บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์วันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า
15 พฤษภาคม 2016
บทอ่าน 
   กจ  2:1-11   ;   1 คร  12:3ข-7, 12-13  หรือ  รม  8:8-17  ;    ยน  14:15-16, 23ข-26
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   575, 643, 645, 659, 730, 788, 858, 976, 1087, 1120, 1287, 1441, 1461, 1485, 2839
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  70, 104, 491
จุดเน้น     ข้าแต่พระเจ้า  โปรดส่งพระจิตมาให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย  เพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายจะมีความกระตือรือร้นใหม่  เพื่อฟื้นฟูตนเองและชุมชนของเรา


    ในชีวิตของพระศาสนจักร  มีวันสมโภชสำคัญเท่าๆ กัน เช่น วันพระคริสตสมภพ  วันปัสกา  และวันสมโภชพระจิตเจ้า  เพราะช่วยเราให้เข้าใจกิจการของพระตรีเอกภาพ  กล่าวคือ  พระเจ้าได้ประทานพระบุตรสุดที่รักพระองค์เดียวให้เรา  ทรงบังเกิดด้วยฤทธานุภาพของพระจิตเจ้า  พระเยซูเจ้าประทานพระจิตให้เราขณะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

    พระศาสนจักรถือว่า  วันเปนเตกอสเต (สมโภชพระจิตเจ้า)  เป็นวันเกิดของพระศาสนจักร  บรรดาอัครสาวกขังตัวอยู่ในห้องชั้นบน  เพราะกลัวถูกเบียดเบียน  แต่เมื่อพระเจ้าได้ประทานอำนาจให้  พวกท่านได้กล้าออกไปจากห้องเล็กๆ นั้นไปสู่ที่สาธารณะ  แยกย้ายกันไปประกาศข่าวดีเรื่องพระบิดาทรงส่งพระเยซูคริสตเจ้ามาให้เรา

    พ่อคิดว่าพวกเราเหมือนบรรดาอัครสาวกก่อนวันสมโภชพระจิตเจ้า คือ  อยู่ด้วยกันแบบกลัวๆ  ไม่กล้าออกไปสู่ที่สาธารณะ  สู่วัฒนธรรมปัจจุบัน  ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับเรา  สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้กระตุ้นเราให้สนใจฟื้นฟูวัฒนธรรม  ไม่ใช่ประณาม แต่ รักที่จะช่วยกอบกู้ให้ดีขึ้น

    ทุกวันนี้  เราเผชิญกระแสการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ถาโถมเราอย่างหนัก  เรามีชีวิตด้วยความกลัว  เพราะความป่วยของสังคมหลายประการ  ยังมีการลดศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์ชีวิตมนุษย์  ตั้งแต่ทารกในท้องแม่  จนถึงหลุมฝังศพ  กล่าวคือ การทำแท้งและการฆ่าตัวตาย  ซึ่งปัจจุบันบางประเทศถือเป็นสิ่งถูกกฎหมาย (และในประเทศไทยมีสถิติการทำแท้งสูงมาก)  จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า  ยิ่งกว่านั้นเราไม่ค่อยเห็นความสามัคคี  เพราะมีการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม  พระศาสนจักรไทยจึงพยายามสร้างวิถีชุมชนวัดให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

    การเสด็จมาของพระจิตเจ้า  ช่วยให้เราคิดถึงมิติด้านเอกภาพ  ช่วยให้บรรดาอัครสาวกมีความเชื่อหนึ่งเดียว  ศีลล้างบาปเดียว  พระเจ้าพระบิดาของเราทุกคนในพระเยซูคริสตเจ้า  พระศาสนจักรจึงมีหน้าที่สร้างความสามัคคีและสากลภาพ (ไม่ยึดติดกับพวกของตน)  เพื่อสัมผัสใจของทุกคน  ให้มีการแบ่งปันช่วยเหลือกันในพระศาสนจักร

    เราจะทำอย่างไร  วัฒนธรรมปัจจุบันที่เน้น ส่วนตัว มากกว่า ส่วนรวม  มากกว่าของชุมชน
    เราอยู่ 2000 ปีหลังจากวันเปนเตกอสเตครั้งแรก  ที่พระศาสนจักรสมัยนั้นรวมอยู่ในห้องชั้นบน  เราน่าจะแยกตัวออกไป  เราควรทำดีแบบบรรดาอัครสาวก  เพื่อรับพระจิตเจ้า  ให้เราภาวนาว่า
    พระบิดาที่รัก  โปรดส่งพระจิตเจ้าให้ลูก  ฟื้นฟูชุมชน  โปรดฟื้นฟูลูกดังที่พระองค์ทรงมอบให้พระศาสนจักร 2000 ปีที่ผ่านมา  ให้ลูกมีความกระตือรือร้น  ร่วมมือกันในพันธกิจของพระศาสนจักร  ดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียว  ศักดิ์สิทธิ์  สากล  และสืบสานงานของอัครสาวก  เพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จไป

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(เมษายน-มิถุนายน  2016), หน้า 224-225.