บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
10 เมษายน 2016

บทอ่าน    กจ  5:27-32, 40ข-41   ;    วว  5:11-14   ;    ยน  21:1-19
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   448, 553, 618, 645,659, 881, 1166, 1429, 1551
จุดเน้น     จงหาทางรักคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข  เหมือนพระเจ้าทรงรักเรา


    พี่น้องมโนภาพเอาว่า  กำลังอยู่ในสถานการณ์หนึ่งที่คุณทำร้ายใครคนหนึ่งอย่างสาหัสมาก หรือ คุณกำลังพบคนหนึ่งที่ทำร้ายคุณ  เป็นธรรมดาอารมณ์ขึ้น  ถ้าคุณทำร้ายเขา  คุณก็รู้สึกสำนึกผิด  ถ้าเป็นคุณที่ถูกทำร้ายคุณอาจรู้สึกโกรธ  รู้สึกเป็นศัตรู  เหมือนลูกล้างผลาญในอุปมาที่มีชื่อเสียงของพระเยซูเจ้า

    เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้  เราอาจถูกประจญให้ตัดสัมพันธ์กับเขาไปเลย  เราน่าจะหาเทคนิคหลีกเลี่ยง  หรือปกป้องเราเองเหมือนเต่าที่มีกระดองแข็ง หรือ ไม่ใส่ใจ หรือ เราอาจปฏิเสธการคืนดี  พร้อมกับความรู้สึกเคืองแบบชอบธรรม     ในสถานการณ์เช่นนี้ทั้งหมด  เราต้องควบคุมพลังภายในตัวเราเอง คือ การวิจารณ์  เราเป็นทั้งวิจารณ์คนอื่นเกินไป หรือ วิจารณ์ตนเองเกินไป  ไม่ว่ากรณีใด  การยอมแพ้ง่ายๆ ก็เป็นการทดลองสำคัญที่ปรากฏต่อหน้าเรา  โดยมีจิตใจชอบวิจารณ์คอยเสริม

    การยอมแพ้เป็นการจำนนต่อความอ่อนแอหรือแม้แต่ความหมดหวัง  เรายอมแพ้ง่ายๆ เพื่อเอาทางออกง่ายๆ หรือ  เรายอมหมดหวังหรือ  การทดลองให้ยอมแพ้มาจากเราในหลายรูปแบบในสถานการณ์หนึ่งๆ  บ่อยครั้งดูเหมือนฉลาดเมื่อทำเช่นนั้น

    อย่างไรก็ดี  การยอมแพ้อาจเป็นงานของปีศาจ  เราพบการยอมแพ้ในการทดลอง 3 ประการนี้ที่ปีศาจได้ทดลองพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงอยู่ในถิ่นทุรกันดารเตรียมภารกิจสู่สาธารณะ  การยอมแพ้เป็นการทดลองสุดท้ายที่ปีศาจใส่พระเยซูเจ้าขณะพระองค์ถูกตรึงกำลังสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

    เมื่อไรที่เราเลิกสนใจคนอื่น  เราทุกคนเห็นตัวอย่างของพ่อแม่ผู้ปกครอง  สามี-ภรรยา  และคนอื่นที่เลิกสนใจต่อบุคคลที่เขารัก  เราเห็นสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ละทิ้งพระศาสนจักร  ละทิ้งศาสนาโดยทั่วๆ ไป หรือแม้ละทิ้งต่อพระเจ้า

    อย่างไรก็ดี  พระเจ้าไม่เคยละทิ้งเรา  แม้เมื่อเราหันหลังให้พระองค์  หรือทรยศพระองค์  นี่คือเรื่องราวในพระวรสารวันนี้ได้กล่าวถึง

    เราพบว่าพระเยซูเจ้าทรงพบปะกับบรรดาศิษย์บางองค์หลังจากการกลับคืนพระชนมชีพ  บรรดาศิษย์ทั้งหมดอยู่ด้วยกันที่ฝั่งทะเลสาบทิเบเรียส  พระเยซูเจ้าได้ถามเปโตร 3 ครั้งว่า “ท่านรักเราไหม”  คำถามนี้ทำให้คิดถึงการที่เปโตรได้ปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง ในระหว่างพระทรมานของพระองค์    อย่างไรก็ดี  คำถามเหล่านี้แสดงชัดเจนว่าพระเยซูเจ้ามิได้เลิกสนใจเปโตร  พระเยซูเจ้ายังคงรักและอุทิศตนเพื่อเขา  พระองค์ยังอยู่ที่นั่น  แม้หลังจากทุกสิ่งได้เกิดขึ้น  แต่การปฏิเสธ 3 ครั้งของเปโตรต้องได้รับรู้และยอมรับ  พระเยซูเจ้าได้ยอมรับด้วยการให้อภัย  ช่วยให้เปโตรให้อภัยตนเอง  ให้อภัยด้วยใจอิสระ

    เราทุกคนได้ยินความรักแบบไม่มีเงื่อนไข  บรรดานักเทววิทยาบอกว่า  พระเจ้าทรงรักเราแบบไม่มีเงื่อนไข  เราต้องรักลูกๆ สามีภรรยาและสมาชิกในครอบครัวแบบนี้  ถึงแม้เราทุกคนมีช่วงเวลาที่เรารักแบบมีเงื่อนไข  รักเขา หรือ ให้อภัย “ถ้า...”

    เราจึงต้องมาขออภัยพระเจ้าวันนี้  เพื่อเราจะได้มีกำลังให้อภัยผู้อื่นเหมือนดังที่พระองค์ทรงให้อภัยเรา  หากปราศจากพลังของพระเจ้า  ความรักแบบไม่มีเงื่อนไขก็ดูเป็นไปไม่ได้มากๆ  แต่พร้อมด้วยความรักและพลังของพระเจ้า  ทุกสิ่งเป็นไปได้  แม้การรักผู้อื่นแบบไม่มีเงื่อนไข  เราจะไม่เฉยเมย  หรือละทิ้งพวกเขา   

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(เมษายน-มิถุนายน  2016), หน้า 167-169.