บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

สัปดาห์ที่  17  เทศกาลธรรมดา
28 กรกฎาคม 2013
บทอ่าน        ปฐก  18: 20-32  ; คส  2: 12-14  ; ลก  11: 1-13
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)  443, 520, 728, 1425, 2601, 2613, 2623, 2632, 2759, 2671, 2773, 2845
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  453
จุดเน้น        จงขอเถิด  แล้วท่านจะได้รับ


    ทำไมเราวอนขอสิ่งต่างๆ จากพระเจ้าในการภาวนา  เราพยายามให้พระเจ้าเปลี่ยนใจใช่ไหม  ทำไมเราต้องขอ  หากพระเจ้าทรงล่วงรู้แล้วว่าเราต้องการอะไร

    ในบทอ่านที่หนึ่ง  เราได้ยินเรื่องอับราฮัมต่อรองกับพระเจ้า  พี่น้องอาจรู้สึกแปลกใจ  อย่างไรก็ดี  มันเป็นเรื่องธรรมดา  ที่ประชาชนคุ้นเคยกับการต่อราคาของในตลาด  จุดที่เป็นบทสอนเรื่องนี้  คือ  การยืนหยัดของอับราฮัม  ท่านพยายามให้ได้  ท่านไม่ยอมแพ้เพื่อความรอดของคนดี

    ถ้าเราภาวนาเฉพาะเวลาเราลำบาก  เราไม่ยืนหยัดสม่ำเสมอ  ใครๆ ก็สามารถภาวนาได้  การภาวนาแบบต่อเนื่อง  แม้ดูเหมือนพระเจ้าไม่ตอบ  พระองค์เงียบ  ก็ขอให้เราเพิ่มพูนความปรารถนาและทำให้ความเชื่อเข้มแข็ง  นักบุญเกรโกรี่มหาราช  เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา  ระหว่าง  ค.ศ. 590-604  กล่าวว่า  “ความปรารถนาที่ศักดิ์สิทธิ์ค่อยๆ เติบโตช้าๆ  และถ้าจางหายไป  เพราะว่าค่อยๆ เติบโตช้าๆ  ความปรารถนาเหล่านี้ไม่ศักดิ์สิทธิ์”
    คำภาวนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงพระเจ้า  คำภาวนาเปลี่ยนเราต่างหาก  ทุกครั้งที่เราบอกความจำเป็นของเราต่อพระเจ้าเวลาภาวนา  เราก็เปิดตัวของเราให้พระองค์ทำงานในชีวิตของเรา  นี่คือเหตุผลที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ภาวนา  ขอความต้องการสำหรับตนเอง  และสำหรับคนอื่น  แม้ว่าพระเจ้าทรงรู้ความต้องการเหล่านั้นแล้วก็ตาม

    เมื่อเราภาวนา  เรายอมรับว่าเราขึ้นกับพระเจ้า  พระองค์มิได้ต้องการให้เราเตือน  แต่เราต้องการ  เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ดี  เรามักลืมง่ายๆ ว่า  เรายังต้องการพระเจ้า  การหลงลืมเช่นนี้บ่อยๆ มานำหน้าการตกต่ำน่าอับอาย  การประกันที่ดีที่สุดต่อการตกต่ำเช่นนี้  คือ  ต้องภาวนาต่อพระเจ้า  ทั้งเวลาสุขสบายดีและเวลาลำบาก
    ถึงแม้เราพยายามทำดีที่สุดเพื่อให้เข้าใจคำภาวนา  อย่างไรก็ดี  การภาวนาเป็นธรรมล้ำลึก  เหมือนทุกสิ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้า  การภาวนาเป็นธรรมล้ำลึก  มิใช่ในความหมายว่าเราไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับการภาวนา  แต่หมายความว่า  เราเข้าใจได้บางส่วนเท่านั้น  เราสามารถเข้าใจดีขึ้นถึงวิธีที่จิตใจมนุษย์ทำงานอย่างไรมากกว่า  เราเข้าใจชัดๆ ว่า  คำภาวนาบังเกิดผลอย่างไร

    แม้แต่นักบุญเปาโลได้สารภาพว่า  การภาวนาก็ยังเป็นธรรมล้ำลึกสำหรับท่าน  เราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม  นักบุญเปาโลเขียนจดหมายถึงชาวโรมว่า  “เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม  แต่พระจิตเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาวอนขอแทนเรา  ด้วยคำที่ไม่อาจบรรยาย  และพระผู้ทรงสำรวจจิตใจทรงทราบความปรารถนาของพระจิตเจ้า  เพราะพระจิตเจ้าทรงอธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า”  (รม  8: 26-27)

    ดังนั้น  เหนือสิ่งใด  เราจำเป็นต้องวอนขอพระพรของพระจิตเจ้า  พระเยซูเจ้าทรงสอนเราในตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ว่า  เราจะได้รับสิ่งนั้น

    “ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่ว  ยังรู้จักให้ของดีๆ แก่ลูก  แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์  จะไม่ประทานพระจิตเจ้า  แก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(กรกฎาคม - กันยายน 2013), หน้า 290-292.

หมายเหตุ    วันอาทิตย์นี้  สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส  ถวายมิสซากับบรรดาเยาวชน  
ที่  นครรีโอ  เดอ  จาเนโร  ประเทศบราซิล