บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลอัครสาวก
29  มิถุนายน  2014
บทอ่าน      กจ 12: 1-11  ;   2 ทธ  4: 6- 8, 17-18  ;   มธ  16: 13-19
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)  153, 424, 440, 442, 552, 553, 586, 869, 881, 1444, 1969
จุดเน้น      การอุทิศตนเพื่อพระคริสตเจ้า  เป็นรากฐานชีวิตความเชื่อ


    การดูอุโมงค์มหาวิหารนักบุญเปโตร (ที่กรุงโรม) เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดประการหนึ่งของการเยี่ยมอมตะนครแห่งนี้  ขณะที่ท่านเข้าไปในทางเดินยาวใต้มหาวิหาร  ท่านจะเดินลงผ่านชั้นหินประวัติศาสตร์หลายชั้น  ในที่สุดท่านจะมาถึงสถานที่เรียกว่า Necropolis  นครของผู้ตาย  ผ่านทางเดินแคบและชื้น  จนที่สุดมาถึงโพรงหินเล็กๆ มีจารึกบนหินเป็นภาษาลาติน (แปลเป็นไทย)  ว่า  นี่คือเปโตร  ที่นี่ตามประเพณีบอกว่าเป็นหลุมศพของนักบุญเปโตร  ชาวประมง  และหัวหน้าคณะอัครสาวก  มีความหมายหลายประการ  มันห่างไกลจากโดมยิ่งใหญ่ที่สวยงามของมหาวิหาร  ที่มีจารึกบนหินอ่อนสีทอง  คำพูดของพระเยซูเจ้าที่ตรัสกับนักบุญเปโตรว่า “ท่านคือศิลา  และบนศิลานี้  เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา”  จารึกไว้หลายร้อยปีแล้ว  ถึงบุรุษคนเดียวกัน  ช่างแตกต่างกันจริงๆ

    ความแตกต่างเป็นคำหนึ่ง  ทำให้เราคิดไตร่ตรองถึงชีวิตของนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์ที่เราฉลองวันนี้  ความแตกต่างของชีวิตของทั้งสอง  ทั้งก่อนและหลังจากพวกท่านได้พบกับพระคริสตเจ้า  ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ  เรารู้จักเรื่องราวของซีโมนเปโตร  ชาวประมงซื่อๆ ที่พระเยซูทรงเรียกให้ติดตามเป็นศิษย์ของพระองค์  แล้วได้วางใจ  ให้กำลังใจ  มอบหมายให้นำบรรดาอัครสาวกคนอื่นๆ เรารู้จักลักษณะของเปโตร  หุนหันพลันแล่น  ชอบพูดเป็นคนแรกและคิดทีหลัง  แม้จะกล้า  แต่ตอนท้ายได้ปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง  และละทิ้งพระองค์ในเวลาที่พระองค์ต้องการมากๆ

    วันนี้  ดังบทอ่านแรกบอกเรา  เราเห็นเปโตรคนใหม่  หลังการกลับคืนพระชนมชีพ (ของพระเยซูเจ้า)  เป็นผู้ที่รับทุกข์ทรมานจากการเบียดเบียน  เพราะซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า  กษัตริย์เฮโรดจับเปโตรขังคุก  แต่ทูตสวรรค์ได้มาช่วยเปโตรให้เป็นอิสระอย่างน่ามหัศจรรย์  ดังนั้นท่านจึงปฏิบัติหน้าที่ประกาศพระคริสตเจ้าแก่ชาวอิสราเอลต่อมา

    ความแตกต่างเหมือนกันในชีวิตของนักบุญเปาโล  ครั้งหนึ่งชื่อ เซาโล  ฟาริสีผู้ร้อนรนในการเบียดเบียนพระศาสนจักรสมัยแรกๆ ต้องการขัดขวางการประกาศพระวรสาร  ขจัดผู้ประกาศข่าวดี  แม้ถ้าจำเป็นก็ประหารชีวิต  

