสู่ที่มืด (ข้อ 30) ในความคิดแคบๆ เขาเข้าใจพระเจ้าว่าเป็นผู้ประทานรางวัลและลงโทษ ตรงกันข้าม พระเจ้าไม่เบื่อหน่าย รักอิสระและสนใจเรา พระหรรษทานความรักท่วมท้นความเห็นแก่ตัว และความมั่นคงผิดๆ ของเรา

       ความเชื่อมิใช่สิ่งที่เราเก็บรักษาในตู้เซฟ ความเชื่อเป็นชีวิต ซึ่งเราแสดงออกในความรัก และเป็นพระพรแก่เพื่อนบ้านของเรา ในพระวรสาร การกลัวก็เท่ากับการไม่มีความเชื่อ ดังนั้น เราจะสามารถรักโดยไม่ยอมเสี่ยงได้อย่างไร โดยไม่ยอมเข้าไปในโลกได้อย่างไร โดยไม่เสี่ยงช่วยผู้กำลังดิ้นรนเพื่อสิทธิที่จะมีชีวิตได้อย่างไร ความเป็นปึกแผ่นกับพวกเขาจะนำเราพบอันตรายและข้อขัดแย้งที่คาดไม่ถึง และบางทีพบความเข้าใจผิดภายในครอบครัวของเราเอง และในชุมชนคริสตชนของเรา อย่างไรก็ดี อุปมาเรื่องตะลันต์สอนเราว่า ความยินดีของพระเยซูเจ้า (ข้อ 21 และ 23) เป็นความยินดีของเราด้วย อยู่ในชีวิตคริสตชนที่มีฐานในพระหรรษทาน ความกล้าหาญ และความสนใจผู้อื่น มากกว่าพิธีรีตอง การปกป้องตนเองและความกลัว
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 261-262.