บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
10  มีนาคม  2013
บทอ่าน    ยชว  5: 9ก, 10-12 ;  2 คร  5: 17-21 ;  ลก  15: 1-3, 11-32
พระวรสารสัมพันธ์กับ         คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)   545, 589, 2839
จุดเน้น    การคืนดีแท้จริง  คือการให้อภัย (Forgiving) และไม่จดจำ (Forgetting)


    เรื่องลูกล้างผลาญจากพระวรสารวันนี้  เป็นอุปมาที่ทุกคนรู้จักกันดี  อย่างไรก็ตาม  เพราะการคุ้นเคยมันจึงทำให้เราลืมความหมายและสาระสำคัญของเรื่องนี้ง่าย  เรื่องลูกล้างผลาญเน้นองค์ประกอบสำคัญ  คือ  การให้อภัยและการคืนดีแท้จริง  เราได้ยินเรื่องราวของชายคนหนึ่งมีลูกชายสองคน  คนน้องตัดสินใจขอมรดก  ละทิ้งบ้าน  เดินทางไป  ประพฤติตนเสเพล  ผลาญเงินจนหมดสิ้น  จึงตัดสินใจกลับบ้านและขอโทษ  จุดหักเหของเรื่องนี้คือ  พ่อต้อนรับเขาทันทีโดยไม่สนใจว่าเขาผลาญทรัพย์อย่างไร  พ่อไม่ได้รอให้ลูกชายเข้าในบ้าน  พ่อวิ่งไปสวมกอดต้อนรับเขากลับมา  และสั่งคนใช้ให้จัดงานเลี้ยงฉลอง

    พี่น้องที่รัก  เรื่องเดียวกันนี้ยังเป็นจริงสำหรับเรากับพระเจ้า  การคืนดีแท้จริงคือการให้อภัย  และไม่จดจำ  (ความผิดในอดีต)  เมื่อก่อนเราเรียนว่าการท้าทายแท้จริงของการคืนดีมี  2 ส่วน  คือ  การให้อภัย  ซึ่งยากมากๆ  แต่ก็ง่ายกว่าการไม่จดจำ  ดังที่เรามักได้ยินว่า  ให้อภัยแต่ไม่ลืม  ความคิดหรือทัศนคติเช่นนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่พระวรสารวันนี้สอนและเชิญชวนเรา  ความรักแบบไม่มีเงื่อนไขของพระเจ้าต่อเรา  สอนให้เข้าใจการให้อภัยและไม่จดจำความผิด (บาป) ที่เราได้กระทำเมื่อเราแสดงความทุกข์เสียใจ  พระองค์ทรงขอให้เราทำเช่นเดียวกันกับผู้ที่ทำร้ายเรา  และต้องการให้เราให้อภัยเช่นกัน

    ฐานะสมาชิกของพระศาสนจักร  การคืนดีเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในชีวิต  เทศกาลมหาพรตเป็นโอกาสให้เรากลับมาหาพระเจ้า  และมาหากันและกัน  ด้วยการให้อภัยและไม่จดจำความผิดในอดีต  เหมือนความรักของพระเจ้าไม่มีเงื่อนไข  เป็นบทสอนซึ่งเราต้องสนใจมากขึ้น  ยิ่งเรายังเจ็บใจหรือผิดหวัง  ยังมีบาปและทำผิดศีลธรรมในชีวิต  ในที่สุดพระเจ้าทรงเรียกเราให้ตระหนักว่า  การคืนดีไม่ใช่เพียงการให้อภัยเท่านั้น  เรายังต้องไม่จดจำด้วย

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(มกราคม – มีนาคม  2013), หน้า 92-93.