    เรารู้จักนักบุญเปาโลแตกต่างกับนักบุญเปโตร  ท่านอัครสาวกได้เขียนจดหมายหลายฉบับถึงคนต่างความเชื่อ (ที่ไม่ใช่ชาวยิว) และตกทอดมาถึงเรา  นักบุญเปาโลเตือนใจเพื่อนร่วมงาน คือ ทิโมธี  ให้มีความเพียรและกล้าหาญ  จดหมายของเปาโลเป็นเรื่องส่วนตัวภายในจริงๆ  ส่วนใหญ่ท่านเขียนขณะอยู่ในที่คุมขัง  ในช่วงสุดท้ายปลายชีวิต  แต่ท่านเปี่ยมด้วยความหวังและความเชื่อยิ่งใหญ่  จากประสบการณ์ของเปาโลเอง  ท่านเตือนใจทิโมธีและเราถึงความจำเป็นต้องซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า  แม้ในเวลาเผชิญความยากลำบากและการทดลองต่างๆ ในชีวิต

    ท่านได้เดินทางประกาศข่าวดี  เทศน์สอนหลายปี  เปาโลได้พบการทดลองหลายอย่าง  การถูกไต่สวนและเผชิญอันตรายเสี่ยงชีวิต  ท่านรู้จักและไว้วางใจในพละกำลังขององค์พระผู้เป็นเจ้า  ท่านเตือนใจทิโมธีว่า  พระเจ้าได้ช่วยชีวิตท่านจากการขู่คุกคามทุกชนิด  และพระเจ้าทรงนำท่านกลับบ้านอย่างปลอดภัยสู่อาณาจักรสวรรค์  ช่างแตกต่างมากจริงๆ เซาโลผู้โหดร้าย  เคยเป็นพยานการขว้างหินสเตเฟนมรณสักขีคริสตชนคนแรก

    พี่น้อง  เราเรียนรู้อะไรจากนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง  บางทีสอนเราให้กล้าหาญ  อดทน  อาจเชิญชวนพี่น้องมิใช่แค่ตอบคำถามที่พระเยซูเจ้าถามเปโตร ว่า “ท่านคิดว่าเราเป็นใคร”  แต่ขอพี่น้องหาคำตอบดีๆ ว่า “พระเยซูคือพระคริสตเจ้า  พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”  ทั้งเปโตรและเปาโลได้ตอบด้วยการเป็นประจักษ์พยานชีวิต  ทั้งสองคนทุ่มเทชีวิตเพื่อพระคริสตเจ้า  ได้เป็นแบบอย่างแก่เราในเวลาที่เราต้องเผชิญความยากลำบาก

    หรือบางทีความแตกต่างตรงกันข้ามของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของทั้งสองที่สอนเราวันนี้  ทั้งสองได้ผ่านช่วงเวลาที่กลับใจและการเปลี่ยนแปลง  ทั้งสองเต็มใจมอบชีวิตแด่พระคริสตเจ้า  มีชีวิตจิตที่เป็นอิสระ  จากคุก (ที่คุมขัง) แห่งการหยิ่งผยองและท้อใจ

    มอบชีวิตประกาศพระวรสาร (ของพระเยซูเจ้า)   ท่านทั้งสองเป็นอิสระ  ไม่ยึดติดต่อสิ่งฝ่ายโลกที่กำลังผ่านพ้นไป  ที่คุมขังที่เราพบได้มีหลายแบบ  บางครั้งก็ฝ่ายร่างกาย  บางครั้งก็ด้านอารมณ์  บางครั้งก็ด้านจิตวิญญาณ  เมื่อตั้งใจมอบถวายชีวิตแด่พระคริสตเจ้า  เราก็สามารถประสบพบอิสรภาพเหมือนกัน  การเป็นส่วนของพระคริสต์  ต้องเป็นอิสระ

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(เมษายน – มิถุนายน 2014), หน้า 277-279.