บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์วันอาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
18 กันยายน 2016

บทอ่าน    อมส  2:1-8   ;    1 ทธ  2:1-8   ;    ลก  16:1-13
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)  952, 2424
                            ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  181, 453
จุดเน้น     ผู้ที่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย  ก็จะซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย


    เป็นเรื่องน่าสนใจเสมอ  ที่จะไตร่ตรองประชาชนประเภทต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงในพระวรสาร  ถึงแม้เราอาจปรารถนาจะเห็นพระองค์เข้ากับคนที่ได้รับการยอมรับทางสังคมในสมัยของพระองค์  พระวรสารบอกเราอีกด้านหนึ่ง    บ่อยๆ พระเยซูเจ้าเสด็จไปรับประทานอาหารกับคนบาปและคนถูกทอดทิ้ง  อันที่จริงบ่อยๆ พระองค์หลีกเลี่ยงประชาชนที่ได้รับการยอมรับ  เพราะพวกเขาไม่ค่อยยอมรับคำสอนของพระองค์   และแน่นอนพวกเขาไม่พอใจที่พระองค์มีอิทธิพล  สามารถติดต่อกับคนจน  คนบาป  และผู้ถูกทอดทิ้งได้จริงๆ

    หลายครั้ง  คนที่มีเกียรติในสังคมเป็นผู้ตั้งคำถามว่า  พระองค์มีอำนาจอะไรที่พูดในนามของพระเจ้า  และพวกเขากล่าวหาว่าพระองค์เป็นพวกเดียวกับปีศาจ  เมื่อพระองค์ได้รักษาผู้ป่วย  และได้ให้อภัยคนบาป    ทำไมจึงเป็นเช่นนี้  เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่เห็นความจำเป็นแท้ที่จะต้องเปลี่ยนชีวิตมาหาพระเจ้า  ฉะนั้นจึงได้ไม่พอใจพระองค์และคำสอนของพระองค์หรือ

    พระวรสารวันนี้  เล่าเรื่องอุปมาถึงการปฏิบัติที่ฉลาดแกมโกงของคนหนึ่งที่ไม่ฉวยโอกาสปรับปรุงชีวิต  พระเยซูเจ้าทรงใช้เรื่องนี้พิจารณาธรรมชาติมนุษย์  และการตอบของเราต่อพระวรสาร   พระวรสารนี้มิได้เกี่ยวกับข้อแนะนำทางศีลธรรม  แต่บอกวิธีที่เราควรดำเนินชีวิตในความหวังถึงนิรันดรภาพ  เพื่อให้เราพิจารณาตัดสินใจสำคัญเรื่องชีวิตหรือความตาย

    ในพระวรสารนักบุญลูกา  พระเยซูเจ้าตรัสหลายครั้งเกี่ยวกับเงิน  และวิธีเข้าใจรางวัลของโลกนี้  นักวิชาการหลายคนบอกเราว่า  นักบุญลูกาเขียนพระวรสารมีเจตนาเพื่อชุมชนต่างศาสนา (มิใช่ชาวยิว)  ชาวกรีก  ในเมือง  มีมโนธรรมเรื่องเงิน  ให้มีความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน   คนรวยควรแบ่งปันช่วยเหลือคนจน  และกลับกัน  คนจนควรยอมรับว่าคนรวยเป็นผู้นำทางสังคม  เป็นความสัมพันธ์แบบรู้จักแบ่งปันซึ่งกัน

    นักบุญลูกาใช้อุปมาของพระเยซูเจ้าสอนชุมชนนี้ว่า  ผู้จัดการมิได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในการดูแลผลประโยชน์ของนาย  เมื่อตระหนักว่าเขาจะตกที่นั่งลำบาก  จึงแก้ไขจำนวนหนี้  ทำเช่นนี้เท่ากับเขายึดบทบาทของนายเสียเอง  เขาคดโกงไปแก้บัญชีลูกหนี้ของนาย  ให้ขึ้นกับตัวเขา  เขาตั้งระเบียบใหม่  สมรู้ร่วมคิดกัน  บางทีนี่คือสิ่งที่ประชาชนที่กำลังฟังพระเยซูเจ้าทำในสภาพแวดล้อมเหมือนกัน

    ด้วยความตระหนักถึงรูปแบบปฏิบัติในสังคมนี้  พระเยซูเจ้าจึงใช้ภาพผู้จัดการคนนี้สอนเรื่องอาณาจักรสวรรค์  ว่าเราต้องเฉลียวฉลาดในการแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้าเหมือนผู้จัดการ  การไปสวรรค์เรียกร้องการตอบรับที่เฉลียวฉลาดเหมือนกัน  เราต้องซื่อสัตย์  ต้องไม่หมดหวัง  เหมือนผู้จัดการคนนี้  มิใช่มุ่งหาความมั่นคงฝ่ายวัตถุ  แต่เป็นความมั่นคงฝ่ายวิญญาณ  มีความสัมพันธ์ที่ดีลึกซึ้งกับพระคริสตเจ้า  ดังนั้น  พระองค์จะถามเราถึงความเชื่อ  ความเฉลียวฉลาด  การเตรียมตัว  การเพียรพยายาม  และพลังที่บ่อยๆ เราสำรองไว้สำหรับความจำเป็นฝ่ายโลก  เราต้องทิ้งความเกียจคร้าน  คดโกง  ทุจริต  ที่เป็นภาคแรกของอุปมา  และเพิ่มพลังความกระตือรือร้นในปัจจุบัน  แต่ว่าทำเช่นนี้เพื่ออาณาจักรพระเจ้า

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน  2016), หน้า 419-421.