บทเทศวันอาทิตย์ โดย ฯพณฯ ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
อาทิตย์ที่  25  เทศกาลธรรมดา
วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน  2011
บทอ่าน
: อสย. 55:6 - 9 ;    ฟป. 1:20 – 24, 27ก ;    มธ. 20:1-16ก
จุดเน้น อย่าอิจฉาตาร้อน

อุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่นที่เราฟังในวันนี้  มีเฉพาะพระวรสารนักบุญมัทธิวเท่านั้น  และเป็นตอนหนึ่งที่มีคำสอนน่าจับใจที่สุดในพระวรสารนี้
ชั่วโมงที่สิบเอ็ด
หัวใจคำสอนตอนนี้ของพระเยซู  คือ  ความรักของพระบิดาเป็นแบบฟรีให้เปล่า  ค่าจ้างแรงงานที่เจ้าของสวนองุ่นตัดสินใจจ่ายให้คนงาน  ซึ่งมาทำงานคนสุดท้ายชั่วโมงเดียวตอนห้าโมงเย็น  คือ  ชั่วโมงที่สิบเอ็ด  (วรรคที่  11-12)  ได้ค่าจ้างเท่ากัน  ทำให้คนงานที่ทำตั้งแต่เช้าตรู่มีปฏิกิริยา  ว่าการให้ค่าจ้างเท่ากันหมดดูเหมือนไม่ยุติธรรม  เจ้าของสวนจึงแก้ข้อกล่าวหาว่า  “ท่านไม่ได้ตกลงกับฉันคนละหนึ่งเหรียญ  (ค่าจ้างแรงงานหนึ่งวัน)  หรือ  จงเอาค่าจ้างของท่านไปเถิด“  (วรรคที่  13-14)

ความยุติธรรมของพระเจ้าอยู่เหนือรูปแบบความยุติธรรมภาษามนุษย์  พระเจ้าสนใจความทุกข์ยาก  ความต้องการสำคัญของประชาชน  ของผู้ที่  “ยืนอยู่ที่ลานสาธารณะ”  (วรรคที่  3)  พวกเขาอยากทำงานแต่ไม่มีใครมาจ้าง  อย่างไรก็ดี  คนงานในชั่วโมงที่สิบเอ็ด  (ชั่วโมงสุดท้าย)  มีสิทธิทำงานเหมือนกับคนงานชั่วโมงแรก  และมีสิทธิเจริญชีวิต ได้ค่าตอบแทนสำหรับตนเอง  และครอบครัวจากการทำงาน  ในสังคมปัจจุบันประชาชนมากมายไม่มีงานทำหรือตกงาน  สิทธิในการทำงานเป็นการแสดงถึงสิทธิมีชีวิต  ดังที่บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น  ปอล ที่ 2  ได้เตือนใจเราชัดเจนในสมณลิขิตของพระองค์  เรื่องการทำงาน  สิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการนับถือ  เมื่อสังคมและรัฐบาลไม่ช่วยจัดให้ประชาชนมีงานทำ  เพราะยึดหลักเศรษฐกิจซึ่งอำนวยผลประโยชน์  และสิทธิให้แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น

วิถีทางของท่านมิใช่วิถีทางของเรา
ยังมีคำสอนอีกประการหนึ่ง  เจ้าของสวนพูดว่า  “ฉันอยากจะให้คนที่มาสุดท้ายนี้เท่ากับให้ท่าน”  แล้วยังถามกลับไปอีกว่า  “ท่านอิจฉาตาร้อน  เพราะฉันใจดีหรือ”  (วรรคที่  14-15)  นี่เป็นแก่นของเรื่องนี้  สำนวนตามอักษร  “ตาร้อน”  บ่งบอกอาการมองเหตุการณ์หนึ่งเปลี่ยนเป็นสิ่งร้าย  ไม่มองอะไรใหม่หรือด้านความใจดี  แต่พยายามจำกัดความดีของพระเจ้า

ตาร้อน (มองแง่ร้าย)  เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน  เหมือนสร้างกำแพงปกป้องทรัพย์สมบัติของเรา  ถึงแม้จะทำให้คนอื่นยากจน  เป็นการมองที่ทำให้เราคิดไปได้ว่า  สิ่งที่ยุติธรรมสำหรับคนอื่น  เป็นสิ่งไม่ยุติธรรมสำหรับเรา  หากมันมีผลกระทบต่อสิทธิพิเศษของเรา  คริสตชนไม่ควรมองพระเจ้าแสนดีด้วยตาร้อน  (มองแง่ร้าย)  หากเราหลีกเลี่ยงการตะกละ  ความโลภ  ละโมบ  อยากได้   จงพยายามปฏิบัติดังคำสอนที่นักบุญเปาโล กล่าวกับชาวฟิลิปปีว่า  “ท่านทั้งหลายจงประพฤติตนให้คู่ควรกับข่าวดีของพระคริสตเจ้า”  (1:27)

พระเจ้าทรงสอนเรามิให้ปฏิบัติความยุติธรรมแค่ตามกฎหมายหรือรูปแบบ  เพราะความรักของพระเจ้าข้ามเลยขอบเขตกฎหมายเหล่านี้  และสอนเราให้มองด้วยใจกว้าง  สนใจคนที่สังคมทอดทิ้ง  ดูหมิ่น  และกดขี่รังแก  ประกาศกอิสยาห์สอนว่า  วิถีทางของพระเจ้ามิใช่วิถีทางของเรา  (55:8)  เราต้องเปิดตาเปิดใจบ่อยๆ  สู่สิ่งใหม่  และความรักริเริ่มของพระเจ้า  การได้รับมาเปล่าๆ  (ฟรีๆ)  มิใช่อะไรตามใจ  ตามอารมณ์  หรือผิวเผิน  สิ่งที่ได้รับมาเปล่าๆ   มิใช่ชัดแย้ง  หรือดูหมิ่นผู้ร้องแสวงหาความยุติธรรม  ตรงข้ามกลับทำให้ความยุติธรรมมีความหมายแท้จริง  ไม่มีสิ่งใดถูกเรียกร้องมากเกินควรยิ่งกว่าความรักที่ให้เปล่าและไม่หวังผลประโยชน์

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Sharing  the  Word  through  the  Liturgical  Year  โดย  Gustavo  Gutiérrez   สำนักพิมพ์  Claratian, บังกาลอร์, 1997  หน้า  225-226