บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

อาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
31  สิงหาคม  2014  
บทอ่าน         ยรม 20: 7-9 ;  รม 12: 1-2 ;  มธ 16: 21-27
พระวรสารสัมพันธ์กับ  คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)  226, 363, 540, 554, 607, 618, 736, 1021, 2029, 2232
จุดเน้น    ไม่ผ่านความเจ็บปวด  ก็ไม่ได้กำไร  ไม่ผ่านกางเขน  ก็ไม่ได้มงกุฎ


     ในบทอ่านแรกวันนี้  ประกาศกเยเรมีย์บอกให้เราทราบว่าท่านทำงานให้พระเจ้าก็พบการดูถูกและการเหยียดหยาม  ในบทอ่านที่สอง  นักบุญเปาโลสอนเราอย่าคล้อยตามความประพฤติของโลกรอบตัวเรา  แต่จงเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการฟื้นฟูความคิดขึ้นใหม่  เพื่อเราจะได้รู้จักวินิจฉัยพระประสงค์ของพระเจ้า  และเติบโตสู่ความสมบูรณ์  เราทำเช่นนี้  เพื่อตอบโต้การทดลองต่างๆ ในชีวิตอย่างสมควร

    วันอาทิตย์ที่แล้วเราได้ยินนักบุญเปโตรประกาศว่า  พระเยซูคือพระคริสตเจ้า  พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต  พระเยซูเจ้าจึงทรงตั้งชื่อใหม่ให้ท่านเป็น ศิลา  เหตุการณ์นี้เป็นจุดสำคัญในการพัฒนาพันธกิจของพระเยซูเจ้า  และวันนี้พระองค์ทรงแนะนำคำสอนอีกว่า  พระองค์จะรับการทรมาน “พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม  เพื่อรับการทรมานอย่างมากจากบรรดาผู้อาวุโส  หัวหน้าสมณะ  และธรรมาจารย์  จะถูกประหารชีวิต  แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม”

    ความเชื่อชาวยิวทั่วไปในสมัยนั้นคิดถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงนำทางการทหาร  ร่ำรวยและมั่งคั่ง  และที่สำคัญ  นำชาติอิสราเอลให้เป็นอิสระทางการทหาร  พระองค์ต้องเอาชนะชาวโรมัน  บรรดาศิษย์หลายคนก็คิดเช่นนี้  ดังนั้น  เมื่อนักบุญเปโตรได้ยินพระเยซูเจ้าประกาศว่า  พระองค์ต้องรับทรมานบนไม้กางเขน  เปโตรจึงคิดว่า  พระเยซูเจ้าพูดผิด  เปโตรนำพระองค์แยกออกไป  ทูลทัดทานพระองค์ว่า “ขอเถิด  พระเจ้าข้า  เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน”

    เปโตรขอพระเยซูเจ้าให้ละทิ้งหนทางแคบและยากลำบากของพระองค์ คือ ไม่ผ่านความเจ็บปวด  ก็ไม่ได้กำไร  เพื่อตามหนทางง่ายและกว้างของโลก  ถึงแม้พระเยซูเจ้าเพิ่มเรียกชื่อใหม่ว่า ศิลา  ตอนนี้พระองค์มองหน้าเปโตรและกล่าวว่า “เจ้าซาตาน  ถอยไปข้างหลัง  เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา  เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า  แต่คิดอย่างมนุษย์”

    วิถีทางของพระเจ้าแตกต่างมาจากวิถีทางของมนุษย์  เราต้องไม่ลืมคำสอนนี้  เหมือนเหรียญย่อมมีสองด้าน  พระวรสารก็มีสองด้าน  ผ่านกางเขนและพบมงกุฎ  ถ้าเราพยายามรับเพียงด้านเดียว  ด้านสิริมงคล  และปฏิเสธด้านความทุกข์ทรมาน  เราเข้าใจพระวรสารผิด  พระเยซูเจ้าองค์เดียวกันนี้ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย  และแบกภาระหนัก  จงมาพบเราเถิด  เราจะให้ท่านได้พักผ่อน” (มธ 12:28)  “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา  ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง  จงแบกไม้กางเขนของตน  และติดตามเรา  ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น  ก็จะสูญเสียชีวิตนิรันดร  แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา  ก็จะพบชีวิตนิรันดร”

    พี่น้อง  ให้เราคิดดู  เรามาหาพระเยซูเจ้าเพื่อรับอิสระจากภาระที่ไร้ผลและไร้ความหมาย  แบกไม้กางเขนเพื่อนำเราไปสู่ (ความสำเร็จ) สิริรุ่งโรจน์  และความรอดพ้น  พระวาจาของพระเยซูเจ้าวันนี้ท้าทายเราให้ปฏิเสธ  ข่าวดีชั่วคราวของโลกที่เคลือบน้ำตาลพร้อมกับสัญญาผิดๆ     พี่น้องเคยได้ยินโฆษณาที่กล่าวว่า “เพียงแต่เชื่อเท่านั้น  และทุกสิ่งจะดีเอง”  พี่น้องรู้ว่าเป็นไปไม่ได้  ไม่ได้ดีหมดกับพระเยซูเจ้า  พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน  ไม่ได้ดีหมดกับพระนางมารีย์  ได้รับความทุกข์เหมือนดาบแทงทะลุจิตใจของพระนาง  บรรดานักบุญและมรณสักขีต่างๆ ก็เช่นกัน  พบกับความไม่สมหวัง  การสูญเสีย  ความป่วยไข้  ความไม่สำเร็จ  และความอกตัญญู

    เราไม่ควรถามว่า  ทำไมต้องเป็นฉัน  แต่การตอบของเราควรเป็นการตระหนักยอมรับว่าการทดลองต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น  เพื่อเตรียมรับสิริรุ่งโรจน์ในอนาคต  พี่น้องพบกางเขน (Cross) ในโลกนี้  แต่พี่น้องจะได้รับมงกุฎ (Crown) ในสวรรค์

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(กรกฎาคม – กันยายน  2014), หน้า 366- 368.