บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันอาทิตย์ที่ 3  เทศกาลธรรมดา 
27  มกราคม  2013
 
บทอ่าน    นฮม  8: 2-4ก, 5-6, 8-10
              1 คร  12: 12-30  หรือ  12: 12-14, 27
               ลก  1: 1-4  และ  4: 14-21
พระวรสารสัมพันธ์กับ     คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)   436, 544, 695, 714, 1168, 1286, 2443
                                  ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)   28
จุดเน้น    เราเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า  เมื่อเป็นหนึ่งในพระคริสตเจ้า  เราจะพบความหมายเอกภาพของเรากับพระองค์


    พี่น้องเคยสังเกตไหมว่ามีโฆษณาค้าขายมากเท่าไรในโทรทัศน์  ในวารสาร  หนังสือพิมพ์  อินเตอร์เน็ต  มีโฆษณาเกี่ยวกับศูนย์ฟิตเนส  อุปกรณ์ออกกำลังกายใหม่ล่าสุด  เราถูกล้างสมองทุกวัน  มีดารา  หรือผู้มีชื่อเสียงมาช่วยโฆษณารับรอง  ขอให้เราทดลองใช้  จะมีสุขภาพดี  ฯลฯ  บ่อยๆ สังคมเน้นร่างกายสวยงาม  หุ่นดี  เราใช้เงินมากมายแต่ละปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายนอกนี้

    ในฐานะมนุษย์เราถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า  เราจึงมีศักดิ์ศรีภายในที่มีคุณค่าเหนือสิ่งปรากฎภายนอก  พระเจ้าทรงมอบศักดิ์ศรีให้  มิใช่เราดูปรากฏภายนอกเป็นอย่างไร  ศักดิ์ศรีในตัวเรา คือ คุณธรรม  ความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้ทรงสร้างและสนับสนุนชีวิตของเรา

    เมื่อเรารู้ความจริงยิ่งใหญ่นี้แล้ว  จึงไม่แปลกใจที่นักบุญเปาโลได้เลือกภาพลักษณ์ของร่างกาย  และสอนเทววิทยาเกี่ยวกับอัตลักษณ์คริสตชน  ในฐานะได้รับศีลล้างบาป  น่าสนใจที่นักบุญเปาโลเลือกภาพลักษณ์ครอบครัว หรือ ชุมชน  นักบุญเปาโลรู้ว่าภาพลักษณ์ร่างกายมนุษย์สามารถบอกได้ชัดเจนเกี่ยวกับฐานะที่เราเป็นในพระคริสตเจ้า  เหมือนดังร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นให้มีอวัยวะส่วนต่างๆ หลายประการ  ดังที่เราแต่ละคนก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในพระกายพระคริสตเจ้า หรือ ในพระศาสนจักร

    เราทุกคนรู้ว่าเมื่อร่างกายทำหน้าที่ดี  ไม่เจ็บไม่ปวด  คือรู้สึกสบายดี  เราก็รู้ว่าความเจ็บปวดแม้เล็กน้อยที่สุด หรือ ความไม่สะดวกสบาย  สามารถส่งผลต่อความรู้สึกได้  แม้สิ่งที่ดูเหมือนไม่สำคัญเช่นที่เล็บเท้า หรือ รอยไหม้เล็กๆ สามารถทำให้ปวดมากได้  เช่นเดียวกันกับพระกายพระคริสตเจ้า  พระศาสนจักร  สิ่งที่ดูเหมือนเล็กที่สุดก็สามารถทำให้ร่างกายเป็นทุกข์เสียใจมากได้

    ในบทอ่านที่สอง  นักบุญเปาโลสอนใจเราว่า  “ถ้าอวัยวะหนึ่งเป็นทุกข์  อวัยวะอื่นๆ ทุกส่วนก็ร่วมเป็นทุกข์ด้วย  ถ้าอวัยวะหนึ่งได้รับเกียรติ  อวัยวะอื่นๆ ทุกส่วนก็ร่วมยินดีด้วยเช่นเดียวกัน”  (1 คร  12: 26)

    เมื่อเราไตร่ตรองพระวรสารนักบุญลูกาวันนี้  ดูเหมือนบอกเราถึงความจำเป็นฝ่ายโลก  แต่ตามจริงเน้นเกี่ยวกับความจำเป็นฝ่ายจิตวิญญาณ  กล่าวคือ  พระเจ้าทรงเรียกเราให้เลี้ยงอาหารคนยากจน  เราต้องเคารพศักดิ์ศรีของแต่ละคนในการเลี้ยงดูเขา  เสรีภาพแท้จริงมีความหมายมากกว่าแค่สิทธิทางการเมือง  เป็นการรับรู้ศักดิ์ศรีและศักยภาพของมนุษย์  เราต้องช่วยกันให้สามารถเห็นโลกถูกสร้างตามคุณค่าพระวรสาร  และพยายามทำงานเพื่อวิสัยทัศน์แบบนี้  มิใช่พอใจกับความถูกต้องตามการเมือง  หรือหน้าตาภายนอกที่ว่างเปล่าไร้คุณค่า

    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มภารกิจสาธารณะ  ทรงเผยแสดงพันธกิจที่พระเจ้าทรงพอพระทัย  เป็นพระพรชัดเจนสำหรับทุกคน คือ  เพื่อความยุติธรรม  และความถูกต้อง  ให้เกิดขึ้นในชุมชนทุกยุคทุกสมัย  นี่คือพันธกิจของเราด้วย  คำถามที่เราน่าถามตนเองคือ  ฉันได้ทำอะไร หรือ ควรทำอะไรให้บรรลุวิสัยทัศน์นี้

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(มกราคม – มีนาคม  2013), หน้า 35-37.