บทเทศวันอาทิตย์ โดย ฯพณฯ ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
อาทิตย์ที่  28  เทศกาลธรรมดา
วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม  2011
บทอ่าน
: อสย. 25:6 - 10 ;    ฟป. 4:12 – 14, 19 - 20 ;    มธ. 22:1 - 14
จุดเน้น พระเจ้าทรงเชิญเรา  ทั้งคนเลวและคนดี  มาสู่พระอาณาจักรสวรรค์
            มิใช่เพราะคุณความดีของเรา  แต่เพราะพระเมตตาคนยากจน
 
ในพระคัมภีร์  งานวิวาห์มงคลเป็นภาพลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์ในอวสานกาล  ในยุคของพระเมสสิยาห์  หรืออาณาจักรพระเจ้า  ซึ่งพระเป็นเจ้าประทานด้วยพระองค์อย่างอิสระและชัดเจน

  ความกรุณาคนยากจน
             ดูเหมือนว่า  นักบุญมัทธิววางอุปมา 2  เรื่องไว้ใกล้ชิดกัน  คือ  อุปมาเรื่องผู้รับเชิญ  และเรื่องชายที่ไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอุปมาทั้งสองเรื่องเกี่ยวกับการได้รับเชิญมาอาณาจักรสวรรค์  เป็นเวลานานมาแล้วที่มีคนคิดว่าผู้รับเชิญที่ไม่เหมาะสม  หมายถึงประชาชนอิสราเอลที่ไม่ต้อนรับบรรดาประกาศก  แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันมีการอธิบายความที่เห็นสอดคล้องกันดีกว่าว่า  ผู้ที่แต่งตัวไม่เหมาะสมนั้นคือ  ผู้นำประชาชนที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย  รวมทั้งมีตำแหน่งสูงทางสังคม  พวกเขาคือผู้ที่มีทุ่งนา  มีธุรกิจ  หรือสนใจสิ่งอื่นมากกว่าการเชิญสู่อาณาจักรสวรรค์  ยิ่งกว่านั้น  พวกเขายังทำร้ายผู้รับใช้ของกษัตริย์  เราจึงเห็นชัดว่า  ‘ผู้รับเชิญไม่เหมาะสมกับงานนี้’  (มธ  22:8)

               การเชิญสู่อาณาจักรสวรรค์เป็นสิ่งที่เอากลับคืนไม่ได้  และเปิดอยู่เสมอ  แต่ผู้รับเชิญต้องได้รับเชิญมาจากสถานที่  (สังคม)  อื่น  “จงไปตามทางแยก  พบผู้ใดก็ตามจงเชิญมาในงานวิวาห์เถิด”  (มธ  22:9)  คนที่มาร่วมงานคือ  คนที่ไม่มีบ้านอาศัย  ไม่มีงานที่มั่นคง  หรือไม่มีธุรกิจในเมือง  คนจนและคนจรจัด  ผู้ที่ถูกผู้นำศาสนาพิจารณาว่าเป็นคนโง่  ด้อยการศึกษา  และคนบาป

               ในพระวรสารนักบุญลูกา  ที่กล่าวถึงอุปมาเรื่องเดียวกัน  ได้ให้คำอธิบายชัดกว่าว่า  “จงพาคนยากจน  คนพิการ  คนตาบอด  และคนง่อยเข้ามาที่นี่เถิด”  (ลก  14:21)  คนเหล่านี้คือผู้รับเชิญในประวัติของยุคพระเมสสิยาห์  ดังที่พระเยซูเจ้าเองทรงตอบผู้ที่ยอห์น  บัปติส  ส่งมาถามพระองค์  มัทธิวได้เพิ่มว่า  “บรรดาผู้รับใช้จึงออกไปตามถนน  เชิญทุกคนที่พบมารวมกัน  ทั้งคนเลวและคนดี  แขกรับเชิญจึงมาเต็มห้องงานอภิเษกสมรส”  (มธ  22:10)  “ทั้งคนเลวและคนดี”  เพื่อทำให้เราเข้าใจชัดเจนว่า  ประชาชนผู้ได้รับเชิญมิใช่เพราะคุณความดีของตน  แต่เพราะความดี  เมตตาของพระเจ้าต่อคนยากจน  คนสุดท้ายและบรรดาคนบาป  พระหรรษทานนี้เปลี่ยนแปลง  “ผู้มิได้รับเชิญ”  ให้เป็นแขกพิเศษมาร่วมงานวิวาห์และอาณาจักรสวรรค์  การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนสุดท้าย  และการบริการช่วยเหลือพวกเขา  สามารถกลับใจเราให้เป็นแขกมีที่นั่งในโต๊ะเดียวกับผู้มิได้รับเชิญเหล่านั้น

 รอด้วยความหวังและการอุทิศตน
                พระวรสารนักบุญมัทธิว  (แตกต่างจากพระวรสารนักบุญลูกา)  อุปมาเรื่องนี้ยังมีคำสอนต่ออีก  คือ  มีคนหนึ่งไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์  การยอมรับการเชิญมาอาณาจักรสวรรค์  เรียกร้องให้มีความประพฤติ  ใส่ชุดที่เหมาะสมสำหรับงานวิวาห์  (วรรคที่ 1)

                ดังคำสัญญาของประกาศกอิสยาห์ว่า  อาณาจักรสวรรค์ประกอบด้วยความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า  ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งความสมบูรณ์และความยินดี  “นี่คือพระเจ้าของเรา  เราเคยหวังว่าพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอดพ้น...  เราจงชื่นชมยินดีที่พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้นเถิด”  (อสย 25:9)  นี่เป็นชัยชนะเด็ดขาดเหนือความตายและน้ำตา  “พระองค์จะทรงทำลายความตายตลอดไป  องค์พระผู้เป็นเจ้าจงทรงเช็ดน้ำตาจากใบหน้าของทุกคน  จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้พ้นจากการถูกลบหลู่ทั่วแผ่นดิน”  (อสย 25:8)
 ความหวัง  ความรอดพ้นมีคุณค่าสัมพันธ์กับความดีอื่นทุกประการ  ดังประสบการณ์ของนักบุญเปาโลที่ว่า  “ข้าพเจ้ารู้จักมีชีวิตอยู่อย่างอดออม  และรู้จักมีชีวิตอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์  ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะเผชิญกับทุกสิ่ง  ทุกกรณี  เผชิญกับความอิ่มท้องและความหิวโหย  เผชิญกับความมั่งคั่งและความขัดสน”  (ฟป 4:12)
 ความหวังในอวสานกาลมีชีวิตชีวา  และความหวังที่อุทิศตน  เปลี่ยนพระสัญญาไปสู่ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์  และช่วยเราให้ปฏิบัติ  โดยมีเหตุผลพื้นฐานว่า  “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้ในพระองค์  ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า”  (ฟป 4:13)

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก  Sharing  the  Word Through  the  Liturgical  Year
โดย Gustavo  Gutiérrez, 2004 หน้า  239-240.