บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
7  กันยายน  2014  
บทอ่าน     อสค. 33:7-9 ; รม. 13:8-10; มธ. 18:15-20
พระวรสารสัมพันธ์กับ     คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 553, 1444, 1088, 1373, 2472
จุดเน้น        คำสั่งสอนให้รัก เรียกร้องเราให้รับผิดชอบ (ดูแล) กันและกัน


    ตามธรรมประเพณี พระวรสารนักบุญมัทธิวเขียนเพื่อชุมชนชาวยิวกลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยในอิสราเอล หลังจากพระวิหารถูกทำลาย ได้สูญเสียเมืองหลวงของชาติและด้านจิตใจ ชาติยิวจึงมีความกังวลเพิ่มขึ้นที่ถูกข่มขู่เรื่องเอกภาพและความเชื่อ ราวกับว่าจะสิ้นชาติ คริสตชนด้วยได้ทนทุกข์เพราะความกังวลสงสัย มันค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นว่าถ้าชุมชนคริสตชนต้องเติบโต ก็จำเป็นต้องสามัคคีและช่วยเหลือสนับสนุนกันในเวลาเผชิญกับความตึงเครียดทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นพระศาสนจักรสมัยแรกจึงสนใจให้อภัยแก่ผู้ที่ถูกรังแกหรือแยกตัวจากชุมชน

    การให้อภัยแก่พี่น้องชายหญิง เป็นหนทางสำคัญแห่งการแบกกางเขนของตน ดังที่พระวรสารสองอาทิตย์ที่ผ่านมาท้าทายเรา น่าสังเกตว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงบรรยายกระบวนการคืนดี ที่เราอาจเรียกว่า พระวรสารแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่ครอบงำ (Subsidiarity) เราไม่สามารถสั่งจากเบื้องบนให้ให้อภัย มันต้องทำในระดับล่างเหมาะสมมากที่สุด โดยเริ่มจากผู้ที่ขัดแย้งกัน ผู้ที่ถูกกระทำ offended ต้องแสวงหาผู้กระทำ ด้วยความกล้าหาญและสุภาพ โดยไม่มีเจตนาเผชิญหน้ากันเพื่อตัดสิน

    ถ้าคนทำผิดทำเป็นหูหนวก ไม่สนใจคำพูดของการริเริ่มนี้ เราอย่าไปตอบโต้ด้วยการพูดเกินเลยหรือเลิกความคิดคืนดีกัน เราคริสตชนต้องเพียรพยายามปรารถนาการคืนดี หากจำเป็นให้พยายามคิดขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ถ้าการพยายามครั้งที่สองยังไม่ได้ผล ค่อยนำเรื่องนี้ให้ชุมชนพระศาสนจักรพิจารณา พระเยซูเจ้าตรัสว่าถ้าคนทำผิดไม่ยอมฟังหมู่คณะอีก “จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนาหรือคนเก็บภาษีเถิด” พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ตัดเขาออกจากชุมชน

    มองเผินๆ พี่น้องอาจคิดว่าเป็นการตัดสินรุนแรง ไม่น่ารักเท่าไร ไม่น่าเป็นวิธีของพระเยซูเจ้า แต่เราต้องจำไว้ว่านี่เป็นคำสอนของพระเยซูเจ้าผู้เป็นเพื่อนกับคนภายนอก (ศาสนายิว) พระองค์พยายามฟื้นฟูและช่วยรักษาพวกเขา และเป็นผู้สอนเรื่องแกะที่พลัดหลง (หนึ่งในร้อย) แม้แกะตัวเดียวเราก็ต้องเอาใจใส่

    จดหมายถึงชาวโรม นักบุญเปาโลสอนให้สนใจทุ่มเทเพื่อเอกภาพของชุมชน เมื่อท่านสอนว่า “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” เพราะพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะทรงรักเรา ทุกคนจึงเป็นหนี้พระองค์ แต่พระองค์ทรงขอให้เราตอบแทนคือรักกันและกัน นี่จึงเป็นความรักที่ปฏิบัติจริงสำหรับทุกคน ไม่ว่าเป็นเพื่อนหรือศัตรู ไม่ใช่เป็นทฤษฎีเพราะๆ หรือความรู้สึกแบบทั่วๆ ไป นักบุญเปาโลเจาะจงอ้างถึงพระบัญญัติ 4 ประการต่อเพื่อนบ้าน คือ อย่าผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย และอย่าโลภ

    คริสตชนแท้จะหลีกเลี่ยงการทำความผิดต่อเพื่อนบ้าน พี่น้องในชุมชนของเราทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีความผิดอะไรที่เรายังปฏิบัติต่อกัน บางทีในชุมชนของเราเองต้องหยุดการซุบซิบนินทาทุกประเภท ตลอดจนการพูดที่ทำร้ายทำลายชื่อเสียงของคนอื่น เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีที่เริ่มได้เลย เป็นข้อแก้ไขที่ดี

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(กรกฎาคม – กันยายน  2014), หน้า 376- 378.